xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จ่ายชดเชยรายละ 4 แสน! หากตายเพราะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สปสช. แจงเตรียมจ่ายชดเชยกรณีแพ้วัคซีนต้านโควิด-19 ตายได้ 4 แสน พิการรับ 2.4 แสน แค่เกิดผลข้างเคียงจ่ายไม่เกิน 1 แสน มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 26 ก.พ.64 ด้าน “นพ.ธีระวัฒน์” แนะรัฐลดขั้นตอนการนำเข้าวัคซีน ดึงเอกชนช่วยลดภาระ เตือน ระวังการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ชี้ควรฉีดวัคซีนให้ได้ 70-90% ของจำนวนประชากร ภายใน ก.ค.นี้ ป้องกันการกลายพันธุ์และกลับมาระบาดระลอกใหม่ เผย ม.จุฬา เตรียมทดลองใช้ “วัคซีนใบยา” ซึ่งต้านโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์

นอกจากปัญหาการขาดแคลนวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยในขณะนี้แล้ว ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังเป็นอีกประเด็นที่ทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวเพราะไม่มั่นใจจึงไม่กล้าเสี่ยง ส่วนว่าวัคซีนซิโนแวคซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้กับคนไทยอยู่ในขณะนี้จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้จริงหรือไม่ และถ้าแพ้จริงจะมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ อีกทั้งจะมีแนวทางใดที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนวัคซีนได้บ้าง คงต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวไหนก็มีโอกาสจะเกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งนั้น โดยผลข้างเคียงจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี แม้การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อาจมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียง แต่ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยและมีวิธีแก้ไข แต่หากไม่ฉีดวัคซีนแล้วติดโควิด-19 จะเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่า

ส่วนในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากฉีดวัคซีนนั้น หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนไทยอย่างสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติก็เตรียมแนวทางไว้รองรับแล้วเช่นกัน โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปสช.ได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เสร็จเรียบร้อย และได้ลงนามในหลักการไปแล้ว เหลือเพียงการลงนามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติทั้ง 13 เขต

ซึ่งหลังจากประกาศใช้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพิจารณาเพื่อขอรับค่าชดเชยได้ทันที หรืออาจจะยื่นไปที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือโรงพยาบาลที่ได้รับฉีดวัคซีน จากนั้นหน่วยงานดังกล่าวก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการฯ ระดับเขตพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วันก็สามารถเบิกค่าชดเชยได้ โดยการขอค่าชดเชยดังกล่าวจะมีผลย้อนหลังครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนไปตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.2564 ทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอัตราการจ่ายเงินชดเชยจะคล้ายกับมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผู้ที่จะเกิดอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 คงจะมีไม่มาก แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากมีหลักประกันให้แก่ผู้ที่เข้ารับวัคซีนว่าถ้าฉีดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์จะมีเงินชดเชยไว้รองรับ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงดังกล่าวเป็นความผิดของใคร จะช่วยให้ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

“เนื่องจากวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นสิ่งที่เพิ่งจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ เราจึงมีการคุยกันตั้งแต่ก่อนที่จะมีวัคซีนเข้ามาว่าควรจะมีหลักประกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกคน โดยการจ่ายเงินชดเชยจะมี 3 กรณีด้วยกัน คือ 1) กรณีที่เกิดการเจ็บป่วยต่อเนื่องหลังจากรับวัคซีน จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 100,000 บาท 2) กรณีที่พิการทุพพลภาพอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการฉีดวัคซีน จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 240,000 บาท และ 3) หากเสียชีวิต จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 400,000 บาท” เลขาธิการ สปสช. ระบุ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ส่วนปัญหาการแพ้วัคซีนซิโนแวคซึ่งคนไทยบางส่วนกำลังหวาดกลัวอยู่ในขณะนี้จะเป็นความหวาดกลัวที่เกินจริงหรือไม่นั้น นพ.ธีระวัฒน์ ชี้แจงว่า ผลข้างเคียงจาก “วัคซีนซิโนแวค” นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยจะเกิดจากการหดตัวของเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการทางสมอง ซึ่งระยะเวลาการเกิดความผิดปกติจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 2 วัน และบางรายอาจเกิดนานถึง 7 วัน ซึ่งผู้ที่เกิดผลข้างเคียงไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัว และสามารถเกิดผลข้างเคียงกับคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของโรงพยาบาลทั่วประเทศผ่านมาทางศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งรวบรวมข้อมูลของผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวค ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2564 ถึงปัจจุบัน ตลอดจนผลข้างเคียงที่เกิดกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค เมื่อพิจารณาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางสมองของโรงพยาบาลต่างๆแล้วสามารถระบุได้ว่า อาการข้างเคียงเกิดจากการหดตัวของเส้นเลือดในสมอง แต่บางรายก็เกิดการหดตัวของหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย และแสดงอาการออกมาในรูปของอาการชาที่ปากและแขน บางรายอาการมากขึ้นมีอาการชาที่หน้า แขน ขา ลำตัว และมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย

ผลข้างเคียงอีกรูปแบบหนึ่งคือ อาการทางตา เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงลูกตามีการหดเกร็ง ส่งผลให้การมองเห็นภาพผิดปกติ หรือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอรับภาพที่สมองส่วนท้ายทอยหดตัว อาจทำให้อาการผิดปกติของการรับภาพทั้งสองตาได้ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าอาการข้างเคียงดังกล่าวมักจะเกิดกับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอยู่แล้ว เมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวคก็เกิดผลข้างเคียง นอกจากนั้น ในกลุ่มที่เป็นผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนในช่วงที่มีประจำเดือน หรือในช่วง 7 วันหลังจากมีประจำเดือนวันแรก พบว่า มีความสัมพันธ์กับผลข้างเคียงค่อนข้างมากเช่นกัน

วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ประเทศต่างๆ ใช้อยู่ในปัจจุบัน
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า หากเรารู้ปัญหาว่ากลุ่มใดบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ โดย 1) สำหรับผู้ญิงที่จะฉีดวัคซีนซิโนแวค จะต้องไม่ฉีดในช่วงที่มีประจำเดือน 2) ต้องเตรียมสถานพยาบาลและบุคลากรที่จะช่วยเหลือและดูแลผู้ที่เกิดผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน พร้อมทั้งยาขยายเส้นเลือดเพื่อช่วยเหลือในกรณีที่หลอดเลือดหดตัวหลังฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะอันตรายมากน้อยเพียงใดขึ้นกับอวัยวะที่เกิดความผิดปกติ โดยอาการที่ถือว่ารุนแรงคือ ถ้ามีความผิดปกติที่ตา เส้นเลือดหดตัวพร้อมกับมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหัวใจขาดเลือด

“การที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผู้ที่เกิดผลข้างเคียงจากการฉีดซิโนแวคสามารถหายเองได้ ก็เป็นเรื่องจริง โดยจะหายเองได้ภายใน 2 วัน แต่อาจมีบางรายที่ผลข้างเคียงเกิดขึ้นนานมาก เช่น อาการชานานเป็นเดือน หรือบางรายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วไม่หาย โดยคนที่เกิดผลข้างเคียงแล้วหายเองมีประมาณ 90% ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือ เมื่อเกิดผลข้างเคียงก็ให้สังเกตอาการ หากผ่านไป 5-10 นาทีแล้วไม่หาย โดยเฉพาะเมื่อมีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ให้ยาขยายหลอดเลือด แต่ถ้าผ่านไป 1-2 ชั่วโมงแล้วยังไม่หายอีก อาจจะให้ยาฉีดในระดับต่างๆ อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วทำคอมพิวเตอร์สมองแล้วไม่พบว่าเส้นเลือดหดเกร็งเพราะภาวะที่เส้นเลือดหดเกร็งยังไม่ได้ทำให้เนื้อสมองเกิดความเสียหายถาวร แต่ไม่ได้หมายความว่าเส้นเลือดไม่มีการหดตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่ายังเป็นแค่เลือดไหลเวียนน้อยลงแต่เนื้อสมองยังมีชีวิตอยู่” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดจากซิโนแวคนั้น ที่ผ่านมา ทางทีมแพทย์ของไทยได้ขอให้รัฐบาลแจ้งปัญหาดังกล่าวไปยังผู้บริษัทผลิตเพื่อให้ตรวจสอบสาเหตุ โดยทีมแพทย์เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้มีผลข้างเคียงไม่ได้เกิดจากเนื้อวัคซีน เนื่องจากพบว่ามีเพียงวัคซีนบางหลอดและบางล็อตเท่านั้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ จึงคาดว่าผลข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดจากสารปนเปื้อนในหลอดบรรจุ หรือวัคซีนบางหลอดอาจมีสัดส่วนของสารบางอย่างในวัคซีนที่กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมากเกินไป

วัคซีนซิโนแวค วัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลสั่งนำเข้ามาเพื่อใช้ฉีดให้คนไทย และผู้คนบางส่วนกำลังหวั่นเกรงเรื่องผลข้างเคียง
นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ว่า ปัญหาในการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันนั้นนอกจากจะมีปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรแล้ว จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการฉีดวัคซีนมีไม่เพียงพอ ทางหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนของไทยให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนหลายรายที่ขออนุญาตนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 หากรัฐลดขั้นตอนในการพิจารณาจะช่วยให้ไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการและสามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 ได้ทันการณ์ โดยอาจจะอนุญาตให้บริษัทวัคซีนติดต่อกับโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการนำเข้าโดยตรง ในส่วนของประชาชนที่มีกำลังก็สามารถไปรับการฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดหาวัคซีนของรัฐไปได้ส่วนหนึ่ง

“เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ดังนั้นองค์การอาหารและยา (อย.) ควรลดขั้นตอนในการพิจารณาและไม่ตั้งกำแพงในการตรวจเช็กวัคซีนที่จะนำเข้ามามากนัก เพราะปัจจุบันวัคซีนต้านโควิด-19 มีการใช้แพร่หลายทั่วโลก เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองอยู่แล้ว ดังนั้น การพิจารณาไม่น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

วัคซีนใบยา วัคซีนต้านโควิด-19 จากฝีมือของคนไทย
นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้เตือนว่า สิ่งที่น่าวิตกในขณะนี้คือเชื้อโควิด-19 เป็นไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา และการป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำจากการกลายพันธุ์ของเชื้อเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การจะป้องกันการกลับมาระบาดโดยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก็ต่อเมื่อ หากวัคซีนที่ฉีดสามารถป้องกันเชื้อได้ 100% รัฐจะต้องฉีดให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร แต่เนื่องจากวัคซีนส่วนใหญ่ป้องกันไม่ได้ 100% ดังนั้น จะต้องปูพรมฉีดให้ได้ถึง 90% ของจำนวนประชากร เพราะหากฉีดได้แค่ 70% ของจำนวนประชากรจะมีคนอีก 30% ที่มีโอกาสติดเชื้อและเปิดโอกาสให้ไวรัสกลายพันธุ์ ทำให้เชื้อแข็งแรงขึ้น แพร่ได้รวดเร็วขึ้น และอาการของผู้ติดเชื้อจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ทั่วโลกในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกัน หรือสายพัธุ์ฟิลิปปินส์

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำตอนนี้คือ นอกจากจะลดขั้นตอนการนำเข้าวัคซีนเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำวัคซีนต้านโควิด-19 เข้ามาใช้ให้ได้มากที่สุดแล้ว รัฐบาลต้องปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชากรไทยให้ได้มากที่สุดถึง 90% ของจำนวนประชากรยิ่งดี โดยควรฉีดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. และต้องปูพรมตรวจเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อรายใหม่ในทุกๆ 7 วัน เพื่อป้องกันเชื้อฟักตัวและกลายพันธุ์เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ของไทยเอง หรือหากพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะได้หาทางสกัดได้ทันท่วงที เหตุที่ต้องฉีดให้เสร็จภายใน ก.ค. เพราะหากภายใน 2-3 เดือนยังไม่สามารถจัดการโควิด-19 ตัวเก่าได้ แล้วมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา สถานการณ์จะยิ่งเละเทะไปกันใหญ่” นพ.ธีระวัฒน์ แสดงความห่วงใย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ยังไม่สิ้นหวัง โดย นพ.ธีระวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมี “วัคซีนใบยา” วัคซีนที่สามารถสกัดโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งผลิตโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่ถือหุ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในเดือน ส.ค.นี้ จะเริ่มนำมาทดลองใช้กับอาสาสมัคร ซึ่งหากได้ผลดีจะสามารถนำมาใช้ฉีดให้คนไทยต่อไปได้

“วัคซีนตัวนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือไม่ว่าไวรัสจะพัฒนาไปทางไหนก็สามารถดักทางได้หมด จึงสามารถสกัดโควิด-19 ได้ครอบคลุมทั้งสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะกลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ จากผลการทดลองพบว่าวัคซีนใบยาสามารถต้านโควิด-19 สายพันธุ์เซาท์แอฟริกา ซึ่งเป็นตัวร้ายที่สุดได้ ดังนั้น จึงสามารถสกัดโควิด-19 สายพันธุ์อื่นได้หมด อีกทั้งยังเป็นวัคซีนที่สกัดจากพืช โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจึงมีน้อยมาก จึงถือว่าวัคซีนใบยาคือหนี่งในความหวังของคนไทย” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น