xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “บั้งไฟพญานาค” ลูกไฟประหลาดแห่งลำน้ำโขงเกิดจากอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


บั้งไฟพญานาค ลูกไฟปริศนาแห่งลำน้ำโขง (แฟ้มภาพ)
พูดถึงวันออกพรรษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งคู่บุญกับวันออกพรรษาไปแล้วก็คือ “บั้งไฟพญานาค” ปรากฏการพิศวงกลางลำน้ำโขง ที่วันนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ หรือเกิดจากการกระทำของพญานาคกันแน่!!!

พูดถึงวันออกพรรษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งคู่บุญกับวันออกพรรษาไปแล้วก็คือ “บั้งไฟพญานาค” ปรากฏการพิศวงกลางลำน้ำโขง ที่วันนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ หรือเกิดจากการกระทำของพญานาคกันแน่!!!วันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ปีนี้ตรงกับวันที่ 21 ต.ค. 64 ซึ่งรัฐบาลจัดให้เป็นวันหยุดพิเศษของภาคกลาง

ในบ้านเรา ปกติหากไม่ใช่ในสถานการณ์โควิด-19 ออกพรรษานอกจากจะเป็นวันประกาศอิสระภาพของพวก “งดเหล้าเข้าพรรษา” แล้ว ยังเป็นช่วงแห่งการจัดงานบุญหลากหลายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชากันอย่างคึกคัก

งานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงก่อนโควิด-19 (ภาพจาก ททท.สุราษฎร์ธานี)
ในบ้านเรายามปกติ (ไม่ใช่ในสถานการณ์โควิด-19) ออกพรรษานอกจากจะเป็นวันประกาศอิสระภาพของพวก “งดเหล้าเข้าพรรษา” แล้ว ยังเป็นช่วงแห่งการจัดงานบุญหลากหลายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ไม่ว่าจะเป็น “งานตักบาตรเทโวโรหณะ” ที่จัดขึ้นทั่วไป ซึ่งในหลายจังหวัดจะมีข้าวต้มลูกโยนเป็นของกินคู่บุญ, ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ดทางภาคเหนือของชาวไทยใหญ่ที่มีขบวนแห่ “จองพารา” (ปราสาทพระ) อันสวยงาม, ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าทางน้ำของภาคใต้, งานไหลเรือไฟนครพนม, ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งสกลนคร เป็นต้น

บั้งไฟพญานาค ปริศนาแห่งลำน้ำโขง


“บั้งไฟพญานาค” หรือที่สมัยก่อนคนอีสานส่วนหนึ่งเรียกขานว่า “บั้งไฟผี” เป็นปรากฏการณ์ลูกไฟประหลาดพวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงในคืนวันออกพรรษา

บั้งไฟพญานาค ลูกไฟปริศนาแห่งลำน้ำโขง (แฟ้มภาพ)
บั้งไฟพญานาค มีลักษณะเป็นลูกไฟประหลาดคล้ายไข่ไก่สีแดงอมชมพู พวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขง สูงขึ้นไปในอากาศประมาณ 50-150 เมตร แล้วดับหายไปแบบไร้เสียง ไร้ควัน ไร้กลิ่น

จุดที่ลูกไฟประหลาดพุ่งขึ้นนั้นไม่แน่นอน บางครั้งขึ้นกลางแม่น้ำโขง บางครั้งขึ้นใกล้ฝั่ง หากขึ้นกลางแม่น้ำลูกไฟจะเอนเข้าหาฝั่ง แต่หากขึ้นริมฝั่ง ลูกไฟจะพุ่งออกไปกลางแม่น้ำ

สำหรับจุดชมบั้งไฟพญานาคหลักๆ ใน จ.หนองคายและบึงกาฬ มีประมาณกว่า 20 จุดด้วยกัน ที่โดดเด่นและดังมากก็เห็นจะเป็นลำน้ำโขงใน อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ซึ่งถือเป็นจุดไฮไลท์สำคัญในการชมบั้งไฟพญานาคของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ก็ยังมีคนเคยเห็นบั้งไฟพญานาคขึ้นในลำน้ำโขง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน

มีความเชื่อว่าแม่น้ำโขงมีพญานาคอาศัยอยู่
สำหรับการเกิดบั้งไฟพญานาคยุค New Normal ในคืนวันออกพรรษาปีนี้ (2564) ทางเพจ “MGR Online อีสานบ้านเฮา” ได้สรุปยอดจำนวนลูกไฟที่ขึ้นใน อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ซึ่งนับรวมกันได้มากถึง 471 ลูก

บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นจากอะไร?


