xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! “ดอยเชียงดาว” เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมอุทยานฯ เผยข่าวดี “ดอยเชียงดาว” จ.เชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “ดอยเชียงดาว” จ.เชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ในระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ซึ่งองค์การยูเนสโกมีกำหนดประกาศให้และพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 20 พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก

ดอยเชียงดาวมีลักษณะของเทือกเขาฟินปูนอันโดนเด่น (ภาพ : จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
สำหรับดอยเชียงดาวมีคุณค่าสำคัญที่ควรค่าต่อการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ได้แก่

-มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของจีน

-มีภูมิประเทศเขาหินปูนอันโดดเด่น

-มีภูมิปัญญาเหมืองฝาย ตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศ ในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลางที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาเป็นเวลากว่า 40 ปี

นอกจากนี้ดอยเชียงดาวยังมีศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยมีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว

ยอดดอยหลวงเชียงดาว สูงเป็นอันดับ 3 ของเมืองไทย
“ดอยเชียงดาว” ตั้งอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูน มีดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย มีความสูง 2,225 เมตร จากระดับน้ำทะเล

สังคมพืชกึ่งอัลไพน์บนดอยเชียงดาว (ภาพ : จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ดอยเชียงดาวเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี

ดอยเชียงดาวยังเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้

กวางผา ดอยเขียงดาว (ภาพ : จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
นอกจากนี้พื้นที่บริเวณดอยเชียงดาวยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พื้นที่ดอยเชียงดาว มีความพร้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากมีสถานีวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีประสบการณ์โดดเด่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีสถานีวิจัยต้นน้ำ และสถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง

ดอยเชียงดาวยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (ภาพ : จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
สำหรับ “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศบนบก ทะเล หรือชายฝั่งทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่สงวนชีวมณฑล อยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จ.ลำปาง พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ.ระนอง

และล่าสุดพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่องค์การยูเนสโกจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ก.ย. 64


กำลังโหลดความคิดเห็น