xs
xsm
sm
md
lg

การแข่งขันระหว่าง‘จีน-สหรัฐฯ’ ใครแพ้ใครชนะจะตัดสินกันที่‘การศึกษา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในเมืองหลางฟาง มณฑลเหอเป่ย ของจีน ใช้แท็บเล็ตพีซี ช่วยในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China-US contest will come down to education
By SCOTT FOSTER
13/07/2021

ระบบโรงเรียนของอเมริกาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมปลาย กำลังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมย่ำแย่ นี่เป็นการสร้างความเสียหายอย่างมโหฬารให้แก่ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ระบบโรงเรียนของจีนกลับกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ

ในวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1921) เวียนมาถึง พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวตะวันตกบางคนก็หันมาเขียนมาพูดกันใหม่อีกระลอกหนึ่ง ในเรื่องที่ว่าการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะต้องพังครืนลงมาในท้ายที่สุด และประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้ชนะ –ราวกับว่าผลลัพธ์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

พวกเขาหยิบยกเหตุผลขึ้นมาสนับสนุนความคิดเห็นของพวกเขาว่า เนื่องจากประชาธิปไตยนั้นมีความยืดหยุ่นและมีความถูกต้องชอบธรรม ขณะที่ระบอบเผด็จการรวบอำนาจของจีนทั้งไม่มีความถูกต้องชอบธรรม และทั้งแข็งทื่อปรับตัวไม่ค่อยได้จึงแตกหักได้ง่าย

พวกเขาบางรายกล่าวว่า การที่ในเวลานี้ สี กำราบปรามปราบ อาลีบาบา และพวกวิสาหกิจภาคเอกชนรายอื่นๆ จะกลายเป็นการบีบคออุดปากความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน ขณะที่บางรายย้ำว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

มีผู้จัดการกองทุนชาวอเมริกันรายหนึ่งเขียนเอาไว้ทางสื่อสังคม “ลิงกต์อิน” (LinkedIn) ว่า “จีนกำลังเอาบ่วงมารัดรอบๆ คอของภาคเอกชนและรูดให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย”

ขณะที่นิตยสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” (The Economist) ตั้งคำถามว่า “ระบอบเผด็จการรวบอำนาจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกระบอบนี้ จะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน?” แต่หลังจากพรรณนาการขบคิดใคร่ครวญของตนในเรื่องนี้ไปได้สักหน้าหนึ่ง ผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ก็สามารถสรุปได้เพียงแค่ว่า “ไม่มีพรรคการเมืองไหนยืนยาวไปได้ตลอดกาลหรอก ... เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง แม้กระทั่งราชวงศ์จีนราชวงศ์นี้ก็จะต้องยุติปิดฉากลง”

นิตยสาร (ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ) นี้ พบว่ามันน่าตื่นตกใจมากที่ “ตามถนนสายต่างๆ ของจีนกำลังเต็มไปด้วยกล้อง (วงจรปิด) อย่างชวนให้รู้สึกขนพองสยองเกล้า” ราวกับว่ากรุงลอนดอนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

แมตธิว โครนิก (Matthew Kroenig ) เสนอเหตุผลข้อโต้แย้งในเวอร์ชั่นซึ่งอยู่ในระดับยอดเยี่ยมทีเดียวเอาไว้เมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ในบทความเผยแพร่ทางนิตยสาร ดิ แอตแลนติก (The Atlantic) โดยใช้ชื่อว่า “Why the US Will Outcompete China” (ด้วยเหตุผลกลใดสหรัฐฯจึงจะสามารถเอาชนะจีนได้)
(แมตธิว โครนิก เป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ นักเขียน และนักยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ อยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์, สหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Matthew_Kroenig)
(บทความนี้ในภาษาอังกฤษดูได้ที่ https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/04/why-china-ill-equipped-great-power-rivalry/609364/)

โครนิก เขียนเอาไว้อย่างนี้:
ตามความคิดเห็นแบบคำอธิบายดั้งเดิมที่กำลังอุบัติให้เห็นกันอยู่ในเวลานี้นั้น จีนมีความได้เปรียบสหรัฐฯในส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลเผด็จการรวบอำนาจของพวกเขา สามารถที่จะวางแผนการเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวได้ โดยไม่ต้องมีภาระผูกพันยุ่งเกี่ยวกับอำนาจสาขาอื่นๆ ของรัฐบาล, การเลือกตั้งที่ต้องจัดขึ้นอยู่เป็นระยะ, ตลอดจนมติความคิดเห็นของสาธารณชน

กระนั้น ความเชื่อมั่นศรัทธาในการผงาดขึ้นมาของระบอบเผด็จการรวบอำนาจ และการเสื่อมทรุดของระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ กลับเป็นสิ่งซึ่งขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงทางประวัตศาสตร์ จีนอาจจะสามารถจัดทำและเสนอแผนการที่ใหญ่โตห้าวหาญออกมาได้ –ประเภทโครงการต่างๆ ซึ่งพวกนักวิเคราะห์ขบคิดพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวไกล— ทว่าประดาโครงการอย่างมีวิสัยทัศน์ของพวกผู้เผด็จการรวบอำนาจนั้น ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างราบรื่นเสมอไปหรอก


ไม่เสมอไปหรอก บางทีอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าในกรณีของจีนนั้น มันยืนยาวอยู่ได้เรื่อยๆ ตลอดระยะ 40 ปีที่ผ่านมา

พวกนักวิจารณ์เหล่านี้ทำเหมือนกับไม่ได้สนอกสนใจกันเลยถึงวิกฤตการณ์ต่างๆ ในการเมืองอเมริกันและการเมืองยุโรปตะวันตก หรือไม่คำนึงกันเลยถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ก็กำลังกำราบปราบปรามพวกยักษ์ใหญ่บิ๊กเทคกันอยู่เหมือนกัน รวมทั้งละเลยไม่แยแสการที่อเมริกันกำลังใช้ความพยายามเพื่อปิดกั้นไม่ให้เทคโนโลยีหลั่งไหลไปยังประเทศจีน

พวกนักวิพากษ์วิจารณ์จีนเหล่านี้กำลังล้อเลียนตัวพวกเขาเองโดยแท้

ระหว่างประชาธิปไตยกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น มันไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันอย่างสำคัญยวดยิ่งระดับเป็นตายหรอก การที่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงเช่นนั้นอยู่ก็คือการประเมินความท้าทายจากจีนจนต่ำเกินความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนแน่ๆ ระหว่างนโยบายทางอุตสาหกรรม กับ ระบบการศึกษาแบบมุ่งหวังผลทางเทคโนโลยี โดยที่ระบบเช่นนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนโยบายทางอุตสาหกรรมดังกล่าว

ในเอเชียตะวันออกนั้น ญี่ปุ่นสามารถไล่ตามทันฝ่ายตะวันตกครั้งแรกสุดเมื่อตอนที่พวกเขาเป็นจักรวรรดิปกครองโดยจักรพรรดิ และตามทันอีกครั้งในตอนที่เป็นรัฐข้าราชการและโดยสาระสำคัญแล้วปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาโดยตลอดภายหลังจากปี 1945 เป็นต้นมา โดยที่ระบบการศึกษาสมัยใหม่คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้

สำหรับเกาหลีใต้ กระบวนการสร้างอุตสาหกรรมได้รับการขับดันระลอกแรกสุดจากระบอบปกครองเผด็จการทหาร และจากนั้นโดยระบบราชการทางเศรษฐกิจในสไตล์เดียวกับญี่ปุ่น และนี่ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ระบบการศึกษาซึ่งมีมาตรฐานสูงมีบทบาทเป็นอย่างมาก

เยอรมนีในยุคนาซีครองเมือง พัฒนาเทคโนโลยีด้านจรวดขึ้นมาได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดในยุคสมัยของพวกเขา แวร์เนอร์ ฟอน เบราน์ (Wernher von Braun), เฮลมุท กรืททรัป (Helmut Gröttrup), ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวเยอรมันคนอื่นๆ ต่างมีความสำคัญระดับเป็นตายต่อพวกโครงการขีปนาวุธและโครงการอวกาศของฝ่ายอเมริกันและของฝ่ายโซเวียตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สหภาพโซเวียตเป็นชาติแรกที่ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เวลานี้ยานสำรวจของจีนก็สามารถร่อนลงไปสำรวจดาวอังคาร ขณะเดียวกันจีนก็มีสถานีอวกาศลอยอยู่กลางฟากฟ้า

กระนั้นก็ตามที ยังคงมีเหตุผลข้อโต้แย้งต่างๆ ตามมาอีก เป็นต้นว่า หลังจากการเดินหน้าไปแบบถูกบังคับเช่นนี้แล้ว ความก้าวหน้าต่อๆ ไปจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยประชาธิปไตย บางทีมันอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ในกรณีของจีนนั้น คำพูดเหล่านี้และทำนองคล้ายๆ กันนี้ ได้ถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกมาเป็นเวลากว่า 20 ปีเข้านี่แล้ว

ชั้นเรียนผ่านออนไลน์ว่าด้วยการพัฒนาทางด้านอวกาศของจีน สอนโดยนักวิจัยอาชีพ จัดขึ้นเนื่องใน “วันอวกาศ” ของจีน 23 เม.ย. 2020 ที่เมืองเอี้ยนไถ มณฑลซานตง ของจีน
ในเวลาเดียวกันนั้นเอง จีนดูเหมือนกับประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ฝ่ายตะวันตก –โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกา— มีอันสะดุดติดขัดต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างอย่างโกลาหลอลหม่านไม่ขาดสาย

เรื่องนี้มีผู้เขียนเอาไว้เยอะแยะแล้ว ดังนั้นขอให้เราหันมาเน้นหนักเรื่องทิศทางโอกาสในระยะยาว โดยใช้การศึกษาของเยาวชนเป็นตัวแทนในการพิจารณา

อย่างที่ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ แอปเปิล และคนอื่นๆ อีก ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้นั่นแหละ จีนกำลังผลิตวิศวกรออกมาเป็นจำนวนมากกว่าที่สหรัฐฯทำได้เยอะทีเดียว แล้วเมื่อตอนที่ลูกสาวของเพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมมาเรียนหนังสือเป็นเวลา 1 ปีที่โรงเรียนมัธยมปลายอเมริกันแห่งหนึ่ง เธอค้นพบว่าทักษะทางคณิตศาสตร์ของเธอนั้นล้ำหน้ากว่าหลักสูตรของอเมริกันอยู่ 2-3 ปี

หลักฐานในลักษณะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเช่นนี้น่าสนใจอยู่หรอก แต่ขอให้เราหันไปดูที่พวกข้อมูล ทั้งที่รวบรวมเอาไว้โดยศูนย์เพื่อสถิติทางการศึกษาแห่งชาติ (National Center for Education Statistics หรือ NIES) ซึ่งสังกัดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ (US Department of Education), โดยบริษัทวิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew Research Center), และโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD)

ผลการสำรวจ แนวโน้มในการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (Trends in International Mathematics and Science Study หรือ TIMSS) ประจำปี 2019 ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์ NIES จัดอันดับให้นักเรียนระดับเกรด 8 (มัธยมปีที่ 2 ของไทย) ของอเมริกัน อยู่ในอันดับที่ 16 ในด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 14 ในด้านวิทยาศาสตร์ พวกเขาสู้ไม่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนจาก สิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เกาหลีใต้, แคนาดา, ดูไบ, และประเทศทางยุโรปอีกหลายๆ ประเทศ

สภาพเช่นนี้ตรงกันกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ของพวกสมาชิกของสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science) ที่ดำเนินการโดย พิว ซึ่งพบว่า มีผู้ตอบคำถามเพียงแค่ 16% เท่านั้นที่บอกว่า การศึกษาของสหรัฐฯในด้านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, และคณิตศาสตร์ (science, technology, engineering and math ใช้อักษรย่อว่า STEM) ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมปลาย อยู่ในระดับยอดเยี่ยม หรือสูงกว่าระดับเฉลี่ย ขณะที่ 46% บอกว่ามันต่ำกว่าระดับเฉลี่ย

แล้วจีนล่ะอยู่ในอันดับเท่าไหร่?

