xs
xsm
sm
md
lg

กังฟูสตันท์แมน: ลมใต้ปีกวงการภาพยนตร์ฮ่องกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หนังบู๊คลาสสิก ‘หวงเฟยหง หมัดบินทะลุเหล็ก’ (ชื่อภาษาจีน 黃飞鸿, ชื่อภาษาอังกฤษ Once Upon a Time in China) ซึ่งออกฉายในปี 1991 กำกับโดย สีว์เค่อ (หรือที่คนไทยมักเรียก ฉีเคอะ) (徐克) เป็นผลงานที่ส่งให้ ‘เจ็ท ลี’ (Jet Li) หรือ ‘หลี่เหลียนเจี๋ย’ (李连杰) ขึ้นแท่นเทียบเคียงกับ ‘บรูซ ลี’ (Bruce Lee ) หรือชื่อจีนคือ หลี่เสี่ยวหลง (李小龙) และ ‘เฉิงหลง’ (成龙) ได้อย่างภาคภูมิ

ผู้ชมหลายคนคงตื่นตากับฉากตอนจบที่หวงเฟยหงต่อสู้กับตัวร้ายบนบันไดไม้ไผ่ที่เคลื่อนไปมา แต่จะมีสักกี่คนที่จับได้ว่าคนในฉากนั้นไม่ใช่ เจ็ท ลี  แต่เป็นผลงานของนักแสดงแทนสามคน คือ ‘ห่งยันยัน’* (熊欣欣) ‘ก๊กฮิ้นชิ้ว’ (谷軒昭)* และ ‘โทนี่ เหล่งจี๋หว่า’ (凌志華)* ที่ต้องถ่ายแทนเจ็ท ลี ผู้ได้รับบาดเจ็บที่ขาก่อนถึงคิวจบ

หากใครอยากทราบผลงานการปิดทองหลังพระของนักแสดงแทนกังฟูแบบนี้อีกสามารถดูเพิ่มได้ที่ภาพยนตร์ ‘กังฟูสตันท์แมน’ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Kung Fu Stuntman ชื่อจีน: 龙虎武师) อำนวยการสร้าง กำกับ และเขียนบทโดย ‘เว่ยจวินจื่อ’ (魏君子) อุทิศให้เหล่าสตันท์แมนผู้ยอมเจ็บตัวเพื่อฉากบู๊ที่สร้างชื่อให้ภาพยนตร์ฮ่องกงบนเวทีโลก

เฉิงเสี่ยวตง ผู้กำกับคิวบู๊ หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์จากสารคดี Kung Fu Stuntman
Kung Fu Stuntman ต็มไปด้วยภาพเบื้องหลังหนังกังฟูที่หาดูได้ยาก และบทสัมภาษณ์จากสตันท์แมน ผู้กำกับคิวบู๊ ผู้กำกับภาพยนตร์ และดารานำอีกหลายคน ทั้ง ‘หงจินเป่า’ (洪金宝) ‘ดอนนี่ เยน’* (甄子丹) ‘เฉิงเสี่ยวตง’ (程小东) และฉีเคอะ

เว่ยจวินจื่อ ใช้เวลากว่าสองปีเพื่อให้ได้สิทธิในการนำคลิปวิดีโอเบื้องหลังมาประกอบในภาพยนตร์ของเขา และยังต้องเดินทางไปทั่วฮ่องกง ปักกิ่ง ฝัวซาน และเหิงเตี้ยน เพื่อบันทึกบทสัมภาษณ์

เว่ยจวินจื่อ เคยทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวทางสถานีวิทยุกระจายเสียงที่บ้านเกิดของเขาในเมืองถังซาน มณฑลเหอเป่ยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจีน เขาเริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ฮ่องกงตอนย้ายมาทำงานที่ปักกิ่ง และก่อตั้งกระดานข่าวออนไลน์ Hong Kong Film Fans เมื่อปี 2002 เพื่อให้สมาชิกได้มาแชร์รีวิวหรืองานเขียนอื่นๆเกี่ยวกับหนังฮ่องกง เว่ยจวินจื่อ บอกว่าเขาเกิดความคิดทำ Kung Fu Stuntman หลังร่วมงานเลี้ยงตรุษจีนปี 2017 ของสมาคมสตันท์แมนฮ่องกง

ภาพบางส่วนจากตัวอย่างภาพยนตร์ Kung Fu Stuntman
“ในงานเลี้ยงฯผมเห็นสตันท์แมนรุ่นเก๋าเต็มอิ่มไปด้วยความภูมิใจและจิตวิญญาณความกล้าหาญ” เว่ยจวินจื่อ กล่าว “แต่ประธานสมาคมฯ ‘ฉิ่นกาหล่อก’* (錢嘉樂) บอกว่าพออายุมากขึ้นพวกเขาก็ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ผมโตมากับการดูหนังแอ็คชั่นฮ่องกง สตันท์แมนมีความพิเศษในใจผมเสมอมา ผมก็เลยอยากสร้างหนังที่เล่าเรื่องของพวกเขา”

ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกอ้างถึงในสารคดีล้วนแล้วแต่เป็นหนังคลาสสิกที่สร้างก่อนการมาถึงของการใช้เทคนิคพิเศษและกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยของทีมงาน ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ดาราในสารคดีนำมาเล่าจึงเป็นเรื่องของความเสี่ยงอันตรายเพื่อจะถ่ายฉากบู๊

ดอนนี่ เยน จากวิดีโอเบื้องหลังที่ปรากฏในสารคดี Kung Fu Stuntman
“เราเสี่ยงชีวิตกันอย่างไม่มีเหตุจำเป็น” ดอนนี่ เยน นักแสดงชื่อดังกล่าวถึงการท้ามัจจุราชที่เขาต้องทำในช่วงครึ่งแรกของการเป็นนักแสดง “ผมทำเรื่องโง่ ๆ ไปมากเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าตัวเองคือที่สุดในด้านกังฟู ผมมักจะบอกให้คู่เล่นคิวบู๊ตีผมจริง ๆ ทั้งที่ไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน พูดง่าย ๆ คือเรายอมเสียหน้ากันไม่ได้ แต่มองอีกมุม นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมหนังกังฟูสมัยก่อนถึงสนุกกว่าสมัยปัจจุบัน”

เฉิงหลงในวัยหนุ่ม จากวิดีโอเบื้องหลังที่ปรากฏในสารคดี Kung Fu Stuntman
‘เจิ้งจื้อเหว่ย’ (曾志伟) กล่าวไว้ในสารคดีว่า “ดาราได้รับเสียงปรบมือจากความบ้าบิ่น แต่คำชื่นชมทั้งหลายส่งไปไม่ถึงเหล่าสตันท์แมน” เขายกตัวอย่าง ‘เอไกหว่า’ (Project A A计划) หนังเก่าปี 1983 ที่มีฉากเฉิงหลงกระโดดจากหอนาฬิกาสูง 15 เมตร ร่วงทะลุผ้าใบหลายชั้นก่อนจะถึงพื้น

“ไม่มีใครเคยลองคิว (บู๊) นี้ สตันท์แมนเลยต้องเล่นก่อนคนแรก พอเห็นว่านักแสดงแทนกระโดดไปแล้วยังไม่เป็นไร เฉิงหลงถึงกระโดดตาม” เจิ้งจื้อเหว่ยเผย “คนดูไม่รู้เรื่องนี้หรอก พวกเขาจำได้แค่เฉิงหลงเสี่ยงชีวิตเพื่อจะถ่ายฉากนี้”

หยุนโหมว* (元武) หนึ่งในทีมสตันท์แมนของหงจินเป่า จำได้ว่าตอนถ่ายเรื่อง ‘Long Arm of the Law’ (省港旗兵) เขาถึงกับเป็นลมหลังต้องร่วงจากห้างสรรพสินค้าชั้นห้าลงมาบนลานสเก็ตน้ำแข็งโดยไม่มีอะไรรองรับ

หยุนโหมว อดีตสตันท์แมน หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์จากสารคดี Kung Fu Stuntman
เว่ยจวินจื่อบอกว่ายุคทองของหนังบู๊ฮ่องกงอยู่ในช่วงทศวรรษ 70-90 ตอนนั้นสามารถครองการฉายในโรงภาพยนตร์ได้ถึง 2 ใน 3 เขาอธิบายเพิ่มว่าในยุคนั้นยังเป็นช่วงที่อันตรายต่อสตันท์แมนอีกด้วย พอสิ้นเสียงผู้กำกับสั่ง “คัต” เมื่อไหร่ ก็จะตามมาด้วยเสียงร้องให้เข้าไปช่วยนักแสดงแทน หรือเสียงไซเรนรถพยาบาล

“พอไม่มีมาตรการป้องกัน โอกาสบาดเจ็บก็สูงมาก” เว่ยจวินจื่อกล่าว “นักแสดงแทนเลยต้องโกหกว่าทำอาชีพอื่น เช่น ครูสอนศิลปะการต่อสู้ จะได้ทำประกันผ่าน หรือมี ‘พี่ใหญ่’ ในทีมสตันท์แมนคอยช่วยเหลือเมื่อบาดเจ็บ”

สีว์เค่อ บอกว่า “วีรกรรมของสตันท์แมนรุ่นนั้น ก่อนหน้าก็ไม่มีใครทำมาก่อน และในอนาคตก็คงไม่มีเช่นกัน”

หงจินเป่า นักแสดงบู๊ร่วมรุ่นกับเฉิงหลง หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์จากสารคดี Kung Fu Stuntman
ด้วยการนำเสนอตามลำดับเวลา สารคดีเรื่องนี้จึงได้สำรวจวิวัฒนาการและย้ำถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมนักแสดงแทนในฮ่องกงไปพร้อม ๆ กัน

ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน (ค.ศ.1966-76) ปรมาจารย์ศิลปะการต่อสู้แบบชาวเหนืออย่าง ‘อีว์จิมหยุน’* (于占元) อาจารย์ของเฉิงหลง และหงจินเป่า และ ‘หยวนเสี่ยวเถียน’ (袁小田) บิดาของการออกแบบกระบวนท่าการต่อสู้ฮ่องกง และพ่อของผู้กำกับภาพยนตร์ ‘หยวนเหอผิง’ (袁和平) ต้องออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และมาก่อตั้งสำนักกังฟูและการแสดงขึ้นที่เกาะฮ่องกง

หยวนเหอผิง ผู้กำกับภาพยนตร์ หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์จากสารคดี Kung Fu Stuntman
เมื่อเศรษฐกิจฮ่องกงเริ่มเติบโตในทศวรรษ 60 ภาพยนตร์แอ็คชั่นกำลังภายในก็โตตาม ทำให้นักเรียนสำนักกังฟูเป็นที่ต้องการของตลาด บรรดาสตันท์แมนที่กำลังรอรับงานมักมารวมตัวกัน ณ ตึกหมายเลข 19 ถนนปั๊กหอย* (Pak Hoi Street) ในเขตเหยาหม่าเตย์* (Yau Ma Tei)

ปี 1971 ‘ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง’ (The Big Boss 唐山大兄) ของบรูซ ลี กลายเป็นภาพยนตร์รายได้สูงสุดของประวัติศาสตร์ฮ่องกงในขณะนั้น ผิดกับความคาดหมายของบริษัทจัดทำภาพยนตร์ Golden Harvest ที่ก่อนปล่อยภาพยนตร์ยังกังขาอยู่ว่า บรูซ ลี จะเรียกแขกได้ไหม การจากไปของบรูซ ลีเมื่อปี 1973 ทำให้อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงชะงักไปห้าปี สตันท์แมนตกงานหลายคนต้องไปขับแท็กซี่เถื่อนหรือถึงขั้นขายเลือดกิน

ภาพบางส่วนจากตัวอย่างภาพยนตร์ Kung Fu Stuntman
การผงาดของเฉิงหลงในเรื่อง ‘ไอ้หนุ่มพันมือ’ (Snake in the Eagle’s Shadow/ 蛇形刁手) และ ‘ไอ้หนุ่มหมัดเมา’ (Drunken Master/ 醉拳) ที่ออกฉายในปี 1978 เป็นเหมือนนิมิตหมายใหม่ของหนังแอ็คชั่นคอมเมดี้ จากนั้นเจ็ท ลี กับ ดอนนี่ เยน ก็ตามมาในยุค 80 และ 90 ทั้งสองคนยิ่งสร้างชื่อให้วงการภาพยนตร์บู๊ฮ่องกง

แต่เมื่อคนทำหนังเริ่มผลิตงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ ออกมา และดาราบู๊รุ่นเก่าก็ถูกดาราหน้าใหม่เบียดตกกระป๋อง อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงก็เริ่มไถลลงสู่ยุคตกต่ำมาจนถึงทุกวันนี้ มีสตันท์แมนจำนวนน้อยนิดที่จะเปลี่ยนสายไปเป็นนักแสดงหรือผู้กำกับคิวบู๊ได้ ครึ่งหลังของสารคดีเราจึงเห็นชีวิตอันน่าเศร้าของอดีตสตันท์แมนวัยร่วงโรย

“พวกเขาไม่ได้ออมเงินไว้ (สมัยยังหนุ่ม)” เจิ้งจื้อเหว่ย กล่าว “แถมยังต้องจ่ายค่ารักษา (ที่เกิดจากความบาดเจ็บสมัยยังทำงาน)” 

ภาพบางส่วนจากตัวอย่างภาพยนตร์ Kung Fu Stuntman
เว่ยจวินจื่อ อยากจะเก็บสภาพชีวิตปัจจุบันของสตันท์แมนไว้ด้วย แต่พวกเขาก็ปฏิเสธท่าเดียว “ก็เหมือนกับทหาร พวกเขาอยากโชว์ให้เห็นแค่ด้านที่ดีพร้อมและองอาจ”

ถึงสารคดีจะจบอย่างมีความหวังด้วยภาพสมาคมสตันท์แมนฮ่องกงฝึกสอนลูกศิษย์รุ่นใหม่ แต่เว่ยจวินจื่อเองกลับเชื่อว่าอนาคตของหนังบู๊ฮ่องกงอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่

“ที่จีนมีทั้งนักกีฬามืออาชีพและผู้ฝึกวูซู (ศิลปะป้องกันตัว) พอผนวกรวมกับประสบการณ์และทักษะที่สั่งสมโดยนักทำหนังแอ็คชั่นฮ่องกง ผมว่าหนังบู๊ยังมีอนาคตที่รุ่งโรจน์”

*การถอดเสียงเป็นสำเนียงกว่างตง

แหล่งที่มาข้อมูลหลัก:
They kept Bruce Lee, Jackie Chan and Jet Li safe: Kung Fu Stuntmen film hails the unsung heroes who risked life and limb for Hong Kong movies


กำลังโหลดความคิดเห็น