เอเอฟพี - รัฐบาลเงาในพม่าที่ต้องการล้มเลิกการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ได้ผนึกกำลังกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เพื่อที่จะ ‘โค่นล้ม’ การปกครองของรัฐบาลทหาร
พม่าตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารโค่นล้มอองซานซูจี และรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอ และเริ่มดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดร้าย
กลุ่มของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่จากการรัฐประหารได้จัดตั้ง ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ ขึ้นในความพยายามจะร่วมกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของประเทศ จัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐเพื่อท้าทายรัฐบาลทหาร
เมื่อวันเสาร์ (29) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) ได้ลงนามข้อตกลงที่จะ “โค่นล้มการปกครองระบอบเผด็จการ และดำเนินการระบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยในพม่า” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติระบุในคำแถลง
พวกเขาได้ให้คำมั่นว่าจะยอมรับซึ่งกันและกัน และเป็นพันธมิตรอย่างเท่าเทียมกัน คำแถลงระบุ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นเพิ่มเติม และเอเอฟพีไม่สามารถติดต่อโฆษกของแนวร่วมแห่งชาติชินเพื่อขอความคิดเห็นได้
ทั้งนี้ กลุ่ม CNF ที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ชินส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ทางภาคตะวันตกของพม่า ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่าในปี 2558 และจากนั้น นักสู้ของกลุ่มได้ลดจำนวนลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกิจการพม่าขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิส กรุ๊ป ระบุว่า CNF ไม่มีแสนยานุภาพทางทหาร ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสำคัญ เนื่องจาก CNF มีความโดดเด่นในกระบวนการสันติภาพ
กลุ่มติดอาวุธของพม่าหลายกลุ่มได้ประณามการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงของทหารต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มยังให้ที่พักและกระทั่งฝึกทหารให้แก่ผู้เห็นต่างที่หลบหนีเข้ามาในเขตแดนของพวกเขา
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 20 กลุ่ม ก็มีความไม่ไว้วางใจกลุ่มชาติพันธุ์พม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติในสังกัดรัฐบาลซูจี
เมื่อวันศุกร์ (28) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้เผยแพร่วิดีโอที่ระบุว่า แสดงให้เห็นกลุ่มนักสู้ชุดแรกจากกองกำลังป้องกันประชาชน ที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องพลเรือนได้เสร็จสิ้นการฝึก
นักสู้ราว 100 คน เดินขบวนทั่วลานที่ล้อมรอบไปด้วยป่า และดูเหมือนว่าไม่มีใครถืออาวุธ
“ขอให้ชาวพม่าทุกคนหลุดพ้นจากการเป็นทาสของทหาร” กลุ่มทหารใหม่ส่งเสียงร้องพร้อมกัน
กลุ่มตรวจสอบท้องถิ่นระบุว่า มีประชาชนถูกทหารสังหารไปมากกว่า 800 คน แต่ผู้นำรัฐบาลทหารให้ตัวเลขพลเรือนเสียที่ชีวิตต่ำกว่ามาก
นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังกำหนดให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังป้องกันประชาชนเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ซึ่งหมายความว่าผู้ใดก็ตามที่พูดคุยกับพวกเขา รวมทั้งนักข่าว อาจถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย.