xs
xsm
sm
md
lg

[คำต่อคำ]SONDHI TALK : “ยานยนต์ไฟฟ้า” จุดเปลี่ยนประเทศไทย - ปลดแอกประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วันที่ 16 เม.ย.64 เวลา 09.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ไลฟ์สด “SONDHI TALK” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ คุยทุกเรื่องกับสนธิ และช่องยูทูป Sondhitalk เรื่องสำคัญที่คนไทยต้องรู้ เมื่ออีก 14 ปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทยอย่างที่เราคาดไม่ถึง โดยเทรนด์รถ EV เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก มาดูกันว่านโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศสนับสนุนรถยนต์พลังงานสะอาดอย่างไร และไทยยังติดขัดตรงไหน และเตรียมโบกมือลาพลังงานฟอสซิล ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน หากไม่ปรับตัวคงถึงคราวล่มสลาย ทศวรรษแห่งยานยนต์ EV เกิดขึ้นแล้ว ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ!! ติดตามได้ในรายการ SONDHITALK : ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง special Ep81



คำต่อคำ SONDHI TALK [16 เม.ย. 64] : ยานยนต์ไฟฟ้า จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ช่องทางการรับชมรับฟัง "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" หรือ SONDHI TALK
เฟซบุ๊กแฟนเพจ : คุยทุกเรื่องกับสนธิ
YouTube : Sondhitalk 
เว็บไซต์ : www.sondhitalk.com
Podcast หรือ podbean : SONDHI TALK

สวัสดีครับท่านผู้ชม สวัสดีปีใหม่ไทยครับ วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 ท่านผู้ชมคงจะกลับมาจากสงกรานต์ หรือว่าอยู่ในช่วงการเดินทางกลับ ขอให้ชีวิตหลังสงกรานต์นี้มีแต่เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น ขอให้ท่านรอดจากโรคโควิด-19 รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ให้เข้มแข็ม มีสุขภาพที่ดี ให้มีความสุขกับครอบครัว

ท่านผู้ชมครับ วันนี้เป็นวันที่ผมเกริ่นมาตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้วว่าผมจะพูดเรื่อง ยานยนต์ไฟฟ้า หรือที่เขาเรียกว่า EV จะเปลี่ยนประเทศไทย พลิกโฉมประเทศไทยได้อย่างไร รายการวันนี้ทั้งรายการจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และบทบาทรถยนต์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยอย่างที่เราคาดไม่ถึง และถ้าเราเดินให้ถูกต้อง เดินให้เป็น เราจะอยู่กันอย่างสุขสบายทุกคน มีความสุขกันถ้วนหน้า และประเทศไทยนอกจากลดต้นทุนในเรื่องของรถยนต์น้ำมันแล้ว ยังสามารถที่จะทำให้การเดินหน้าต่อไปในโลกนี้ด้วยพื้นฐานทางการเกษตรที่แข็งแรง และการที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับอากาศ ทุกคนมีงานทำกันหมด เฉพาะอุตสาหกรรมรถ EV ถ้าใช้กันได้ทั่วประเทศแล้ว จะแทบไม่มีคนตกงานเลย และมีรายได้ดีด้วย


อาทิตย์นี้จะพูดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า 4 ช่วง ตอนนี้ผมจะพูดถึงช่วงแรกก่อน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ประมาณเกือบเดือนที่แล้ว บอร์ดอีวี หรือที่เขาเรียกกันว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ทำข้อเสนอบางอย่างที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยขึ้นมา เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่ระบุชัด คือภายในปี 2578 หรืออีก 14 ปี ผู้ขับยานยนต์สามารถจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ได้ "เฉพาะ" ยานยนต์ไร้มลพิษ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า ZEV (Zero Emission Vehicle) 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออีกนัยหนึ่ง จะแบนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE (Internal Combustion Engine) ก็คือรถเครื่องที่มีลูกสูบ ที่ต้องเติมน้ำมันเครื่อง เติมน้ำมันเบนซิน พูดง่ายๆ ก็คือ อีก 14 ปีข้างหน้า หรือปี 2578 รถยนต์จะวางขายในประเทศไทย จะเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทุกคัน เป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่รถลูกผสมกึ่งน้ำมันกึ่งไฟฟ้า ไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid)


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีแนวทางที่เร่งรัดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ที่สำคัญของโลก และมีเป้าหมายเกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ค.ศ. 2035 มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น คือคณะแรกจะเป็นคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อนุกรรมการคณะที่สอง คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรีเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า คณะที่สาม คือ คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และชุดสุดท้าย คือ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

ท่านผู้ชมครับ ก่อนเราจะเข้าไปสู่เรื่องรถไฟฟ้านั้น เรามาอธิบายกันนิดหนึ่ง มีปัญหาทางเทคนิคที่ต้องอธิบายหน่อย ท่านผู้ชมอดทนนิดหนึ่งนะครับ

ระหว่างรถเครื่องยนต์ที่ผมเล่าให้ฟัง กับรถยนต์ไฟฟ้า ต่างกันอย่างไร ? หลายคนยังไม่รู้ว่ารถยนต์ปัจจุบัน กับรถยนต์ไฟฟ้า ต่างกันอย่างไร

รถยนต์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรถใช้น้ำมันเบนซิน ใช้ดีเซล ใช้ก๊าซธรรมชาติ เขาเรียกว่า เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในขณะที่เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี


สันดาปภายใน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า ICE (Internal Combustion Engine) นั่นคือรถเครื่องยนต์ปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เขาเรียกว่า ICE คือเครื่องยนต์สันดาปภายใน ส่วนเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี เขาเรียกว่า Bettery Electric Vehicle (BEV) ทั้งที่หลายคนนึกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน ใช้ก๊าซในปัจจุบัน ไม่ได้ต่างอะไรไปจากรถ EV มาก แค่เปลี่ยนแหล่งให้กำเนิดพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และก๊าซ ไปเป็นไฟฟ้า เท่านั้นเอง


เดี๋ยวผมจะเอารูปขึ้นให้ดูเปรียบเทียบเทคโนโลยี ระหว่าง ICE ก็คือรถยนต์ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ กับ BEV คือรถพลังงานไฟฟ้า แต่จริงๆ แล้วทั้งสองระบบมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล เหมือนหมากับช้าง ผมส่งแผนภูมิข้างบนให้ดู รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านั้น ทำให้การขับเคลื่อนรถยนต์ลดความซับซ้อนลงมาก คือการควบรวมระบบต้นกำลัง ก็คือเครื่องยนต์นั่นเอง เขาเรียกว่า ระบบต้นกำลัง และทดกำลัง ก็คือเกียร์ เข้าด้วยกัน คือรวมมาเลย ให้กลายเป็น มอเตอร์เกียร์ ก็คือ อินเวอร์เตอร์และระบบควบคุม ก็คือแต่ก่อนรถยนต์ที่เราใช้มันมีระบบ ดันกำลัง ต้นกำลัง (เครื่องยนต์ 4 สูบ, 6 สูบ, 8 สูบ) และทดกำลัง (เกียร์ : เกียร์เข้า เกียร์ออก หรือเกียร์อัตโนมัติ) เอาสองตัวนี้มารวมกันเข้าไป กลายเป็น มอเตอร์เกียร์ อินเวอร์เตอร์ และระบบควบคุม


หากเปรียบเทียบภาพให้เห็นชัด รถยนต์อย่างเทสล่า ท่านผู้ชมเคยได้ยินชื่อใช่ไหม เทสล่า รถไฟฟ้าที่มีชื่อมากในโลกนี้ ในระบบขับเคลื่อนทั้งคัน มีชิ้นส่วนอยู่เพียง 17 ชิ้น เปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล คือรถยนต์ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ขับเคลื่อนต้องมีอุปกรณ์เคลื่อนไหวอยู่มากสองร้อยกว่าชิ้น จากสองร้อยกว่าชิ้นที่เราเคยชินทุกวันนี้ เหลือเพียง 17 ชิ้นเอง เพราะว่าเครื่องยนต์ที่เราใช้อยู่นั้น มีอุปกรณ์ มีส่วนประกอบหลายร้อยส่วน มีหัวเทียน มีกระบอกสูบ มีเสื้อสูบ มีจานจ่าย มีน้ำมันเครื่อง มีลิ้นไอเสีย มีสายพาน ทั้งหมดนี้ทำให้น้ำหนักของรถไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehical) นั้น ลดลงอย่างมากที่สุด ที่สำคัญทำให้การสึกหรอของเครื่องยนต์ รวมไปถึงอะไหล่ รวมไปถึงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทำอีกต่อไปแล้ว เพราะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน


ท่านผู้ชมครับ จากภาพด้านบนที่ผมเอาขึ้นให้ดู จะเห็นได้ชัดว่า ทางด้านซ้ายของท่านผู้ชม คือมอเตอร์ไฟฟ้าของรถยนต์เทสล่า มีน้ำหนักแค่ 31.8 กิโลกรัม กับทางด้านขวา เครื่องยนต์สันดาปภายในที่เราใช้ทุกวันนี้ มีน้ำหนักถึง 180 กิโลกรัม น้อยกว่ากันตั้ง 6 เท่า ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าของเทสล่านั้นให้กำลังขับเคลื่อนที่สูงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในเสียด้วยซ้ำ ในกระบวนการผลิตปัจจุบัน อุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุดสำหรับรถยนต์ที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้ก็คือเครื่องยนต์ 4 สูบ, 6 สูบ, 8 สูบ ในขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่กักเก็บอยู่ในแบตเตอรี พลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรีจะไปขับเคลื่อนมอเตอร์ ซึ่งเป็นต้นกำลังหลักของยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาจจะมีอินเวอร์เตอร์ในการแปลงกระแสไฟ (อินเวอร์เตอร์ คือ ตัวแปลงกระแสไฟ) จากกระแสตรง คือ DC เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ คือ AC และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ในการควบคุมการทำงานของมอเตอร์ เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า

ท่านผู้ชมครับ และด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว ก็จะเพียงพอทำให้เกิดการขับเคลื่อนอันนุ่มนวลและเงียบสงบ สามารถทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ทั้งค่าซ่อมบำรุงและค่าพลังงานไฟฟ้า จะมีราคาถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิง ยิ่งไปกว่านั้น ยานยนต์ไฟฟ้านี้สามารถตอบสนองการขับขี่ของผู้ขับขี่ ให้มีอัตราเร่งได้ดั่งใจ เพราะมอเตอร์ไฟฟ้าสั่งการให้เกิดการขับเคลื่อนได้ทันที ที่สำคัญ ยานยนต์ไฟฟ้าไม่มีการปลดปล่อยไอเสีย ไม่สร้างมลภาวะให้แก่โลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ท่านผู้ชมครับ ประเด็นความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า ICE กับยานยนต์ไฟฟ้า คือรถ EV (Electric Vehicle) มากกว่าแค่เพียงค่าเชื้อเพลิง และแหล่งกำเนิดพลังงานนั้น มีความสำคัญมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างธุรกิจ ห่วงโซ่การผลิต การบริการหลังการขาย ซึ่งไม่นับแค่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ แต่ครอบคลุมไปถึงบริษัทน้ำมัน ก๊าซ อะไหล่ รวมไปถึงซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นข้ออ้างให้บริษัทรถยนต์ดั้งเดิมในปัจจุบัน ถ่วงดึงเพื่อชะลอการเกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เนิ่นนานออกไปมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ผมจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า (EV) ของเทสล่า กับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ปัจจุบัน คือ รถโฟล์กสวาเกน

อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว นัยของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีสูงมาก โดยไม่เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ขับเคลื่อนยานพาหนะจากเชื้อเพลิงน้ำมันฟอสซิล ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่คือการเปลี่ยนระบบนิเวศ (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมหลายๆ อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง ผมจะยกตัวอย่าง ท่านผู้ชมรู้ไหมว่า ปี 2563 บริษัท เทสล่า แซงหน้าโตโยต้า เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก


วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ปีที่แล้ว แปดเดือนที่แล้ว หุ้นของเทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งขยับขึ้นกว่าเท่าตัว นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2563 พุ่งทะยานสูงสุุด 3.5 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างการซื้อขาย ทำให้มูลค่าของเทสล่าสูงถึง 207,200 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.5 ล้านล้านบาท ท่านผู้ชมครับ แซงหน้าโตโยต้า ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่า 201,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.33 ล้านบาท คือเทสล่าเพิ่งออกมาไม่กี่ปีนี้เอง ปรากฏว่ามูลค่าบริษัทเทสล่า แซงโตโยต้าไป 6.5 ล้านล้านบาท โตโยต้า 6.33 ล้านบาท

ท่านผู้ชมครับ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะฉลาด จะเห็นได้ชัด เขาเห็นว่าเทสล่า อนาคตนั้นดีกว่าโตโยต้าเยอะ

ในช่วงต้นปี มกราคม 2564 เทสล่ามีมูลค่าในตลาดทะลุ 8 แสนล้านดอลลาร์ แล้ว หรือราว 25 ล้านล้านบาท จากปีที่แล้วแค่ 6.5 ล้านล้านบาท ไม่ถึงปี มาถึงต้นปีนี้ 25 ล้านล้านบาท และก่อนเดือนมีนาคม 2564 มูลค่าตลาดจะปรับลดลงมาเหลือ 6 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 18.8 ล้านล้านบาท นั่นคือมูลค่าหุ้นที่ขึ้นด้วยตกด้วย นี่พูดถึงราคาหุ้นที่มันตกลงมา

ท่านผู้ชมรู้ไหม มูลค่าบริษัทเทสล่า สูงกว่าโตโยต้า เทสล่าผลิตรถยนต์แค่ 130,000 คันเอง ในไตรมาสแรกของปี 63 คิดเป็นประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์ ของโตโยต้า โตโยต้าผลิตในระยะเวลาเดียวกัน 2.4 ล้านคัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ผลิตรถน้อยกว่าเยอะมาก แต่มูลค่าบริษัทสูงกว่ามาก ก่อนหน้านั้น ในเดือนมกราคม ปีที่แล้ว เทสล่าก็เพิ่งแซงหน้าโฟล์กสวาเกน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตอนนี้พวกเขามีมูลค่ามากกว่าค่ายรถใหญ่เยอรมนีถึง 2 เท่า

สิ่งที่น่าสนใจคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทสล่า ในฐานะที่ผลิตรถยนต์ที่มีค่ามากที่สุด

เทสล่า ได้กลายเป็นผู้นำด้านการจัดเก็บพลังงาน และมี solution พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นไม่สามารถพูดได้ โดยเทคโนโลยีชั้นนำของเทสล่ามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมในภาพรวม ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตรถยนต์


ผมจะเอารูปขึ้นให้ดู เทสล่า กับ Ecosystem ที่ผลิตหลังคาบ้านตอบโจทย์ EV มีทั้งจุดชาร์จแบตเตอรีรถยนต์สาธารณะของเทสล่าที่แพร่กระจายไปในหลายประเทศ และที่สำคัญคือ โรงงานผลิตแบตเตอรีของเทสล่า ที่ชื่อ GIGAFACTORY

ท่านผู้ชมครับ เคล็ดลับของเทสล่าอยู่ที่ไหน ? เคล็ดลับของเทสล่าไม่ใช่รถยนต์ แต่คือ Ecosystem ระบบนิเวศ และระบบ IT คือซอฟต์แวร์ของเทสล่าสำคัญมาก ความสำเร็จของเทสล่า และอีลอน มัสก์ ผู้บริหารเทสล่า คือ ในปี 2563 ทำให้ในเวลาต่อมา บริษัทรถยนต์ทั้งหลายรู้ตัวว่าต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นจะตกกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างแน่นอน

ท่านผู้ชมครับ 16 มีนาคม 2564 หนึ่งเดือนที่ผ่านมา สำนักข่าว CNN รายงานว่า ในที่สุด โฟลก์สวาเกน ค่ายรถยักษ์ใหญ่เยอรมนีที่เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ จักรยานยนต์นับสิบแบรนด์ โฟล์กสวาเกน เป็นเจ้าของอะไรบ้าง ท่านผู้ชมรู้หรือยัง ? เจ้าของ AUDI, PORSCHE, BENTLEY, LAMBORGHINI, SEAT, SKODA< BUGATTI, DUCATI, SCANIA เป็นต้น

โฟล์กสวาเกนปรับปรุงใหม่หมดเลย ประกาศแผนว่าภายใน 4 ปี คือ 2025 หรือ พ.ศ. 2568 อีก 4 ปี กลุ่มโฟล์กสวาเกน จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทำยอดขายแซงเทสล่าให้ได้ โดยเขาพร้อมจะทุ่มเงินมากกว่า 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท ทุ่มเงินเพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่ที่ลดการพึ่งพารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้าของโฟล์กฯ คือการขายยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้เกิน 2 ล้านคัน และสร้างเครือข่ายโรงงานผลิตแบตเตอรีของตัวเอง เพื่อการก้าวขึ้นไปเป็นยักษ์ใหญ่ของยานยนต์ไฟฟ้าแทนเทสล่าให้ได้


จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ของ UBS หรือ Union Bank of Switzerland เขาระบุว่า ปี 2568 (อีก 4 ปี) บริษัท โฟล์กสวาเกน จะก้าวเป็นอันดับ 1 ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ไม่รวมไฮบริดนะครับ ตามมาด้วยเทสล่า คือ โฟล์ก อันดับ 1 เทสล่า อันดับ 2 โตโยต้า อันดับ 3 โตโยต้าก็คือยังงุมมะงาหราอยู่กับรถยนต์แบบเดิม โตโยต้าก็พยายามพัฒนารถ แต่ไม่ใช้ไฟฟ้า กลับไปใช้ไฮโดรเจน (HYDROGEN) แต่ยังไม่ไปไหนเลย เพราะฉะนั้นแล้ว เขาคำนวณดูแล้ว นักวิเคราะห์จาก UBS เขาบอกว่า อันดับ 1 รถโฟล์กสวาเกน อีก 4 ปี จะขายรถได้ 2.6 ล้านคัน อันดับ 2 เทสล่า 2.3 ล้านคัน อันดับ 3 คือ โตโยต้า 1.5 ล้านคัน อันดับ 4 ฮุนได 1 ล้านคัน นิสสัน 1 ล้านคัน เจเนอรัล มอเตอร์ส (GM) 8 แสนคัน


ท่านผู้ชมครับ ความท้าทายของนักผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมนั้น กลับไม่ใช่การปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตรถยนต์ จากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ท่านผู้ชมครับ จุดแข็งของเทสล่าที่แท้จริงคือเขาเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ และบริษัทไอที ไม่ใช่บริษัทผลิตรถยนต์

อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้า EV คืออะไร ? คือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผมเอารูปขึ้นให้ดูนะครับ รถในรูปคือรถเวย์โม (WAYMO) รถยนต์ไร้คนขับที่กำลังวิ่งทดสอบจริงอยู่ภายใต้ Google Campus ที่แคลิฟอร์เนีย รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Autonomous Car มาพร้อมกับยุคแห่งรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมาของรถไฟฟ้าของเทสล่า ที่มีระบบ Auto Pilot เหมือนเครื่องบิน กัปตันกดปุ่ม Auto Pilot เครื่องบินก็บินได้ด้วยตัวเอง


ที่รถสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ สิ่งที่ทำก็คือว่า บอกเลย ไปแม้นศรี รถก็สามารถพาเราไปส่งถึงปลายทางได้เลย ไปคริสตัลฯ ทองหล่อ รถก็จะพาไปคริสตัลฯ ทองหล่อ แท้จริงแล้วระบบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ไม่ได้อ้างอิงว่าจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงแบบไหน ก็สามารถเป็นรถยนต์ระบบนี้ได้ทั้งนั้น แต่ปัจจุบันโลกกำลังหันไปหายานยนต์ไฟฟ้ากันหมด เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนรถระบบอัตโนมัติส่วนใหญ่จึงอยู่บนพื้นฐานการทำงานบนรถยนต์ไฟฟ้า โดยที่ไม่ทำงานบนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันฟอสซิล เลยอาจถูกทำให้เข้าใจว่าระบบนี้น่าจะมีอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ อยู่บนทุกระบบ แต่เนื่องจากรถในอนาคตนั้นเน้นที่ไฟฟ้า ก็เลยต้องใช้บนรถไฟฟ้าเสียส่วนใหญ่

ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติก็มีการแบ่งระดับของการทำงานเอาไว้ หน่วยงานที่ทำการแบ่งประเภทเอาไว้ก็คือ Society of Automotive Engineers : SAE International หน่วยงานนี้ได้ทำการแบ่งรถขับเคลื่อนอัตโนมัติไว้ทั้งหมด 6 ระดับ ระดับ 0 ก็คือ ไม่มีระบบอัตโนมัติ ก็คือขับด้วยมือ ระดับที่ 1 Driver Assistance เริ่มต้นจากรถยนต์ที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ แต่มีบางฟังก์ชันที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ อย่างเช่น บังคับทิศทาง หรือการเร่งเครื่อง ซึ่งรถเก๋งบางคันในตลาดในขณะนี้ก็ใช้ระบบนี้ได้ สมมุติว่าขับๆ อยู่ เรากดปุ่มอัตโนมัติ รถก็วิ่งไป เร่งเครื่องไปตามลักษณะที่เรากดปุ่มไป ระดับที่ 2 คือ Occational Self-Driving คือการบังคับทิศทางหรือการเร่งเครื่องอย่างใดอย่างหนึ่งถูกทำโดยระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องใช้ทั้งแขนและขาพร้อมกัน ระดับที่ 3 Limited Self-Driving รถยนต์ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีผู้ขับขี่คอยเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย ระดับที่ 4 Semi Autonomous Car ซึ่งบริษัท แมคคินซีย์ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเริ่มออกสนามทดสอบมาสู่ถนนจริงประมาณปีที่แล้ว จนถึงปีหน้า (2022) ซึ่งแม้จะขับเคลื่อนได้เอง แต่ก็ยังต้องพึ่งการตัดสินใจและการควบคุมของผู้ขับในกรณีฉุกเฉิน อย่างเช่น รถตัดหน้าปั๊บ คนที่นั่งอยู่ก็จับพวงมาลัย ระดับที่ 5 เรียกว่า Full Autonomous Car หรือ Full Self-Driving เป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ใช้เวลาพัฒนานานกว่ามาก จึงจะทำงานเหมือนมนุษย์ขับเอง และตัดสินใจเองได้อย่างสมบูรณ์ มีรถตัดหน้าปั๊บ สามารถตัดสินใจโดยเบรกกะทันหัน มีสถานการณ์เทียบเท่ากับมนุษย์เป็นคนขับ สามารถจัดการควบคุม ตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ในระดับนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีคนขับอีกต่อไป

เขาว่า อย่างเร็วที่สุดก็คือ 2573 (2030) อีก 9 ปี รถประเภทนี้ถึงจะสำเร็จ


ท่านผู้ชมครับ ถ้ารถประเภทนี้สำเร็จและไปได้ เราไม่ต้องมีรถ มันก็จะมีสิ่งที่เขาเรียกว่า Car Sharing ท่านผู้ชมอยู่คอนโดฯ อยู่บ้าน ไม่ต้องใช้รถ แต่จะใช้รถเมื่อไรก็กดแอปพลิเคชัน รถที่ไม่มีคนขับก็จะวิ่งเข้ามาจอดที่หน้าบ้าน แล้วเราก็จ่ายค่าเช่าไป เราก็บอกรถว่าจะไปไหน รถก็จะไปตามที่เราบอก เขาก็บันทึกระยะทางไป