โครงการเพื่อการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ (Program for International Student Assessment หรือ PISA) ของ OECD วัดความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปีในด้านการอ่าน, คณิตศาสตร์, และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนทักษะต่างๆ ในการรับมือกับความท้าทายที่ประสบในชีวิตจริง

ข้อมูลของ PISA ประจำปี 2018 แสดงว่า 4 มณฑลสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประสงค์ที่จะใช้เป็นตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งหมดนั้น ติดอันดับ 1 ทั้งในการอ่าน, คณิตศาสตร์, และวิทยาศาสตร์  ขณะที่สหรัฐฯอยู่ในอันดับที่ 13 ด้านการอ่าน, อันดับที่ 37 ในเรื่องคณิตศาสตร์, และอันดับที่ 18 ด้านวิทยาศาสตร์ การสำรวจของ PISA  นั้นไม่ได้ครอบคลุมอะไรใกล้เคียงกับทั่วทั้งประเทศจีนหรอก เนื่องจากประเทศนั้นยืนยันที่จะคัดเลือกให้สำรวจเฉพาะในมณฑลเหล่านี้ และทางการจีนก็ส่งผลให้แก่ OECD จากพื้นที่เหล่านี้เท่านั้น
(ดูผลสำรวจของ PISA ปี 2018 ได้ที่ https://www.oecd.org/pisa/PISA-results_ENGLISH.png)
(ดูความเห็นที่คัดค้านการที่จีนให้สำรวจเฉพาะพื้นที่เหล่านี้ได้ที่ https://www.norrag.org/how-unrepresentative-are-chinas-stellar-pisa-results-by-rob-j-gruijters/)

ขณะที่ 4 มณฑล (และนครใหญ่ที่มีฐานะเทียบเท่ามณฑล) เหล่านี้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาทางศรษฐกิจในระดับสูงที่สุดของจีน (ได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เจียงซู, และ เจ้อเจียง) รวมทั้งอีก 2 เขตบริหารพิเศษ (ฮ่องกง และ มาเก๊า) ซึ่งก็สามารถทำคะแนนติดระดับท็อป 5 เช่นกัน ต่างมีโรงเรียนระดับยอดเยี่ยม มีผลงานที่โดดเด่นน่าจับตา อีกทั้งประชากรของ 6 มณฑลและเขตบริหารเหล่านี้รวมกันแล้วอยู่ที่ 190 ล้านคน

กระนั้นพวกเขาก็ไม่ควรถูกนำมารวมอยู่ในการจัดอันดับซึ่งมุ่งเน้นที่การเปรียบเทียบประเทศต่างๆ การนำพวกเขาเข้ามาด้วยย่อมผิดฝาผิดตัว ไม่ต่างอะไรกับการเปรียบเทียบระหว่างแอปเปิลกับส้ม

ทว่ากระทั่งถ้าหากเราลบทิ้ง 6 หน่วยของจีนเหล่านี้ออกไปจากการจัดอันดับของ PISA มันก็ยังคงมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า สหรัฐฯติดอันดับที่ 34 ในด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 15 ในเรื่องวิทยาศาสตร์ นี่ยังคงเป็นผลลัพธ์ที่น่าตกใจอยู่ดี สำหรับประเทศซึ่งได้ชื่อว่ามีมหาวิทยาลัยระดับยอดเยี่ยมที่สุดของโลก (สำหรับคำถามที่ว่าสหรัฐฯยังจะสามารถรักษาอันดับมหาวิทยาลัยของตนให้อยู่ในระดับท็อปเช่นนี้เอาไว้ได้หรือไม่นั้น ผู้เขียนขอยกไปอภิปรายในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งต่างหากออกไป)


เวลาเดียวกันนั้น ตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาทีเดียว การสร้างระบบการศึกษาในระดับชั้นหนึ่ง ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ เรื่อยมา ทั้งนี้  “การฟื้นฟูและการพัฒนาการศึกษาของประชาชน” คือสิ่งที่ เหมา เจ๋อตง บรรยายว่าเป็น “หนึ่งในภารกิจซึ่งมีความสำคัญที่สุดในปัจจุบัน”

ในปี 2019 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีน ได้เผยแพร่เอกสารแผนการปรับปรุงการศึกษาสู่ความทันสมัยปี 2035 และแผนการรายละเอียดช่วงปี 2018-2022

แผนการเหล่านี้กำหนดทิศทางและวัตถุประสงค์สำหรับการสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ในประเทศจีน  ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาภาคบังคับที่กว้างขวางและมีคุณภาพสูง, การมีสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้, และการส่งเสริมเพิ่มพูนเรื่องอาชีวศึกษา

