xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ให้ สสจ.-รพ.ในต่างจังหวัด เตรียมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดจัดทำแผนจัดระบบดูแลการแยกกักตัวที่บ้าน และการกักตัวในชุมชน รองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา พร้อมจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้แต่ละจังหวัด 2-3 หมื่นเม็ด วันที่ 24 กรกฎาคม นี้

วันนี้ (22 ก.ค.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอสั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป/ชุมชน ทั่วประเทศ จัดทำแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีความต้องการที่จะเดินทางกลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการในแต่ละจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้ดำเนินการจัดทำแผนรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่กลับภูมิลำเนา บริหารจัดการเตียง และระบบดูแลการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยนำแนวทางที่ส่วนกลางกำหนดปรับใช้ให้ตรงกับบริบทแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรครับผิดชอบจัดทำกล่องสำหรับดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น จัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยที่เข้าระบบรักษาตัวที่บ้าน ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต ภายในประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาพาราเซตามอล ยาฟ้าทะลายโจร หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ทางส่วนกลางจะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปในจังหวัดต่างๆ ประมาณ 20,000-30,000 เม็ด ในวันที่ 24 กรกฎาคม นี้ สำหรับบริหารจัดการภายในจังหวัดเพื่อเกิดความสะดวก รวดเร็ว และทันเวลาในการรักษาผู้ป่วย ในส่วนการตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ขอให้จังหวัดใช้ชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit : ATK แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อความรวดเร็วในการค้นหา และแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่ระบาด นำเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที และในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 แต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนลงไปยังพื้นที่ โดยขอให้แต่ละจังหวัดเร่งดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายก่อน คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต




กำลังโหลดความคิดเห็น