xs
xsm
sm
md
lg

เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย อาจเป็นสัญญาณเตือน “โรคลิ้นหัวใจรั่ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



‘โรคลิ้นหัวใจรั่ว’ คืออะไร มีอาการอย่างไร แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร มาหาคำตอบกัน 

สำหรับโรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือ Heart Valve Regurgitation ก็คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท เป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ คนที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจะใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ไม่เต็มที่ เพราะจะทำให้เหนื่อยง่าย บางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว

สาเหตุการเกิดลิ้นหัวใจรั่ว


-เกิดความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด อาจไม่มีอาการใด ๆ ในวัยเด็ก หรือ ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์

-เกิดภาวะลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหว และรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้น จึงเกิดการเสื่อม ลิ้นหัวใจจะหนาตัวขึ้น และเริ่มมีหินปูนเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อทำให้ปิดไม่สนิท

-โรคหัวใจรูห์มาติค เริ่มต้นจากการติดเชื้อ streptococcus ในคอ ซึ่งมีการพบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลที่ตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบ และรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พบมากในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรืออยู่ในชุมชนแออัด

-เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยาเสพติด) การเจาะตามร่างกาย เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ เป็นต้น


ลักษณะอาการของโรคลิ้นหัวใจรั่ว

สำหรับอาการของโรคดังกล่าวนั้นไม่รุนแรง แต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจยาวนานจนกระทั่ง 40 ปีผ่านไป อาการรุนแรงจึงก่อตัวเริ่มขึ้น และจากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น ก็ส่งผลทำให้ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลียง่ายกับทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว บางรายที่เป็นมากอาจเสียชีวิต เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลวนั่นเอง


ผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจะมีอาการอย่างไร

-เสียงหัวใจผิดปกติ เป็นลักษณะเสียงฟู่
-เริ่มมีอาการตั้งแต่ เหนื่อยง่าย จนกระทั่งหอบเหนื่อย
-น้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้
-มีอาการใจสั่น หรือเจ็บหน้าอก
-มีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า
-เคลื่อนไหวตลอดเวลา


การปฏิบัติตัวเมื่อพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ในอาการของผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วนั้น หากเป็นระยะไม่มาก อาการที่แสดงจะเป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิต และมีกิจกรรมปกติของตัวเองได้เหมือนอย่างคนทั่วไป แต่ถ้าลิ้นหัวใจรั่วมาก เช่น หอบเหนื่อยมาก แม้จะทำงานเพียงเล็กน้อย ก็ต้องทำกิจกรรม หรือทำงานให้น้อยลง หรือหากเป็นมากควรงดกิจกรรม งด หรือลดการดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่ รวมทั้งอาหารที่มีรสเค็มจัด มันจัด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การออกกำลังกายแบบหักโหม มักจะอันตรายต่อผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วที่มีอาการรุนแรง เพราะอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการตรวจรักษาฟัน เช่น ถอนฟัน ขูดหินปูน ที่จะทำให้เกิดแผลในช่องปาก ก็ควรระมัดระวัง และควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อวางแผนป้องกันการติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดใด ๆ ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน


การป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว

สำหรับในกรณีที่ติดเชื้อลำคอ หรือติดเชื้อทางเดินหายใจ แล้วไม่หายสักที ต้องไปตรวจเช็คว่าการติดเชื้อนั้นเป็นลักษณะการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดหรือไม่ หรือว่าถ้าติดเชื้อแล้วมีอาการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับระบบนั้น เช่น มีเหนื่อยมากขึ้นผิดปกติ มีใจสั่น เจ็บหน้าอก ควรมาตรวจเพิ่มเติมว่าเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่

ส่วนอาการลิ้นหัวใจรั่วโดยส่วนใหญ่มักจะค่อย ๆ แสดงอาการ ดังนั้นหากมีอาการ ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย เท้าบวม หรือมีโรคที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรจะพบแพทย์ตรวจเช็คร่างกายทุกปี ออกกำลังกาย หมั่นดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด และมีสุขภาพแข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลพญาไท และ โรงพยาบาลสมิติเวช
กำลังโหลดความคิดเห็น