แม้บั้งไฟพญานาค จะปรากฏในลำน้ำโขงของคืนวันออกพรรษาเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงปรากฏการณ์ปริศนาแห่งลำน้ำโขงที่วันนี้ยังคงไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดแจ้งว่าเกิดขึ้นจากอะไร ?

โดยสมมติฐานของการเกิดบั้งไฟพญานาคนั้น หลัก ๆ ก็มี 3 แนวทางความเชื่อ

ความเชื่อเรื่องพญานาคอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน
แนวทางแรก เกิดจากการกระทำของพญานาค : เป็นความเชื่อดั้งเดิมแต่ก่อนเก่าว่า บั้งไฟพญานาค เกิดจากการกระทำของพญานาคเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อันเนื่องมาจากความเชื่อพื้นฐานของคนโบราณในดินแดนอุษาคเนที่ย์ส่วนหนึ่งเชื่อและนับถือพญานาค และต่างคุ้นเคยกับพญานาคเป็นอย่างดี ผ่านรูปร่าง รอย สัญลักษณ์ต่าง ๆ (บางคนก็อ้างว่าเคยเห็นพญานาคตัวเป็น ๆ แต่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจน นอกจากคำบอกเล่า)

เรื่องราวของพญานาคในเมืองไทย (และในอุษาคเนย์) ได้ปรากฏผ่านเรื่องเล่า ตำนาน นิทาน รูปปั้น ภาพวาด ภาพเขียน รูปสลัก โดยเฉพาะตามศาสนสถาน ปราสาทหิน วัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งแต่ละท้องที่ต่างก็มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคที่ทั้งเหมือนและต่างกันออกไป

พญานาคที่ปรากฏในปราสาทหินโบราณ (พนมรุ้ง)
สำหรับในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงของภาคอีสานบ้านเฮานั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ริมโขง (ไทย-ลาว) มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใต้ลำน้ำโขงนี้มีเมืองบาดาลอยู่ ในนั้นมีพญานาคอาศัยอยู่หลายตัว เพราะมีคนเคยเห็นงูใหญ่หรือร่องรอยประหลาดที่เชื่อกันว่าเป็นร่องรอยของพญานาคอยู่เป็นประจำ

พวกเขาเชื่อว่าในอดีตดินแดนแถบนี้ถูกสร้างและปกครองโดยพญานาค

พอถึงวันออกพรรษา พญานาคเหล่านั้นซึ่งต่างก็เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจะพากันออกมาจุดบั้งไฟถวายพระพุทธเจ้าเป็นประจำทุกปีในบริเวณแนวแม่น้ำโขงถิ่นที่อยู่ของพญานาค

แม่น้ำโขงหนองคาย-บึงกาฬ จุดชมบั้งไฟพญานาคเลื่องชื่อ
เรื่องนี้สอดรับกับเรื่องพญานาคในทางพุทธศาสนา ที่กล่าวว่า เดิมทีพญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลนั้นมีนิสัยดุร้าย แต่พอพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ก็เกิดความเลื่อมใส เลิกนิสัยดุร้าย จะหันมาออกบวช แต่ก็ติดที่เป็นสัตว์ไม่สามารถบวชได้ พญานาคจึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนครบ 1 พรรษา ( 3 เดือน) และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 11 ด้วยบันไดแก้ว บันไดเงินและบันไดทอง ที่เหล่าเทวดาทำถวาย ส่วนมนุษย์โลกก็จะทำบุญตักบาตร นำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้บูชา ความนี้เมื่อรู้ถึงพญานาคที่อยู่เมืองบาดาล จึงได้จัดทำ “บั้งไฟพญานาค” จุดเฉลิมฉลอง จนกลายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