ท่านผู้ชมครับ นโยบายเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวโยงกับระบบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เช่น เทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G เซ็นเซอร์อัจฉริยะ ระบบบริการจัดการพลังงาน ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ใช้ประกอบในการควบคุมยานพาหนะแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกมาก คือเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบจราจร การประกันภัย การรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุ สมมุติว่ารถคันนี้ไม่มีคนขับ แล้วไปชนคนตาย ใครรับผิดชอบ ? บริษัทรถ บริษัทซอฟต์แวร์ ผู้โดยสาร หรือเจ้าของรถ เพราะฉะนั้นจะพบเห็นได้ว่ายานพาหนะแห่งอนาคตนั้นไม่ได้จบลงด้วยการเป็นยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่จำเป็นต้องพึ่งพื้นฐานทางเทคโนโลยีชั้นสูง

ผมเล่ามาถึงตอนนี้ ผมกำลังจะเล่าถึงศักยภาพแท้จริงของเทสล่า คือ ศักยภาพของเขาอยู่ที่ซอฟต์แวร์ ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ บทวิเคราะห์จากธนาคาร UBS ( Union Bank of Switzerland) จึงชี้ให้เห็นว่า ความได้เปรียบของเทสล่า ไม่เพียงอยู่ที่การเป็นเจ้าของโรงงานผลิตแบตเตอรี ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุดในรถไฟฟ้า ก็คือว่า ในรถไฟฟ้าไม่มีอะไรแพงกว่าแบตเตอรีแล้ว แบตเตอรีแพงที่สุด และทำให้เทสล่ามีต้นทุนแบตเตอรีต่ำกว่ารถยี่ห้ออื่น แต่ความได้เปรียบของเทสล่านอกจากมีต้นทุนแบตเตอรีต่ำแล้ว ยังอยู่ที่การเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีสถาปัตยกรรมอันซับซ้อน โดยความเป็นองค์กรซอฟต์แวร์ของเทสล่านั้น อยู่คนละระดับกับเหล่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ก็คือพูดง่ายๆ ว่าเหนือชั้นกว่าเยอะ ซอฟต์แวร์ของเทสล่านั้น เหนือชั้นกว่าบริษัทผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อ ไม่มีใครตามได้ เพราะฉะนั้นแล้ว นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าเทสล่าสามารถใช้ความได้เปรียบทางซอฟต์แวร์ไปจัดการอัปเดตซอฟต์แวร์ในรถได้แบบไร้สาย น่าสนใจไหมครับท่านผู้ชม อีกหน่อยท่านซื้อเทสล่า เหมือนกับท่านซื้อไอโฟน ถึงเวลาปั๊บมันจะขึ้นเลยว่าให้อัปเดตซอฟต์แวร์ เทสล่าก็เหมือนกัน เขาสามารถจะอัปเดตซอฟต์แวร์ซึ่งอยู่ในรถยนต์เทสล่า ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้เทสล่าของอีลอน มัสก์ สามารถคิดค่าใช้บริการของการใช้ซฟอต์แวร์ในการขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติได้แบบไม่ยากเย็นเลย


ท่านผู้ชมครับ การทำแบบนี้ได้ คือการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและโมเดลธุรกิจของการเป็นเจ้าของรถยนต์ จากการขายรถแบบขายขาด ให้กลายเป็น เช่าใช้ เหมือนระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งช่วยลดความสิ้นเปลือง มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่า

ท่านผู้ชมครับ ยานยนต์ไฟฟ้า กับอนาคตเรื่อง Car Sharing การแบ่งปันรถยนต์ ผมยกตัวอย่าง ท่านผู้ชมตามปกติอยู่คอนโดฯ วันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ เดินทางไปทำงานโดย MTR รถใต้ดิน รถ BTS แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ แต่ท่านผู้ชมจำเป็นต้องใช้รถเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อขับรถไปหาพ่อแม่ พาครอบครัวไปเที่ยว แทนที่ท่านผู้ชมจะซื้อรถยนต์มาใช้ ก็มาใช้ระบบ Car Sharing อยากใช้รถก็กดแอปฯ จ่ายเงินเพื่อจอง แล้วไปจุดจอด ขับรถไปใช้งาน พอจะคืนก็เอารถมาคืนยังจุดจอด ซึ่งมีจุดชาร์จไฟอยู่แล้ว แล้วเดินกลับไปเลย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ไม่ต้องดูแลเติมน้ำมัน เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยาง อะไรทั้งสิ้น สิ้นเดือนบิลก็จะมาว่าใช้ไปแล้วเท่าไร

ปัจจัยเรื่องความสำคัญของซอฟต์แวร์และพัฒนาโมเดลธุรกิจของบริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิมให้เท่าทันกับบริษัทไอทีที่เกิดใหม่อย่างเทสล่า แม้กระทั่ง กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก ที่น่าจะซุ่มทำการศึกษาวิจัยทดสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น บริษัท โฟล์กสวาเกน จึงไม่เพียงต้องทุ่มทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีเอง โฟล์กสวาเกน วางแผนจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) อีก 6,500 ตำแหน่ง ใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ (Operating System) บนยานพาหนะของตัวเอง เพื่อให้รถโฟล์กกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยุโรป รองมาจาก SAP


ทั้งนี้ UBS คาดการณ์ว่า ด้วยปัจจัยการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ตื่นตัวเรื่องนี้ จะทำให้ภายในปี 2573 (2030) ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรถยนต์นั่งทั่วโลก 2030 เขาคาดคะเนแล้ว อีก 9 ปี ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เมืองไทยถึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด

ท่านผู้ชมครับ ตอนนี้เรามาพูดถึงความเป็นไป ความเคลื่อนไหว ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า EV ทั่วโลก กับนโยบายรัฐบาลของแต่ละรัฐบาลที่มีอยู่ เป็นกรณีศึกษา หลักๆ แล้วในช่วงนี้ผมจะพูดเรื่อง 2 ประเทศ ประเทศหนึ่งเป็นประเทศที่ประชากรเล็ก 5 ล้านคน ทำอย่างไร อีกประเทศหนึ่ง เป็นประเทศจีน มีประชากร 1,400 ล้านคน

เมื่อปี 2563 ตามเว็บไซต์ www.evvolumes.com ระบุว่า ปีที่แล้วทั้งปี ถ้ารวมยอดรถที่เป็นไฟฟ้า รวมทั้งยอดปลั๊กอินไฮบริด ทั่วโลก มีอยู่ที่ 3 ล้านกว่าคัน เทียบกับปี 62 มีอยู่ 2.26 ล้านคัน ก็คือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคัน ต้องถือว่าเยอะนะครับ เพิ่มขึ้นกว่าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ น่าสังเกตว่าปี 63 เป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำมาก เป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่การจดทะเบียนรถไฟฟ้าในยุโรปปีที่แล้ว พุ่งมากกว่าปี 62 ถึง 137 เปอร์เซ็นต์ เกือบ 1.4 ล้านคัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางยุโรปทางด้านเหนือ เช่น นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งการตลาดสูงมาก เดี๋ยวผมจะเอาตารางขึ้นให้ท่านผู้ชมดู


จะเห็นได้ว่าจากตัวเลขยอดขายรถนั่งใหม่ในประเทศต่างๆ นั้น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะประเทศนอร์เวย์ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านของยุครถยนต์เครื่องยนต์สันดาป มาสู่ยานยนต์ไฟฟ้า อย่างแท้จริง ด้วยยอดรถยนต์ขายใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รวมทั้งปลั๊กอินไฮบริด เมื่อปี 2563 นั้น กินสัดส่วนถึง 74.8 เปอร์เซ็นต์ ของรถนั่งที่ออกใหม่ทั้งหมด ตามมาห่างๆ ด้วยประเทศไอซ์แลนด์ 45 เปอร์เซ็นต์ สวีเดน 32.2 เปอร์เซ็นต์

ทีนี้เรามาดูกันว่าประเทศนอร์เวย์เขาทำอย่างไร ผู้นำประเทศนอร์เวย์ได้ริเริ่มสนับสนุนยานยนตืไฟฟ้าตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 หรือราวๆ 2553 ซึ่งก็ประมาณ 31 ปี

ปัจจุบัน นอร์เวย์ตั้งเป้าว่าจะยุติรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์ ปี 2568 หรือ 2025 อีก 4 ปีนี่เอง อีก 4 ปี ใครไปนอร์เวย์จะไม่เจอรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์อีกต่อไปแล้ว เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหมด ทางสมาคมรถยนต์ไฟฟ้านอร์เวย์ คาดการณ์เป้าหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ เร็วกว่าที่คาดไว้เสียด้วยซ้ำ แล้วนอร์เวย์ทำอย่างไรถ้าคนครึ่งประเทศของตนเองมาใช้รถไฟฟ้า ทั้งๆ ที่นอร์เวย์ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และประกอบชิ้นส่วนรถยนต์อย่างไทย รถไฟฟ้าต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงใน 2 ทศวรรษแรกนั้น แทบจะไม่เป็นผลในนอร์เวย์ เพราะว่าคนยังติดอยู่กับรถที่ใช้เครื่องยนต์ ปรากฏว่ายอดขายรถไฟฟ้าในนอร์เวย์ปี 2553 สิบเอ็ดปีที่แล้ว มีสัดส่วนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เดียวเมื่อสิบเอ็ดปีที่ผ่านมา แล้วอีก 4 ปีข้างหน้า 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงในนอร์เวย์เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด 2556 เพิ่มมาเป็น 42.7 เปอร์เซ็นต์ 2562 ล่าสุด ปีที่แล้ว ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เพิ่มสูง ทะลุกว่าระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ มากกว่ายอดขายรถยนต์เบนซิน/ดีเซล และไฮบริด รวมกันทั้งหมด ก็คือว่า ตอนนี้ประชาชนชาวนอร์เวย์ยอมรับกันแล้วว่าไฟฟ้าลูกเดียว


ทีนี้ เรามาดูแรงจูงใจที่ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือรัฐจะต้องเป็นส่วนสนับสนุน ปัญหาคือ รัฐประเทศไหนมีวิสัยทัศน์ มองได้ไกล ก็สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้ามัวเกรงอกเกรงใจบริษัทรถยนต์ เหมือนอย่างประเทศไทย เกรงใจโตโยต้า นิสสัน อีซูซุ หรือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ มันก็ต้องไปได้ใช้ และเมื่อมันไปได้ช้า ความโชคร้ายจะตกกับประชาชนและประเทศไทย ประเทศไทยโชคร้ายก็คือ สามารถที่จะก้าวไปเป็นผู้นำ ไปเป็นฮับของรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็หมดสิทธิ แล้วก็ตามหลังเขาไปตลอด นั่นคือชีวิตของประเทศในอนาคต และเศรษฐกิจที่จะฟื้นฟูขึ้นในทันทีจากระบบนิเวศที่รอบกับระบบไฟฟ้าก็ไม่มี

ทีนี้ รัฐบาลนอร์เวย์เขาลดภาษีเงินได้รถยนต์ไฟฟ้าลง 50 เปอร์เซ็นต์ และปรับขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 เพื่อสนับสนุนค่ารถยนต์ เพื่อเดินหน้ากระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

ท่านผู้ชมลองหลับตาวาดภาพดูสิว่า ถ้าเราตั้งเป้าการขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางออกของประเทศไทยในด้านมลภาวะ เป็นการสร้างระบบนิเวศที่ล้อมรอบ หรือที่เขาเรียกว่า Ecosystem ล้อมรอบรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอะไหล่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้มีลดค่าแรงพลังงาน ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดในตอนต่อไป


