xs
xsm
sm
md
lg

ดาราชายเป็นเหยื่อล่อ? เบื้องหลังการแบนหนุ่มหน้าสวยของจีน คืออะไรกันแน่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


หวงจื่อเทา ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อวดรูปเข้ายิมอัพกล้าม
จากกระแสล้างบางวงการบันเทิงจีนเมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นหนึ่งที่คนฮือฮาและให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือคำสั่งแบน “หนุ่มหน้าสวย” อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จะสังเกตได้ว่าหลังมีคำสั่งชุดนี้ออกมา ภาพยนตร์หรือละครทีวีหลายเรื่องที่มีกำหนดฉายเร็ว ๆ นี้ก็ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องทำการปรับเปลี่ยนเนื้อหากันยกใหญ่ เคยสงสัยไหมว่ามาตรการนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า วันนี้ลองมาฟังการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มกัน

พอสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีนออกประกาศห้ามไม่ให้มีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่สมชาย หรือ “ออกสาว” ทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิง ไลฟ์สตรีมมิ่ง และเกมสตรีมมิ่ง ดาราชายจึงต้องปรับเปลี่ยนอิมเมจกันยกใหญ่ ลบหน้าลบตาล้างเครื่องสำอาง ย้อมผมกลับไปเป็นสีดำ ภาพยนตร์และซีรีส์บ้างก็งดเผยแพร่หรือเลื่อนการฉายออกไป บัญชีผู้ใช้ของเน็ตไอดอลบางคนยังถูกระงับอีกด้วย

ไช่สี่ว์คุน ที่มา: Sohu
สื่อจีนในนิวยอร์ก NTDTV สัมภาษณ์นักวิเคราะห์สถานการณ์จีนปัจจุบัน ‘ถังจิ้งหย่วน’ (唐靖远) เขาให้ความเห็นว่า “ในแง่หนึ่ง แนวทางการบริหารของรัฐบาลจีนก็มีสัญญาณสู่แนวทางซ้ายแบบเข้มข้นย้อนยุค แต่ในระบบความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ยังโฟกัสกับโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการสู้รบอยู่ดี ขนาดกับพวกผู้หญิงก็ยังมีคำกล่าวที่ว่า ‘ไม่ชอบแต่งหน้า ชอบแต่งชุดทหาร’ (不爱红妆,爱武装) การส่งเสริมความเข้มแข็งแบบลูกผู้ชายนี้จริง ๆ แล้วมาจากความพยายามล้างสมองและควบคุมความคิดคนเพื่อให้วัฒนธรรมพรรคคอมมิวนิสต์เข้มแข็ง หรืออีกด้านหนึ่งคือเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่สงคราม จึงต้องปลุกใจให้บรรยากาศสังคมพร้อมสู้พร้อมรบ”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้กลไกประเทศในการทำให้ผู้ชายเข้มแข็ง จนบางกลุ่มเข้าใจว่าจุดประสงค์ของการกระทำเช่นนี้คือการเตรียมตัวรับมือสงคราม แต่ไม่กี่ปีมานี้ ในกองทัพจีนมักมีกรณีหนีทหารอยู่บ่อยครั้ง อดีตนาวาโทแห่งกองทัพเรือจีน ‘เหยาเฉิง’ (姚诚) กล่าวว่า “สถานการณ์กองทัพขณะนี้ ถ้าดูตั้งแต่การเกณฑ์คนเข้าทัพจะเห็นเลยว่า หนึ่ง เกณฑ์คนยากมาก สอง คนที่เกณฑ์มาได้อยู่ไปสามเดือนก็ทนลำบากไม่ไหว หนีทหารกลับไปก็เยอะ นี่ (การหนีทหาร) ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะทหารร้อยละ 70-80 ปัจจุบันเป็นเด็กรุ่นที่เกิดสมัยนโยบายลูกคนเดียว”

ลู่หาน ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้สอดคล้องกับประกาศรัฐบาล
ส่วนศาสตราจารย์ ‘โจนาธาน ซัลลิแวน’ (Jonathan Sullivan) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการจีน ณ สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มีความเห็นว่า “สำหรับผมแล้ว การเพ่งเล็งดาราชายว่าจะแต่งตัวอย่างไร แสดงออกแบบไหนมันเป็นสิ่งล่อให้หันเหไปด้านอื่น เป็นความพยายามควบคุมพฤติกรรมสังคมที่เกินเหตุไปหน่อย เหมือนตอนที่บังคับให้นักฟุตบอลเอาผ้ามาปิดรอยสัก ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นการเตรียมคนหนุ่มให้เข้าสู่สงคราม แต่แน่นอนว่าเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาอย่าง ‘เข้มแข็ง’ ของยุคสีจิ้นผิง”

สีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2012 เขาเน้นย้ำว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องนำประชาชน ต้องขยายอำนาจของพรรค และของตัวสีจิ้นผิงเอง ให้ครอบคลุมทุกมิติชีวิต เป้าหมายล่าสุดที่ถูกเพ่งเล็งคืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมบันเทิง

หากเราลองมาดูประกาศจากสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์ฯ อย่างถี่ถ้วนจะสังเกตว่าการ “มุ่งมั่นปราบปรามมาตรฐานความงามแบบ ‘ตุ้งติ้ง’ บิดเบี้ยว” นั้นอยู่ภายใต้หัวข้อ “มุ่งมั่นต่อต้านเทรนด์ความบันเทิงอย่างครอบคลุม” ทั้งย่อหน้านี้เขียนเอาไว้ว่า
“เชื่อมั่นในวัฒนธรรม สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม วัฒนธรรมปฏิวัติ และแนวคิดสังคมนิยมอันก้าวหน้า สร้างมาตรฐานอันถูกต้องของรายการบันเทิง ควบคุมดูแลการคัดเลือกนักแสดงและแขกรับเชิญ ลักษณะการแสดง เสื้อผ้าหน้าผมเครื่องแต่งกายต่าง ๆ มุ่งมั่นปราบปรามมาตรฐานความงามแบบ ‘ตุ้งติ้ง’ บิดเบี้ยว มุ่งมั่นต่อต้านเทรนด์ความบันเทิงอย่างครอบคลุม เช่น การโปรโมตเกินเหตุ อวดร่ำอวดรวย กุข่าวลือเสียหาย ข่าวฉาวแง่ลบ ‘เน็ตไอดอล’ ที่ไม่เหมาะไม่งาม และอื่น ๆ”

หลัวอวิ๋นซี นักแสดงจีนชื่อดัง
จากข้อความข้างต้น “ตุ้งติ้ง” จริง ๆ แล้วในสำนึกของรัฐบาลจีนไม่ได้หมายถึงความไม่สมชาย แต่ใกล้เคียงกับความหมายที่ว่า “แปลกประหลาดพิสดาร” มากกว่า หากพูดในแง่นี้จึงจะเชื่อมโยงได้กับเทรนด์ความบันเทิงอย่างครอบคลุม (Pan-entertainment Tendencies) ที่ประกอบไปด้วย การโปรโมตเกินเหตุ อวดร่ำอวดรวย กุข่าวลือเสียหาย ข่าวฉาวแง่ลบ และ ‘เน็ตไอดอล’ ที่ไม่เหมาะไม่งาม ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงต้องสร้างมาตรฐานใหม่ให้ถูกต้องเพื่อให้สอดคล้องกับ “ลัทธิสังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน”

แล้วดาราที่เคยถูกรัฐหมายหัวว่าเป็นพวกตุ้งติ้งล่ะ ตัวอย่างเช่น ‘คริส วู’ (吴亦凡) และ ‘ไช่สี่ว์คุน’ (蔡徐坤) ทั้งสองคนถูกมองว่าเป็น “หนุ่มตุ้งติ้ง” ในสายตารัฐ และมีจุดร่วมอีกอย่างคือทั้งคู่เคยเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย คริส วูถูกดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนไช่สี่ว์คุนเคยปล่อยอัลบั้มเพลงออนไลน์ แต่ในอัลบั้มมีเพียง 6 เพลงจากที่ควรจะมีทั้งหมด 11 เพลง ถึงจะมีคำอธิบายว่าเพลงที่เหลือถูกปล่อยภายหลัง แต่การกระทำของเขาก็ถูกมองว่าเป็นเอาเปรียบผู้บริโภค

หวังอี้ปั๋ว ย้อมสีผมกลับเป็นสีดำและแต่งหน้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดหลังประกาศของรัฐบาล
ถ้ารัฐบาลจีนตั้งใจจะพุ่งเป้าไปที่รากของปัญหาซึ่งก็คือรายได้ที่มากเกินจริงของดารานักแสดงและลัทธิทุนนิยมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมและค่านิยมผิด ๆ รัฐบาลต้องเข้ามาสร้างมาตรฐานข่าวสาร ศิลปะวรรณกรรมแบบสังคมนิยม ถ้าอย่างนั้นความ “ตุ้งติ้ง” เกี่ยวอะไรด้วย จะบอกว่าที่คริส วูล่วงละเมิดทางเพศเป็นเพราะว่าเขา “ตุ้งติ้ง” เหรอ หากคิดอีกมุม พิธีกรสถานีโทรทัศน์หูหนาน ‘เฉียนเฟิง’ (钱枫) ก็ตกอยู่ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน แล้วเขามีท่าทาง “แมน” กว่าใช่ไหมถึงได้ไม่ถูกรัฐบาลจัดระเบียบไปด้วย

จริง ๆ แล้วรัฐบาลจีนเพียงแค่ใช้มุมมองแบบสังคมนิยมมาปฏิรูปวงการบันเทิง ซึ่งก็เป็นเหตุผลและวิธีคิดแบบของจีนเอง แต่หากว่ากันตามตรง ดาราศิลปินจะประพฤติตัวดีเลวอย่างไร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความ “ตุ้งติ้ง” หรือ “ไม่ตุ้งติ้ง” เลยแม้แต่น้อย หากจีนจะใช้มาตรฐานความคิดที่แฝงการด้อยค่าความเป็นหญิงเช่นนี้ นอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อการถ่ายทอดอัตลักษณ์ของบุคคลแล้ว ยังอาจเกิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศที่สูงขึ้นอีกด้วย

เซียวจ้าน โชว์ภาพลักษณ์ที่สุขุมและเหมาะกับวัยมากขึ้น ที่มา: Weibo
ที่มา:
中共去“娘炮化” 侧映军队溃不成军

China Tells Effeminate Male Celebrities to Man Up

大陆“娘炮误国”甚嚣尘上 两岸的“性别鸿沟”China’s NRTA Issues 8 “New Commandments” to Curb Improper Practices in Entertainment Industry

กำลังโหลดความคิดเห็น