xs
xsm
sm
md
lg

"พิศวงไทยทอง" พืชชนิดใหม่ของโลกที่อุ้มผาง สุดทึ่งหน้าตาคล้ายนกฮูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพจากเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ
พิศวงไทยทองหรือพิศวงตานกฮูก พืชชนิดใหม่ของโลกที่สวยงามน่ารักดูคล้ายนกฮูกตัวเล็กๆ ขนาดเท่าหัวไม้ขีด พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก เท่านั้น

เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพและเรื่องราวของพรรณไม้เกียรติประวัติไทย "พิศวงไทยทอง" หรือ "พิศวงตานกฮูก" พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก โดยเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด ที่จะออกดอกในช่วงปลายฝนเท่านั้น

พืชชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกโดย ดร.กนกอร​ สีม่วง นักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา​ ซึ่งร่วมกับ​ นายสุชาติ​ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ​ ต่อมารองศาสตราจารย์​ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์​ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา​ คณะวิทยาศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดร. สมราน​ สุดดี นักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช ร่วมกันตีพิมพ์เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 333(2) หน้า 287 ค.ศ.2018 

ภาพจากเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ
สำหรับคำระบุชนิด "thaithonggiana" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นัก รองศาสตราจารย์​ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ซึ่งปูชนียบุคคลของวงการพรรณไม้ของไทยตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ เก็บจากดอยหัวหมด​ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557

ทั้งนี้ดร.กนกอร ศรีม่วง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ค้นพบ ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อตอนค้นพบว่า ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด จึงเก็บตัวอย่างและบันทึกภาพ ส่งให้ รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบ จนกระทั่งทราบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของไทย “พิศวงตานกฮูก” ที่มีชื่อสามัญเรียกว่า “พิศวงไทยทอง” และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thismia thaithongiana ซึ่งพิศวงไทยทองนี้เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด ที่จะออกดอกในช่วงปลายฝนเท่านั้น

ภาพจากเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ
พืชชนิดนี้เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อราในดิน และมีระบบนิเวศหรือการดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนกับพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือความสมดุลของป่าแห่งนี้ ซึ่งในอนาคตจะได้มีศึกษานิเวศวิทยาของพืชชนิดนี้ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อย่างไร รวมไปถึงพิศวงตัวอื่นๆ ในสกุลนี้ด้วย ซึ่งความสัมพันธ์กับพืชชนิดอื่นอาจจะซ่อนอยู่ในพืชชนิดนี้ ที่ยังคงทำให้เราแปลกใจ ประหลาดใจ และเป็นปริศนาสมดังชื่อประจำสกุล “พิศวง”

สำหรับพิศวงไทยทอง หรือพิศวงตานกฮูก เป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นในป่าเต็งรังบนเขาหินปูนมีสถานภาพเป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นพืชล้มลุกอาศัยรา ลำต้นตั้งตรง สูงน้อยกว่า 2 ม.ม. เรียกได้ว่ามีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น

ภาพจากเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ

ภาพจากเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ

ภาพจากเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ
#################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น