เรามาดูไทม์ไลน์รถยนต์ไฟฟ้าของนอร์เวย์กัน 2533 สามสิบเอ็ดปีที่แล้ว นอร์เวย์ยกเลิกภาษีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ก็คือว่าใครจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ต้องเสียภาษี 2539 ปรับค่าต่อภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปีในอัตราต่ำลง สมมุติว่ารถยนต์ใช้เครื่อง ต่อภาษีรถยนต์ปีนี้ 2,000 บาท รถไฟฟ้าก็อาจจะต่อแค่ 500 บาท 2542 ออกนโยบายให้รถไฟฟ้าจอดรถได้ฟรี จอดได้ฟรีเลยถ้าเป็นรถไฟฟ้า ที่จอดรถต้องเสียเงิน มีป้ายมิเตอร์ไม่ต้องเสียเงิน แล้วพอพัฒนามาจุดๆ หนึ่ง ปี 2561 เขาปรับเป็น เสียเงิน แต่เสีย 50 เปอร์เซ็นต์ 2543 ลดภาษีให้กับบริษัทที่ขายรถยนต์ไฟฟ้า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็คือว่า ถ้ามีกำไรมา 100 บาท ต้องเสียภาษี 30 บาท (30 เปอร์เซ็นต์) หรือ 35 บาท ก็ลดลงไปอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เสียภาษีแค่ 17.5 บาท เป็นการส่งเสริมให้คนสั่งรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาขาย 2543 อนุญาตให้รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งในบัสเลนได้ คือที่นอร์เวย์นั้น บัสเลน วิ่งไม่ได้ ยกเว้นรถบัส แต่สมัยนั้น ปี 2546 สิบแปดปีที่แล้ว ใครมีรถไฟฟ้า วิ่งในบัสเลนได้ รถไม่ติด ต่อมาอีก 5 ปี ปี 2551 ก็มีสถานีชาร์จสาธารณะ ชาร์จรถไฟฟ้าฟรี ตามที่จอดรถข้างทางทั่วเมืองหลวงออสโลของนอร์เวย์ ทุกวันนี้นอร์เวย์มีแท่นชาร์จสาธารณะที่ไม่เสียเงิน 7,600 จุดทั่วประเทศ ปี 2552 หรือเมื่อประมาณสิบสองปีที่ผ่านมา ไม่เก็บค่าทางด่วน แล้วพอมาปี 2561 ก็ปรับเป็นว่า เก็บแค่ 50 เปอร์เซ็นต์

ท่านผู้ชมครับ แม้ตัวเลขสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในนอร์เวย์จะครองตำแหน่งแชมป์เหนือประเทศอื่นๆ ในโลก โดยทิ้งห่าง ไม่เห็นฝุ่น แต่เนื่องจากว่านอร์เวย์มีประชากรแค่ 5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่เล็กมาก เล็กจริงๆ เมื่อเทียบกับตลาดโลก ยิ่งถ้าไปเทียบกับประเทศใหญ่อย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งมีประชากร 1,400 ล้านคน แล้ว ยอดขายรถยนต์ทุกประเภทในประเทศจีน 25 ล้านคัน เพราะฉะนั้นในเชิงปริมาณแล้ว นอร์เวย์เทียบกับจีนไม่ได้เลย

ปี 2563 ปีที่แล้ว ประเทศจีนถือเป็นตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบปลั๊กอินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายทั้งปี 1.24 ล้านคัน รองลงมา คือ เยอรมนี 394,943 คัน และอันดับ 3 คือ อเมริกา 328,000 คัน นอร์เวย์นั้น มียอดขายแค่ 105,709 คัน อย่างที่ผมบอกครับว่านอร์เวย์มีประชากรแค่ 5 ล้านคน เอง


ทีนี้ ถ้าเรามาประเมินสถานการณ์ในประเทศไทยแล้ว ประเทศไทย สถานการณ์และการพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ของจีนนั้น กลายเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจโดยปริยาย เพราะเราหันไปดูรอบตัว เราเห็นว่ารถยนต์แบรนด์จีนบุกเข้ามาไทยอย่างเต็มตัวแล้ว หลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น MG ที่จีนไปซื้อสิทธิ ซื้อโรงงานมาจากอังกฤษ สมัยที่ MG เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ ผมเรียกแบรนด์ MG ว่า เม้งกวง ทำไมต้องเม้งกวง ? เพราะว่าสินค้าตอนนั้นที่ MG เข้า คุณภาพยังไม่ดีเท่าไรนัก MG มีฉายาอีกอันหนึ่ง เขาเรียกว่า "ขวัญใจรถยก" แต่ตอนหลังในช่วง 2-3 ปีหลัง MG ได้พัฒนารุ่นของตัวเองขึ้นมา เน้นคุณภาพ ก็พัฒนา ทำให้ MG เป็นรถที่มีคุณภาพ กลับไปสู่จุดที่แข่งขันกับคนอื่นได้อย่างสบายๆ


นอกจากนั้น แบรนด์จีนอีกแบรนด์หนึ่งก็คือ Great Wall Motors ซึ่งภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า GWM ภาษาจีนเขาเรียกว่า ฉางเฉิง ชี่เชอ (ฉางเฉิง ก็คือ กำแพงเมืองจีน ส่วนชี่เชอ คือ รถยนต์) บริษัทนี้มาซื้อโรงงานของ GM เชฟโรเลต เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ของเชฟโรเลต ซื้อไปเลยทั้งโรงงาน เอามาแปลงเป็นโรงงานที่จะผลิต GWM คือ Great Wall Motors ต้องการจะผลิตรถไฟฟ้า และรถไฮบริด ขายให้กับตลาดไทยแบบเต็มตัวเลข


ทีนี้ ปัจจัยที่ให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางด้าน EV ทั้งโลก จีนตอนนี้เป็นมหาอำนาจรถ EV ในโลกแล้ว ข้อแรก เพราะจีนเป็นประเทศที่มีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ปีที่แล้วเขาขายได้ตั้ง 25 ล้านคัน มีใครขายได้บ้าง สอง รัฐบาลจีนอุดหนุน สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าปีละกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เกือบ 2 ล้านล้านบาท ครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินประเทศไทย เพราะว่าจีนเขาตั้งเป้าว่าเขาจะเลิกขายรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาป ก็คือเครื่องยนต์ที่เราใช้ธรรมดานี้ ภายในปี 2035 คือ 2035 เขาตั้งใจเลยว่าเขาจะเลิกรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์ต่างๆ ให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าหมด ซึ่งก็ตรงกับประเทศไทยที่ตั้งไว้ 2035 เหมือนกัน โดยท่านรองฯ สุพัฒนพงษ์ ท่านตั้งเอาไว้ แล้วทำไมจีนถึงต้องใช้เวลานาน ? ก็เพราะว่า ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ ประเทศไทยมีประชากรแค่ 70 ล้านคน จำนวนรถยนต์ในประเทศไทยมันน้อยกว่าประเทศจีนเยอะ เพราะฉะนั้นแล้ว ในขณะที่จีนต้องใช้นโยบายเป็นสิบๆ ปี กว่าจะมาถึง 2035 อีก 9 ปีข้างหน้า จีนจะไม่มี ประเทศจีนนี่คำสั่งของเขาเด็ดขาดมาก คือถ้าไม่มีรถสันดาป ก็ต้องไม่มีนะ ห้าม ตอนนี้จีน เมืองบางเมืองเขาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหมดแล้ว ผู้ว่าการมณฑลประกาศ หรือว่าเทศบาลเมือง สมมุติว่าเทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้ เขาจะประกาศเลย อีก 5 ปีข้างหน้า รถที่วิ่งในเซี่ยงไฮ้จะไม่มีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน แล้วเขาเดินหน้า ลุย


เขาไม่สนใจอิทธิพลบริษัทรถยนต์ ไม่เหมือนประเทศไทย ตอนนี้โตโยต้า บริษัทรถยนต์ เครื่องยนต์ต่างๆ รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า กำลังวิ่งเต้น กดดันรัฐบาลไทย ไม่ให้ยึดถือ 2035 ให้ค่อยๆ ไปทีละขั้นๆ จะได้ขายเครื่องเก่าๆ ทิ้งให้หมด เห็นแก่ตัวมาก เดี๋ยวผมจะพูดเรื่องนี้ในตอนหลังนะครับ

เพราะฉะนั้นแล้ว ระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนเป็นผู้ตามในตลาดรถยนต์แบบดั้งเดิมมาตลอด ท่านผู้ชมครับ เจ้าแรกสุดของบริษัทรถยนต์ที่เข้าจีน คือ รถโฟล์ก โฟลก์สวาเกน ตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 และต้นทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญเรื่องรถ EV เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นจุดเปลี่ยนเกม หรือภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Game Changer คือถ้าใครเล่นรถไฟฟ้าก่อน เปลี่ยนตัวเองก่อน ผู้นั้นจะเป็นผู้นำในเทคโนโลยีตัวนี้ เหมือนอย่างที่ผมเคยพูดไว้ว่า ถ้าประเทศไทยแน่จริง มีวิสัยทัศน์จริง และพร้อมจะทำจริง เปลี่ยนการเกษตรกรรมในประเทศทุกประเภทให้เป็นออร์แกนิคหมด ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่เกษตรกรรมเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ทุกอย่างใช้ธรรมชาติหมด ออร์แกนิค เราก็จะเป็น Game Changer เหมือนจีน เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่จีนทำ คือจีนต้องการทำให้รถยนต์พาหนะแบรนด์จีนสามารถก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่เหนือแบรนด์ต่างชาติ เพราะว่าจีนมาพัฒนารถยนต์ช้ากว่าต่างชาติ การเปิดประเทศครั้งแรกที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เปิด แล้วรถโฟล์กเข้ามาร่วมทุน ก็คือต้องซึมซับเทคโนโลยีมา แต่ถ้ามาทำรถไฟฟ้าแล้ว ไม่มีใครเหนือใครแล้ว ณ วันนี้ ถ้าจะมีเหนือที่สุด ณ วันนี้ ก็คือเทสล่า


แต่ว่าจีน เนื่องจากว่าเอาเทสล่าเข้ามาอยู่ในประเทศจีน จึงมีการแข่งขันกันมาก จะมีหลายยี่ห้อของจีนก็จะจับตาดูเทสล่า เทสล่าออกแบบนี้ ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปในทิศทางนี้ ในที่สุดแล้วจีนจะหายใจรดต้นคออีลอน มัสก์ เทสล่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ เทสล่า ไม่ได้เป็นตัวแทนของอเมริกา แต่บริษัทรถยนต์จีนเป็นตัวแทนของประเทศจีน

เพราะฉะนั้นแล้ว เทคโนโลยีต่างๆ การประกอบรถยนต์ไฟฟ้า กับรถยนต์สันดาป ที่ผมพูดไปแล้วว่า รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ามีส่วนประกอบ 17 ชิ้น รถสันดาป ก็คือเครื่องยนต์ สองร้อยกว่าชิ้น เพราะฉะนั้นแล้ว การแข่งขันมันไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนแล้ว ไม่ใช่จะต้องมีลิ้นคาบูเรเตอร์ ไม่ต้องมีเครื่องโน้นเครื่องนี้ที่ฝรั่งเป็นคนคิด ไม่ใช่ มันแค่กุญแจสำคัญที่สุด คือการออกแบบ และการใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ มอเตอร์ไฟฟ้า และที่สำคัญที่สุดก็คือ แบตเตอรี จีนก็มีโรงงานผลิตแบตเตอรีที่มีชื่อเสียงใหญ่โตมาก

ประวัติศาสตร์นิดหน่อยก็แล้วกันท่านผู้ชม ในเรื่องของรถยนต์จีน กลางศตวรรษที่ 20 ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศชัยชนะ เข้าปกครองประเทศจีนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1949 (2492) โรงงานรถยนต์แห่งแรกของจีนตั้งขึ้นที่ฉางชุน ในมณฑลจี๋หลิน ท่านผู้ชมที่มีอายุมากแล้วหรือที่ติดตามข่าว จะเห็น แต่ท่านผู้ชมทั่วๆ ไปจะไม่เคยรู้ว่าจีนเคยมีรถยนต์ซึ่งเป็นยี่ห้อของตัวเอง ชื่อ หงฉี (HONGQI) ก็คือ รถธงแดง วัตถุประสงค์หลักก็คือ สร้างขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในรายการของงานรัฐ เดี๋ยวผมจะเอาภาพของ หงฉี ให้ดู มีท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง นั่งอยู่บนรถหงฉี สี จิ้นผิง ก็นั่งอยู่บนรถหงฉี


