xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนยุ G7 รวมพลังต้านอิทธิพลจีน เปิดแผนสู้โครงการเส้นทางสายไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เอพี - เหล่าผู้นำ G7 เปิดแผนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วงชิงประเทศกำลังพัฒนาจากโครงการเส้นทางสายไหมแบบใหม่ของจีน อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศมั่งคั่งเหล่านี้ยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรแสดงการเป็นปฏิปักษ์กับแดนมังกรโจ่งแจ้ง หรือบีบปักกิ่งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงแค่ไหน

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของคณะบริหารสหรัฐฯ เผยว่า แคนาดา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสขานรับจุดยืนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้นเพื่อแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีน แต่เยอรมนี อิตาลี และสหภาพยุโรป (EU) ดูยังลังเลระหว่างการประชุมสุดยอด G7 เมื่อวันเสาร์ (12 มิ.ย.) ที่อังกฤษ

ไบเดนที่ร่วมการประชุมสุดยอดครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังต้องการหาเวลาพูดคุยกับผู้นำ G7 แบบตัวต่อตัว เพื่อลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักสร้างความวุ่นวายในที่ประชุมนานาชาติ

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดนต้องการให้ผู้นำ G7 ซึ่งประกอบด้วยอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเอกภาพในการต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน โดยพุ่งเป้าที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมุสลิมอุยกูร์และชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอื่นๆ ในจีน และไบเดนหวังว่าการประณามจีนในเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ร่วมที่จะเผยแพร่หลังจบการประชุมในวันอาทิตย์ (13 มิ.ย.) ติดที่ว่าขณะนี้พันธมิตรบางชาติในยุโรปยังลังเลที่จะแตกหักกับปักกิ่ง

จีนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่น่าสนใจมากขึ้นในการประชุมสุดยอดของ G7 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากปี 2019 เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งการฟื้นตัวจากโรคระบาดใหญ่นี้เป็นหัวข้อสำคัญในการหารือปีนี้ ซึ่งที่ประชุมประกาศยืนยันแบ่งปันวัคซีนอย่างน้อย 1,000 ล้านโดสให้ประเทศต่างๆ

G7 ยังเปิดเผยข้อเสนอโครงสร้างพื้นฐาน “ฟื้นฟูเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น” ซึ่งอ้างอิงมาจากชื่อแคมเปญฟื้นฟูอเมริกาของไบเดน แผนการนี้เรียกร้องให้มีการใช้จ่ายเงินหลายแสนล้านดอลลาร์โดยร่วมมือกับภาคเอกชนควบคู่กับปฏิบัติตามมาตรฐานด้านภูมิอากาศและแรงงาน

เป้าหมายของแผนการนี้คือ เพื่อทำให้ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกลดการพึ่งพิงจีน ซึ่งเมื่อวันเสาร์รัฐบาลอังกฤษได้หารือเกี่ยวกับการกำหนดระบบโลกที่รวมถึงการแตกห่วงโซ่อุปทานที่ขณะนี้พึ่งพิงจีนอย่างมาก

แม้มหาอำนาจยุโรปบางชาติไม่ได้มองจีนเป็นคู่แข่งแห่งศตวรรษที่ 21 เหมือนไบเดน แต่เริ่มมีสัญญาณว่า ยุโรปยินดียกระดับการตรวจสอบ

ก่อนไบเดนรับตำแหน่งในเดือนมกราคม คณะกรรมาธิการยุโรปเผยว่า ได้บรรลุข้อตกลงเปิดตลาดกับจีน ซึ่งคณะบริหารของไบเดนหวังว่า ยุโรปอาจขอคำปรึกษาจากอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวถูกระงับ และในเดือนมีนาคมอียูได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 4 คน ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ด้านปักกิ่งตอบโต้ด้วยการสั่งลงโทษสมาชิกรัฐสภายุโรปหลายคน รวมทั้งผู้ที่วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจ้าหน้าที่คณะบริหารของไบเดน มองว่า ซัมมิต G7 เป็นโอกาสดีในการดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อประณามการพึ่งพิงแรงงานบังคับของจีน ว่าเป็นการหมิ่นเกียรติความเป็นมนุษย์ ซึ่งแม้แถลงการณ์ G7 ไม่ได้เป็นการลงโทษปักกิ่งทันที แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในคณะบริหารของไบเดน ระบุว่า การดำเนินการนี้จะเป็นการยืนยันว่า G7 จริงจังกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและกำลังร่วมมือกันเพื่อยุติการใช้แรงงานบังคับ

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษที่เป็นเจ้าภาพซัมมิต G7 ยังเชิญผู้นำเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ รวมถึงสหประชาชาติ หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยและเทคโนโลยี

ด้านไบเดน จะปิดฉากการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งด้วยการพบกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียในวันพุธ (16 มิ.ย.) ที่เจนีวา โดยทำเนียบขาวประกาศเมื่อวันเสาร์ว่าจะไม่มีการแถลงข่าวร่วมหลังจากนั้น แต่ไบเดนจะแถลงข่าวแยกต่างหาก

ส่วนปูตินให้สัมภาษณ์ เอ็นบีซี นิวส์ ว่าความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกาในช่วงหลายปีมานี้ถือว่า อยู่ในช่วงขาลงที่สุด ขณะที่ทรัมป์ดู “ฉลาดและมีสีสัน” ส่วนไบเดนดูเป็นนักการเมือง “มืออาชีพ” ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เขาคิดว่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอเมริกาคงจะไม่ดำเนินการใดๆ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
กำลังโหลดความคิดเห็น