(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Hybrid war could replace ‘forever war’ in Afghanistan
by MK Bhadrakumar
08/07/2021
สหรัฐฯอาจคิดว่าตนเองสามารถประคับประคองให้สงครามความขัดแย้งไม่รู้จบในอัฟกานิสถาน ดำเนินต่อไปในรูปลักษณ์ที่แฝงเร้นอีกอย่างหนึ่ง ทว่าแผนการเปิดสงครามลูกผสมทำนองเดียวกับที่ดำเนินอยู่ในซีเรียนั้น ดูมืดมนเต็มทีและมีหวังจะต้องล้มเหลว
เดอะเทเลกราฟ (The Telegraph) หนังสือพิมพ์ออกในสหราชอาณาจักร ทำตัวเป็นผู้ปล่อยข่าวหยั่งกระแสเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยบอกว่าลอนดอนกำลังพิจารณาที่จะให้มีทหารปฏิบัติการพิเศษชั้นนำหน่วยหนึ่งไปประจำการอยู่ในอัฟกานิสถานแบบไม่มีกำหนดเวลาเสร็จสิ้นภารกิจ “เพื่อให้การฝึกอบรมแก่หน่วยต่างๆ ของอัฟกานิสถาน รวมทั้งส่งไปอยู่ประจำกับพวกเขาในภาคสนามในฐานะที่ปรึกษา”
เวลาเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐฯก็รายงานว่า ทำเนียบขาวได้อนุมัติให้ พลเอก ออสติน มิลเลอร์ (Austin Miller) ผู้บัญชาการทหารอเมริกันระดับสูงสุดในอัฟกานิสถาน ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมของเขาต่อไป “อย่างน้อยอีกสองสามสัปดาห์” หลังจากที่กองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกมาจนหมดสิ้นเรียบร้อยแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2021/07/04/us/politics/us-afghanistan-withdrawal.html)
เมื่อลองนำเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาต่อเชื่อมกัน มันก็ดูเหมือนว่าสหรัฐฯกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อแทนที่ “สงครามไม่รู้จบ” (forever war) ในอัฟกานิสถาน ด้วยสงครามลูกผสม (hybrid war) คล้ายๆ กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย ความสำเร็จอย่างน่าตื่นตะลึงของรัสเซียในการพลิกสถานการณ์ซึ่งช่วยรับประกันการอยู่รอดของระบอบปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในซีเรีย กลายเป็นแบบอย่างสำหรับให้พวกผู้บังคับบัญชาของเพนตากอนคิดลอกเลียนแบบ
ดังนั้น มิลเลอร์จะทำหน้าที่ “ช่วยเปลี่ยนแปลงพลิกผันภารกิจทางทหารของอเมริกัน” ให้เข้าสู่สงครามลูกผสม โดยที่เพนตากอนก็ได้มีการเตรียมการในเรื่อง “พวกศักยภาพระดับเหนือเส้นขอบฟ้า” เป็นต้นว่า พวกเครื่องบินรบอเมริกัน ตลอดจนโดรน “รีปเปอร์” (Reaper) ติดอาวุธ ที่มีฐานแห่งหลักๆ อยู่ทางแถบอ่าวเปอร์เซีย เหล่านี้จะเข้าร่วมการปฏิบัติการหรือคอยสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายอัฟกัน ในการสู้รบกับกลุ่มตอลิบานต่อไป
สหรัฐฯยังคงวาดหวังที่จะจัดระเบียบปรับปรุงพวกสมรรถนะและทรัพย์สินสำหรับการต่อสู้การก่อการร้ายในภูมิภาคแถบนั้นกันเสียใหม่ ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของอุซเบกิสถาน และของทาจิกิสถาน ต่างได้รับเชิญให้ไปวอชิงตันเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อการปรึกษาหารือในการจัดทำแผนสนับสนุนทั้งหลาย ซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถอาศัยใช้ประโยชน์จากประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะอุซเบกิสถานนั้นดูมีความโน้มเอียงที่จะเห็นดีเห็นงามด้วย จึงเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีอัชรัฟ กอนี (Ashraf Ghani) ของอัฟกานิสถาน รีบไปเยือนกรุงทาชเคนต์ (เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน) เพื่อติดตามผล (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-and-uzbek-foreign-minister-abdulaziz-kamilov-before-their-meeting/, https://www.state.gov/secretary-blinkens-meeting-with-uzbekistan-foreign-minister-kamilov/, https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-and-tajikistan-foreign-minister-sirojiddin-muhriddin-before-their-meeting/, https://www.state.gov/secretary-blinkens-meeting-with-tajikistan-foreign-minister-muhriddin/, และ https://www.state.gov/the-eighth-u-s-tajikistan-annual-bilateral-consultations/)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ วอชิงตันกำลังหาทางปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งของกองกำลังบางหน่วยบางกองให้ไปอยู่ในอุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน นี่หมายความว่า กองทหารระดับชั้นหนึ่ง, โดรน, เครื่องบินทิ้งระเบิด, และทรัพย์สินด้านข่าวกรอง จะถูกจัดวางเอาไว้ตามฐานทัพหรือสถานที่ปลูกสร้างอันเหมาะสมต่างๆ ในประเทศเอเชียกลางเหล่านี้ ให้สามารถนำมาใช้งานได้ในแบบเรียลไทม์ เพื่อการเข้าแทรกแซงในสงครามสู้รบกับกลุ่มตอลิบาน
ยุทธศาสตร์ใหญ่
เฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในซีเรีย ในอัฟกานิสถานก็มีพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวอัฟกันกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจจะสามารถนำเอามาใช้ในการสู้รบกับตอลิบานได้ อันที่จริงเหล่าขุนศึกชาวอัฟกันหลายต่อหลายคน ในอดีตได้เคยทำงานกับเพนตากอนและสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) มาก่อนแล้วด้วยซ้ำไป สิ่งที่สำคัญพอๆ กัน ยังมีพลังล็อบบี้ของพวกผู้รับเหมารับจ้างทำงานให้เพนตากอน ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากๆ ในหมู่ชนชั้นนำของวอชิงตัน และทำเนียบขาวก็มีหวังเป็นอย่างมากๆ ที่จะขยายสัญญาข้อตกลงว่าจ้างที่ทำกับกลุ่มเหล่านี้ต่อไปอีก
ยุทธศาสตร์ใหญ่ในครั้งนี้จึงจะประกอบด้วย ก) เพิ่มพูนศักยภาพของพวกกองกำลังอาวุธชาวอัฟกันทั้งหลาย ซึ่งจะปฏิบัติการปกป้องคุ้มครองไม่ให้กลุ่มตอลิบานสามารถเข้ายึดอัฟกานิสถานได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยปราศจากการยับยั้งขัดขวาง ทว่าสหรัฐฯเองนั้นไม่ต้องเข้าไปมีหน้าที่ในการสู้รบใดๆ ข) ก็อบบี้แผนการเล่นของรัสเซียในซีเรีย ในเรื่องการใช้แสนยานุภาพทางอากาศโดยไม่ต้องส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไป และ ค) ทำให้พวกตอลิบานตกอยู่ในสงครามพร่ากำลัง (war of attrition คู่สงครามต่างฝ่ายต่างปฏิบัติการบั่นทอนกำลังของศัตรูอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งศัตรูไปถึงจุดล่มสลาย จากการสูญเสียในด้านบุคลากรและด้านวัตถุไม่หยุดหย่อน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Attrition_warfare -ผู้แปล) จนตระหนักถึงความเป็นจริงว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากการรอมชอมด้วยการเจรจาทำข้อตกลงกัน
