xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า” ปัจจัยสำคัญทำให้ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้เป็นมรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


กลุ่มป่าแก่งกระจาน บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า (ภาพ : อช.แก่งกระจาน)
กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าใหญ่ที่เป็นดัง “บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า” ซึ่งยูเนสโกพิจารณา ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 คือด้านความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืช ส่งผลให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ลำดับที่ 6 ของเมืองไทย

ขอแสดงความยินดีกับ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย

กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

รู้จักมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน


กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย (ภาพ : อช.แก่งกระจาน)
กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์

กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ได้แก่

-อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
-อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
-อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี


กลุ่มป่าแก่งกระจานแหล่งต้นน้ำสำคัญ (ภาพ : ปชส.กรมอุทยานฯ)
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ในเขตภูมินิเวศ อินโด-มาลายัน มีความโดดเด่นคือ การเป็นพื้นที่พบกันของ 4 เขต สัตวภูมิศาสตร์ และ 4 เขตชีวภูมิศาสตร์พรรณพืช คือ เขตอินโด-เบอร์มีส หรือหิมาลายัน, เขตอินโด-มาเลเซียน, เขตอันนัมมาติก และเขตทะเลอันดามัน

ด้วยเหตุนี้กลุ่มป่าแก่งกระจาน จึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยอันของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี

ฝูงกระทิง อุทยานฯกุยบุรี (ภาพ : อช.กุยบุรี)
เกณฑ์ข้อที่ 10

สำหรับการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยของ “พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex (KKFC))” นั้น ยูเนสโกได้ทำการพิจารณาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล จำนวน 1 ข้อ คือ หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 (X) คือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นมรดกโลก มี 10 ข้อ ข้อที่1-6 เป็นหลักเกณฑ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ข้อที่ 7-10 เป็นหลักเกณฑ์แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ)

ช้างป่า อุทยานฯกุยบุรี (ภาพ : อช.กุยบุรี)
โดยหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือ เป็นถิ่นอาศัยทางธรรมชาติในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ โดยมีชนิดพันธุ์สำคัญที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

นกจาบคาหัวสีส้ม (ภาพ : อช.แก่งกระจาน)
ทั้งนี้ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” (ทส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะเจ้าของแหล่ง จะต้องปกป้องรักษาแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้คงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลไว้ให้ลูกหลานต่อไป

การที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในประเทศเกิดการตระหนัก รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วยประโยชน์หลักๆ เช่น

1) ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาวิจัยในระดับสากล

เสือดำ (ภาพ : อช.แก่งกระจาน)
2) ยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของแหล่ง เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

3) ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน

และ 4) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้

โดย ทส. พร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้ง ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับกฎหมาย นโยบาย มติ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยจะรักษาแหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ให้คงไว้ และสามารถส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป

บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า


จระเข้น้ำจืด (ภาพ : อช.แก่งกระจาน)
สำหรับความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นจุดเด่นสำคัญของกลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น “ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ” กองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ข้อมูลเอาไว้ดังนี้

-ความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน มีจำนวน 459 ชนิด จำแนกตามสถานภาพตามบัญชีแดงของสหภาพสากลเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List)

-สัตว์ป่าที่อยู่ในขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืด ลิ่นชวา เต่าเหลือง และ เต่าหก

สมเสร็จ ที่อช.แก่งกระจาน (ภาพ : Thailand Wildlife)
-สัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ (EN – Endangered Species) จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง วัวแดง เนื้อทราย หมาใน สมเสร็จ ช้างป่า และ ชะนีธรรมดา

-สัตว์ป่าที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ (VU – VulnerableSpecies) จำนวน 23 ชนิด เช่น เลียงผา กระทิง กวางป่า เสือดาวหรือเสือดำ

-สัตว์ป่าที่อยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT – Near Threatened Species) จำนวน 25 ชนิด เช่น ค่างแว่นถิ่นใต้ ค่างดำ ค่างหงอก พญากระรอกดำ

-สัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (LC – Least Concern Species) จำนวน 378 ชนิด

เต่าหก  ที่อช.แก่งกระจาน (ภาพ : อช.แก่งกระจาน)
จะเห็นได้ว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นดัง “บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ซึ่งเราต้องช่วยกันปกปักรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่โลกของเราตราบนานเท่านาน

รายชื่อสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (ภาพ : ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานฯ)


กำลังโหลดความคิดเห็น