xs
xsm
sm
md
lg

มาเหนือเมฆ จีนใช้ BTC เจาะยางศก.มะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เป้าหมายที่แท้จริงของจีนอาจไม่ใช่การประกาศสงครามกับคริปโต แต่เป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจอเมริกาอย่างแยบยล
การไล่กวาดล้างเหมืองบิตคอยน์และคริปโต แท้จริงแล้วอาจเป็นแผนการของพญามังกรในการซุ่มเจาะยางเศรษฐกิจอเมริกามากกว่าการประกาศสงครามกับสกุลเงินดิจิตอลแบบที่หลายคนเข้าใ

สงครามการค้าอเมริกา-จีนถึงวันนี้ล่วงเข้าสู่ปีที่ 4 และผลลัพธ์ที่เห็นกันอยู่ต่างจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดหวังไว้ไกลลิบ เพราะการขึ้นภาษีศุลกากรและแซงก์ชันบริษัทหลายแห่งของจีนกลับทำให้คนอเมริกันตกงานถึง 245,000 คน สภาหอการค้าอเมริกันยังคาดว่า สถานการณ์นี้อาจทำให้การส่งออกของแต่ละรัฐตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น การส่งออกของฟลอริดาที่ขณะนี้เสียหายแล้วเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์

ในทางกลับกัน จีนกลับเดินหมากอย่างแยบยล เพราะไม่เพียงงดแก้แค้นด้วยการแซงก์ชันและหันไปส่งออกผลิตภัณฑ์ผ่านคนกลางอย่างเวียดนาม ไต้หวัน และเม็กซิโกแล้ว พญามังกรยังทำให้อเมริกาต้องควักกระเป๋าจ่ายสำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ปลอดภัยและไร้การควบคุมอย่างเงินสกุลดิจิตอล

รับทรัพย์นับพันล้าน
คอยน์เทเลกราฟรายงานว่า แต่ละปีอเมริกาอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจจีนหลายพันล้านดอลลาร์โดยไม่เฉลียวใจ จากการที่บิตคอยน์ (บีทีซี) ที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์เป็นหลักนั้น ขุดกันในจีนซึ่งเป็นที่ตั้งเหมืองคริปโต 65% ของทั่วโลก

คอมพิวเตอร์ทรงพลังในเหมืองบิตคอยน์ทำงานแบบไม่หยุดพักทั้งวันทั้งคืนทุกวัน โดยเหรียญที่ผลิตใหม่ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ตลาดคริปโตโดยตรง ที่เหลือเก็บไว้ในวอลเล็ตของผู้ขุดซึ่งท้ายที่สุดก็ขายออกไปและรับดอลลาร์เข้ากระเป๋า โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละวันจะมีการขุดบิตคอยน์ 900 เหรียญ ทำรายได้รวมประมาณ 31 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลถึงปลายเดือนมิถุนายน) เท่ากับว่า แค่ปีเดียวเหมืองขุดสามารถโกยเงินเหนาะๆ กว่า 10,000 ล้านดอลลาร์

เฉพาะเหมืองในจีนนั้นว่ากันว่า รับทรัพย์ไปราว 7,000 ล้านดอลลาร์นับจากฤดูร้อนที่ผ่านมา และถ้าราคาและความนิยมในบิตคอยน์ยังขึ้นต่อ รายได้ของเหมืองขุดเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าทุกปี และวนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของจีนทั้งด้วยการใช้จ่าย เก็บออม และต่อยอดลงทุน

ใต้ปีกพรรคคอมมิวนิสต์
รัฐบาลจีนตระหนักดีทั้งในเรื่องวอลุ่มและความสำคัญในการลงทุนในตลาดคริปโตด้วยเงินดอลลาร์ ดังนั้น แม้เพิ่มกฎระเบียบเข้มงวด แต่เห็นได้ชัดว่า ปักกิ่งไม่มีแผนแบนบิตคอยน์

จีนจำกัดการทำธุรกรรมคริปโตสำหรับแบงก์และการชำระเงินของบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ปี 2013 สี่ปีต่อมา ยังสั่งปิดตลาดเทรดคริปโตในท้องถิ่นและปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่คนจีนยังครอบครองคริปโตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจนถึงขณะนี้ ตีความได้ว่า ด้านหนึ่งนั้นปักกิ่งต้องการป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงของนักลงทุนรายย่อยถูกถ่ายโอนไปยังระบบการเงินส่วนรวม แต่อีกด้านยังคงเปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ

ขณะเดียวกัน ทางการจีนเริ่มจำกัดการขุดเหรียญที่ทำให้นักลงทุนมากมายกังวล เหตุผลอย่างเป็นทางการคือสิ้นเปลืองพลังงานมโหฬารและยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางด้านคาร์บอนภายในปี 2060 ทว่า สถานการณ์จริงต่างจากแถลงการณ์อย่างเป็นทางการที่ออกมา

ข้อแรกเลยเหมืองขุดในจีนใช้ไฟฟ้าพลังน้ำที่ต้นทุนถูก สะอาด และผลิตจากมณฑลทางใต้ และเพิ่งสลับไปใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลระหว่างฤดูหนาวที่แห้งแล้งที่มีการย้ายเหมืองขึ้นทางเหนือเท่านั้น

ข้อสอง ปักกิ่งแบนโครงการเหมืองคริปโตใหม่และเหมืองเดิมเฉพาะในมณฑลชิงไห่ ซินเจียง และเขตปกครองตนเองมองโกเลีย ส่วนมณฑลอื่นๆ ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยูนนานหรือเสฉวนนั้นยังไม่รีบร้อนแบนเหมืองเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนว่า จีนพยายามจัดระเบียบมากกว่าประกาศสงครามกับคริปโต นอกจากนั้นข้อจำกัดทางเทคนิคของบิตคอยน์ยังเข้าทางปักกิ่ง เพราะช่วยให้จีนมีอิทธิพลต่อราคาคริปโตขณะที่ยังคงอยู่ในวอลเล็ตของเหมืองและไม่ได้ปล่อยขายในตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม หากข้อจำกัดเข้มงวดเกินไป อำนาจในการควบคุมเหมืองอาจกระจายไปยังประเทศอื่นๆ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์ขุดเหรียญของจีน ได้แก่ บีทีซี, ท็อป, หั่วปี้ และแฮชคาว ประกาศว่า กำลังระงับการขายในประเทศและขยายออกต่างแดน ซึ่งรวมถึงอเมริกาเหนือ

ขานรับครึกโครม
จากสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่นี้ ดูเหมือนอเมริการับส้มหล่นจากความเป็นไปได้ในการโยกย้ายเหมืองคริปโตจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญท้วงว่า อเมริกาเหนือไม่มีศักยภาพพลังงานที่เหมาะสม นอกจากนั้นการโยกย้ายยังใช้เวลานานและอาจเปิดช่องให้คู่แข่งแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

แนวคิดในการเข้าควบคุมไม่เฉพาะการทำธุรกรรมคริปโตแต่รวมถึงเหมืองบิตคอยน์ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา ในอิหร่านนั้น เหมืองบิตคอยน์กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เข้าถึงได้มากที่สุดท่ามกลางการแซงก์ชันของอเมริกา และขณะนี้ทางการเตหะรานกำลังเดินรอยตามจีนเกือบทุกฝีก้าว เช่น แบนการใช้คริปโตที่ผลิตนอกประเทศ แต่ยอมให้ใช้เหรียญที่ขุดในประเทศจ่ายค่าสินค้านำเข้า ปีที่ผ่านมา อิหร่านโกยรายได้จากเหมืองคริปโตกว่า 400 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าที่อเมริกาได้จากเหมืองขุดในประเทศแค่ครึ่งเดียว

อีกประเทศที่มีแผนพัฒนาโปรเจ็กต์เหมืองคริปโตคือเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ยอมรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล กำลังพิจารณาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% จากภูเขาไฟที่ทั้งถูกมากและสะอาดมาสร้างรายได้ผ่านเหมืองขุดเหรียญ

จีนยังอาจใช้การส่งออกของเหมืองคริปโตในประเทศเป็นอาวุธบ่อนทำลายเศรษฐกิจอเมริกา ขณะที่วอชิงตันไม่มีปัญญาหยุดยั้งการไหลออกของดอลลาร์จากการทำธุรกรรมได้ เพราะการแบนคริปโตจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในสายตาอเมริกันชน

ทางเลือกเดียวของรัฐบาลสหรัฐฯ คือ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้บิตคอยน์น่าสนใจน้อยลง ด้วยเหตุนี้อยู่ๆ อีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ จึงเลิกหนุนบิตคอยน์ดื้อๆ แถมวิจารณ์ว่า สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรมเดียวกันนี้ปรากฏให้เห็นจากกรีนพีซที่ไม่ยอมรับการบริจาคด้วยคริปโตอีกต่อไป หลังจากยอมรับมา 7 ปีเต็ม จึงดูเหมือนว่า โปรเจ็กต์ต้านบิตคอยน์อาจมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองมากกว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมล้วนๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น