xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมวัคซีนยังไม่สามารถสยบโควิด-19 ได้?/ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

สถานการณ์ของประเทศไทยได้ก้าวเข้ามาถึงการที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเกินครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว และแม้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง ประชาชนเริ่มมีความหวังเพราะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจไว้วางใจต่อสถานการณ์ได้


สิ่งที่ยังไม่น่าไว้วางใจมี 3 ปัญหาสำคัญที่ท้าท้ายต่อวัคซีน คือ ปัญหาฤดูกาลประการหนึ่ง ปัญหาการกลายพันธุ์อีกประการหนึ่ง ปัญหาประชาชนการ์ดตกหลังฉีดวัคซีนอีกประการหนึ่ง และปัญหาภูมิคุ้มกันลดลงหลังฉีดวัคซีนเมื่อเวลาผ่านไป

ปัญหาฤดูหนาว อากาศเย็น เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจได้มาก และปัญหาของโควิด-19 มักเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นในช่วงฤดูหนาวมา 2 ปีแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงตั้งแต่กลางเดือนจนถึงธันวาคม 2564 จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาว่าการระบาดจะกลับมาเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นอีกหรือไม่ และมีความรุนแรงกมากน้อยเพียงใด

แต่การที่ยุโรป จีน ที่กลับมาส่งสัญญาณระบาดมากขึ้น รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีอากาศเย็นกว่าหลายภูมิภาคในประเทศไทย อาจเป็นภาพเค้าลางที่มีความน่าจะเป็นว่าจะกลับมาระบาดในประเทศไทยได้ตั้งแต่หลังเดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

ปัญหาการกลายพันธุ์ ยังคงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้วัคซีนยังไม่สามารถเอาชนะโรคโควิด-19 ได้ และยังไม่มีความชัดเจนว่าการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลานี้จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ลดลงหรือรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยังไม่ชัดเจนว่าการกลายพันธุ์ที่กำลังดำเนินต่อไปนี้จะระบาดง่ายขึ้นหรือยากขึ้นอย่างไร

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ “การ์ดตก” หลังฉีดวัคซีน ซึ่งทั้งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันโควิด-19ได้ หรือเกิดจากความตั้งใจที่ประชาชนพยายามจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติให้มากที่สุด แม้สมมุติว่าการฉีดวัคซีนอาจจะช่วยทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ก็ย่อมทำให้ “จำนวนผู้เสียชีวิต”ต่อจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ประการสุดท้ายคือความไม่ตระหนักว่า ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนกี่เข็ม และไม่ว่าจะฉีดยี่ห้อใดก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนแล้วเพิ่มขึ้นมานั้น จะทยอยลดลงตามเวลาหลังฉีดวัคซีน ดังนั้นประเทศที่ฉีดวัคซีนเร็ว แต่ภูมิคุ้มกันขึ้นมาผิดช่วงเวลาในช่วงที่ระบาดน้อยหรือไม่ระบาด แล้วภูมิคุ้มกันลดลงในช่วงที่ระบาดหนักพอดี ก็มีโอกาสที่ทำให้ประสิทธิศักย์ของวัคซีนย่อมลดลงได้เช่นเดียวกัน

ปัญหาของวัคซีนข้างต้นกำลังถูกท้าทายว่าอาจไม่สามารถทำให้โรคโควิด-19 ยุติได้ และดูเหมือนว่าทุกประเทศทั่วโลกจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับโรคนี้ต่อไปอีกนานกว่าที่หลายคนจะคาดการณ์ได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

กำลังโหลดความคิดเห็น