xs
xsm
sm
md
lg

“ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยในผู้สูงวัย” ทำยังไงดี? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

ภาวะภูมิคุ้มกันเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยับยั้งและกลืนกินไวรัสตามธรรมชาติ และภายใต้ระบบภูมิคุ้มกันนี้ยังเป็นตัวสำคัญว่าคนๆ นั้นจะหายป่วยด้วยตัวเองมากน้อยเพียงใด


เนื่องด้วยโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จะมีผู้ป่วยส่วนใหญ่หายป่วยเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ยาอะไรเลยถึงร้อยละ 80 และมีอัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยประมาณร้อยละ 1 ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตเหล่านี้ ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตมากที่สุดประมาณร้อยละ 70-80

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “ผู้สูงวัย”แม้ไม่ได้จะติดเชื้อที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ แต่ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัสก็ตาม เพราะผู้สูงวัยนั้นจะมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Immunosenescence” [1],[2]


ภูมิคุ้มกันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการกับการติดเชื้อของไวรัส โดยระบบภูมิคุ้มกันทั้งสองระบบที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาตั้งแต่กำเนิดตามธรรมชาติที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจง (Innate immunity System) กับภูมิคุ้มกันเฉพาะเจาะจงที่เกิดจากวิวัฒนาการจากการปรับตัว (adaptive immune System)

โดยผู้สูงวัยจะมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้ลดทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งรวมถึงการลดลงของ granulocyte, monocyte, macrophages, neutrophils, natural killer cell, และ dentritic Cell ด้วย [1],[2]

ในขณะเดียวกันคุณภาพภูมิคุ้มกันเฉพาะเจาะจงที่เกิดจากวิวัฒนาการจากการปรับตัว การแบ่งตัว T-Cell ลดลงและสูญเสียความสมดุล ในขณะที่ส่วนของแอนตี้บอดี้ B-Cell ที่ใช้ในการทำลายสิ่งแปลกปลอมลดลง และจำกัด B-Cell บางอย่างสงวนเอาไว้สำหรับเซลล์ตัวเองเพิ่มมากขึ้น [2]

ในทางตรงกันข้ามในเวลาที่ภาวะร่างการเสื่อมถอยและสูญเสียความสมดุลก็กลับจะเกิด “การอักเสบรุนแรง”(ซึ่งเป็นกระบวนการของระบบภูมิคุ้มกัน) ที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถจะยับยั้งได้ และทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

นั่นหมายความว่าแม้จะติดเชื้อหรือฉีดวัคซีน โอกาสที่ภูมิคุ้มกันในส่วนที่จะเพิ่มขึ้นได้ยากกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงวัย คำถามนี้ยังมีความท้าทายอย่างยิ่งในประเด็นต่อมาที่ว่าผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากที่สุดเพราะเนื่องด้วยระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย แต่วัคซีนจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัยจริงหรือไม่เมื่อวัคซีนไม่สาามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้มากในผู้สูงวัย หรือหากทำได้ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถรักษาระดับภูมิคุ้มกันได้นานเพียงใด เนื่องด้วยเพราะความเสื่อมถอยของผู้สูงวัยเช่นกัน

ดังนั้นจะไปโทษวัคซีนว่าไม่ได้ผล หรือยารักษาโรคไม่ได้ผลอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเงื่อนไขของภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตั้งแต่การใช้ชีวิต และอายุของคนๆนั้นด้วย

การออกกำลังกายทั้งรูปแบบการใช้ออกซิเจน หรือการใช้แรงต้านวันละประมาณ 30-40 นาทีจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงวัยได้และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงวัยนอนหรือนั่งอยู่กับที่นานโดยไม่ได้ออกกำลังเคลื่อนไหว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับแสงแดดให้มากในระหว่างการออกกำลังกาย ก็จะเป็นหนทางในการเพิ่มวิตามินดี เพราะการขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในผู้สูงวัยด้วย [3]