ก็คือว่า รถหงฉีกลายเป็นแลนด์มาร์กทางรถยนต์ของประเทศจีน คือประเทศจีนเริ่มต้นด้วยรถหงฉี และผมเชื่อว่าอีกหน่อย หงฉี ก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ตัวหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่พัฒนาจากเครื่องสันดาป มาเป็นไฟฟ้า

ทีนี้ หงฉี ผูกขาดมาถึง 3 ทศวรรษ (30 ปี) จนกระทั่ง เติ้ง เสี่ยวผิง บุกเบิกนโยบายเปิดประเทศจีน เห็นว่าจีนไม่ควรจะดันทุรังและถือตัวในความสามารถตนเอง รังแต่จะทำให้ประเทศจีนถอยหลังเข้าคลอง เพราะเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ของจีนในขณะนั้นถือว่าโบราณมาก ขณะนั้นประเทศจีนมีนโยบายเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติ เป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับรัฐบาลจีนในลักษณะของบริษัทร่วมทุน ในตอนแรกที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศนโยบายนี้ ท่านผู้ชมรู้ไหมว่าแข่งขันกันมาก ทั้งอเมริกา ทั้งยุโรป ทั้งหลายประเทศ แต่ปรากฏว่าไปตายเอารถยนต์สัญชาติเยอรมัน คือ โฟล์กสวาเกน

โฟล์กสวาเกนวิ่งเต้นเจรจากับจีน เพราะว่าโฟล์กรู้ดีว่าถ้าบริษัทตัวเองสามารถต่อกรกับคู่แข่ง คือบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่นได้นั้น จำเป็นต้องยึดครองตลาดที่มีศักยภาพสูงให้ได้เสียก่อน ฉะนั้นโฟล์กสวาเกน เยอรมัน วิ่งทั้งบนดิน ใต้ดิน ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จที่ทำให้จีนร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ต่างชาติยี่ห้อแรกของประเทศจีน ก็คือ โฟล์กสวาเกน เป็นบริษัทเดียวที่รุกเข้ามาเปิดตลาดในประเทศจีน

จีนเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก เพราะฉะนั้นแล้ว อุตสาหกรรม EV ที่เกิดใหม่ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการนำเข้าน้ำมันได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ได้ด้วย ทั้งนี้่ จีนตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเท่ากับ 0 ภายในปี 2603 หรือในเวลา 39 ปีข้างหน้า

ท่านผู้ชมครับ เมื่อเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลจีนได้ใช้เงินกว่าพันล้านดอลลาร์ เข้าไปซื้อหุ้นรถยนต์ยี่ห้อ NIO


NIO เป็นสตาร์ทอัพของคนคิดในประเทศจีนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีฉายาว่า เทสล่าของประเทศจีน เพื่อแก้ปัญหาการเงินให้กับ NIO รัฐบาลจีนออกมาตรการสนับสนุนรถไฟฟ้าเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการจราจร จำกัดการเข้าถึงถนนบางประเภทของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ แต่ถ้าเป็นไฟฟ้าเข้าได้ จดทะเบียนซื้อรถใหม่ ท่านผู้ชมรู้ไหมครับ ซื้อรถใหม่ในประเทศจีนปวดหัวที่สุดคือการจดทะเบียน เขาไม่ค่อยให้จดทะเบียนได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ก่อนจะซื้อรถ คุณต้องไปซื้อทะเบียนรถก่อน ถึงจะมีสิทธิเอาทะเบียนรถนั้นมาซื้อรถได้ แต่ถ้าเป็นรถไฟฟ้า จะมีโอกาสจับลอตเตอรีจดป้ายทะเบียนได้มากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล ก็หมายความว่า เครื่องยนต์เบนซิน/ดีเซล ถ้าจะซื้อรถ ได้จับสลากเหมือนกัน แต่ถ้าซื้อรถไฟฟ้าอาจจะได้จับ 5 ครั้ง 10 ครั้ง

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ปี 2564 ยอดขายรถยนต์ EV ของจีนจะเติบโตขึ้นอีกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คือมากกว่า 1.9 ล้านคัน หรือคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของจีนในปีนี้ เยอะนะครับท่านผู้ชม


จาก 25 ล้านคัน ปี 64 จะมีรถไฟฟ้าสัก 1.9-2 ล้านคัน 9 เปอร์เซ็นต์กว่า เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ท่านผู้ชมลองดูนะครับ ปี 65 เปอร์เซ็นต์นี้จะก้าวกระโดด และผมเชื่อว่าถูกต้องตามเป้าที่จีนตั้งเลยว่าอีก 9 ปีข้างหน้า เอาล่ะ ก้าวกระโดดปีละ 9 เปอร์เซ็นต์ อีก 9 ปีข้างหน้าก็เกิน 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เท่ากับภายใน 2035 ประเทศจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน จะใช้รถไฟฟ้ากันหมด ไม่มีใครใช้รถน้ำมันเบนซิน ท่านผู้ชมหลับตาวาดภาพ ประเทศจีนจะทันสมัย จะนำญี่ปุ่น จะนำทุกประเทศในโลกนี้ ลำพังคิดแค่ฝุ่น PM 2.5 กับมลภาวะที่เกิดขึ้นจากน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล จะไม่มีเลย ท่านผู้ชมครับ แล้วเราจะอยู่ตรงไหน ?

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562-2563 สองปีที่แล้ว ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดรถยนต์ EV ของจีน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องใช้เงินอัดฉีดสนับสนุนอย่างเดียว อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้ จีนฉลาด จีนอนุญาตให้อีลอน มัสก์ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเทสล่าที่เซี่ยงไฮ้ รวมไปถึงโรงงานผลิตแบตเตอรีและเสาชาร์จไฟของรถเทสล่าด้วย ท่านผู้ชมครับ เคล็ดลับของการที่อนุญาตให้เทสล่าเข้ามาสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกนอกสหรัฐฯ ในเซี่ยงไฮ้ของจีน ถือว่าเป็นวิน-วิน เพราะตลาดจีนปีที่แล้ว (2563) ทำเงินให้กับเทสล่า เฉพาะปีที่แล้ว มากกว่า 2 แสนล้านบาท คนจีนใช้เทสล่า Model 3 เป็นรถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในจีนเมื่อปีที่แล้ว แต่ที่สำคัญคือมันปลุกให้ในประเทศเกิดกระแสของการสร้างรถ EV แบบพรีเมียมขึ้นอีกหลายยี่ห้อ เมื่อเทสล่าขายดีขนาดนี้ บรรดารถไฟฟ้าจีนหลายเจ้าที่กำลังทำอยู่ก็ต้องมาดูเทสล่า ลอกเลียนแบบ ออกแบบแข่งกัน ไปดูว่าเทสล่าใช้แบตเตอรีแบบไหน ไปดูว่าแทสล่าแต่งตัวแบบไหน ก็คือพูดง่ายๆ ว่า เมื่อเกิดมีผู้นำในทางการตลาด ผู้ตามก็จะต้องเกาะผู้นำเอาไว้ แล้วก็พยายามจะทำตัวเองให้มีคุณสมบัติเหมือนผู้นำ หลายๆ ยี่ห้อเริ่มพัฒนาปรับปรุงอย่างเร็วมาก เช่น NIO บริษัท จี๋ลี่ (GEELY), หลี่เซี่ยงชี่เชอ และที่สำคัญที่สุดอีกบริษัทก็คือ เอ็กซ์เผิง (XPENG) เอ็กซ์เผิง ก็คือ เสี่ยวเผิงชี่เชอ เอ็กซ์ คือ เสี่ยว เหมือนเสี่ยวมี่ X คือย่อมาจากคำว่า เสี่ยว (XIAO)


ท่านผู้ชมลองนึกภาพดู อีก 5 ปี 10 ปี บริษัท EV จีนเหล่านี้จะโตไปแค่ไหน เพราะมีต้นแบบและคู่แข่งอย่างเทสล่าในตลาด

ท่านผู้ชมจำเรื่องหัวเว่ย (HUAWEI) ได้ไหม สมัยก่อนนี้จีนให้แอปเปิลเข้ามา แล้วหัวเว่ยก็เกิดขึ้น พอเกิดขึ้นแล้ว หัวเว่ยก็มีคู่แข่งต่อ คือ ออปโป (oppo) และมีวีโว่ (vivo) แล้วมีเสี่ยวมี่ (xiaomi) ทั้งหมดนี้ ทั้งหัวเว่ย ทั้งออปโป วีโว่ เสี่ยวมี่ ใช้แอปเปิล ไอโฟน เป็นโมเดล ลอกเลียนแบบจนปัจจุบันก้าวขึ้นมาทาบรัศมีแอปเปิลได้

ในทำนองเดียวกัน สักวันบริษัทรถยนต์จีน รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางยานยนต์ไฟฟ้า เอาเป็นว่าไม่แพ้เทสล่าก็แล้วกัน

อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ตัวอย่างยกให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านของยุครถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการภาษี และมิหนำซ้ำภาครัฐยังต้องฟูมฟักและสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่นี้ สร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้นมาด้วยแรงจูงใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีในรูปแบบต่างๆ การสร้างสถานีประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุม การสร้างอุตสาหกรรมแบตเตอรีให้มีความสัมพันธ์อย่างสูงต่อศักยภาพ และต้นทุนการผลิตรถ EV เพราะว่าแบตเตอรีเป็นส่วนประกอบสำคัฐและแพงที่สุดในรถ EV รัฐจะต้องสนับสนุนเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ และอื่นๆ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ ที่สำคัญ จะต้องมีการสร้างบุคลากรมารองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ท่านผู้ชมครับ เราต้องการวิศวกรไอทีอีกเยอะเลย วิศวกรการสื่อสารโทรคมนาคม วิศวกรทางปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

ท่านผู้ชมเห็นหรือยัง คือการปรับปรุงสถานภาพการเรียนการสอนเราเสียใหม่ แล้วก็เน้นในคุณภาพของบุคลากรเหล่านี้ อาจจะไม่ถึงกับต้องจบปริญญาตรี อาจจะเป็นระดับโรงเรียนเทคนิค หรือโรงเรียนอาชีวะ ที่เน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องไอที เน้นในเรื่องโน้นเรื่องนี้ ถึงวันนั้นแล้ว ถ้ารถยนต์ในเมืองไทยใช้ไฟฟ้าหมด เราต้องการบุคลากรทางการศึกษาที่จบทางวิศวะ ทางวิทยาศาสตร์ อีกมากมายมหาศาล วันนั้นความหมายของคุณณัฐพล ใจจริง ในเรื่องของหนังสือที่โจมตีสถาบันกษัตริย์ ไม่มีใครสนใจแล้ว สนใจอยู่อย่างเดียวว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรเมื่อเรามีอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเราไปได้ และอย่างที่จีนพูด ถ้าเราเริ่มตอนนี้ เราพัฒนาตอนนี้ เราไม่ได้ด้อยกว่าจีนหรอกครับ เพราะประเทศเราเล็กกว่า เราสร้างอะไรได้เร็วกว่า เรามีแค่ 1-2 เจ้า แล้วท่านผู้ชมครับ ผมขอทีเถอะ ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนอย่างนี้ให้เกิดขึ้น รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเองได้ เพราะอะไร ? เพราะอย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น สำคัญที่สุดไม่ใช่อุปกรณ์ต่างๆ เพราะทั้งหมดใช้ไม่เกิน 17 ชิ้น ถ้าเป็นเครื่องสันดาปเหมือนเดิม สองร้อยกว่าชิ้น แต่ที่ยุ่งที่สุดและลำบากที่สุด ยากที่สุด แล้วเราสามารถทำได้ ก็คือ แบตเตอรี ถ้าเราลงทุนทางแบตเตอรี เราลงทุนทางด้าน Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้า เราก็จะสามารถที่จะไม่ถูกประเทศอย่างประเทศจีนทิ้งเราห่างจนเกินไป


