xs
xsm
sm
md
lg

5 ประเพณี “เข้าพรรษา” สืบสานงานบุญทรงคุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี (ภาพจาก Facebook : ททท.สำนักงานอุบลราชธานี)
อีกไม่กี่วันก็จะถึงฤดูกาลเข้าพรรษา ซึ่งในปีนี้ วันเข้าพรรษาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2564

สำหรับในปีนี้ นับว่าเป็นเทศกาลเข้าพรรษาที่เงียบเหงาเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรง และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จึงต้องมีมาตรการหลายๆ อย่างออกมาเพื่อจำกัดการเดินทาง รวมถึงไม่ให้มีการพบปะกันของผู้คนเป็นจำนวนมาก การทำบุญตามวัดในช่วงวันเข้าพรรษา หรือประเพณีต่างๆ ที่เคยจัดขึ้น ในปีนี้จึงอาจจะมีการงดจัดงานหรือเปลี่ยนรูปแบบไป

อย่างไรก็ตาม งานประเพณีวันเข้าพรรษาในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ล้วนเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่า แต่ละงานได้รับการสืบสานและส่งต่อกันมาทั้งในชุมชนและระดับประเทศ

มารู้จักกับ “5 ประเพณีเข้าพรรษา” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนให้ไปทำบุญและชมประเพณีที่สืบสานกันมายาวนาน

ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี (ภาพจาก Facebook : ททท.สำนักงานอุบลราชธานี)

ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี (ภาพจาก Facebook : ททท.สำนักงานอุบลราชธานี)
“ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี” จ.อุบลราชธานี
ถือว่าเป็นงานประเพณีที่โด่งดังระดับประเทศ ในแต่ละปีมีผู้คนมากมายตั้งใจจะไปรอชมขบวนแห่เทียนอันงดงามวิจิตร แต่เดิมงานแห่เทียนอุบลฯ ไม่ได้จัดใหญ่โตเช่นในปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมามัดติดกับลำไม้ไผ่ มีการตกแต่งเล็กน้อยแล้วจึงแห่ไปถวายวัด สมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา เพียงแต่ชาวบ้านมักจะร่ำลือกันว่าเทียนของคุ้มวัดนี้สวยงาม ต่อมาจึงจะมีการจัดประกวดเทียนพรรษา แล้วแห่รอบเมืองก่อนจะนำไปถวายวัด

งานแห่เทียนอุบลฯ ในปัจจุบัน จะมีการประกวดเทียนพรรษา 3 ประเภท คือ ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และประเภทเทียนโบราณ โดยแต่ละคุ้มวัดจะมีชาวบ้านมารวมตัวกันประดิษฐ์เทียนพรรษาในรูปแบบต่างๆ จากนั้นจะมีการประกวดเทียนพรรษา และแห่ไปรอบๆ เมืองให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงาม

สำหรับในปีนี้ ยังคงมีการจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้ได้รับชมกันไปแบบออนไลน์ โดยปีนี้มีคำขวัญว่า "ยลเทียน(เข้า)พรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" สามารถชมแบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 22-28 ก.ค. 64 ซึ่งในวันที่ 25 ก.ค. จะมีพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทาน ณ วัดมหาวนาราม ติดตามได้ที่ Facebook : แห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี

ประเพณีแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง (ภาพจาก Facebook : ททท.สำนักงานสุรินทร์)

ประเพณีแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง (ภาพจาก Facebook : ททท.สำนักงานสุรินทร์)
“ประเพณีแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง” จ.สุรินทร์
คิดถึงจังหวัดสุรินทร์ ก็ต้องคิดถึงช้าง ที่นี่มีหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดไปแล้ว โดยเฉพาะงานประเพณีประจำจังหวัดที่มักจะมีช้างเป็นส่วนร่วมด้วย อย่างช่วงเข้าพรรษา ก็ยังมีการแห่เทียนพรรษาที่สวยงาม มีขบวนแห่ช้าง และจะมีการตักบาตรบนหลังช้าง ซึ่งถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก

การตักบาตรบนหลังช้าง พระสงฆ์จะขึ้นนั่งบนหลังช้าง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญใส่บาตร รวมถึงบริจาคเงินทำบุญให้กับช้าง โดยการตักบาตรบนหลังช้างมักจะจัดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา (ก่อนวันเข้าพรรษา)

สำหรับปีนี้ ทางจังหวัดงดการจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด

ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ (ภาพจาก Facebook : Tat Ayutthaya)

ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ (ภาพจาก Facebook : Tat Ayutthaya)
“ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ” คลองลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา
มีการจัดขบวนเรือแห่เทียนพรรษาทางน้ำ บริเวณคลองลาดชะโด อ.ผักไห่ ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ จะตกแต่งเรือแต่ละลำอย่างสวยงาม มีเทียนพรรษาที่ตกแต่งด้วยดอกไม้และของตกแต่งต่างๆ โดยขบวนเรือแห่จะมีขึ้นในวันอาสาฬหบูชา มีการร้องรำทำเพลงไปตลอดเส้นทาง

ระหว่างทางจะได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน การยกยอ ท้องทุ่งนาที่เขียวขจี มีการประกวดและการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ได้บรรยากาศแบบย้อนยุคกลางสายน้ำ

สำหรับปีนี้ ทางชุมชนแจ้งว่างดจัดงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา (ภาพจาก Facebook : Tat Ayutthaya)

ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา (ภาพจาก Facebook : Tat Ayutthaya)
“ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน” จ.สระบุรี
“ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก อันงดงามเป็นเอกลักษณ์ของชาวพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทฯ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพบูชา

ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นมรดกประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความสำคัญของชาวจังหวัดสระบุรีและประเทศไทย ที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีชาวอำเภอพระพุทธบาทจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตร กระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม โดยหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น

หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และในระหว่างที่ พระภิกษุสงฆ์เดินลงจากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระบาปของตนด้วย

ในปีนี้ ทางวัดพระพุทธบาท ประกาศงดจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

ประเพณีใส่บาตรเทียน (ภาพจาก Facebook : TAT NAN)

ประเพณีใส่บาตรเทียน (ภาพจาก Facebook : TAT NAN)
“ประเพณีใส่บาตรเทียน” จ.น่าน
ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งวัดบุญยืน อ.เวียงสา จ.น่าน ถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นประเพณีที่มีทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ใส่บาตรร่วมกัน โดยเอกลักษณ์ของประเพณีคือการใส่บาตรด้วยเทียน

ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรทุกรูปในเวียงสา ได้กำหนดเอาวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น
ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้ นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ - สามเณร

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางวัดจึงยังไม่มีกำหนดการจัดงานในปีนี้

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น