เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส เริ่มต้นเดินทางเยือนเอเชียหนแรกในวันอาทิตย์ (22 ส.ค.) ขณะที่ชาติพันธมิตรในยุโรปและไต้หวันคิดหนักหลังไบเดน ทำให้สถานะตำรวจโลกของสหรัฐฯ สั่นคลอนในวิกฤตอัฟกานิสถาน
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (22 ส.ค.) ว่า จากการที่สหรัฐฯ ต้องรีบถอยออกมาจากอัฟกานิสถานไม่เป็นท่าทำให้สถานภาพความเป็นตำรวจโลกของสหรัฐฯ ต้องสั่นคลอน รองประธานาธิบดีหญิงเชื้อสายอินเดีย กมลา แฮร์ริส จะเริ่มต้นการเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ (22) โดยแผนการเยือนจะรวมถึงสิงคโปร์และเวียดนามเพื่อตอกย้ำพันธสัญญาของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาค
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เปิดเผยว่า “รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะแสดงความชัดเจนถึงพันธสัญญาแข็งแกร่งที่เรามีต่อภูมิภาค”
เอเอฟพีรายงานว่า แฮร์ริสเดินทางถึงสิงคโปร์วันอาทิตย์ (22) และจะเริ่มต้นการพบปะผู้นำสิงคโปร์ในวันจันทร์ (23) ด้วยเครื่องบินประจำตำแหน่งแอร์ฟอร์ซทู โดยเดินทางถึงเมื่อเวลา 10.50 น.ตามเวลาท้องถิ่นที่ฐานทัพอากาศปายา เลอบาร์ (Paya Lebar Air) หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงาน และกล่าวว่า แฮร์ริสจะอยู่ที่สิงคโปร์จนกระทั่งวันอังคาร (24) ก่อนที่จะเดินทางไปยังเวียดนามและจะเดินทางออกจากภูมิภาคในวันพฤหัสบดี (26)
โดยที่ฐานทัพอากาศสิงคโปร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนาน (Vivian Balakrishnan) จะทำหน้าที่ให้การต้อนรับ
หนังสือพิมพิมพ์สิงคโปร์รายงานว่า แฮร์ริสมาพร้อมกับคณะผู้ติดตามมากกว่า 20 คน รวมทีมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ทำเนียบขาวแถลงว่า แฮร์ริสออกเดินทางจากสหรัฐฯ มาตั้งแต่วันเสาร์ (21) และจอดแวะเติมน้ำมันที่เมืองแองคอเรจ (Anchorage) รัฐอะแลสกา และกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น โดยเธอนั้นอยู่แต่ภายในเครื่องบิน
สำหรับการเยือนเวียดนามที่จะมีขึ้นในวันอังคาร (24) แฮร์ริสจะกลายเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ
การเดินทางเยือนเอเชียของรองผู้นำสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่ทำเนียบในวันเสาร์ (21) ออกมากลับคำพูดหลังพบว่าในวันพฤหัสบดี (19) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กล่าวในการให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เอบีซีนิวส์ ว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหากถูกจีนโจมตี ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากจุดยืนเดิมของสหรัฐฯ ที่ใช้ยุทธศาสตร์แบบคลุมเคลือมาอย่างยาวนาน ซึ่งนับตั้งแต่ไบเดน ถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานและอพยพคนออกมาอย่างเร่งด่วนจนทำให้พันธมิตรนาโตและชาติยุโรปออกมาตำหนิ ล่าสุด มาจากอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์
เอเอฟพีรายงานว่า แบลร์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในปี 2001 และเป็นคนนำอังกฤษเข้าสู่สงครามอัฟกานิสถานพร้อมกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในวันเสาร์ (21) เขาได้ออกโรงตำหนิการทิ้งอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ ว่า “อันตราย” และ “ไม่จำเป็น”
โดยเขาได้กล่าวถึงการแผนการถอนกำลังของสหรัฐฯ ว่า “โง่เง่า” และไม่ได้นำโดยนโยบายที่ดี แต่นำโดยการเมืองเป็นหลัก โดยเขาชี้ไปว่า “การทิ้งอัฟกานิสถานและประชาชนมันโหดร้าย อันตราย และไม่จำเป็น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพวกเขาหรือของพวกเรา” และเสริมต่อว่า “พวกเราไม่จำเป็นต้องทำมัน แต่พวกเราเลือกที่จะทำมัน”
และแบลร์ เสริมต่อว่า “พวกเราทำมันเนื่องมาจากสโลแกนการเมืองที่โง่เง่าของการสิ้นสุดสงครามที่ไม่รู้จักจบสิ้นจากที่พวกเราเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2001 นั้นมันแทบไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้กับพันธสัญญา 20 ปีของพวกเราหรือแม้แต่ 10 ปีก่อนหน้า”
ทั้งนี้ ก่อนหน้าแบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เทเรซา เมย์ วันพุธ (18) ได้ออกมาตำหนิโดยชี้ว่า เหตุใดอังกฤษที่กระโจนร่วมรบกับอเมริกาในศึกอัฟกานิสถานแต่ต้นจึงถูกปิดตาจากเพื่อนที่อยู่อีกด้านของมหาสมุทรแอตแลนติก ยาฮูนิวส์รายงาน
ส่วนนักข่าวอาวุโสที่มีฐานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์กล่าวว่า ในภาพรวมยุโรปกำลังเดือดดาลต่อสหรัฐฯ ในเงินจำนวนมากที่สูญไป รวมไปถึงชีวิตในปฏิบัติการนาโตร่วมกับสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน
CNN รายงานเพิ่มเติมว่า มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ไบเดนเลือกที่จะติดต่อกับบรรดาผู้นำต่างชาติหลังจากอัฟกานิสถานถูกตอลิบานยึดไปแล้ว 48 ชั่วโมง โดยเขาต่อสายหานายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน บอริส จอห์นสัน ในบ่ายวันอังคาร (17) และวันพุธ (18) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล
CNN รายงานว่า การตัดสินใจของไบเดนต่ออัฟกานิสถานทำให้บรรดาชาติพันธมิตรทั้งนาโตและไต้หวันต้องคิดหนัก เพราะสหรัฐฯ กระทำการตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว โดยในวันจันทร์ (16) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานุแอล มาครง ซึ่งที่ผ่านมาออกมาเรียกร้องให้ยุโรปเพิ่มความสนใจงบทางความมั่นคงมากขึ้นเพื่อที่ยุโรปจะไม่ต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ ต่อไป โดยมาครง เตือนว่า “ยุโรปเพียงลำพังไม่สามารถแบกรับผลจากสถานการณ์ปัจจุบันได้” และเรียกความโกรธแค้นโดยกล่าวต่อว่า “ฝรั่งเศสต้องปกป้องตัวเองจากคลื่นผู้อพยพจากอัฟกานิสถาน”
เอเอฟพีชี้ว่า หลังการออกมาถอนทหารอย่างฉับพลันของสหรัฐฯ จากอัฟกานิสถานทำให้ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน กล่าวในวันพุธ (18) ผ่านเฟซบุ๊กว่า ไต้หวันจำเป็นต้องแข็งแกร่งและมีความสามัคคีมากกว่าเดิมเพื่อที่จะปกป้องตัวเองปกป้องประชาชน 23 ล้านคนจากภัยคุกคาม