ในยุทธศาสตร์ใหญ่เช่นว่านี้ สหรัฐฯจะต้องกลับตาลปัตรหันมาเล่นบทที่รัสเซียใช้อยู่ในซีเรีย นั่นคือวอชิงตันจะต้องอ้างว่าการที่ตนเข้าเกี่ยวข้องพัวพันในอัฟกานิสถานนี้ เป็นเพราะได้รับเชื้อเชิญจากรัฐบาลคาบูล จริงๆ แล้วถ้ายุทธศาสตร์นี้ทำท่าจะได้ผล ก็อาจคาดหมายได้ว่าพวกประเทศนาโต้รายอื่นๆ จะเข้าร่วมขบวนแห่ด้วย --เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในซีเรียและอิรัก— ด้วยการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าฝังตัวอยู่ในกลุ่มกำลังท้องถิ่น หรือกระทั่งหน่วยทหารอัฟกานิสถานกันเลยทีเดียว
สำหรับกำลังพลความเข้มแข็งของพวกผู้รับจ้างรับเหมาเพนตากอนนั้น มีการให้ตัวเลขเอาไว้ว่ามีบุคลากรประมาณ 18,000 คน ซึ่งจำนวนมากเคยอยู่ในกองทัพอเมริกันมาก่อน ทั้งนี้กิจกรรมต่างๆ ของ กลุ่มแว็กเนอร์ (Wagner Group เป็นองค์การกองกำลังกึ่งทหารของรัสเซีย โดยที่บางฝ่ายระบุด้วยซ้ำว่าเป็นบริษัทภาคเอกชนที่ให้บริการด้านการทหาร หรือเป็นสำนักงานรับจ้างดำเนินการทางการทหาร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Wagner_Group -ผู้แปล) ในลิเบีย และในบางประเทศแอฟริกา ดูเหมือนกลายเป็นโมเดลสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เพนตากอน
เวลานี้สื่ออเมริกันเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์อันเลวร้ายสุดๆ เกี่ยวกับการที่อัฟกานิสถานจะต้องจมลงสู่สงครามกลางเมือง สิ่งนี้ช่วยสร้างแรงสนับสนุนขึ้นมาภายในสหรัฐฯ สำหรับการที่เพนตากอนและซีไอเอจะยังคงเข้าเกี่ยวข้องพัวพัวพันในอัฟกานิสถานต่อไป ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน มองเรื่องการยุติสงครามไม่รู้จบ ว่าเป็นหลักหมายโอ่อวดความสำเร็จทางการเมืองประการหนึ่งของเขาก็ตามที
กล่าวโดยสรุป สงครามลูกผสมจะกลายเป็นสถานการณ์แบบ “ชนะกันทุกฝ่าย” ไม่ว่าจะสำหรับทำเนียบขาว, เพนตากอน, และซีไอเอ –และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)
ส่วนสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯกับนาโต้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาฐานะความเป็นกองกำลังต่างชาติผู้มีฐานะครอบงำ อยู่ในกระดาษหมากรุกอัฟกานิสถานต่อไป วอชิงตันวาดภาพออกมาว่า ถึงแม้พวกรัฐในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย, จีน, อิหร่าน, หรือปากีสถาน อาจจะมีข้อสงวนอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับการปรากฏตัวในระยะยาวของ สหรัฐฯ/นาโต้ ในอัฟกานิสถาน แต่พวกเขาก็จะไม่ถึงขนาดออกมาประจันหน้ากับสหรัฐฯหรอก
ความพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศอดสู
ยุทธศาสตร์แห่งสงครามลูกผสมของหสหรัฐฯจะใช้การได้หรือไม่? คำตอบที่ชัดเจนแน่นอนต่อคำถามนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องเฝ้าติดตามกันไปจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคมนั่นแหละ เมื่อพิจารณาถึงตัวแปรต่างๆ ที่กำลังดำเนินไป แต่พูดกันโดยภาพรวมได้ว่าโอกาสค่อนข้างมืดมนเลือนลาง เหตุผลสำคัญก็คือความพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศอดสูด้วยน้ำมือของตอลิบานนั้น ทำให้สหรัฐฯถูกตั้งคำถามอย่างฉกาจฉกรรจ์จากภูมิภาคนี้ในเรื่องที่ว่าสามารถเชื่อถือไว้วางใจได้แค่ไหน
นอกจากนั้นแล้ว แม้กระทั่งพิจารณาจากเนื้อแท้ภายในของมันเอง ยุทธศาสตร์นี้ต้องถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก พวกตอลิบานย่อมจะต้องต่อต้านไม่ยินยอม และชีวิตคนอเมริกันก็อาจจะต้องสูญเสียเพิ่มขึ้นอีกจนได้ และอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั่นแหละ พวกรัฐในเอเชียกลางจะต้องยินยอมให้จัดหาตระเตรียมสร้างจุดที่มั่นต่างๆ สำหรับสงครามลูกผสมขึ้นมาด้วย เรื่องนี้ฝ่ายตอลิบานได้ออกมาคำรามเตือนรัฐเหล่านี้อย่างดุดันแล้ว