ท่านผู้ชมครับ ถ้าท่านผู้ชมติดตามรายการผมมาตลอด ท่านผู้ชมคงจำได้ ว่าประมาณ 1 ปีที่แล้ว ผมลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งไม่ใช่เป็นการต่อสู้ครั้งแรกในเรื่องของการผูกขาดพลังงาน ผมสู้มานานแล้ว แต่ปีที่แล้วค่อนข้างเข้มข้นมาก ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนัก ช่วงหน้าร้อน เดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2563 ผมออกมาสู้ในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องค่าไฟฟ้า เนื่องจากนโยบายล็อกดาวน์ Work from Home ของภาครัฐ จนกระทรวงพลังงานและรัฐบาลต้องยอมลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือประชาชน ผมจำไม่ผิดน่าจะช่วยประหยัดค่าไฟประชาชนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้าน

ท่านผู้ชมครับ นอกจากพูดเรื่องค่าไฟแล้ว ผมยังพูดอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก และเรื่องนี้มันเรียงร้อยเข้ามากับเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผมกำลังพูด เป็นคนละเรื่องเดียวกันไปแล้ว ตอนนี้ ถ้าท่านผู้ชมจำได้ ผมพูดเรื่องประชาธิปไตยด้านพลังงาน ผมบอกว่าการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศด้านพลังงานที่ถูกต้อง ก็คือการลดการผูกขาดด้านการผลิตและการส่งต่อพลังงาน

ท่านผู้ชมครับ ขออนุญญาตทบทวนความจำนิดหนึ่งว่าผมพูดว่าอย่างไร ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 หรือประมาณ 11-12 เดือนที่ผ่านมา ผมบอกว่าการพัฒนาพลังงานที่ถูกต้อง ท่านผู้ชมรู้ไหมว่าประชาชนต้องใช้พลังงานของตัวเอง ทางที่ดีที่สุดรัฐบาลต้องผลักดันโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรีเก็บพลังงาน


การไฟฟ้าเองทุกหน่วยการไฟฟ้าต้องหดตัวลง บริการเฉพาะอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะการไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งฝ่ายผลิต นครหลวง และภูมิภาค ต้องทำใจให้ได้ว่า พวกท่านจะผูกขาดต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะมันมีประชาชนเกือบ 70 ล้านคน เดิมพันในเรื่องนี้ ท่านผู้ชมครับ ฟังผมให้ดีๆ ที่ผ่านมาการไฟฟ้า การพลังงาน หรือกระทรวงพลังงาน ไม่เคยมีวิธีบริหารจัดการการพลังงาน หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Energy Management เขาคิดเพียงแต่ว่าสร้างโรงไฟฟ้ามา ซื้อไฟเข้ามา ถ้าผลิตไม่พอแล้วก็ขายไป ก็กินหัวคิวอย่างเดียว คิดได้เพียงแค่นี้ 40-50 ปีที่ผ่านมา มีอยู่เพียงแค่นี้เอง

ท่านผู้ชมครับ เราต้องเรียกร้องการกระจายการผูกขาด และเราต้องเรียกร้องประชาธิปไตยทางพลังงาน วันนี้เรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมือง มันสู้การเรียกร้องประชาธิปไตยทางพลังงานไม่ได้ บางคนก็บอกว่าต้องมีประชาธิปไตยทางการเมืองก่อน ถึงจะมีประชาธิปไตยทางพลังงาน ไม่ใช่ ไม่ใช่เลยท่านผู้ชม เรามีเสียงประชาชนที่เห็นด้วย คำถาม ถ้าผมถามว่าค่าไฟแพงไปหรือเปล่า ผมเชื่อว่าคน 70 ล้านคน 99.99 เปอร์เซ็นต์ ต้องบอกว่าแพงไป คำถามข้อที่สอง ถ้าผมถามต่อว่า ถ้าแพงไป คุณสนับสนุนไหมที่จะให้ประชาชนมีพลังงานของตัวเอง ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ 70-80 หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ ก็บอกว่าเห็นด้วย ถ้าอย่างนั้นแล้ว ผมถามว่าพวกเราที่จ่าย เฉพาะค่าบริการเดือนละ 38.22 บาท แล้วค่าไฟเพิ่ม 3-4 เท่า เป็นผู้ลงคะแนนเสียง ท่านผู้ชมครับ เรื่องปลดแอกพลังงานที่จั่วหัวมานี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในแวดวงพลังงานระดับโลกเขาไม่ได้พูดเรื่องประชาธิปไตยทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เขามีการคิด ศึกษา วิจัย และนำมาสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงมาหลายสิบปีแล้ว เรื่องนี้เป็นประเด็นของการกระจายการผูกขาดและการสร้างประชาธิปไตยทางพลังงาน

ท่านผู้ชมครับ นี่คือคำพูดที่ผมพูดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เช่นเดียวกัน สิ่งที่ผมจะพูดวันนี้ เกี่ยวกับรถ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้า ก็จะเหมือนจิ๊กซอว์ เอามาเชื่อมต่อกับประเด็นเรื่องประชาธิปไตยทางพลังงานและการปลดแอกทางพลังงาน มันจะร้องเรียงกลายเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

เอาล่ะ ขออนุญาตเอาแผนของอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและเศรษฐกิจไทย 2563 สำหรับประเทศไทย การส่งเสริมเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV หรือ xEV ถูกผลักดันจากรัฐบาล ผ่านนโยบาย xEV 30x30 หมายถึงการตั้งเป้าให้ประเทศไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมกันเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรวมทั้งหมด ภายในปี 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้าเท่านั้น


วันที่ 24 มีนาคม 2564 ประมาณเกือบเดือนที่ผ่านมา จากผลการศึกษาของบอร์ดอีวี หรือคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ นำเสนอโดยเป็นการศึกษาร่วมกันกับบริษัท แมคคินซีย์ เขาชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ขยับตัว หรือยังดื้อดึงกับอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าๆ ไปเรื่อยๆ พอถึงปี 2573 (ค.ศ. 2030) เศรษฐกิจไทยจะสูญเสียมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไปปีละอย่างน้อย 7 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ไปเรี่อยๆ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่ไทยถือเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน ถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยปรับตัวไม่ทันก็สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี EV หรือที่เรียกว่า EV Disruption


ท่านผู้ชมครับ อย่าลืม อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จะต้องมีเจ้าเก่า บริษัทรถยนต์ที่ทำเครื่องสันดาป ต้องออกมาคัดค้าน ต่อต้าน หรือยืดเวลาให้พวกเขาได้มีโอกาสที่จะล้างสตอกของพวกเขาออกไป ทั้งๆ ที่คนพวกนี้เห็นอนาคตแล้ว แต่ไม่เคยวางแผนสำหรับอนาคต เพราะคิดว่าประเทศไทยมันหมู มันซื้อได้ หรือมันใช้อิทธิพลในการกำหนดได้ เพื่อให้นโยบาย EV ออกมาช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ ให้ตัวเองยังเสวยสุขอยู่เหมือนเดิม คนพวกนี้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก ท่านผู้ชมครับ ถ้ารัฐบาล หรือผู้มีอำนาจในแผ่นดินเห็นด้วยกับคนพวกนี้ ประเทศไทยเรือหายแน่นอน

ท่านผู้ชมครับ ผมยกตัวอย่างนะครับ ประเทศไทยมีประมาณการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.5 ล้านคัน 7.5 แสนคัน ใช้ในประเทศ อีก 7.5 แสนคัน ส่งออก ท่านผู้ชมรู้ไหมจักรยานยนต์เราผลิตได้ประมาณ 1.86 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1.56 ล้านคัน 83.9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ประมาณ 3 แสนคัน 16.1 เปอร์เซ็นต์


ท่านผู้ชมครับ สำหรับอุตสาหกรรม ทั้งค่ายรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เรื่อยไปจนถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในในรถยนต์ รวมทั้งตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) มีการจ้างงานทั้งสิ้น 7.5 แสนคน ตำแหน่งสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ นับเป็นล้านๆ บาท ไม่นับรวมอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ผู้สำรวจและผลิต โรงกลั่น ปั๊มน้ำมัน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมายมหาศาล ด้วยเหตุนี้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มากๆ แต่ท่านผู้ชมรู้ไหมว่า กลุ่มประเทศอาเซียนตอนนี้กำลังหายใจรดต้นคอเรา

ถ้าท่านผู้ชมกวาดตาดูไปยังประเทศอาเซียน เพื่อนบ้านใน 4 ประเทศ อย่างมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เขากำลังเร่งสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยทุกคนหวังจะให้ตัวเองเป็น EV Hub ในภูมิภาคอาเซียน แทนประเทศไทยให้ได้


ทั้งนี้ ประเทศและเมืองสำคัญทั่วโลกต่างมีนโยบายเลิกใช้ยานยนต์หรือเครื่องยนต์พลังงานสันดาปโดยใช้พลังงานฟอสซิล คือน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล เพื่อพุ่งเป้าไปสู่ยานยนต์ทั้งหมดให้เป็นยานยนต์ที่ไร้มลพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสิ้น แล้วนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศต่างๆ ท่านผู้ชมรู้ไหม เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

ปี 2564 หรือปีนี้ เอาเริ่มจากประเทศคอสตาริกาก่อนก็แล้วกัน ประกาศหยุดจำหน่ายรถใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หยุดเลยนะ ปีนี้ คอสตาริกา

2567 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า นอร์เวย์ประกาศหยุดจำหน่ายรถใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ก็คือเครื่องยนต์น้ำมันเบนซิน/น้ำมันดีเซล

ค.ศ. 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศไอร์แลนด์ ประเทศอิสราเอล เนเธอร์แลนด์ สโลวีเนีย และประเทศสวีเดน ประกาศการหยุดจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน อีก 9 ปี ประเทศที่ผมเอ่ยชื่อมา ท่านผู้ชมคงรู้จักกันดี

ที่น่าสนใจคืออังกฤษ เกิดเร่งเครื่องเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเร็วขึ้นอีก 5 ปี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ปีที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษ ราชอาณาจักร แถลงว่าจะยุติการจำหน่ายรถยนต์และรถตู้ใหม่ที่ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ภายในปี 2030 อีก 9 ปี เร็วกว่าแผนเดิม 5 ปี เดิมทีเขาตั้งไว้ที่ปี 2035 ตอนนี้ลดอีก 5 ปี ก็เหลือเพียงภายในปี 2030 คืออีก 9 ปีเท่านั้นเอง คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว ที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ประกาศออกมา โดยใช้งบประมาณ 12,000 ล้านปอนด์ หรือราวๆ 5 แสนล้านบาท


ปี ค.ศ. 2036 อีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศฝรั่งเศส ศรีลังกา ประเทศอียิปต์ แคนาดา ไต้หวัน สิงคโปร์ ได้ประกาศการหยุดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2035 ก็คืออีก 14 ปีข้างหน้า ถือว่าเป็นไทม์ไลน์เดียวกันเลย กับบอร์ดของท่านสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ท่านผู้ชมครับ สำหรับประเทศไทยแล้ว อีวีบอร์ด หรือคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการประชุมพิจารณาร่างกำหนดวิสัยทัศนืและเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน ขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้

ท่านผู้ชมครับ ขออนุญาตเอาเอกสารทางการมาพูดให้ฟัง แต่จะพูดในภาษาชาวบ้านให้ท่านผู้ชมเข้าใจ


