xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งตารอ "ว่าที่มรดกโลก" ทรงคุณค่า 6 แห่งของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ยังคงอยู่ในห้วงแห่งความยินดีที่ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564

สำหรับขั้นตอนก่อนจะขึ้นทะเบียนสถานที่ต่างๆ เป็นมรดกโลกได้นั้น จะต้องมีชื่ออยู่ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” (Tentative List) เสียก่อน จึงจะสามารถเข้ารับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลกได้ โดยประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตนให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ขั้นตอนแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติขึ้น บัญชีนี้เรียกว่า “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ

ขั้นต่อมา ประเทศนั้นๆ จะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูลก่อนที่จะถูกตรวจสอบและพิจารณาจากองค์กรที่ปรึกษาต่างๆ จากนั้นคณะกรรมการบริหารจะมีมติเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินต่อไปในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกๆ ปี

ในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันนี้ก็มี 6 สถานที่ที่อยู่ในขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อเตรียมรอพิจารณาเป็นมรดกโลกในอนาคต หรือเรียกได้ว่าเป็นดัง “ว่าที่มรดกโลก” ของไทยต่อไป มีดังนี้

หอนางอุสาแห่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

โขดหินที่เรียกกันว่าเป็นหีบศพท้าวบารส
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ.อุดรธานี ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2547 ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี เป็นสถานที่อันแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่างๆ กัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับ ชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง พระพุทธบาทบัวบก เป็นบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาทนี้มีผักหนอกหรือบัวบกขึ้นอยู่มาก พระพุทธบาทหลังเต่า อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่าจึงเป็นที่มาของชื่อ พระพุทธบาทบัวบาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอันเก่าแก่ และมีการขุดค้นพบใบเสมาที่ทำด้วยหินเป็นจำนวนมาก ใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปบุคคล ศิลปะสมัยทวาราวดี

พระบรมธาตุเจดีย์แห่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราช
“วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” จ.นครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2555 โดยภายในวัดประดิษฐานพระบรมธาตุเมืองนคร หรือ “พระมหาธาตุเมืองนคร” หรือ “พระบรมธาตุเจดีย์” ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะแบบศรีวิชัย ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)

พระบรมธาตุเมืองนคร ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” เนื่องจากปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม ขณะที่ยามแสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอดไม่ถึงพื้น จนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงทำให้ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง โดยพระบรมธาตุเมืองนคร ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของภาคใต้ และของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งไม่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น แต่ชาวจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็นิยมเดินทางมาสักการบูชาด้วยเช่นกัน

พระธาตุดอยสุเทพ ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่เก่า

วัดเจดีย์หลวง ในกลุ่มวัดและโบราณสถานต่างๆ ในกำแพงเมืองชั้นใน
“อนุสรณ์สถานแหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา” จ.เชียงใหม่ ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2558 โดยเสนอเป็นแบบกลุ่ม 6 กลุ่ม ซึ่งมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน แสดงถึงคุณค่ายอดเยี่ยมในระดับสากลของเชียงใหม่ ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ซึ่งสถาปนาและคงอยู่ยาวนานผ่านประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้กว่า 700 ปี

สถานที่สำคัญ 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 พื้นที่ทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่เก่า ประกอบด้วย วัดพระธาตุดอยสุเทพ อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย เวียงเจ็ดลิน แม่น้ำปิง ลำน้ำแม่ข่า กลุ่ม 2 ประกอบด้วย กำแพงเมืองชั้นในทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูเมืองทั้ง 5 แจ่ง กลุ่ม 3 มีกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งเรียกว่า "กำแพงดิน" กลุ่ม 4 วัดและโบราณสถานต่างๆ ในกำแพงเมืองชั้นใน เช่น วัดเจดีย์หลวง กลุ่ม 5 วัดนอกกำแพงเมือง เช่น วัดโลกโมฬี วัดเจ็ดยอด และสถานที่นอกตัวเมืองเชียงใหม่ อย่างเวียงกุมกาม ปัจจุบันเป็นอุทยานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กลุ่ม 6 อนุสรณ์สถานร่วมสมัย แสดงให้เห็นการเผยแพร่ศาสนาเข้ามาในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ อาคารเรียนแห่งแรกของปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โบสถ์ซิกข์แห่งแรก วัดศาลเจ้าในชุมชนจีนแห่งแรก

องค์พระธาตุพนม เชื่อว่าประดิษฐานพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า

พระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง
“พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง” จ.นครพนม ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2560 พระธาตุพนมตั้งอยู่บริเวณวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงไผทางทิศตะวันตกระยะทาง 600 เมตร ตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าพระธาตุสร้างโดยพระมหากัสสปะ พระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประดิษฐาน “พระอุรังคธาตุ” (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังจากปรินิพพานแล้ว 8 ปี ถือเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง องค์พระธาตุได้รับการบูรณะและสักการบูชาจากประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและภูมิภาคต่างๆ มาตลอดระยะหลายพันปี จึงถือว่าเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก

ปราสาทหินพนมรุ้ง

บารายแห่งปราสาทเมืองต่ำ
“กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด” จ.บุรีรัมย์ ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ.2562 โดยกลุ่มโบราณสถานทั้งสามแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน โดยเป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมแบบขอมที่มีความโดดเด่นตรงที่มีบารายและระบบควบคุมน้ำมาเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือทางวิศวกรรม การก่อสร้าง การชลประทาน รวมไปถึงด้านดาราศาสตร์ด้วย

โดยปราสาทพนมรุ้งและปราสาทปลายบัด 1 และ 2 เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ มีการสร้างระบบการจัดการน้ำเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญภายในกลุ่มเทวสถานด้วยการดัดแปลงปากปล่องภูเขาไฟเป็นสระน้ำ มีการสร้างคันบังคับน้ำเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้ไหลลงสู่บารายของปราสาทเมืองต่ำ เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนบนพื้นที่ราบ ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มเทวสถานอันทรงคุณค่า มีเอกลักษณ์เป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียวในโลก มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ศิลปกรรม รวมถึงยังคงความงดงามและความครบถ้วนสมบูรณ์

ปรางค์ศรีเทพ แห่งเมืองโบราณศรีเทพ

เขาคลังใน
“เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ.2562 มีแหล่งโบราณสถานที่เกี่ยวข้อง 3 แหล่งได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ พื้นที่รวมประมาณ 8.66 ตารางกิโลเมตร โดยเมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในสมัยทวารวดี มีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู ส่วนศาสนสถานเขาคลังนอกแสดงถึงความเป็นมณฑลจักรวาลที่หลงเหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ ศาสนสถานถ้ำถมอรัตน์มีความสำคัญของศาสนสถานประเภทถ้ำ ประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากประติมากรรมในยุคสมัยเดียวกัน โดยเป็นประติมากรรมสลักลอยตัว เอียงตน และมีลักษณะสีหน้าผสมผสาน

นอกจากนั้นแล้ว ไทยก็ยังมีสถานที่ที่เตรียมเสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นให้เป็นมรดกโลกอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และระนอง ผืนป่าฮาลาบาลา ในเขตจังหวัดยะลาและนราธิวาส ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารและเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร ทางรถไฟสายมรณะ จังหวัดกาญจนบุรี เมืองเก่าสงขลา เป็นต้น ซึ่งก็ต้องเตรียมการและเตรียมข้อมูลเพื่อจะเสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นต่อไป

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น