xs
xsm
sm
md
lg

“พระพุทธชินราช-พระพุทธชินสีห์-พระศรีศาสดา-พระเหลือ” พระพุทธรูปพี่น้องแห่งเมืองสองแคว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


องค์พระพุทธชินราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญแห่งสยามประเทศ
“พระพุทธชินราช” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญแห่งสยามประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในเมืองไทย โดยเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

องค์พระพุทธชินราชสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ "พระพุทธชินสีห์" และ "พระศรีศาสดา" โดยมีตำนานการสร้างองค์พระรูปในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า

องค์พระพุทธชินราชที่ได้รับยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปงดงามที่สุดองค์หนึ่งในไทย
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (เชื่อว่าเป็นพญาลิไทย) ได้โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้น โดยมีพระมหาธาตุรูปปรางค์ สูง 8 วา และพระวิหารทิศ กับระเบียงรอบพระมหาธาตุ ทั้ง 4 ทิศ

พระองค์โปรดให้ช่างชาวเชลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุญชัย (ลำพูน) ร่วมกันสร้างพระพุทธรูป หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขึ้น 3 องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ โดยได้ทำพิธีเททองหล่อในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ สัปตศกจุลศักราช 317 (พ.ศ.1498) แต่เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองกลับแล่นติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง 2 องค์ คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชทองไม่แล่นติดเต็มพระองค์ ทำพิธีหล่อต่อมาอีก 3 ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ

พระพุทธชินสีห์องค์จำลองภายในพระวิหารทิศเหนือ

พระศรีศาสดาองค์จำลองภายในพระวิหารทิศใต้
ครั้งหลังสุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกตั้งสัจจาธิษฐานแล้วทำพิธีเททองหล่ออีกครั้ง ปรากฏว่าในครั้งนี้มีชีปะขาวผู้หนึ่ง มาแต่ใดไม่มีใครทราบ ได้มาช่วยปั้นหุ่นและเททองหล่อพระจนพระพุทธรูปออกมาสำเร็จสวยงามไม่มีที่ติ เล่าลือกันว่าชีปะขาวผู้นั้นคือเทวดาแปลงตัวมาช่วยหล่อพระ พระพุทธชินราชจึงได้มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก แต่เมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ชีปะขาวกลับหายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็น หมู่บ้านที่ชีปะขาวหายตัวไปนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านตาปะขาวหาย” มาจนปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น ทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ข้างต้น ยังสามารถนำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปเล็กๆ อีกองค์หนึ่ง มีชื่อว่า “พระเหลือ” ซึ่งก็ยังมีทองเหลือสามารถหล่อเป็นพระสาวกของพระเหลือได้อีกสององค์ อีกทั้งอิฐที่ก่อเตาหลอมทองและใช้ในการหล่อพระนั้นก็ได้นำเอามารวมกันก่อเป็นชุกชีสูงสามศอก ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี 3 ต้น เรียกว่า "โพธิ์สามเส้า” และได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์ อัญเชิญพระเหลือพร้อมพระสาวกเข้าประดิษฐานในวิหารนั้น เรียกว่า "วิหารหลวงพ่อเหลือ" ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช

พระเหลือ

วิหารพระเหลือ
พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์คือพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ ที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กันนี้ได้ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสืบต่อมาเป็นเวลานาน องค์พระพุทธชินราชประดิษฐาน ณ พระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตก พระพุทธชินสีห์ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ พระศรีศาสดาประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศใต้ ส่วนพระเหลือเป็นประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย เปรียบได้ดังพระพุทธรูปพี่น้องที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองสองแควพิษณุโลกมาอย่างยาวนาน

พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานคู่กับพระสุวรรณเขต ณ วัดบวรนิเวศ
แต่ในปัจจุบัน พระพุทธรูปพี่น้องกลับไม่ได้อยู่ใกล้กันอย่างในอดีต โดยในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2372 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ได้เสด็จไปเยือนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงเห็นว่าวิหารมีความชำรุดทรุดโทรม จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระนคร โดยได้อัญเชิญมาไว้ภายในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถวัดบวรฯ จึงต้องรื้อมุขด้านหลังออก จึงได้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถคู่กับพระสุวรรณเขต พระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ทำให้พระอุโบสถในวัดบวรนิเวศมีพระพุทธรูปสององค์มาจนถึงปัจจุบันนี้

พระศรีศาสดา ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน พระศรีศาสดาก็ถูกอัญเชิญมาที่พระนครเช่นกัน โดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงแพล่องไปที่วัด ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่วัดประดู่ฉิมพลี แต่รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญ เคยอยู่ในพระอารามหลวง อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่พระวิหารวัดบวรนิเวศฯ

ชาวเมืองพิษณุโลกเศร้าเสียใจยิ่งนักที่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองถึงสององค์ได้ถูกนำไปไว้ที่อื่น เหลืออยู่เพียงพระพุทธชินราชเพียงองค์เดียว แต่พระพุทธชินราชเองก็เกือบจะถูกอัญเชิญมาไว้ที่พระนครเช่นกัน โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงมองหาพระพุทธรูปที่งดงามเพื่อมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ข้อมูลจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมได้กล่าวว่า ปรากฏข้อความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงพระพุทธรูปที่จะทรงนำมาเป็นพระประธานในพระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช ว่า

“...ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเปนพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง ตลอดจนกระทั่งถึงเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน เชียงราย เมืองนครลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน พระที่ควรจะเชิญลงมาได้ก็ได้เชิญลงมาโดยมาก ที่เชิญลงมาไม่ได้ก็ได้ให้ถ่ายรูปมาดู มีพระเจ้า 5 ตื้อ พระเจ้า 9 ตื้อ พระเจ้าล้านทอง เปนต้น ก็ไม่เปนที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้งามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว...”

พระพุทธชินราชองค์จำลอง แห่งวัดเบญจมบพิตร
แต่สุดท้ายพระองค์ก็มิได้ทรงเคลื่อนย้ายหรืออัญเชิญพระพุทธชินราชออกจากเมืองพิษณุโลก พระองค์ได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ในปรารภเรื่องพระพุทธชินราช ดังนี้

“...ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเปนหลักเปนศิริของพิศณุโลก ประดิษฐานอยู่ในเมืองนั้นตั้งแต่สร้างเมืองมาถึง 900 ปีเศษแล้ว แลพระพุทธชินสีห์ซึ่งเชิญมาแต่ก่อนก็ไม่เปนที่ชอบใจของชาวเมืองพิศณุโลกเปนอันมาก ยังมีคำเล่ากันอยู่จนทุกวันนี้ว่า เมื่อเชิญออกจากพระวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เปนอันมากเงียบเหงาสงัดไปทั้งเมืองเหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไปถึง 3 ปี ชาวเมืองพิศณุโลกได้รับความยากยับไปเปนอันมากตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง....”


รัชกาลที่ ๕ ทรงเล็งเห็นแล้วว่าหากจะอัญเชิญพระพุทธชินราชลงมาพระนครจริงๆ ก็จะเป็นการทำร้ายจิตใจชาวพิษณุโลกเกินไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลองขึ้นใน พ.ศ.2444 ณ บริเวณเดิมคือที่โพธิ์ 3 เส้า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลก และอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานครต่อไป ส่วนพระพุทธชินราชองค์จริงก็ยังคงประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสองแควอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสืบมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับพระเหลือที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน ที่ยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยเช่นเดิม

ส่วนพระวิหารด้านทิศเหนือ พระวิหารด้านทิศใต้ที่เคยประดิษฐานพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดานั้น ปัจจุบันได้สร้างพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาองค์จำลองและนำไปประดิษฐานไว้แทนนั่นเอง

#################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น