เอเอเฟพี/เอเจนซีส์ - สหภาพยุโรปแถลงวันนี้ (16 ก.ย.) ว่า ทำเนียบขาวไม่บอกยุโรปเรื่องนี้ถึงการจับมือตั้งกลุ่ม AUKUS 3 ชาติในอินโดแปซิฟิกเพื่อต่อต้านจีน เดินหน้าติดอาวุธเรือดำน้ำให้ออสเตรเลีย เพิ่มความวิตกสหภาพยุโรปจะถูกทอดทิ้ง ด้านฝรั่งเศสเดือดจัดออสเตรเลียยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 90 พันล้านดอลลาร์ ชี้เป็นการแทงข้างหลังอย่างชัดเจน
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (16 ก.ย.) ว่า ปีเตอร์ สตาโน (Peter Stano) โฆษกสหภาพยุโรปออกมายอมรับในวันพฤหัสบดี (16) ว่า “สหภาพยุโรป EU ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าถึงโปรเจกต์นี้หรือความริเริ่มนี้และทางเรากำลังอยู่ในการติดต่อกับพันธมิตรที่มีการเอ่ยชื่อเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้”
และเขาชี้ว่า “และทางเราแน่นอนที่สุดจะทำการหารือภายในกลุ่มสหภาพยุโรปร่วมกับชาติสมาชิกเพื่อประเมินต่อสิ่งที่เกิดขึ้น”
ขณะที่โฆษกคนที่ 2 ดานา สปิแนนต์ (Dana Spinant) ออกมายืนยันว่าพันธมิตรกลุ่ม AUKUS 3 ชาติในอินโดแปซิฟิกเพื่อต่อต้านจีนที่รวมถึงสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ที่ถูกตั้งขึ้นใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของยุโรปร่วมกับ 3 ชาติ
การตั้งพันธมิตรใหม่ทางความมั่นคงของสหรัฐฯ ทำให้มีการวิตกมากขึ้นว่าสหรัฐฯ จะตัดขาดจากยุโรปทางยุทโธศาสตร์ และผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ โจ ไบเดน เดินเกม "อเมริกา เฟิร์สต์" เหมือนสมัยทรัมป์
ทั้งนี้ ก่อนหน้าหลายชาติใน EU ออกมาตำหนิไบเดนในเรื่องการถอนกำลังทหารสหรัฐฯ-นาโตออกจากอัฟกานิสถาน โดยชี้ว่า สหรัฐฯ ไม่สนใจที่จะปรึกษาหารือกับชาติพันธมิตรยุโรป
สปุตนิกนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า ชาติที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งกลุ่ม AUKUS ที่นอกเหนือจากจีนคือ ฝรั่งเศส โดยในรายงานของสื่อรัสเซียชี้ว่า รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) เดือดจัดที่แคนเบอร์รายกเลิกข้อ ตกลงซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสมูลค่า 90 พันล้านดอลลาร์ที่ทำไว้กับบริษัทยุทโธปกรณ์ฝรั่งเศส นาวาล กรุ๊ป (Naval Group)
“นี่เป็นการแทงข้างหลังอย่างชัดเจน เราได้ก่อตั้งความสัมพันธ์แห่งความเชื่อใจร่วมกับออสเตรเลีย แต่ความเชื่อมั่นนี้กลับถูกบั่นทอนลง และในวันนี้ผมรู้สึกโกรธมากต่อการยกเลิกสัญญานี้” เลอ ดริยอง ให้สัมภาษณ์กับวิทยุฝรั่งเศส ฟรานซ์ อินโฟร์
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสยังกล่าวว่า เขาต้องการคำอธิบายในเรื่องนี้จากออสเตรเลียรวมไปถึงสหรัฐฯ
แถลงการณ์มีขึ้นหลังจากที่แคนเบอร์ราออกมาส่งสัญญาณว่าจะถอนตัวจากสัญญาข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับบริษัทนาวาล กรุ๊ป ของฝรั่งเศส
สปุตนิกนิวส์รายงานว่า ในแถลงการณ์ของออสเตรเลียเรื่องการยกเลิกการซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศส เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านความมั่นคงภายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ทำให้เรือดำน้ำแบบปกตินั้นไม่มีความเหมาะสมต่อปฏิบัติการของออสเตรเลียสำหรับในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
ฝรั่งเศสยังชี้ไปว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เลือกที่จะโดดเดี่ยว “ยุโรป” ในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของวอชิงตันอย่างเห็นได้ชัด
เลอ ดริยอง ยังออกแถลงการณ์ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงกองกำลังติดอาวุธฝรั่งเศส โฟลเรนซ์ พาร์ลี (Florence Parly) มีใจความว่า
“อเมริกาเลือกที่จะทิ้งพันธมิตรยุโรปและพันธมิตรอื่น เช่น ฝรั่งเศส จากการก่อตั้งพันธมิตรร่วมกับออสเตรเลียในเวลาที่พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่คาดไม่ถึงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ไม่ว่าจะอยู่ในแง่ของคุณค่าของเราหรือการให้ความเคารพต่อระบบพหุภาคีบนพื้นฐานเป็นไปตามตัวบทกฎหมายแสดงให้เห็นถึงการปราศจากการติดต่อประสานงาน ซึ่งฝรั่งเศสได้แต่ชี้ให้เห็นและเป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง” รายงานจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่าโพสต์
ด้าน ทอร์สเทน เบนเนอร์ (Thorsten Benner) ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะโลก (Global Public Policy Institute) ประจำกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี แสดงความเห็นถึงการก่อตั้งพันธมิตร AUKUS ที่สหรัฐฯ จับมือกับอังกฤษร่วมกับออสเตรเลียว่า ข้อตกลงใหม่นี้มีความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผลสำหรับทั้ง “สหรัฐฯ” และ “ออสเตรเลีย” ในทิศทางที่ว่า นี่คือสหรัฐฯ ไม่ใช่ฝรั่งเศส (ที่ให้หลักประกัน) ต่อความมั่นคงของออสเตรเลียหากว่ามีการเกิดการผลักดันและนำไปสู่การปะทะเกิดขึ้น
“นี่เป็นเหตุผลในด้านการทหารและการค้าที่ชนะต่อทุกความวิตกเกี่ยวกับการละทิ้งพันธมิตร แต่ผมคิดว่าวอชิงตันอาจจะประเมินต่ำเกินไปในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ฝรั่งเศสต่อการตัดสินใจนี้ และวิธีการสื่อสารกับฝรั่งเศส” เบนเนอร์ แสดงความเห็น
และชี้ว่าฝรั่งเศสอย่างไรก็ตามสมควรที่จะต้องใจเย็นลงเป็นเพราะทั้งฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ และอังกฤษและออสเตรเลียในการป้องกันผลประโยชน์ตนเองภายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ขณะที่ โนอาห์ บาร์กิน (Noah Barkin) ผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำงานให้สถาบันธิงแทงก์ของสหรัฐฯ เพื่อความร่วมมือระหว่างอเมริกาเหนือและยุโรป German Marshall Fund of United States แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ทอดทิ้งยุโรป แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ในประเด็นสำคัญต่างๆ เป็นต้นว่า เรื่องการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน และสหรัฐฯ ยังคงสั่งแบนนักท่องเที่ยวจากยุโรป
“ไบเดนไม่ใช่ทรัมป์ แต่ทว่าในสายตาจำนวนมากของชาวยุโรปพบว่า นโยบายอเมริกา เฟิร์สต์ (America First) ยังคงอยู่ นี่เป็นเสมือนลมกระโชกต่อหลายคนในยุโรปที่กำลังถกเถียงถึงนโยบายที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น”