xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวทิพย์ที่ “ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง” มหัศจรรย์ธรรมชาติสุดตระการตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ถ้ำเพชรถ้ำทอง
หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกับ “ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง” อีกหนึ่งถ้ำสวยที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และความหลากหลายทางธรรมชาติ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวพร้อมแหล่งเรียนรู้ คู่กับ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เลยก็ว่าได้

วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง
“วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง” ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเขาชอนเดื่อและเขาขวาง ท้องที่อำเภอตาคลี และท้องที่อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก โดดเดี่ยว รายล้อมด้วยไร่นาและพื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ

พื้นที่โดยรอบ
สภาพภูมิประเทศเป็นเขาหินปูน มีความสูงชันหน้าผาชัดเจน มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเขาเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ เช่น ธรณีวิทยาของเขาหินปูน ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ ส่วนป่าของที่นี่มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณที่แล้ง แต่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ถูกรบกวนน้อยมาก มีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่นและมีความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ค่อนข้างสูง

โมกราชินี
มีพรรณพืชประจำถิ่นและพรรณพืชถิ่นเดียวหลายชนิด เช่น “โมกราชินี” บริเวณวนอุทยานฯ ขึ้นอยู่ในป่าละเมาะเขาหินปูนเปิดโล่งเป็นจำนวนมาก มีการสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติที่ดี จัดเป็นแหล่งพันธุกรรมตามธรรมชาติที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดของโมกราชินีที่พบในปัจจุบัน

ภูเขาหินปูน
สำหรับสถานที่ที่ท่องเที่ยวของวนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง ส่วนใหญ่เป็นจำพวกถ้ำที่มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือเป็น “ถ้ำหินปูน” ใหญ่น้อยประมาณ 70 ถ้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางเดินและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ สามารถเข้าเที่ยวชมได้จำนวน 9 ถ้ำ แต่ละถ้ำมีความหลากหลายแตกต่างกัน ได้แก่

ถ้ำวังไข่มุก
“ถ้ำประดับเพชร” อยู่ทางทิศใต้ เป็นถ้ำที่มีห้องโถง 4 ห้อง มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลอ่อน-ขาวนวลที่ทอประกายแสงสีระยิบระยับดูเหมือนเพชร และในทิศใต้นี้ยังมี “ถ้ำวังไข่มุก” ที่มีห้องโถง 3 ห้อง มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน และสีขาวนวล แถมประดับด้วยเกล็ดเพชรส่องแสงเป็นประกาย และยังมีบันไดนำขึ้นไปชมถ้ำอีกด้วย

ภายในถ้ำเพชร-ถ้ำทอง
“ถ้ำประกายเพชร” อยู่ด้านทิศตะวันตก มีความลึกประมาณ 50 เมตร มีห้องโถงใหญ่ 5 ห้องเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยรูปทรงต่าง ๆ เช่น ปลาโลมา กำแพงเมืองจีน ตามแต่จินตนาการจะพาไป

ความสวยงามภายในถ้ำ
“ถ้ำดาวดึงส์” เป็นถ้ำที่อยู่ทางทิศเหนือ มีเอกลักษณ์ตรงที่โถงถ้ำนั้นใหญ่โตโอฬารถึงขนาดจุคนได้มากถึง 400-500 คนเลยทีเดียว อีกทั้งอากาศภายในถ้ำยังไม่อึดอัด เนื่องจากมีช่องระบายอากาศอยู่ด้านบน

หินภายในระยิบระยับสวยงาม
“ถ้ำบุษราคัม” ภายในถ้ำมีห้องโถงขนาดใหญ่ 2 ห้อง มีหินงอก หินย้อยหลายสีสลับเป็นชั้น ๆ บางจุดเป็นเหมือนปุยนุ่นสีขาว เมื่อโดนแสงไฟจะเป็นประกายแวววาวสวยงาม นอกจากนั้นยังมีถ้ำมรกต, ถ้ำเพชรน้ำผึ้ง, ถ้ำวิมานลอย และถ้ำเพชรคิงคอง ให้เดินเที่ยวชมกันอีกด้วย

หินย้อย
ในแต่ละถ้ำจะมีความสวยงามแตกต่างกันไป บ้างก็เป็นหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกๆ บ้างก็มีผนังถ้ำที่มีลักษณะเป็นกากเพชร เมื่อมีแสงกระทบจะเป็นประกายระยิบระยับสวยงาม บางถ้ำสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีเขียว สีคราม ซึ่งสีเหล่านี้เกิดจากแร่ธาตุตามธรรมชาติ บางถ้ำต้องเดินขึ้นเขาและลัดเลาะไปตามป่าทึบ ได้สัมผัสการผจญภัยอีกรูปแบบหนึ่ง

มอเหินฟ้า
นอกจากนี้บนเขายังมี “มอเหินฟ้า” ซึ่งเป็นลานหินปะการังที่ถูกลมและน้ำฝนกัดกร่อน ทำให้มีร่องลึกแหลมคม มีความสวยงามจนถูกขนานนามว่าเป็น “ยอดดอยคุนหมิง” แห่งวนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง

หินรูปร่างต่างๆ
และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติมีทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะแก่การเรียนรู้อีกมากมาย รวมถึงมี “จุดชมวิวผาชมภู” อยู่เลยถ้ำวิมานลอยไปทางทิศตะวันออก ความสูงอยู่ที่ระดับ 345 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีทัศนียภาพที่สวยงามสามารถมองเห็นตลาดตาคลี และเขาขวางที่ทอดเป็นแนวยาวด้านอำเภอตากฟ้า, “ต้นกำลังหนุมาน” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ใหญ่ วัดโดยรอบลำต้น 139 เซนติเมตร และ “เครื่องปั้นดินเผา” หม้อไหโบราณลายต่าง ๆ และของใช้ยุคมนุษย์ถ้ำให้ได้ชมกันอีกด้วย

ความสวยงามของหินงอกหินย้อย
ซึ่งในขณะนี้วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง กำลังปิดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ หากเมื่อใดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยากชวนให้แวะมาเที่ยวชมดูความสวยงามดูสักครั้ง รับรองว่าจะประทับมิรู้ลืมแน่นอน



ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


หินย้อยภายในถ้ำ

วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง ตั้งอยู่ที่ ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 09-7 238-3590 


#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น