สำหรับรัสเซียกับจีน แน่นอนทีเดียวว่า ต่างคัดค้านการปรากฏตัวทางทหารใดๆ ก็ตามทีของฝ่ายอเมริกันในภูมิภาคเอเชียกลาง รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซียเกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) เพิ่งพูดเล่นงานปึงปังใส่หลายๆ ส่วนในชนชั้นปกครองอัฟกานิสถาน ผู้ซึ่งกำลังร่วมมือประสานงานกับการดำเนินแผนการสงครามลูกผสมของวอชิงตัน โดยเขากล่าวโทษคนเหล่านี้ว่ากำลังพยายามเตะถ่วงกระบวนการเจรจารอมชอมระหว่างรัฐบาลคาบูลกับตอลิบาน รวมทั้งมุ่งทำลายลู่ทางความเป็นไปได้สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของอัฟกานิสถานขึ้นมา
“พวกเขาควรคิดได้ถึงผลพวงต่อเนื่องต่างๆ ของการกระทำเหล่านี้ ที่จะเกิดขึ้นกับมาตุภูมิของพวกเขาเอง” ลาฟรอฟบอก
“รัสเซียเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะจัดการปรึกษาหารือกันทั้งโดยผ่านช่องทางทวิภาคี และโดยผ่านช่องทางภายในองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization กลุ่มพันธมิตรทางทหารระหว่างรัสเซียกับชาติต่างๆ ในเอเชียกลาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Collective_Security_Treaty_Organization) เพื่อปกป้องคุ้มครองบรรดาเพื่อนบ้านของตนในเอเชียกลางจากภัยคุกคามโดยตรงและร้ายแรงใดๆ ก็ตาม” ลาฟรอฟ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นี่เป็นคำพูดที่มุ่งพาดพิงอย่างอ้อมๆ ไปถึงประดานักยุทธศาสตร์สหรัฐฯทั้งหลายอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่มอสโกไม่เพียงแค่รอคอยแบบเสี่ยงดวงเท่านั้น เขตทหารด้านใต้ของรัสเซีย (Russia’s Southern Military District) ซึ่งดูแลรับผิดชอบพวกที่มั่นทางทหารต่างๆ ใน ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน, และคาซัคสถาน จะได้รับจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์ระดับล้ำยุค เป็นต้นว่า เครื่องบินอเนกประสงค์แบบ ซูคอย-34 (Sukhoi-34)
สมรรถนะในการป้องกันภัยทางอากาศของฐานทัพรัสเซียที่ตั้งอยู่ในทาจิกิสถาน ก็กำลังได้รับการยกระดับให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก ซึ่งรวมไปถึงการได้รับระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบเคลื่อนย้ายได้ (MANPADS) แบบ “เวอร์บา” (Verba) เวอร์ชั่นใหม่สุด มาประจำการที่นั่น
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้โทรศัพท์ไปถึงประธานาธิบดี เอมอมาลี ราห์มานอฟ (Emomali Rahmanov) ของทาจิกิสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่เขาให้คำมั่นสัญญาว่ารัสเซียจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่ยกระดับสมรรถนะการป้องกันของทาจิกิสถาน
บทบาทของอิหร่านกับรัสเซีย
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ตอลิบานจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ในการโจมตี, บั่นทอนขวัญกำลังใจ, และทำลายกองทัพอัฟกานิสถาน และปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมือง-การทหารให้เอนเอียงมาทางข้างเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ตลอดระยะเวลา 6 ถึง 8 สัปดาห์ข้างหน้านี้ นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการกำหนดสิ่งต่างๆ ที่จะติดตามมา