การรับประทานอาหารกลุ่มพืชผักหลากสี (ไม่หวาน) ที่มีกากใยไฟเบอร์สูงนอกจากจะช่วยเป็นอาหารเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหารแล้ว หากเป็นผักสลัดสด หรือผักปั่นสดโดยไม่แยกกากก็จะทำให้ได้รับวิตามินที่หลากหลาย โดยเฉพาะวิตามินซีที่จะเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญเช่นกัน

อีกส่วนหนึ่งสำหรับผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวน้อย หรือเมื่อภูมิคุ้มกันตกแล้วเจ็บป่วยก็ไม่อยากจะรับประทานอาหารอะไรเลย ในขณะที่ลูกหลานและคนใกล้ชิดมักจะคะยั้นคะยอให้รับประทานมาก จะต้องตระหนักว่าการควบคุมปริมาณพลังงานแคลอรี่ในอาหารให้น้อยลงเท่าไหร่ในภาวะที่เคลื่อนไหวน้อย ก็กลับจะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นเท่านั้น[4]-[6]

แต่สำหรับการแพทย์แผนไทยและอายุรเวทอินเดียแล้วถือว่าคนสูงวัยเป็นกลุ่มที่ธาตุไฟหย่อนและมักจะเกิดโรคเกี่ยวข้องกับระบบธาตุลม อาหารส่วนใหญ่จึงควรมีเครื่องเทศที่เผ็ดร้อนเพื่อบรรเทาความผิดปกติของธาตุไฟและธาตุลมให้ลดน้อยลง ซึ่งในงานวิจัยยุคหลังพบว่าอาหารรสเผ็ดร้อนเหล่านี้จะช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกายให้ลดน้อยลง[7] รวมถึงตัวอย่าง ตำรับสมุนไพร เช่น ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)ซึ่งนอกจากจะสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าเครื่องเทศและวิตามินทั่วไปแล้ว[7] ยังสามารถช่วยลดการอักเสบได้อีกด้วย[8]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลังรังสิต

[1] Oh SJ, Lee JK, Shin OS. Aging and the Immune System: the Impact of Immunosenescence on Viral Infection, Immunity and Vaccine Immunogenicity. Immune Netw. 2019 Nov 14;19(6):e37. doi: 10.4110/in.2019.19.e37. PMID: 31921467; PMCID: PMC6943173

https://immunenetwork.org/DOIx.php?id=10.4110/in.2019.19.e37

[2] อมรรัตน์ จำเนียรทรง, ประเสริฐ สํายเชื้อ, การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ, Thammasat Medical Journal, Vol. 16 No. 2, April-June 2016 หน้า 285-296
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/tmj/article/download/81698/64981/

[3] Hunt KJ, Walsh BM, Voegeli D, Roberts HC. Inflammation in aging part 2: implications for the health of older people and recommendations for nursing practice. Biol Res Nurs 2010;11:253-60.

[4] Messaoudi I, Warner J, Fischer M, Park B, Hill B, Mattison J, et al. Delay of T cell senescence by caloric restriction in aged long-lived nonhuman primates. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 2006;103:19448-53.

[5] Yang H, Youm YH, Dixit VD. Inhibition of thymic adipogenesis by caloric restriction is coupled with reduction in age-related thymic involution. J Immunol 2009;183:3040-52.

[6] Chung HY, Kim HJ, Kim KW, Choi JS, Yu BP. Molecular inflammation hypothesis of aging based on the anti-aging mechanism of calorie restriction. Microsc Res Tech 2002;59:264-72.

[7] Monica H Carlsen, et al, The total antioxidant content of more than 3100 foods, beverages, spices, herbs and supplements used worldwide, Nutrition Journal, published 22 January 2010

[8] Rasool M, Sabina EP: Antiinflammatory effect of the Indian Ayurvedic herbal formulation Triphala on adjuvant-induced arthritis in mice. Phytother Res. 2007, 21: 889-894. 10.1002/ptr.2183.
กำลังโหลดความคิดเห็น