xs
xsm
sm
md
lg

เผยระบบระบายน้ำท่วมเมืองเจิ้งโจวกว่า 5 หมื่นล้านหยวน ทำไมไร้น้ำยาในวิกฤตพายุฝนครั้งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เหตุการณ์มหาอุทกภัยจากพายุฝนในเจิ้งโจว กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ในตอนบ่ายวันอังคาร (20 ก.ค.) ปริมาณน้ำฝนกระฉูดเกิน 200 มิลลิเมตรภายในหนึ่งชั่วโมง กระแสน้ำท่วมไหลเชี่ยวกรากทั่วทั้งเมือง ระหว่างนั้นยังเกิดเหตุการณ์น่าสลดสะเทือนใจตามจุดต่างๆ ภาพน้ำท่วมทะลักเข้าไปในขบวนรถไฟใต้ดิน จนมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน รถยนต์ถูกน้ำพัดลอยเป็นแพ ประชาชนถูกแรงน้ำพัดพาไป...

เจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนันทางตอนกลางของจีน จัดอยู่ในกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งของประเทศจีน เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับอินเตอร์ มีประชากรอาศัยประจำในเมืองกว่า 12 ล้านคน ทั้งมณฑลเหอหนันมีประชากรราว 100 ล้านคน

ภัยพิบัติจากพายุฝนในเจิ้งโจวได้ก่อกระแสสงสัยกันว่าระบบระบายน้ำของเมืองล้มเหลวหรือ? การจัดสร้างเมืองฟองน้ำ (sponge city) ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากสหรัฐฯและแคนนาดาเพื่อ “ดูดซึม กรองเก็บ ส่ง” น้ำฝน โดยใช้งบฯหลายหมื่นล้านหยวนนั้น เป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกแล้วหรือ?

จากข้อมูลรัฐบาลท้องถิ่น ในปี 2016 เจิ้งโจวเป็นเขตทดลองเมืองฟองน้ำของมณฑลเหอหนัน ต่อมาในปี 2018 ได้เสนอโครงการสร้างเมืองฟองน้ำด้วยงบประมาณ 53,480 ล้านหยวน* (คิดเป็นเงินไทย 269,388 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมขังระบายน้ำลดภัยพิบัติของเมือง จนถึงปี 2020 การก่อสร้างเมืองฟองน้ำคิดเป็นสัดส่วน 23.6 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เมือง

ในเดือนพ.ค.ปีนี้เขตเมืองฟองน้ำสามารถระบายน้ำที่ท่วมขังถึง 77 เปอร์เซ็นต์ สื่อจีนหลายรายต่างกล่าวขวัญถึงความหวังที่จะ “ไม่เห็นทะเลกลางเมือง” อีกต่อไป


หวังจยาจั๋ว แห่งสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมการปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งจีน กล่าวว่า “เมืองฟองน้ำไม่ใช่แก้วสารพัดนึก การบรรลุเป้าหมายของการสร้างเมืองฟองน้ำไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่มีน้ำท่วมขังในเมืองไปตลอดกาล หากยังต้องยกระดับมาตรฐานป้องกันน้ำท่วมจากพายุฝน แก้ไขจุดอ่อนในห่วงโซ่การป้องกันน้ำท่วม”

“สำหรับภัยพิบัติจากพายุฝนครั้งนี้ ระบบเมืองฟองน้ำและมาตรการต่างๆที่ระดมออกมาใช้นั้นไม่สามารถรับมือกับพายุฝนระดับมหากาฬนี้ได้”


“ระบบเมืองฟองน้ำ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เตรียมพร้อมในเจิ้งโจว สามารถรับมือปริมาณน้ำฝนขนาด 70-80 มิลลิเมตรในหนึ่งชั่วโมงได้สบายๆ แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนถั่งโถมลงมาถึง 200 มิลลิเมตรในหนึ่งชั่วโมง แม่น้ำลำคลองเต็มล้นทะลัก น้ำจะระบายออกไปทางไหน? พายุฝนครั้งนี้เป็นปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather) หรือเหตุการณ์สุดขั้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ในรอบหลายร้อยปี กระทั่งในรอบพันปี ก็ว่าได้”


เจิ้งโจวได้ประกาศแผนสร้างเมืองฟองน้ำ (2017-2030) ในแผนฯซึ่งบังคับใช้ในหลายเขตของเมืองเจิ้งโจว ได้ระบุปริมาณฝนออกแบบ (Design Rainfall) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 15.7-26.5 มิลลิเมตร แต่ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ของวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกในเจิ้งโจวสูงถึง 201.9 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าเกือบ 10 เท่าของ ‘ปริมาณฝนออกแบบ’ที่ประเมินไว้ในแผนสร้างเมืองฟองน้ำ นอกจากนี้ในช่วงสามวัน (17-20 ก.ค.)ปริมาณฝนที่ตกลงมาสูงถึง 617.1 มิลลิเมตร เท่ากับปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาหนึ่งปี!

ขณะเดียวกัน ในแผนป้องกันน้ำท่วมขังในเมืองเจิ้งโจวของโครงการจัดสร้างเมืองฟองน้ำ ได้ประเมินวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดในรอบ 50 ปี/ครั้ง ขณะที่แผนอื่นๆได้ประเมินวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดในช่วง 20 ปี/ครั้ง แต่จากการวิเคราะห์ของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาเมืองเจิ้งโจว ระบุว่า ฝนตกหนักในเจิ้งโจวครั้งนี้เป็นวิกฤตการณ์ในรอบกว่าพันปี!

ดังนั้นประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมของเมืองฟองน้ำจึงไม่ผิดอะไรกับ “นำชุดเกราะกันกระสุนธรรมดาๆไปป้องกันปืนใหญ่”

“ปัญหาใหญ่ที่สุด ณ ตอนนี้คือในสถานการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว รัฐบาลได้แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าหรือไม่ ประชาชนทั่วไปรู้ถึงความเสี่ยงอันตรายได้ดีพอแค่ไหน หากประชาชนรู้ว่าอาจเกิดพายุฝนสุดขั้ว ก็อาจจัดมาตรการเลิกงานก่อนเวลา ปิดสถานีรถไฟใต้ดิน และมาตรการฉุกเฉินอื่นๆ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเมืองปักกิ่งที่เกิดพายุฝนรุนแรงในวันก่อนหน้านี้ ทางการได้ออกมาตรการต่างๆ เช่น หยุดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมและมัธยม เลิกงานก่อนเวลา เปิดเผยข้อมูล แต่ในวันที่เจิ้งโจวประสบพายุฝนพันปีที่พีคสุด ในท้องถิ่นไม่มีมาตรการใดๆออกมารับมือ


ส่วนแนวโน้มเขื่อนแตกที่อ่างเก็บน้ำที่เขื่อนฉังจวง เมืองเจิ้งโจว ในคืนวันที่ 20 ก.ค.น้ำนองถึงขีดสูงสุด เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเผยว่ามีการย้ายประชากรในสองตำบลออกจากบริเวณเสี่ยงอันตราย

หวังจยาจั๋ววิเคราะห์ว่าวิธีที่ดีที่สุดคือทอนระดับน้ำลงก่อนที่น้ำจะขึ้นสูง แต่ในสถานการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้ เมื่ออ่างเก็บน้ำเต็มก็ต้องปล่อยให้ล้นออกไป มิฉะนั้นแล้วหากเขื่อนแตกจะสร้างความเสียหายยิ่งกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น