ตรงนี้คือจุดที่อัฟกานิสถานมีความแตกต่างในขั้นรากฐานจากซีเรีย สหรัฐฯนั้นกำลังดูเบาบทบาทสำคัญซึ่งอิหร่านแสดงอยู่ ในลักษณะประสานอย่างรู้จังหวะกันกับรัสเซีย เพื่อพลิกกระแสคลื่นของสงครามความขัดแย้งในซีเรีย
เวลาเดียวกัน ทางตอลิบานก็แสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจในการป้องกันไม่ให้กลุ่มชาวอัฟกันกลุ่มอื่นๆ เข้าไปร่วมมือร่วมใจกันหนุนหลังกอนี รวมทั้งพวกเขายังแสดงถึงความรู้ความเข้าใจในการเสริมส่งซึ่งกันและกัน ระหว่างแทร็กทางการเมืองในการเจรจาสันติภาพที่โดฮา กับแทร็กการรุกโจมตีทางการทหารซึ่งดำเนินอยู่ภายในอัฟกานิสถาน น่าสังเกตว่าในท่ามกลางความเคลื่อนไหววางแผนของสหรัฐฯเพื่อที่จะสู้รบต่อไปในสงครามลูกผสมเช่นนี้ ซาบิฮุลเลาะห์ มุญาฮิด (Zabihullah Mujahid) ได้บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 5 ก.ค. (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/asia-pacific/exclusive-taliban-aim-present-written-peace-plan-talks-soon-next-month-spokesman-2021-07-05/?taid=60e3419abcdfda0001433903&utm_campaign=trueAnthem:+Trending+Content&utm_medium=trueAnthem&utm_source=twitter) เอาไว้ดังนี้:
“การเจรจาสันติภาพและกระบวนการสันติภาพจะมีการเร่งให้เร็วขึ้นในช่วงไม่กี่วันต่อจากนี้ไป ... และคาดหมายได้ว่ามันจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญ แน่นอนล่ะมันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนการสันติภาพ เป็นไปได้ว่าจะใช้เวลาสักเดือนหนึ่งเพื่อบรรลุถึงขั้นตอนดังกล่าว เมื่อทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนแผนการสันติภาพที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรของพวกเขาให้พิจารณากัน ... ถึงแม้เรา (ตอลิบาน) เป็นฝ่ายได้เปรียบในสมรภูมิ แต่เราก็มีความจริงจังมากในเรื่องการเจรจากันและการสนทนากัน”
จุดสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ไม่มีรัฐในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งมีพรมแดนประชิดติดกับอัฟกานิสถานรายใดเลย ที่ต้องการให้สงครามดำเนินต่อไปไม่ว่าในรูปแบบไหนก็ตาม ภายในอัฟกานิสถานก็เช่นเดียวกัน มีกระแสคัดค้านการที่สหรัฐฯจะเข้าแทรกแซงทางทหารต่อไปอีกไม่ว่าในลักษณะใดๆ ความขี้ขลาดตาขาวของกองทหารสหรัฐฯซึ่งแอบหลบหนีไปอย่างดื้อๆ จากฐานทัพอากาศที่บากรัม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/bagram-afghanistan-airfield-us-troops-f3614828364f567593251aaaa167e623) จะต้องถูกนำมาพูดจาวิพากษ์วิจารณ์กันในตลาดบาซาร์ของชาวอัฟกันไปอีกนาน และกระทั่งจะกลายเป็นตำนานเรื่องเล่าขานของชาวบ้านไปเลย
อดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ที่ยังคงเป็นบุคคลทรงอิทธิพลผู้หนึ่งในวงการเมืองอัฟกันและในทางระหว่างประเทศ ออกโรงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องกันเป็นชุดเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสิ่งที่เขาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างสม่ำเสมอก็คือว่า อัฟกานิสถานเต็มกลืนเสียแล้วกับการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/joe-biden-afghanistan-ef29617f97733dee2b567cedfde2f064) และถึงตอนนี้ควรปล่อยให้ชาวอัฟกันได้อยู่กันตามลำพังเพื่อจัดการกับกิจการของพวกเขาเองได้แล้ว
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย