xs
xsm
sm
md
lg

WHO ตั้งทีมสืบสวนโรคอุบัติใหม่รวมทั้ง‘โควิด’ ขณะ‘จีน’ติงจะหาต้นตอจริงๆต้องไปดูที่ปท.อื่นบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



WHO เปิดตัวคณะนักวิจัยทีมใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้สืบค้นเกี่ยวกับเชื้อโรคใหม่ๆ เพื่อป้องกันโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกในอนาคต รวมทั้งสืบสาวหาต้นตอไวรัสโรคโควิด-19 ที่หยุดชะงักมานาน ขณะที่ทูตแดนมังกรประจำยูเอ็นปรามการทำงานของผู้เชี่ยวชาญชุดใหม่ไม่ควรมีการเมืองมาเกี่ยวข้อง อีกทั้งควรเบนเข็มไปตรวจสอบในประเทศอื่นบ้าง

คณะผู้เชี่ยวชาญจำนวน 26 คนที่ได้รับการประกาศชื่อในวันพุธ (13 ต.ค.) มีหน้าที่ในการจัดทำกรอบโครงระดับโลกสำหรับการศึกษาที่มาของโรคอุบัติใหม่และแนวโน้มที่จะทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยขอบเขตความรับผิดชอบของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ครอบคลุมไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ด้วย

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ นอกจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว ยังมีเชื้อโรคที่มีความเสี่ยงสูงปรากฏขึ้นหรือกลับมาปรากฎอีกครั้ง เป็นต้นว่า เมอร์ส ไวรัสไข้หวัดนก และอีโบลา

ต้นปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า จะจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบที่มาของเชื้อโรคใหม่ๆ (SAGO)

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการWHO กล่าวเมื่อวันพุธ (13) ว่า ไวรัสอุบัติใหม่ที่มีศักยภาพทำให้เกิดโรคระบาดระดับท้องถิ่นและกระทั่งโรคระบาดใหญ่ระดับทั่วโลก ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงของธรรมชาติ และไวรัสโคโรนาจะไม่ใช่เป็นไวรัสสายพันธุ์สุดท้ายซึ่งมีความสามารถเช่นนี้ ดังนั้น การทำความเข้าใจที่มาของเชื้อโรคใหม่ๆ จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดในอนาคต

WHO คัดเลือกสมาชิก 26 คนของคณะที่ปรึกษาชุดนี้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยที่มีผู้ยื่นใบสมัครเข้ามาถึงกว่า 700 คน และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการคัดเลือกสมาชิกทีมนี้นาน 2 สัปดาห์

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งในทีมนี้ ได้แก่ คริสเตียน ดรอสเทน ผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาเบอร์ลิน, หยุนกุ้ย หยาง จากสถาบันจีโนมิกส์ปักกิ่ง, ฌอง-โคลด มานูเกรา จากสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศส และอิงเกอร์ เดมอน จากศูนย์วิจัยเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา

นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนที่เคยร่วมอยู่ในทีมภารกิจของ WHO-จีน ซึ่งเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น, ประเทศจีน ตอนต้นปีนี้ เพื่อการสอบสวนหาที่มาเชื้อไวรัสโคโรนาโรคโควิด-19

สำหรับคณะผู้เชี่ยวชาญชุดใหม่นี้ มีภารกิจในการประเมินข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคอย่างอิสระ จากผลการศึกษาต่างๆ ในทั่วโลกเกี่ยวกับที่มาของโควิด-19 รวมทั้งให้คำแนะนำ WHO เกี่ยวกับการพัฒนา การตรวจสอบ และการสนับสนุนการศึกษาชุดใหม่ๆ เกี่ยวกับที่มาของไวรัสโคโรนา ซึ่งอาจรวมถึง “คำแนะนำเร่งรัด” เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของWHOในการดำเนินการการศึกษาใหม่ๆ เพื่อสืบค้นต้นตอโรคระบาดใหญ่ และคำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนาคร่าชีวิตประชาชนกว่า 4.85 ล้านคนทั่วโลก นับจากพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2019

ขณะที่ ทางการจีนบอกว่าตนพรักพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกแล้ว และอนุญาตให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของWHO ได้เดินทางไปตรวจสอบที่อู่ฮั่นได้ในเดือนมกราคมปีนี้เองหลังจากนั้นทีมของ WHO ได้จัดทำรายงานขั้นต้นร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจีนซึ่งเผยแพร่ออกมาในเดือนมีนาคม

รายงานเบื้องต้นนี้ ไม่ได้ระบุข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต้นตอไวรัสของโรคโควิด-19 มาจากอะไร แต่เสนอเป็นข้อสมมติฐานที่เป็นไปได้รวม 4 ข้อ พร้อมระบุว่าสมมติฐานที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ไวรัสโคโรนามานี้จากค้างคาวและถ่ายทอดสู่คนโดยมีสัตว์อื่นเป็นพาหะอีกทีหนึ่ง ขณะสมมติฐานที่ว่า ไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาอู่ฮั่นนั้น ถูกระบุว่า “เป็นไปได้น้อยอย่างยิ่ง”

อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่า ขาดความโปร่งใส และยังไม่ได้ประเมินทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการสหรัฐฯมีความพยายามอย่างชัดเจนที่จะกดดันให้สอบสวนความเป็นไปได้นี้อย่างละเอียด

เดือนสิงหาคม จีนซึ่งแสดงความไม่พอใจโดยระบุว่าเรื่องนี้กำลังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องทางการเมืองไปแล้ว ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของ WHO ที่ต้องการตรวจสอบภาคสนามเพิ่มเติมเพื่อหาที่มาโควิด


ในการแถลงข่าววันพุธ (13) มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคเกี่ยวกับโควิด-19 ของ WHO กล่าวว่าคณะผู้เชี่ยวชาญ SAGO ควรเร่งประเมินสิ่งที่รับรู้แล้ว สิ่งที่ยังไม่รับรู้ และสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน และหวังว่า ผู้เชี่ยวชาญคณะนี้จะเสนอให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในจีนและประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเป็นที่มาของโควิด เนื่องจากไม่อาจรอช้าได้อีกต่อไป

ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของWHO ขานรับว่า นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายในการทำความเข้าใจที่มาของไวรัสโคโรนาผ่านการแบ่งปันแนวคิดและความรับผิดชอบฉันมิตร

ก่อนหน้านั้น ในวันพุธเช่นกัน เฉิน ซู เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ที่เจนีวาแถลงตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของ SAGO ไม่ควรมีการเมืองมาเกี่ยวข้อง และสำทับว่า ถ้าจะมีการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปที่ใดที่หนึ่ง ก็ควรเป็นประเทศอื่น เนื่องจากทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเคยเดินทางไปตรวจสอบที่จีนมาแล้วสองครั้ง

(ที่มา: เอเอฟพี, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น