แน่นอนทีเดียว เป้าหมายของแผนการด้านการศึกษาเหล่านี้ คือการนำเอาส่วนอื่นๆ ของประเทศ ให้ขยับขึ้นไปสู่มาตรฐานซึ่งได้วางกันเอาไว้แล้วในพื้นที่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ๆ ทั้งหลาย และแทบไม่มีข้อสงสัยข้องใจเลยว่า เรื่องนี้จะสามารถดำเนินการให้ก้าวหน้าไปได้อย่างสม่ำเสมอ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นมาโดยที่ในสหรัฐฯนั้นไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกันเลย อย่างไรก็ตาม ในเอกสาร “แผนการไบเดนสำหรับนักการศึกษา, นักเรียนนักศึกษา, และอนาคตของเรา” (Biden Plan for Educators, Students, and Our Future) นั้น เนื้อหาสาระสำคัญเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่า คณะบริหารไบเดนจะจัดสรรทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นให้แก่โรงเรียนและครูอาจารย์ โดยจุดเน้นหนักอยู่ที่เรื่อง การให้ผลตอบแทนแก่ครูอาจารย์, วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการสอน, ความเท่าเทียมของโอกาสสำหรับคนยากจนและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์, สุขภาพจิตของนักเรียน, การรับมือกับความรุนแรงเรื่องอาวุธปืนในโรงเรียน, และในส่วนของระดับมหาวิทยาลัย จุดโฟกัสก็มีอย่างเช่น การผ่อนคลายภาระทางการเงินของเงินกู้ที่ให้แก่นักศึกษา

เอกสารฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า:

นักการศึกษาจำนวนมากตลอดทั้งประเทศกำลังเผชิญประสบการณ์ในเรื่อง ค่าจ้างเงินเดือนที่ถึงทางตัน, ผลประโยชน์ต่างๆ ถูกตัด, ขนาดของห้องเรียนที่กำลังใหญ่ขึ้น, และการมีทรัพยากรลดน้อยลงที่จะให้แก่นักเรียนของพวกเขา, มีครูอาจารย์จำนวนมากเกินไปที่จำเป็นต้องทำงานอาชีพอย่างที่สอง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับครอบครัวของพวกเขา

และบ่อยครั้งเกินไปแล้ว ที่ครูอาจารย์ตลอดจนบุคลากรของโรงเรียน ต้องแบกรับความรับผิดชอบต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ออกห่างไปไกลจากห้องเรียน  บรรดานักการศึกษาลงท้าย กำลังต้องควักเงินของพวกเขาเองเพื่อใช้จ่ายเรื่องการซื้อข้าวของต่างๆ ของโรงเรียน, กำลังต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและเป็นโค้ชให้แก่ครูอาจารย์คนใหม่ๆ, กำลังพยายามที่จะเข้าทดแทนผู้ทำงานด้านสังคมซึ่งขาดแคลนไม่เพียงพอ, ตลอดจนอะไรอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย


เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แผนการไบเดนนี้ เน้นหนักในเรื่องการแก้ไขปะผุและการไล่ตาม ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการก้าวนำโลก มันเป็นโปรเจ็คต์ระยะยาวอย่างหนึ่ง

เวลาเดียวกัน ขณะนี้มีการอภิปรายโต้เถียงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการศึกษา ปะทุลุกลามขึ้นมาตลอดทั่วทั้งสหรัฐฯเช่นกัน –ทว่ามันไม่ใช่เรื่องความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการศึกษาในด้าน STEM หรอก  หากแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยเชื้อชาติที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง  ตลอดจนเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์อเมริกันกันเสียใหม่

อเมริกาเวลานี้จึงอยู่ในสภาพเสมือนกับกำลังก้าวผ่านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของตนเอง นอกเหนือจากความเจ็บปวดจากการเกิดกรณีกราดยิงขึ้นที่นั่นที่นี่, การมีปัญหาคนไร้บ้าน, และปัญหาการติดยาเสพติด

