xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน “ไฟไหม้โรงงาน” ความล้มเหลวของรัฐ 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ้นเสียงระเบิดโกดังเก็บสารเคมีของ  บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด  อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เปลวเพลิงผลาญโรงงานวอดทั้งหลัง สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์รั่วไหลส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ แรงระเบิดสร้างความเสียหายบ้านเรือนประชาชนรัศมีกว่า 5 กม. ส่งผลกระทบต่อ 1,120 โรงงานรอบบริเวณ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 1 ราย นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และแน่นอนไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

เหตุระเบิดและเพลิงไหม้ครั้งนี้สะท้อนปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลาช้านานและไม่ได้มีการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผังเมือง โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ใกล้ชุมชน และบทบาทหน่วยงานด้านสาธารณภัย “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)” ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ปัญหาเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายโดยไร้ผลตอบแทน การขาดแคลนอุปกรณ์สนับสนุนปฏิบัติงาน เครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมและทันสมัยในการสนับสนุนปฏิบัติการดับเพลิงเหตุยังไม่เพียงพอ




 -1-

คำถามแรกที่เกิดขึ้นก็คือ เหตุใดโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายถึงตั้งอยู่ย่านใจกลางชุมชนเช่นนั้น?

ตามข้อมูลระบุว่า โรงงานหมิงตี้จัดตั้งขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2532 ในสมัยนั้นพื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นพื้นที่  “โซนสีม่วง”  ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ ทว่าในปีถัดๆ มาทางการได้ปรับผังเมืองเป็นระยะ กระทั่งปี 2552 รัฐต้องการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนผังเมืองใหม่ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น  “โซนสีแดง”  หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดสร้างที่อยู่อาศัยได้ และโดยข้อเท็จจริงไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยของชุมชน

นี่คือความทับซ้อนของปัญหาผังเมืองที่หน่วยงานรัฐไม่ได้ใส่ใจดำเนินการอย่างจริงจัง

 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะนายกสภาวิศวกร เปิดเผยข้อมูลความว่า ตามกฎหมายการพัฒนาผังเมือง ไม่ได้เอื้อกับนายทุน แต่เป็นการเอื้อให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบที่ควบคุมได้ และการพัฒนาที่ว่านั้นต้องพัฒนาอย่างมีระบบ รวมถึงสามารถดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ ทว่า ปัญหาเกิดจากการที่เมืองขยายจนมาทับซ้อน พื้นที่อุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ก่อนหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชน โดยการเข้าไปกดดันให้โรงงานย้ายออก ในลักษณะเสนอผลประโยชน์ อาทิ เสนอลดภาษีที่ดินให้กับเจ้าของโรงงานเมื่อมีการขายพื้นที่ หรือเสนอการลดภาษีรายได้หากโรงงานดังกล่าวย้ายออกจากพื้นที่แล้วไปตั้งโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้เจ้าของโรงงานพึงพอใจ โดยมาตรการลักษณะดังกล่าวเป็นมาตรการที่ต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เคยใช้มาแล้ว แต่ถ้าโรงงานยังไม่ยินยอม ภาครัฐก็ยิ่งต้องมีมาตรการอื่นมากดดัน ให้โรงงานย้ายฐานที่ตั้งออกจากพื้นที่ เป็นต้น

ที่น่าสนใจ ยังมีพื้นที่จุดเสี่ยงลักษณะชุมชนใกล้โรงงานเช่นเดียวกับย่านกิ่งแก้วอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ต้องจับตาคือ โรงงานอุตสาหกรรมรุ่นแรกๆ กลุ่มโรงงานที่มีมลพิษ มีสารเคมีอันตราย หรือคลังน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐต้องดำเนินจัดการ ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง จะพิจารณาให้อยู่ต่อหรือย้ายไปที่อื่นอย่างไรถึงเหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ถูกต้อง

 ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์  อาจารย์สถาปัตยกรรมผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนปัญหาการจัดการผังเมืองความว่า พื้นที่ในลักษณะนี้ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือโกดังสินค้าอยู่ในพื้นที่แล้ว เริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยเข้าไปในพื้นที่ยังมีอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล เช่น พื้นที่ตามแนวถนนพระรามที่ 3 ที่มีโกดังสินค้าหลายแห่งริมถนนด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงพื้นที่ริมถนนสุขสวัสดิ์ และถนนราษฎร์บูรณะ เป็นต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อน ความล้มเหลวของระบบประเทศ ความล้มเหลวของระบบการวางแผน ระบบการดำเนินการด้านผังเมือง ไม่เพียงประเด็นโรงงานอุตสาหกรรมใกล้ชุมชน ประเทศไทยสร้างสนามบินในพื้นที่ทางระบายน้ำ ทำท่าเรือขนส่งใจกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาขนส่งได้

ทั้งนี้ เหตุระเบิดเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมครั้งล่าสุด นับเป็นบทเรียนให้ทุกภาคส่วนกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเอง ซึ่งในอดีตเกิดเหตุเหตุการณ์ระเบิดเพลิงไหม้โรงงาน-ท่อก๊าซ ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงทุกครั้ง

อาทิ เหตุการณ์ท่อก๊าซธรรมชาติรั่ว กรณีท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ถนนเทพราช–ลาดกระบัง ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ วันที่ 22 ต.ค. 2563 มีก๊าซฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศและเกิดการติดไฟ ขยายวงกว้างจนเพลิงไหม้จากท่อส่งก๊าซใต้ดินจนเดการระเบิดที่ส่งผลกระทบรัศมี 1 กม. บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงได้รับความเสียหาย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ถูกไฟไหม้มากกว่า 20 คัน และ เป็นเหตให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย มีผู้บาดเจ็บ 66 ราย

เหตุการณ์ถังบรรจุก๊าซระเบิดในโรงงาน บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ผู้ผลิตสารปิโตรเคมี ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ท่อก๊าซรั่ว เปลวควันสีดำพวยพุ่งออกมาจนเต็มท้องฟ้า ซึ่งทำให้โรงงานและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยต้องอพยพคนงานและประชาชน 12 ชุมชน ออกจากพื้นที่ทันทีมากกว่า 3,000 คน โดยกลิ่นสารเคมีถูกลมพัดกระจายไปถึงตลาดสดมาบตาพุด รวมแล้วเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง จึงจะยุติเหตุการณ์ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บ 141 ราย

และเหตุการณ์โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ระเบิด บริเวณคลังน้ำมันของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วันที่ 2 ธ.ค.2542 เพลิงไหม้คลังเก็บน้ำมันครั้งร้ายแรง มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 5 คน มูลค่าความเสียหาย 850 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับแนวทางการจัดการปัญหาของภาครัฐนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้บริษัท หมิงตี้ปิดการดำเนินการไปแล้วและกระทรวงฯไม่มีนโยบายที่จะให้กลับมาดำเนินการในพื้นที่เดิมอีกเพราะอยู่ใกลักับชุมชน โดยหากจะกลับมาดำเนินการจะต้องเข้าไปสู่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นและผ่านขั้นตอนตามกฏหมายอื่นๆ ที่กำหนดไว้

“ เราชัดเจนว่าไม่มีนโยบายให้โรงงานหมิงตี้ฯกลับมาก่อสร้างในพื้นที่เดิมเพื่อกลับมาผลิตอีกครั้ง หากจะทำต้องเปลี่ยนไปอยู่ในพื้นที่นิคมฯเท่านั้นส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ นั้นก็ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)อยู่แล้ว”นายสุริยะกล่าว

-2-
คำถามถัดมาก็คือ ปฏิบัติควบคุมเพลิงโรงงานหมิงตี้ โดยเฉพาะบทหน่วยงานด้านสาธารณภัยอย่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีภารกิจหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน การป้องกัน บรรเทาและฟื้นฟูจากสาธารณภัย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ซึ่งตกเป็นประเด็นวิพากษ์เครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมและทันสมัยในการสนับสนุนปฏิบัติการดับเพลิงเหตุยังไม่เพียงพอ

เหตุการณ์ดังกล่าวมีการระดมเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิงหลายชั่วโมง เต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ กระทั่งเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่หาจุดปิดวาล์วได้แล้ว หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ทีมโดรน Novy ขึ้นบินเพื่อหาจุดปิดวาล์ว ถังสารเคมีใหญ่ที่อยู่ใต้ดิน และหาตำแหน่งวาล์วได้สำเร็จ จนเจ้าหน้าที่กำลังฉีดโฟมและลุยผจญเพลิงเข้าไปที่ตำแหน่งเพื่อปิดวาล์ว และปิดวาล์ทั้งหมด ก่อนจะควบคุมเพลิงได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บอกเล่าปฏิบัติการคุมเพลิงในครั้งนี้ว่า มีการตั้งกองอำนวยการให้ทุกหน่วยจะต้องเข้ารายงานตัว รายงานทรัพยากร เพื่อจะได้ทราบถึงกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงพอหรือไม่ ตลอดจนต้องการหาอะไรสนับสนุนเพิ่มบ้าง

ปัญหาที่พบคือ แต่ละหน่วยงานใช้วิทยุสื่อสารคนละคลื่นความถี่ จึงไม่สามารถสั่งการได้อย่างรวดเร็ว ยังดีที่มีผู้ช่วยจาก NBT และ ปตท. เข้ามาช่วยสื่อสาร ทำให้งานเดินได้เร็วขึ้น ปัญหาต่อมา การขอรับการสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งแก้ปัญหาด้วยการระดมมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราระดมไปเต็มที่ ทั้งรถดับเพลิง และอีกปัญหา หัวจ่ายน้ำดับเพลิง ไม่เพียงพอ จากการตรวจสอบพื้นที่โรงงานพบว่า “fire hydrant” หรือ หัวจ่ายน้ำดับเพลิง ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับย่านอุตสาหกรรมใหญ่


นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่อาสาดับเพลิงเสียชีวิต 1 ราย การสูญเสียครั้งนี้ทำให้สังคมรับรู้ว่า เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายโดยไร้ผลตอบแทน  ขาดแคลนอุปกรณ์ปฏิบัติงาน บ้างต้องควักเงินตัวเองสนับสนุนงานสาธารณภัย

สำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมี 2 ส่วนใหญ่ แบ่งเป็นพนักงานของภาครัฐ ตามหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีเงินเดือน ได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานรัฐ และอีกส่วนคือเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ทำด้วยใจไม่รับค่าตอบแทบ เปรียบได้กับเป็นกำลังเสริมเข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ ทว่า รัฐกลับไม่ได้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี นักดับเพลิงอาชีพของไทย ทั้งสวัสดิรายและรายได้เทียบไม่ติดกับอาชีพนักดับเพลิงในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากเว็บไซต์ Indeed ระบุว่าฐานเงินเดือนเฉลี่ยของนักดับเพลิงในสหรัฐในตอนนี้อยู่ที่ 3,623 เหรียญสหรัฐ (116,662 บาท) ต่อเดือน ขณะที่นักดับเพลิงอาสาสมัครอยู่ที่ประมาณ 3,400 เหรียญสหรัฐ (109,480 บาท) ต่อเดือน

สหราชอาณาจักร ข้อมูลจากเว็บไซต์ Talent.com ระบุว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยของนักดับเพลิงในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 2,287 ปอนด์ (101,970 บาท) ต่อเดือน หรือ 27,446 ปอนด์ต่อปี โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 20,000 ปอนด์ต่อปีเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ไปจนถึง 35,815 ปอนด์ต่อปี

แคนาดา เงินเดือนนักดับเพลิงแคนาดาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5,003 เหรียญสหรัฐ (161,121 บาท) ต่อเดือน หรือ 60,041 เหรียญสหรัฐต่อปี

ญี่ปุ่น ข้อมูลจาก Salary Expert ระบุว่ารายได้นักดับเพลิงนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,146,926 เยน (1.79 ล้านบาท) ต่อปี หรือเทียบเท่า 2,955 เยน (860 บาท) ต่อชั่วโมง ประมาณตามข้อมูลการสำรวจเงินเดือนที่รวบรวมจากนายจ้างและพนักงานในญี่ปุ่น เป็นต้น

-3-
ขณะเดียวกันเหตุการณ์ดังกล่าวยังนำสู่ประเด็นวิพากษ์มาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปรับแก้ พ.ร.บ.โรงงาน (2535) ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโรงงาน (รง.4) จากเดิมต่อทุกๆ 5 ปี ใช้ Third Party ให้เอกชนรับรองตนเอง พร้อมยกเลิกค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตที่เก็บระหว่าง 1,500 - 60,000 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลเอกชนลดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและละเลยมาตรฐานความปลอดภัย

ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2562 ซึ่งออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ พบว่า มีการแก้ไขกฎหมายหลายข้อ อาทิ การปลดล็อกให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าขึ้นไปหรือกิจการที่มีคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ถูกจัดเป็นโรงงานภายใต้การกำกับดูแลกฎหมายโรงงาน แต่จะอยู่ภายใต้การดูแลของข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 แทน ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมืองหรือทำเลที่ตั้ง


 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าเป็นบทเรียนในการผลักดันให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green Factory ทั้งนี้ โรงงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาในอดีตได้พยายามตั้งห่างไกลชุมชน แต่ด้วยความเจริญก็เริ่มมีที่พัก ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานมากขึ้น จึงต้องกลับมาดูในเรื่อง ผังเมือง การขีดเส้นพื้นที่ผังเมือง สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญการทำให้โรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ SME เข้ามาอยู่ในนิคม ที่ผ่านมานั้นมีอุปสรรค ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ดินมีราคาแพง แต่รัฐจะทำอย่างไรให้โรงงานทุกขนาด เข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรมได้ เพราะเมื่อโรงงานเข้าสู่นิคมฯ ชัดเจนว่า มีมาตรฐาน โดยห้ามสร้างที่พัก ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้เคียง และบทบาท สิ่งเเวดล้อมมีการกำกับดูแล

บทเรียนสำคัญรัฐจะทำอย่างไรโรงงานที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม รัฐต้องกลับมามองมาตรการจูงใจให้โรงงานทุกขนาดสามารถเข้าไปตั้งอยู่ในนิคมฯ ให้มีระบบความปลอดภัย เช่น การลดหย่อนภาษีที่ดิน ลดหย่อนค่าธรรมเนียม และภาษีเงินได้จากการขายที่ดินแปลงนั้น ก็สามารถจูงใจให้โรงงานเหล่านี้ย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมได้ จะสามารถช่วยให้จัดระเบียบโรงงานได้มากขึ้น เพราะหลายโรงงานไม่อยากย้ายเนื่องจากราคาแพง

รัฐบาลควรต้องมีมาตรการ อาทิ ด้านภาษีเพื่อดึงดูดให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green factory ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6,000 โรงงาน แต่มาตรฐาน Eco อยู่ในระดับมาตรฐานขั้นสูงมากมีอยู่ 300 โรงงาน หลายๆ ปัจจัยยังไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ เหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานหมิงตี้ยังสะท้อนปัญหาการรั่วไหลของสารเคมี โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่ามีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ได้แก่ สารสไตรีนโมโน เมอร์ ซึ่งเป็นตัวทำละลาย และเป็นสารไวไฟในกลุ่มอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน สาเหตุเกิดจากถังเก็บสารเคมีขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 ลิตร เกิดเพลิงไหม้และระเบิดขึ้น

สารพิษดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจเกิดพิษเฉียบพลัน เช่น การระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง รวมทั้ง ไอระเหยอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ท

ดังนั้น จึงต้องมีการรายงานมลพิษ และสารก่อมะเร็งในอากาศ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประชาชนได้ป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว มิใช่แค่ไปตรวจวัดเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วเท่านั้น

และประเด็นที่ต้องจับตาคือ ร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers-PRTR) ซึ่งทางด้านภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านดังกล่าวกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายนี้เข้าสภาฯ อีกครั้ง โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อแก้มาตราที่ให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าไม่ต้องขอใบอนุญาต และการตั้งโรงงานทำได้ง่ายเกินไป

 
ผังเมืองโซนพื้นที่สีต่างๆ

ที่ดินเขตสีเหลือง หมายถึง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
ที่ดินเขตสีส้ม หมายถึง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
ที่ดินเขตสีน้ำตาล หมายถึง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
ที่ดินเขตสีแดง หมายถึง ที่ดินประเภทพาณิชกรรรม
ที่ดินเขตสีม่วง หมายถึง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม
ที่ดินเขตสีเม็ดมะปราง หมายถึง ที่ดิประเภทคลังสินค้า
ที่ดินเขตสีขาวทแยงเขียว หมายถึง ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
ที่ดินเขตสีเขียว หมายถึง ที่ดินประเภท ชนบทและเกษตรกรรม
ที่ดินเขตสีน้ำตาลอ่อน หมายถึง ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย
ที่ดินเขตสีน้ำเงิน หมายถึง ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ


กำลังโหลดความคิดเห็น