xs
xsm
sm
md
lg

ยลความงาม “ปราสาทนครหลวง” สถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-ขอม คู่เมืองอยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ปราสาทนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
“ปราสาทนครหลวง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ในเขต ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี และเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จไปลพบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอยุธยาอีกแห่ง ผสมผสานศิลปะไทยและขอมได้อย่างงดงาม

บรรยากาศภายในปราสาทนครหลวง
ประวัติความเป็นมาของ “ปราสาทนครหลวง” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ. 2147 พระองค์ได้โปรดให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทที่กัมพูชาแล้วสร้างเป็นที่ประทับ ก่ออิฐถือปูน โดยนำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยนั้น ต่อ มาในปีพ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อมๆกับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บน ลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด

ด้านในขององค์ปรางค์
สำหรับผู้มาเที่ยวปราสาทนครหลวงจะต้องไม่พลาดไปสักการะพระ พุทธบาทสี่รอย ที่ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวง ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหิน โดยรอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร

บรรยากาศเงียบสงบ
สิ่งที่น่าสนใจของ “ปราสาทนครหลวง” นั่นก็คือ ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งทำขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูง มีระเบียงล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แต่ละชั้นมีประตูเข้าสู่ชั้นสูงสุดนับสิบประตู ระเบียงคดแต่ละชั้นสร้างปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม และที่กึ่งกลางก็มีปรางค์ด้วย ในปราสาทมีสิ่งที่น่าชมคือ

องค์พระพุทธรูปภายในปรางค์

ปรางค์รูปทรงคล้ายปรางค์ขอมก่อด้วยอิฐ
ภายในมีปรางค์ประมาณ 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอม แต่ก่อด้วยอิฐ ไม่ใช่ศิลาแลง องค์ปรางค์มีการย่อมุมไม้ยี่สิบ หมายถึงมุมหนึ่งทำเป็นมุมเล็กได้ห้ามุม (สี่มุมคูณด้วยห้าจึงมี 20 มุม) จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า การสร้างปรางค์ของเดิมใช้โครงไม้ขึ้นรูปก่อนแล้วก่ออิฐล้อตาม

บริเวณทางเดินขึ้นไปยังชั้นบนของปราสาท

บริเวณทางเดินขึ้นไปยังชั้นบนของปราสาท

ที่ตั้งของมณฑปจตุรมุข
บริเวณฐานชั้นบนสุดจะเป็นที่ตั้งของมณฑปจตุรมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเอาไว้ข้างใน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งระเบียงคด คือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ ปัจจุบันเหลือแต่ผนังของระเบียงคด ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าช่างได้ทำช่องหลอกไว้เป็นซี่คล้ายลูกกรง เรียกว่า “ลูกมะหวด” ช่องดังกล่าวนี้ตัน อากาศและแสงไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ เป็นลักษณะศิลปะแบบขอม คล้ายกับโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ วัดมหาธาตุ วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ

พระพุทธบาทสี่รอยภายในมณฑปจตุรมุข
ส่วนพระพุทธบาทสี่รอยภายในมณฑปจตุรมุข ตามข้อมูลระบุว่านายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่นเป็นผู้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับวัดนครหลวง มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอย ลึกลงไปในเนื้อหิน รอยที่ใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวงที่มณฑปมีจารึกที่หน้าบันว่า ปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5)

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่อยู่ภายในปราสาทนครหลวงก็คือ ตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ต.พระจันทร์-ลอย อ.นครหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวงมาประดิษฐานไว้

แผ่นหินพระจันทร์ลอย
สำหรับแผ่นหินพระจันทร์ลอย มีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร หนา 6 นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลักที่ค่อนข้างดูยาก ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน มีผู้สันนิษฐานว่าแผ่นหินดังกล่าวอาจเป็นธรรมจักรที่ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็นได้

อุโบสถวัดนครหลวง
นอกจากนี้บริเวณปราสาทนครหลวงเป็นที่ตั้งของ “วัดนครหลวง” ภายในมีบรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยต้นไม้เขียวขจี มีอุโบสถสีขาวซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีใบเสมาหินทรายแดงตั้งอยู่รอบอุโบสถ และมีพระประธานประดิษฐานอยู่ด้านใน

ชมสถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-ขอม
ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและบรรยากาศเงียบสงบ ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น