xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียยอมยุติแข่ง ‘คริกเก็ต’ หลังป่วยทะลุ 20 ล้าน ด้านอียู-มะกันเดินหน้าผ่อนข้อจำกัด-ฟื้นท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผู้คนรอคิวเพื่อเข้าเติมออกซิเจนเหลวลงในถังออกซิเจนทางการแพทย์ของพวกตน สำหรับนำไปให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ระหว่างที่ยังหาเตียงโรงพยาบาลไม่ได้  ณ ศูนย์เติมออกซิเจนของภาคเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี วันอังคาร (4 พ.ค.)
จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในอินเดียยังคงสูงขึ้นอย่างน่ากลัว จนยอดสะสมทะลุหลัก 20 ล้านคนแล้ว บีบให้ต้องยอมระงับการแข่งขันกีฬายอดนิยมอย่าง “คริกเก็ต” ที่มีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ ขณะที่สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้ามในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งความสำเร็จในการฉีดวัคซีนทำให้ทางการเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดในการป้องกันโรคติดต่อเพิ่มมากขึ้น และเตรียมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

กระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานเมื่อวันอังคาร (4 พ.ค.) ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น 357,229 คน รวมยอดสะสมเป็นกว่า 20 ล้านคน ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3,449 คน ยอดรวมเป็น 222,408 คน

แม้เคสใหม่รายวันยังพุ่งขึ้นเกิน 300,000 คนเป็นวันที่ 13 ต่อเนื่องกัน แต่ทางการพยายามชี้ว่า ได้ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งวันที่ทำสถิติสูงสุดนั้นอยู่ที่ 402,000 คน และทำให้มีความหวังว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดอาจกำลังจะผ่านไป กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญและผู้สังเกตการณ์ยังต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ของทางการ โดยเห็นกันว่าตัวเลขที่เป็นจริงอาจสูงกว่านี้ 5-10 เท่าตัว

การระบาดระลอกนี้หนักหนาสาหัสมากกระทั่งทำให้ระบบสาธารณสุขอินเดียอยู่ในสภาพพังครืน โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลนทั้งเตียง ยา และออกซิเจน กระนั้นที่ผ่านมา อินเดียน พรีเมียร์ ลีก (ไอพีแอล) ซึ่งเป็นการแข่งขันคริกเก็ตที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกถึง 6,800 ล้านดอลลาร์ กลับยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ไม่เปิดให้เข้าชมในสนาม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งขณะที่ประเทศเผชิญวิกฤตไวรัสรุนแรง

อย่างไรก็ดี เมื่อวันอังคาร ผู้จัดการแข่งขันได้ประกาศระงับการแข่งขันเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และนักกีฬา ซึ่งรวมถึงซูเปอร์สตาร์คริกเก็ตระดับโลก ซึ่งมีทั้งที่มาจากอินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ และนิวซีแลนด์

การระบาดระลอกล่าสุดในอินเดียนี้ มีสาเหตุมาจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมขนาดใหญ่ อย่างการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น และพิธีทางศาสนา อย่างเทศกาลแสวงบุญกุมภเมลาของชาวฮินดู

ในประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียอย่างปากีสถาน กิจกรรมทางศาสนาก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน ขณะที่ทางการในประเทศนั้นกำลังต่อสู้กับการระบาดระลอกสาม และเรียกร้องให้ชาวมุสลิมปฏิบัติตามข้อควรระวังระหว่างเทศกาลถือศีลอด

กระนั้น ชาวมุสลิมชีอะห์หลายพันคน ซึ่งหลายคนไม่สวมหน้ากาก ยังคงไปรวมตัวกันในเมืองลาฮอร์เมื่อวันอังคารเพื่อร่วมขบวนแห่ประจำปี

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปากีสถานมักหลีกเลี่ยงการขัดขวางกิจกรรมทางศาสนาเหล่านี้ แม้โรงเรียนและตลาดยังถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโรคระบาดก็ตาม

สำหรับสถานการณ์ย่ำแย่ในอินเดียเวลานี้ มีความแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับทางยุโรปและอเมริกา โดยในส่วนผู้นำยุโรปกำลังพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ เช่น ข้อเสนอฟื้นการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดอาจทำได้ตอนต้นเดือนหน้า

ในวันจันทร์ (3) คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอว่า ผู้เดินทางซึ่งฉีดวัคซีนที่สหภาพยุโรปอนุมัติจนครบโดส หรือผู้เดินทางจากประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ ควรได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่อียู

ปัจจุบัน วัคซีนที่ได้รับอนุมัติจากอียู ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และแอสตราเซเนกา

อย่างไรก็ตาม สำหรับเยอรมนี สมาชิกทรงอิทธิพลในอียู กลับยังคงสั่งยกเลิกเทศกาลเบียร์ “ออกโตเบอร์เฟสต์” เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของข้อเสนอของอียูคือผู้เดินทางชาวอเมริกัน หลังจากอเมริกาฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทั้งสองโดสแล้วกว่า 100 ล้านคน

สื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อวันจันทร์ด้วยว่า สหรัฐฯอาจอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉินกับเด็กอายุ 12-15 ปี ตั้งแต่สัปดาห์หน้า

ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนทำให้หลายพื้นที่ของอเมริกา เช่น นิวยอร์กและฟลอริดา เริ่มผ่อนคลายมาตรการสกัดไวรัสโคโรนา

ส่วนที่จีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบไวรัสโคโรนาเมื่อปลายปี 2019 ในเทศกาลหยุดยาวเนื่องในวันแรงงานสากล นักท่องเที่ยวนับล้านเดินทางเที่ยวชมจุดหมายปลายทางยอดนิยมภายในประเทศกันอย่างคึกคัก หลังจากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นส่วนใหญ่

แต่สำหรับในบราซิลที่นอกจากมีการระบาดรุนแรงแล้วยังประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน ทำให้เมืองใหญ่หลายแห่งต้องระงับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

บราซิลมีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 400,000 คน สูงสุดอันดับ 2 ของโลก รองจากอเมริกา

วันจันทร์ องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ประเทศมั่งคั่งต้องร่วมสนับสนุนเงินทุนเพื่อการแจกจ่ายวัคซีน ตรวจหาผู้ติดเชื้อและรักษาในประเทศยากจน เพื่อยุติวิกฤตไวรัส โดยเทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการฮู เรียกร้องให้ที่ประชุมสุดยอดจี 7 ในเดือนมิถุนายน ประกาศมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อต่อสู้กับวิกฤตนี้

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)

เผาศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ที่เมรุชั่วคราว ในสถานเผาศพ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองสิลิกูริ รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย เมื่อวันอังคาร (4 พ.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น