xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: ความท้าทายใหม่ของจีนกับนโยบายกระตุ้นการมีบุตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นายจางอี้โหมวผู้กำกับชื่อดังจีนกับภรรยาและบุตรทั้งสามคน (ที่มา Kuaibao.com)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง UIBE

ข่าวเด่นข่าวดังของจีนในช่วงนี้คงจะเป็นเรื่องของนโยบายสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้สามคน ที่ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นโยบายใหม่นี้ ไม่เพียงเป็นที่สนใจแต่ในหมู่ประชาชนชาวจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นสนใจของสำนักข่าวทั่วโลกเลยทีเดียว

หากท่านที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจและสังคมจีนอยู่เสมออาจจะทราบว่า จีนเริ่มสนับสนุนและปล่อยให้ครอบครัวยุคใหม่มีบุตรได้สองคนตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา หลังจากที่ประกาศนโยบายนี้ ในปีนั้นอัตราการเกิดของประชากรเพิ่มขึ้น แต่ทว่าเพิ่มขึ้นแค่ปีนั้นปีเดียวเท่านั้น กระแสการสนับสนุนให้ครอบครัวยุคใหม่จีนมีบุตรสามคนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถกประเด็นในโซเซียลจีนอย่างรวดเร็ว

ต้องบอกก่อนว่า รัฐบาลบาลจีนตระหนักถึงปัญหาโครงสร้างประชากรที่อาจจะไม่สมดุลในอนาคตอันใกล้กับอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ พร้อมจำนวนผู้สูงอายุมีเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรรวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากจำนวนประชากรวัยรุ่นและวัยแรงงานจะลดลง และจากตัวอย่างของหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะพัฒนาและเติบโตชะลอตัว

ในยุคปี 1990-2000 จีนซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรมากเป็นอันดับต้นของโลกมาตลอด เป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอันดับต้น ๆ มาตลอด เนื่องจากจีนมีข้อได้เปรียบด้านประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก อายุเฉลี่ยของประชากรยังอายุน้อย ทำให้จีนพัฒนาการผลิตจนเป็นโรงงานโลก ดังนั้นเราจะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ประชากรเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศจริงๆ


ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรจีนคือ 38 ปี จะว่าน้อยก็ไม่น้อย มากก็ไม่มาก ส่วนอัตราการเกิดของบุตรคนแรกของครอบครัวจีนตั้งแต่ปี 2014 ลดลงเรื่อย ๆ หลุดหลัก 10 ล้านคนต่อปี โดยปี 2014 จำนวนบุตรคนแรกที่เกิดใหม่ในครอบครัวจีนทั้งประเทศ 9.72 ล้านคน ปี 2015 จำนวนบุตรคนแรกที่เกิดใหม่ในครอบครัวจีนทั้งประเทศลดเหลือ 8.86 ล้านคน จนถึงปี 2019 ลดฮวบถึง 5.93 ล้านคน

ชาวจีนหลายคนมองว่า ปัญหาที่จะมีหรือไม่มีบุตรคนที่สามไม่ใช่เรื่องของนโยบายที่สนับสนุน แต่เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวที่ไม่พร้อมซะมากกว่า

ผู้กำกับจีนคนดัง นายจางอี้โหมวมีบุตรสามคนในยุคที่จีนยังคุมกำเนิดประชากรอยู่ ในขณะนั้นให้หนึ่งครอบครัวมีบุตรได้คนเดียว โดยหลังจากที่นโยบายใหม่นี้ประกาศ จางอี้โหมว ได้โพสในเวยปั๋วของตัวเองว่า “提前完成任务” (ถีเฉียนหว่านเฉิงเริ่นวู่) หมายถึง "ทำภารกิจสำเร็จได้ก่อนหน้า" และได้มีข่าวออกมาอีกว่าในขณะนั้นที่ครอบครัวนายจางอี้โหมวมีบุตรเกิน เขาถูกปรับเงินลงโทษไปกว่า 7 ล้านหยวน!!!