พญานาคกับความเชื่อในพระพุทธศาสนา
แนวทางที่สอง เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ : เกิดจากก๊าซร้อน ที่มีส่วนผสมของก๊าซมีเทน และก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเกิดจากการหมักตัวของซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ และแบคทีเรีย

เมื่อก๊าซเหล่านี้ที่ฝังตัวอยู่ใต้แม่น้ำโขงโดนแรงกดดันจากน้ำและอากาศที่เหมาะสมมันจะลอยพุ่งขึ้นมาเหนือน้ำ และเมื่อก๊าซนั้นกระทบกับออกซิเจน ก็จะเกิดการสันดาปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นลูกไฟ หรือบั้งไฟพญานาคอย่างที่เห็นกัน

แนวทางนี้เป็นทฤษฎีที่มีผู้เห็นด้วยมากที่สุดในยุคปัจจุบัน และก็มีผู้ที่พยายามพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์กันเพื่อหาคำตอบของลูกไฟปริศนานี้กันอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตเราคงได้ข้อมูลใหม่ ๆเกี่ยวกับเจ้าลูกไฟประหลาดที่พวยพุ่งมาจากลำน้ำโขงในคืนวันออกพรรษาเพิ่มมากขึ้น

สีสันงานเทศกาลบั้งไฟพญานาคช่วงก่อนโควิด-19 (ภาพ : ททท.)
สำหรับคนที่เป็นผู้บุกเบิกการพิสูจน์ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในทางวิทยาศาสตร์คนโด่งดังในระดับตำนานก็คือ “นพ.มนัส กนกศิลป์” ซึ่งท่านได้เคยตั้งข้อสังเกตที่ชวนคิดเอาไว้ว่า ในอนาคตบางทีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอาจเหลือเพียงตำนาน เพราะธรรมชาติและระบบนิเวศของลำน้ำโขงถูกทำลายไปมาก

แนวทางที่สาม เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากน้ำมือมนุษย์ : เกิดจากการยิงปืน จุดพลุ หรือยิงวัสดุพิเศษขึ้นบนฟ้าในคืนวันออกพรรษา โดยจุดยิงหลัก ๆ มาจากแถวหมู่บ้านริมโขงแห่ง สปป.ลาว

ทฤษฎีนี้มักจะเกิดเป็นกระแส ๆ มาๆ ไป ๆ เป็นพัก ๆ ในช่วงของวันออกพรรษาของบางปี ซึ่งเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทีวีช่องหนึ่งที่ถูกปิดไปก็ได้เคยทำสกู๊ปว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากการยิงปืนขึ้นฟ้าของทหารลาว

เรื่องนี้ไม่เพียงถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังถูกคนรู้ทันจับผิดให้แหกด้วยการหาข้อโต้แย้งมาหักล้าง ซึ่งในสกู๊ปนั้นไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจน

พิธีรำถวายพญานาคในเทศกาลบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย (ปีก่อนโควิด-19)
ส่วนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีอาจารย์ผู้รอบรู้ท่านหนึ่ง ซึ่งมักจะแสดงตัวเป็นผู้รอบรู้ทุกเรื่อง (แต่ไม่รู้ว่าหลายครั้งที่ตัวเองแชร์มาเป็นเฟคนิวส์) ก็ได้พยายามพิสูจน์ว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากน้ำมือคน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์สิ่งที่มีคนโต้แย้งได้

ขณะที่ในปีนี้ (2564) ล่าสุดก็ได้มีเพจหนึ่งออกมาให้ข่าวว่า บั้งไฟพญานาคเกิดจากการยิงปืนของคนในฝั่ง สปป.ลาว เหมือนเคย พร้อมทั้งระบุชื่อหมู่บ้าน และไปยื่นหนังสือให้สถานทูตลาวตรวจสอบข้อเท็จจริง จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมโซเซียล ซึ่งก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเป็นของจริง หรือปาหี่ปั่นกระแสเพจตัวเอง

คำยืนยันจากชาวบ้าน


การแสดงในเทศกาลออกพรรษา บั้งไฟพญานาค (ปีก่อนโควิด-19)
หลังเกิดกรณีมีเพจหนึ่งระบุว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากการยิงปืนของคนในฝั่งลาว เมื่อวันที่ 25 ต.ค.64 ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่บ้านท่าม่วง ต.รัตนวาปี อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย จุดที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นนับร้อยลูกอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงบั้งไฟพญานาคในมิติที่พวกเขาพบเจอจากประสบการณ์ตรงในชีวิต ดังนี้

นางลำดวน เสนานิกร อายุ 50 ปี ชาวบ้านท่าม่วง เล่าว่า ตนเคยเห็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้อายุ 50 ปีแล้วก็ยังเห็นทุกปี แม้ว่าจำนวนจะลดน้อยลงไปบ้าง ชาวริมน้ำโขงเชื่อว่าเป็นบั้งไฟพญานาคที่เกิดจากพญานาคในแม่น้ำโขง เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนมาดู มีเพียงชาวบ้านที่ออกมาดูกันในวันออกพรรษา หลังจากนั้นก็มีคนมาดูมากขึ้น

แต่เมื่อมีคนต้องการพิสูจน์และบอกว่าเป็นฝีมือการยิงปืนขึ้นฟ้า ก็อยากให้พิสูจน์จนได้ผลที่แน่ชัด จะได้ไม่มีการกล่าวหาว่าชาวบ้านโกหกหลอกลวง และให้กลายเป็นตำนานกล่าวขานกันไปเลย ทั้งนี้ฝั่งตรงข้ามกับบ้านท่าม่วง ในฝั่งลาวจะเป็นบ้านห้วยสายพาย แขวงบอลิคำไซ ถัดไปเป็นบ้านหนองเขียด และหลังจากเลยคุ้งน้ำไปแล้วจะไม่มีหมู่บ้าน เป็นโขดหินริมน้ำโขง

บรรยากาศการชมบั้งไฟพญานาคปีนี้ (64) ที่ริมโขง จ.หนองคาย
ด้านนางกุหลาบ อินทะรักษา อายุ 65 ปี และนางพุด ทองแดง อายุ 58 ปี ชาวบ้านท่าม่วง ก็บอกว่า เห็นข่าวการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคแล้ว ลูกไฟที่พบนั้นไม่ใช่บั้งไฟพญานาคที่ชาวบ้านเคยเห็น บั้งไฟพญานาคของจริงจะมีลอยขึ้นมาจากแม่น้ำโขง ไม่แค่นั้น ตามหนองน้ำหรือแม้กระทั่งปลักควายก็มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้น รู้สึกเสียใจที่ได้ยินว่าเป็นการยิงปืน เชื่อว่าคนที่พูดเช่นนั้นไม่เข้าใจและไม่เคยสัมผัสกับบั้งไฟพญานาคเหมือนเช่นชาวบ้านริมน้ำโขงได้สัมผัสและพบเห็นมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า เหมือนเป็นการลบหลู่ด้วยเช่นกัน

ขณะที่นางพรม อุทัยบาน อายุ 68 ปี เคยมีสามีเป็นชาวลาวและไปใช้ชีวิตที่บ้านห้วยสายพาย แขวงบอลิคำไซ ยืนยันว่า ในคืนออกพรรษาทุกปี ชาวลาวเองก็ดูบั้งไฟพญานาคและเชื่อว่าเป็นบั้งไฟพญานาคที่เกิดมาจากใต้แม่น้ำโขงเช่นกัน แต่การดูจะไม่คึกคักเหมือนฝั่งไทย บั้งไฟพญานาคจะไม่ขึ้นสูงมากนัก แต่ปืนหรือพลุที่ยิงขึ้นฟ้าจะมีความสูงกว่าต้นไม้

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าบั้งไฟพญานาคจะเกิดจากอะไร แต่ที่ผ่านมาปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ก็ได้สร้างกระแสการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ในช่วงวันออกพรรษาได้เป็นอย่างดี ในช่วงปกติ (ที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิด-19) สามารถสร้างเงินสะพัดได้นับร้อยล้านบาท

นอกจากนี้ผู้ที่มาชมบั้งไฟพญานาคหลาย ๆ คนยังได้อานิสงส์จากพญานาคอีกต่างหาก เพราะสามารถนำจำนวนลูกไฟพญานาคที่ขึ้นหรือที่ตัวเองพบเห็น ไปตีเป็นเลขเด็ดแทงหวยถูกกันหลายต่อหลายคนแล้ว


#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น