ในบทความที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ชื่อ Why the US-China contest will be fought in the heartlands of America (ทำไมการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะเป็นการสู้กันในพื้นที่หัวใจของอเมริกา) คิชอร์ มาห์บูบานี (Kishore Mahbubani) นักวิชาการและนักการทูตชาวสิงคโปร์ เขียนเอาไว้อย่างนี้:

ส่วนที่อยู่ล่างสุด 50% ของประชาชนชาวจีน เป็นผู้ซึ่งเพิ่งผ่านประสบการณ์ช่วงเวลา 40 ปีที่ดีที่สุดแห่งการพัฒนามนุษย์ในระยะ 4,000 ปีของประวัติศาสตร์จีน  ในทางตรงกันข้าม ส่วนที่อยู่ล่างสุด 50% ของประชากรสหรัฐฯกลับเพิ่งผ่านประสบการณ์ของระยะเวลา 3 ทศวรรษที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะติดแหง็กชะงักงัน

ตรงนี้แหละ บางทีอาจจะเป็นจุดสำคัญที่สุดซึ่งเหล่านักวางแผนทางยุทธศาสตร์ชาวอเมริกันทั้งหลายควรจะต้องขบคิดพิจารณา เนื่องจากว่า เมื่อกล่าวกันจนถึงที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจจะไม่ได้ตัดสินแพ้ชนะกันด้วยจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินหรือจำนวนอาวุธนิวเคลียร์หรอก ตรงกันข้าม มันจะตัดสินกันตรงที่ว่าสังคมไหนกำลังทำงานได้ดีกว่าในการดูแลส่วนที่อยู่ล่างสุด 50% ของตน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/week-asia/opinion/article/3140522/why-us-china-contest-will-be-fought-heartlands-america)


และตรงที่ว่า เด็กๆ ของสังคมไหนจะสามารถอ่าน, เขียน, และนับเลข ได้ดีกว่ากัน

จีนจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างไรภายหลังสมัยการครองอำนาจของประธานาธิบดีสี นั้น แน่oอนทีเดียวว่ายังไม่มีความชัดเจนหรอก แต่ถ้าหากประวัติศาสตร์จะสามารถเป็นเครื่องชี้นำอะไรได้แล้ว มันก็น่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาล  ส่วนหนึ่งก็จะเนื่องมาจากเศรษฐกิจจีนและสังคมจีนกำลังมีการวิวัฒนาการไปอย่างเร็วรี่  ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากแนวความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับรัฐบาลและเกี่ยวกับความสัมพนธ์ระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างที่สุดเลยก็คือว่า จีนจะยุติการปรับปรุงการทหารของตนให้ทันสมัย, ถอนตัวออกจากทะเลจีนใต้, และยกเลิกแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative), และขอความช่วยเหลือจากอเมริกาให้ช่วยชี้แนะเรื่องต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและทางสังคม

ถ้าหากจะลองคาดเดากะเก็งกันดู ประเทศจีนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับกันได้ –ตัวอย่างเช่น อยู่ในลักษณะคล้ายๆ กับสิงคโปร์ เพียงแต่ว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าสิงคโปร์มากมายนัก— บางทีอาจกระทั่งน่าจะแข็งแรงกว่าและมีอิทธิพลมากกว่าจีนที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ก็ได้ ฝ่ายตะวันตกจะว่ายังไงหากว่ามันอยู่ในสภาพอย่างที่ว่านี้จริงๆ?

เมื่อเด็กๆ ชาวอเมริกันในวันนี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาอาจจะพบว่าเป็นเรื่องยากลำบากมากๆ ที่จะต้องแข่งขันกับกำลังแรงงานชาวจีนซึ่งมีการศึกษาสูง แล้วยังมีจำนวนมากกว่าพวกเขาในระดับ 4 ต่อ 1

สหรัฐฯมีปัญหาในเรื่องคุณภาพของการศึกษา ถ้าหากปัญหานี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ประชาธิปไตยทั้งหลายในโลกก็จะไม่สามารถรักษาสหรัฐฯให้รอดพ้นจากการหล่นลงอยู่เบื้องหลังได้หรอก

สกอตต์ ฟอสเตอร์ เป็นนักวิเคราะห์ซึ่งทำงานอยู่ที่ ไลต์สตรีม รีเสิร์ช (Lightstream Research) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น