xs
xsm
sm
md
lg

รพ.วชิระภูเก็ต ทำสำเร็จบูสเข็ม 3 ทางผิวหนัง ใช้น้อยแต่ได้ภูมิคุ้มกันสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่าฉีดทางกล้ามเนื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต วิจัยสำเร็จ ฉีดวัคซีนบูสเข็ม 3 ทางผิวหนัง ใช้วัคซีนเพียง 0.1 ml แต่ภูมิขึ้นเท่ากับฉีดวัคซีนทางกล้ามเนื้อ จำนวน 0.5 ml ผลข้างเคียงน้อยกว่า พร้อมฉีดทันทีหากกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ห้องประชุม PKCD นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคลธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมด้วย นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และนายประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ร่วมกันแถลง ถึงความสำเร็จในการศึกษาวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีน Astrazeneca แบบฉีดเข้าผิวหนังโดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 0.5 ml โดยมีภาคเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคลธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคมีความรุนแรงขึ้น การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นในส่วนของจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะการบูสเข็ม 3 แต่ปัจจุบันที่รัฐจัดหามานั้นไม่ได้เป็นไปตามความต้องการ ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีน Astrazeneca แบบฉีดเข้าผิวหนัง โดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 20% หรือ 0.5 ml โดย ซึ่งจะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้มากขึ้นถึง 5 เท่า ของการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ


ในการวิจัยนี้ได้มีอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 242 คน ที่เคยได้รับวัคซีน Sinovac แล้ว 2 เข็ม เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีดแบบทั่วไป (แบบเข้ากล้ามเนื้อ) จำนวน 120 คน โดยได้รับวัคซีน 0.5 ml และกลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดแบบใต้ผิวหนัง จำนวน 122 คน โดยได้รับวัคซีน 0.1 ml หรือ 1 ใน 5 ของการฉีดแบบทั่วไป

ผลการทดลองพบว่า ภูมิต้านทานของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปเล็กน้อย โดยผู้ที่รับการวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,662.3 AU/ml และผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,214.1 AU/ml โดยผู้รับวัคซีนทั้ง 2 กลุ่มมีค่าภูมิคุ้มเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (840 AU/ml) ซึ่งผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีน้อยกว่าการฉีดแบบทั่วไป เช่น มีไข้ หรือปวดศีรษะเพียง 70 ราย เมื่อเทียบกับ การฉีดแบบทั่วไป 98 ราย แต่การฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังจะมีผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีดเช่น ระคายเคือง และบวมแดงมากกว่าแต่ไม่เป็นที่น่าวิตกกังวล

นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าวต่อว่า ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นำโดย พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร และ พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม ได้ริเริ่มงานวิจัยนี้เพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารวัคซีนของจังหวัดภูเก็ต และน่าเป็นทางเลือกของประเทศไทยในการใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ที่ใช้ปริมาณน้อยลงถึง 5 เท่า การวิจัยนี้ทำเพื่อยืนยันผลการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังว่า ภูมิคุ้มกันหลังฉีดมีค่าเฉลี่ยเท่ากับหรือสูงกว่าการฉีดแบบทั่วไป และเป็นการเปิดมิติใหม่ในการใช้วัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชน


ส่วนจะฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังได้เมื่อไหร่นั้น นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงความพร้อมขณะนี้ในส่วนของบุคลากรมีความพร้อม แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องรอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติมาก่อน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตพร้อมที่จะนำร่องในการฉีดวัคซีน Astrazeneca แบบใต้ผิวหนังให้ชาวภูเก็ต จำนวน 200,000 คน ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ชนิด Sinovac ไปก่อนหน้านี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนภูเก็ต เราต้องฉีดวัคซีนวิธีนี้

“การกลับไปสู่วิถีชีวิตปกติความจำเป็นของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และในภาวะที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด การใช้เทคนิคการฉีดแบบใต้ผิวหนังจะใช้วัคซีนที่น้อยกว่า ทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก และน่าจะเป็นวิธีการสำคัญในการแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนของมนุษยชาติที่จะรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอีกด้วย”

ขณะที่นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของตนเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนบูสเข็ม 3 ทางผิวหนัง เพราะมีการศึกษาวิจัยมาหลายที่แล้ว และผลการวิจัยตรงกัน คือมีภูมิสูงเกือบเท่ากัน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ขณะที่ปริมาณวัคซีนที่ใช้มีน้อยกว่า ทำให้วัคซีนที่เราได้รับมาสามารถใช้ฉีดให้คนภูเก็ตและคนที่เข้ามาทำงานในภูเก็ตได้ครบทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น