ดังนั้นการที่หนึ่งครอบครัวจะมีบุตรกันกี่คนหรือจะไม่มีเลย สำหรับยุคสมัยนี้ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของเงินในกระเป๋าและสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว

ในแง่มุมของคนจีนยุคใหม่กับการมีบุตรจะได้ยินประโยคนี้กันบ่อยๆ “少生优生” (ฉ่าวเชิงโยวเชิง) หมายถึงมีบุตรไม่ต้องมาก แต่ต้องมีบุตรและเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ จากประโยคนี้จะเห็นถึงแนวคิดของคนจีนยุคใหม่ที่ต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง หมายถึงการแต่งงานมีครอบครัวของคนจีน โดยเฉพาะการดูแลเลี้ยงดูบุตรให้ความสำคัญกับ “คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ”

ผู้เขียนมองว่าในปัจจุบันมีหลายประเทศในโลกเรา รวมถึงประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำ อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อนบ้านจีนก็ประสบปัญหานี้อย่างหนัก สองประเทศเพื่อนบ้านจีนนี้พยายามกระตุ้นและออกนโยบายต่าง ๆ นานาเพื่อให้ประชาชนมีบุตรกันมากขึ้น แต่ดูเหมือนอัตราการเกิดใหม่ของประชากรไม่ได้กระเตื้องกันมากนัก ดังนั้น เรื่องของการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำจึงกำลังเป็นปัญหาโลกแตกของประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนากันทั่วหน้า

จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพหนึ่งของโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วและสูงทุก ๆ ปี จีนกำลังมีเป้าหมายก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งเหล่านี้จะชะลอตัวลงอย่างแน่นอนหากจีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เพราะประชากรวัยรุ่นและวัยทำงานคือกำลังและทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

ณ ปัจจุบันจีนได้ยืดอายุการเกษียณของประชากรวัยทำงานไปถึง 65 ปี และพยายามอัพเกรดระบบประกันสังคมและการประกันภัยใหม่ เพื่อให้ประชาชนผู้สูงอายุมีหลักประกันที่ดีขึ้น เพราะปัญหาใหญ่อีกอย่างของหลายประเทศที่ประสบกับสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยคือ การที่ประชากรยังไม่ทันรวย ก็แก่ซะก่อนแล้ว “未富先老” (เว่ยฟู่เซียนเหล่า) ตรงนี้จะสร้างความกดดันให้กับระบบประกันสังคมของประเทศอย่างมากเลยทีเดียว เพราะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากและหลายด้านไปกับเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุในสังคม

รัฐบาลจีนเองก็มีนโยบายสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้น โดยรวมคือการปรับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ในเรื่องของการแต่งงาน ลดเรื่องของวัตถุนิยมลงและกำราบบางพื้นที่ที่มีการเรียกเงินหมั้นสินสอดจากฝ่ายชายที่มากเกินควร (เมืองทางตอนใต้จีนบางที่เรียกเงินสินสอดมากกว่า 1 ล้านบาท ไม่รวมบ้านรถและอื่น ๆ เป็นต้น ) อีกทั้งเรื่องของการสนับสนุนการศึกษาภาคบังคับ ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาคือเด็กที่มาจากชนบทก็สามารถได้รับโอกาสการศึกษาที่ดีได้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็น 12 ปีจาก 9 ปี โดยจะเป็นการศึกษาฟรีลดภาระผู้ปกครอง ด้านของที่อยู่อาศัยและเงินเพิ่มช่วยเหลือสำหรับครอบครัวที่มีบุตรเพิ่ม การปกป้องสิทธิของผู้หญิงในสังคมทำงาน เนื่องจากผู้หญิงหลายคนไม่ยอมที่จะมีบุตรเพราะกลัวเสียการงาน เสียการก้าวหน้า เป็นต้น

สรุปแล้วนโยบายสนับสนุนให้ครอบครัวมีบุตรเพิ่ม เป็นนโยบายดีที่เปิดเป็นทางเลือกให้กับครอบครัวที่ต้องการมีบุตรมากกว่า 1-2 คน และก็ไม่ใช่การบังคับแต่อย่างใด มีการประเมินว่าหลังจากนี้ไปครอบครัวที่มีบุตรแล้ว 1 คน อาจจะมีความต้องการที่อยากมีบุตรคนที่ 2-3 เพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นไปตามการประเมินนี้ จะกระตุ้นทารกเกิดใหม่จีนเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนในหนึ่งปี แต่ทว่านี้เป็นเพียงการประเมินเท่านั้น การที่หนึ่งครอบครัวจะตัดสินใจเรื่องการมีบุตรกี่คน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยการพิจารณาส่วนครอบครัวในหลาย ๆ ด้านค่ะ 
กำลังโหลดความคิดเห็น