วิสัยทัศน์คณะกรรมการชุดนี้ก็คือ ประเทศไทยจะต้องเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของโลก ในโลกนี้ 1 ประเทศในไม่กี่ประเทศ เป้าหมายเขาตั้งไว้ว่า ปี 2035 (พ.ศ. 2578) ผู้ขับขี่ยานยนต์สามารถจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ โดยเเฉพาะยานยนต์ไร้มลพิษได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจะมีมาตรการเร่งด่วนอย่างนี้ มาตรการกระตุ้นการใช้รถสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า มาตรฐานและศูนย์ทดสอบแบตเตอรี แผนพลังงาน และการจัดตั้งสถานีอัดประจุสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จัดให้มีโครงการเช่ารถเมล์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 2,511 คัน ส่วนมาตรการในระยะเวลา 1-5 ปี เขาตั้งเอาไว้ดังนี้ ปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิต เขาจะเริ่มปี 2026 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า และภาษีรถยนต์ประจำปี ตามหลักสากลว่า "รถยิ่งเก่า ก็ยิ่งจ่ายแพง" และเขาต้องมีวิธีการบริหารจัดการซากรถยนต์ แบตเตอรี และโซลาร์เซลล์ ที่ใช้แล้ว สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Ecosystem) เพื่อส่งเสริมการใช้รถ ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV และจัดให้มีการพัฒนาบุคลากร

ท่านผู้ชมครับ หลายๆ ท่านฟังแล้วอาจจะนึกไม่ออกว่ายานยนต์ไฟฟ้าที่ผมพูดมานี้ เกี่ยวอะไรกับชีวิตของพวกเรา ทุกวันนี้ท่านผู้ชมนั่งรถเมล์ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ขับรถยนต์มีเครื่องสันดาป และคนที่ไม่ได้ขับรถส่วนตัวก็ใช้รถสาธารณะ ท่านผู้ชมอาจจะคิดว่า ฉันขออย่างเดียว มันปลอดภัย ค่าโดยสารไม่แพงขึ้นก็แล้วกัน ทีนี้ผมอยากให้ท่านผู้ชมที่คิดอย่างนั้น มาวาดภาพตามผมหน่อยถึงสภาพการณ์และวิถีในอนาคต ณ วันนี้ หลายคนอาจจะไม่เห็นภาพ ในวันที่พลังงานไม่ถูกผูกขาด เราล้มการผูกขาดพลังงานไป พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะได้รับการสนับสนุนจนทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน ทุกธุรกิจ สามารถใช้แผงโซลาร์เซลล์เชื่อมกับแบตเตอรีที่สามารถเก็บพลังงานเอาไว้ ท่านผู้ชมครับ ใช้เยอะ ก็เก็บเอาไว้ใช้กับบ้านตัวเอง เอามาชาร์จรถยนต์ EV ของตัวเอง ซึ่งราคาน่าจะถูกลงมาเรื่อยๆ ถ้าไฟไม่พอจากโซลาร์ ก็ใช้ไฟของการไฟฟ้า ถ้าใช้น้อย ผลิตไฟได้มาก ใช้ไม่หมด ก็สามารถขายไฟคืนให้กับระบบของการไฟฟ้า หรือขายแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านที่ผลิตไฟได้ไม่พอ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ผมเอาตัวเลขมาให้ดู รอบ 2 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กุมภาพันธ์) การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 915,751 บาร์เรลต่อวัน การใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน (น้ำมันที่นำมาใช้ในรถยนต์) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.6 ล้านลิตรต่อวัน การใช้กลุ่มน้ำมันดีเซล เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 65.2 ล้านลิตรต่อวัน

ท่านผู้ชมครับ เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังว่า การท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรม EV จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า ถ้าเราปลดล็อกการผูกขาดพลังงานออก ให้ประชาชนสามารถจะติดโซลาร์เซลล์ได้เหมือนกับที่ท่านผู้ชมเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าแล้วซื้อเครื่องไฟฟ้า ซื้อเตาไมโครเวฟ ไม่ต้องมีกฎกติกา ระเบียบที่งี่เง่าและบัดซบมากๆ ของกระทรวงพลังงาน ปลดออกไปเลย ก็โซลาร์เซลล์มันคืออุปกรณ์ไฟฟ้าอันหนึ่ง ทำไมต้องตั้งระเบียบ กฎระเบียบไว้เพื่อช่วยเจ้าใหญ่ หรือเปิดโอกาสให้คนที่คุมระเบียบได้รีดไถชาวบ้าน


ท่านผู้ชมครับ ถ้าชุมชนไฟเหลือมากๆ หลายๆ บ้าน ชุมชนอาจจะตั้งจุดปั๊มเติมไฟฟ้าขึ้นตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน ในตำบล ในอำเภอของตัวเอง พัฒนาขึ้นมาตามแหล่งท่องเที่ยว กลายเป็นจุดแวะพัก พอคนมารอชาร์จไฟในรถ ก็มีร้านกาแฟ มีร้านอาหาร มีกิจกรรม มีจุดเช็กอิน แหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีก ท่านผู้ชมเริ่มเห็นภาพหรือยัง จินตนาการตามผมมา

ที่ผมพูดนี้่ไม่ใช่ความเพ้อฝันนะท่านผู้ชม มันคือความจริงที่เกิดขึ้นได้ถ้าเราทำ ไม่ได้มโนอะไรทั้งสิ้นเลย ปลดล็อกเรื่องการผูกขาดพลังงานไฟฟ้า ทำให้ประชาชนสามารถที่จะติดอุปกรณ์ในการทำไฟฟ้าของตัวเอง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ทำเฉพาะในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ ในเมืองต่างๆ ใครมีที่ดินว่างเปล่า ใกล้ตลาด ใกล้แหล่งการค้า ก็สามารถใช้โมเดลการทำปั๊มไฟฟ้า โดยไม่ต้องไปสร้างปั๊มน้ำมัน ไม่ต้องไปเก็บถังน้ำมัน ไม่ต้องเงื่อนไขว่าจะต้องห่างชุมชนกี่เมตร ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทมน้ำมันใหญ่ เพียงแต่ลงทุนสร้างที่จอดรถ ทำหลังคาเป็นโซลาร์เซลล์ เวลาคนมาจอดรถก็เดินไปทำธุระ สามารถเสียบปลั๊กเติมไฟได้โดยไม่ต้องเสียเวลา เจ้าของที่ได้ทั้งค่าจอดรถ ค่าชาร์จไฟ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับโมเดลทางธุรกิจ


วินมอเตอร์ไซค์ รูปแบบโมเดลของเขา จากคนขับวินที่ต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ จ่ายเงินขั้นต่ำแล้วผ่อนต่อ 4-5 หมื่นบาท เพื่อเป็นเจ้าของ ต้องเติมน้ำมันทุกวัน เฉลี่ยวันละ 20-30 บาท ขั้นต่ำ เพื่อเป็นเจ้าของ ต้องดูแลบำรุงรักษา มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าระบบใหม่ อาจจะเป็นการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวันละ 100-150 บาท เท่านั้นเอง ไม่ต้องเสียเงินไปดาวน์รถ 3-4 หมื่น หรือ 5 หมื่นบาท วันละ 100-150 บาท ส่วนที่ตั้งวิน ก็กลายเป็นจุดชาร์จไฟฟ้า จากค่าน้ำมันวันละประมาณ 30 บาท เสียเป็นค่าไฟวันละ 5 บาท รายได้ของวินมอเตอร์ไซต์ เท่าไร ท่านผู้ชมเห็นหรือยัง

และที่สำคัญที่สุด ถ้าเรามีรถไฟฟ้าใช้กันหมดทุกคน แล้วไม่มีรถเครื่องยนต์ ท่านผู้ชมลองนึกดู ผมเชื่อว่าฝุ่น PM 2.5 ที่เราปวดหัวกับมัน ก็จะหายไปโดยปริยาย อากาศจะบริสุทธิ์มากขึ้น ท้องฟ้าจะแจ่มใส คุณภาพชีวิตจะเพิ่มขึ้น ท่านผู้ชมครับ "คุณภาพชีวิต" ท่านผู้ชมจะตีราคาเท่าไรล่ะ มันประเมินราคาไม่ได้

เราจะเกิดงานใหม่ อาชีพใหม่ ลูกหลานมีงานทำ ไม่ต้องออกไปทำงานที่เมืองใหญ่ เดี๋ยวผมจะบอกท่านผู้ชมที่มีลูกหลานแล้วชอมถามผมอยู่เรื่อยว่า ให้ลูกเรียนอะไรดี เดี๋ยวผมจะบอกให้ว่าเรียนอะไรดี


การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ คืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ท่านผู้ชมอย่ามองว่ามันถูกจำกัดหรือมีผลกระทบกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันส่งผลทำให้เกิดอาชีพใหม่ งานใหม่ ช่างไฟฟ้า ช่างดูแลแผงโซลาร์เซลล์ ทำความสะอาด อู่รถยนต์แบบเดิมต้องเปลี่ยนเป็นอู่รถยนต์ที่ดูแลรถ EV จะมีอาชีพใหม่ที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นมากมาย เพราะทุกคนสามารถทำปั๊มไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เหมือนกับการทำปั๊มน้ำมัน ขอเพียงทำให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ไม่เพียงเท่านั้น ระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้ายังครอบคลุมไปอีกกว้างขวางมาก

เอาล่ะ ท่านผู้ชมที่ถามว่าอยากให้ลูกเรียนอะไร ? อุตสาหกรรมไอที ก็จะเติบโตอย่างมหาศาล คนที่จบด้านนี้จะไม่ต้องสมองไหล ไปทำงานที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือต่างประเทศมากเหมือนในทุกวันนี้ วิศวกรคอมพิวเตอร์ การเขียนซอฟต์แวร์ วิศวกรด้านแบตเตอรีและระบบกักเก็บพลังงาน วิศวกรด้านเซ็นเวอร์ วิศวกรด้านวัสดุศาสตร์ที่สามารถใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าได้ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โซลาร์เซลล์ ลม ชีวมวล จะเติบโตขึ้นอีกเยอะเลย คนจะเลิกเรียนแล้ว คณะรัฐศาสตร์ บรรดาพวกอาจารย์ที่จะล้มเจ้าทั้งหลาย ไม่ต้องไปเรียน หาวิชาชีพที่ทำมาหากินแล้วก็เลี้ยงตัวเองได้ แล้วพัฒนาประเทศได้ไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม จะมีอุตสาหกรรมดั้งเดิมอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบ จะต้องปรับตัว ต้องยอมรับ และในที่สุดบางเจ้าก็ต้องล่มสลายไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำมัน น้ำมันเครื่อง เพนซอยล์ ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้ น้ำมันเครื่องของบริษัทนี้บริษัทนั้น เลิกไปเลย แล้วถ้าผมเป็นเจ้าของกิจการน้ำมันเครื่อง ผมจะหยุดแล้วหาวิธีโละธุรกิจแล้วมุ่งมาทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า อู่ซ่อมรถแบบเดิม เชื้อเพลิงชีวภาพพวกเอทานอล ปั๊มน้ำมัน เจ๊ง อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ รวมไปถึงภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็จะหมดไป

ตอนนี้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV หลายๆ ประเทศ หลายๆ รุ่น เริ่มเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยแล้ว ผมจะไม่ลงรายละเอียดของแต่ละรุ่น แต่ตัวเด่นที่สุดที่มาชูโรงในประเทศไทยก็คือ EV ยานยนต์ไฟฟ้าของฝ่ายประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นของ MG หรือไม่ว่าจะเป็นของ Great Wall หรือไม่ว่าจะเป็นของรถนำเข้า เทสล่า ซึ่งสั่งเข้ามาจากเซี่ยงไฮ้ หรือสั่งเข้ามาเป็นพิเศษสำหรับที่จะใช้รถพวงมาลัยขวาในเมืองไทย ปริมาณเริ่มมากขึ้น แล้วราคาก็เริ่มเข้าไปสู่จุดที่มันควรจะเป็น

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะกดดันการเปลี่ยนแปลงได้ดีเท่ากับการใช้ภาษีเป็นตัวนำทาง ถึงเวลาแล้วถ้าเราจะส่งเสริมรถไฟฟ้า เราต้องยกภาษีรถไฟฟ้าให้เท่ากับ 0 ภาษีสรรพสามิตเท่ากับ 0 ภาษีศุลกากรเท่ากับ 0 เพราะว่าผลพลอยได้ เราอย่าไปมองว่าเราจะสูญเสียรายได้ตรงนี้ คนที่เก็บภาษีอย่าไปคิดตรงนั้น ทำไมไม่คิดว่าอีกระยะหนึ่งผลที่ตอบแทนคืนมาก็คือ หนึ่ง เราจะลดการสั่งเข้าน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล สอง คุณภาพชีวิต คือมลภาวะจะดีขึ้นอย่างมาก และสาม มันจะเกิดธุรกิจใหม่ๆ ระบบนิเวศ Ecosystem ที่ล้อมรถไฟฟ้าให้มีมากขึ้น

ท่านผู้ชมครับ ผมเคยคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ผมอยากให้มอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มที่กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหมด เฉพาะเสียงอย่างเดียว มลภาวะทางเสียงมันจะหายไปหมดเลย แล้วคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ก็จะรู้ว่าการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านั้น เป็นมอเตอร์ไซค์ที่ประหยัด ค่าไฟถูก


ที่สำคัญ รถมอเตอร์ไซค์เอามาใช้งาน ไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์เอามาแข่ง ไม่ได้ขับกัน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนนในกรุงเทพฯ นี่ 60 ก็สูงแล้ว คุณขับ 120 กับ 60 คุณก็ถึงเป้าหมายต่างกันไม่มากนัก นับเป็นจำนวนนาทีได้ แต่คุณประหยัดไปเยอะ คุณประหยัดมลภาวะทางเสียง อ๋อ แน่นอนที่สุด ท่านผู้ชมครับ ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า คัดค้านอย่างแน่นอนที่สุด ผมยังยืนยัน มันหมดยุคแล้วของฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า หรือมอเตอร์ไซค์ต่างๆ ที่ทำมาหารับประทานอยู่ในประเทศไทย

ทำไมฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า ถึงไม่คิดบ้างล่ะที่จะพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แต่พอถึงเวลาที่จะมี disruption ทางด้านนี้ Game Changer เกมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งเราเห็นอยู่แล้วว่ามันมาแน่ๆ ทำไมเราไม่เตรียมตัวทำอย่างนี้ แล้วก็ถามกลับว่า ทำไมฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า หรือบรรดารถมอเตอร์ไซค์ทั้งหลายที่ยืนหยัดอยู่ในประเทศไทยเป็นสิบๆ ปี ทำมาหารับประทานจนร่ำรวยแบบเรือหายกันไม่รู้ตั้งกี่เจ้าต่อกี่เจ้า ทำไมพวกคุณถึงไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลง แต่พอมีนโยบายอย่างนี้ คุณก็มาโวยวาย แล้วคุณก็ใช้นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในฐานะเป็นตัวแทนผู้ผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยว่า เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ 2035 ทำได้จริงหรือเปล่า ยังไม่ทราบ ทำได้ครับถ้วพวกคุณไม่คัดค้าน ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอะไรก็ตามมันจะมีการได้และการเสีย คนที่เสียก็คือคนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จะมีผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นค่ายญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ


คุณองอาจ ครับ คุณไปเช็กข้อมูลให้ดีๆ ทั่้วโลก ญี่ปุ่นนี่ วันนี้ไม่มีที่ๆ จะไปไหนแล้ว ใครบอกเทคโนโลยีญี่ปุ่นดี มันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว วันนี้ญี่ปุ่นมีอะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่บ้าง วันนี้ สำหรับผมแล้ว ญี่ปุ่นมีเหลืออยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือหนัง AV อย่างที่สองคือออนเซ็น อย่างที่สามคือราเม็ง อย่างที่สี่คือ Play Station วันนี้โซนี่ (SONY) หายไปจากวงการแล้ว ไม่มี มีชีวิตอยู่ได้เพราะ Play Station เท่านั้นเอง ผมเพิ่งอ่านข่าวเมื่อ 1-2 วันนี้ EEC ดีใจที่โซนี่มาปักหลักที่ EEC ผมเฉยๆ ผมไม่รู้สึก ระหว่างโซนี่มาปักหลักที่ EEC กับเสี่ยวมี่มาปักหลักที่ EEC ผมว่าเสี่ยวมี่น่าดูกว่าเยอะ

วันนี้โทรทัศน์ก็ไม่ใช่ชาร์ป (SHARP) ไม่ใช่โซนี่อีกต่อไป เป็นโทรทัศน์ของจีน ของประเทศอื่นๆ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าตอนนี้ญี่ปุ่นไม่ได้ครองตลาด ไม่ใช่เลย ถ้ามีเทคโนโลยีญี่ปุ่น ก็จะมีเจ้าเดียว ก็คือรถไฟชินคันเซ็น ซึ่งก็พยายามที่จะเข้ามาให้ไทยใช้ชินคันเซ็นให้ได้ แต่หลังจากนั้นไม่มีอีกแล้ว แล้วญี่ปุ่นก็คือเจ้าของมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า ถามว่าญี่ปุ่นทำไมไม่ทำรถ EV บ้างล่ะ มีก็มีนิสสัน ทำรถ EV


แต่ก็ไม่ได้ทุ่มทุนลงไปในการพัฒนา EV เพราะตัวเองคิดว่ายานยนต์ที่ตัวเองมีอยู่ ที่โรงงานตัวเองมีอยู่ ยังใช้ได้อีกนาน ก็ปล่อยให้มันหมดสภาพไปแล้วค่อยหาทางมาทำ EV นี่เขาเรียกว่าวิสัยทัศน์ของการมองการเปลี่ยนโลกไม่มี แล้วทำไมต้องให้ประชาชนคนไทยและสังคมคนไทยมาแบกรับความเรือหายตรงนี้ จากการที่ผู้ผลิต อย่างเช่นญี่ปุ่น มอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่น รถยนต์ญี่ปุ่น ไม่ได้ใส่ใจกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพียงเพราะเขาต้องการจะรักษาระดับกำไรของเขาอยู่เหมือนเดิม แล้วผ่องถ่ายความสกปรก มลภาวะ มลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศ แล้วให้ประเทศไทยต้องแบกปัญหาของมลภาวะ และแบกเรื่องของต้นทุนของน้ำมันที่ต้องมีอยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับการลงทุนเลยแม้แต่นิดเดียว

อเมริกาก็เริ่ม EV ยุโรปก็เริ่ม EV อังกฤษก็เริ่ม EV สแกนดิเนเวียเริ่ม EV คุณองอาจ คุณเอาข้อมูลที่ไหนว่าจะกระทบกระเทือนการลงทุน มันกระทบกระเทือนการลงทุนของญี่ปุ่นมากกว่า ที่คุณเป็นตัวแทนของพวกเขา อ๋อ แน่นอน บริษัทที่ผลิตประเภทเบาะที่นั่ง ประตู ฯลฯ คุณก็ต้องเปลี่ยนอาชีพคุณ คุณทำมาหากินคุณจะไม่ให้โลกได้พัฒนาเลยหรือ แล้วคุณกะจะทำมาหารับประทานกับของเก่าๆ ที่คุณทำงานอยู่ แค่นั้นหรือ คุณจะไม่ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือ ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ควรจะไปกังวลในเรื่องความกดดันในเรื่องนี้

คุณองอาจ พูดว่า ต้องพัฒนาเป็นสเตป จากเครื่องยนต์สันดาป เป็นสเตปต่อไปไฮบริด แล้วค่อยไปไฟฟ้า ไฮบริดมาแทน EV ได้หรือเปล่า ? ท่านผู้ชมครับ คุณองอาจ พูดบอกว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องใช้เวลา โดยมีเทคโนโลยีไฮบริดเป็นตัวเชื่อม ว่าจริงๆ รถไฮบริดนั้นแทนรถไฟฟ้าได้หรือเปล่า ?


ไม่ได้นะท่านผู้ชม แผนภาพข้างล่าง ด้านรถไฮบริด คือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) ภาพที่สองจากซ้าย และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ภาพกลาง ภาพที่สองจากซ้ายก็คือ Hybrid Electric Vehicle ภาพที่ปลั๊กอินก็คือ ใช้ไฟฟ้าชาร์จไฮบริด

HEV กับ PHEV เหมือนกัน ตรงสามารถใช้พลังงานน้ำมันได้ หรือใช้จากไฟฟ้าก็ได้ แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า HEV เสียบปลั๊กไฟฟ้าไม่ได้ แต่ PHEV เสียบปลั๊กไฟฟ้าได้


ท่านผู้ชมครับ แม้ว่ารถไฮบริดจะประหยัดค่าน้ำมัน ยกตัวอย่าง รถธรรมดาที่เคยเติมน้ำมันสัปดาห์ละครั้ง ใช้โตโยต้า พรีอุส ซึ่งเป็น HEV อาจจะเติมน้ำมันแค่เดือนละครั้ง อย่างไรก็ตาม แผนภาพด้านบนจะเห็นได้ชัดว่าภาระในการดูแลรถไฮบริดนั้นเพิ่มขึ้นมากๆ ท่านผู้ชมต้องดูแลทั้งเครื่องยนต์ เครื่องสันดาปภายใน (สีแดงในภาพ) ควบคู่ไปกับระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (สีฟ้าในภาพ) ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีในยุคก่อนหน้านี้ หรือยุคปัจจุบันที่โครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จไฟ หรือสถานีชาร์จไฟในประเทศไทยยังไม่แพร่หลาย หรือยังไม่สะดวก แต่ถ้าหากในอนาคตที่การชาร์จไฟรถยนต์เป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนกับการชาร์จสมาร์ทโฟน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบจึงจะดีกว่าและควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า

ท่านรองโฆษกรัฐบาล คุณรัชดา ไม่ต้องไปเอาใจคนพวกนี้ นี่คือการเปลี่ยนให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ให้ชีวิตประเทศดีขึ้น ท่านผู้ชมครับ กิจการต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้น เอาเป็นว่าคุณปลดล็อกให้เกิดประชาธิปไตยทางพลังงาน ให้ทุกบ้านสามารถติดโซลาร์เซลล์ และผมรู้ว่าหัวเว่ยเขาคิดเทคโนโลยีมาตัวหนึ่งที่ทำให้พลังงานไฟฟ้า ทีได้จากโซลาร์เซลล์ สามารถจะหมุนเวียนได้ในบ้าน แล้วผมจะเอาข้อมูลนี้มาให้ดู

ท่านผู้ชมครับ หลับตาวาดภาพ หมู่บ้านทุกหมู่บ้านใช้โซลาร์เซลล์ รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเข้าไปสนับสนุนให้ และให้มันเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด หมู่บ้านทุกหมู่บ้านมีสถานีชาร์จไฟรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเกิดทันที บริษัทต่างๆ ห้างร้านต่างๆ เราจะมีร้านค้าเยอะเลยที่เกิดขึ้น ช่างตามหมู่บ้านที่รับจ้างติดโซลาร์เซลล์ เฉพาะแค่นี้แรงงานเท่าไร ทั่วประเทศไทย 70,000 กว่าหมู่บ้าน คนมีงานทำเป็นแสนเป็นล้านคน นี่เฉพาะการติดตั้งโซลาร์เซลล์นะ การรักษา การดูแล กิจการต่อเนื่องจากการที่มีสถานีชาร์จไฟอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง เป็นจุดชาร์จไฟ ปลูกต้นไม้เยอะๆ มีที่จอดรถ มีร้านกาแฟ มีสินค้าโอทอปมาขาย ท่านผู้ชม นี่คือการปลดเปลื้องประเทศไทยออกจากความเป็นเรือหายในเรื่องเก่าๆ ในอดีตหลายเรื่อง

ท่านผู้ชมครับ วันนี้หัวข้ออาจจะน่าเบื่อ แต่ผมเชื่อว่าถ้าท่านผู้ชมตั้งใจฟังดีๆ และผมก็พยายามใช้ภาษาที่เป็นภาษาธรรมดาปกติ แล้วคิดตามผมไป ท่านผู้ชมจะเริ่มเห็นภาพ คนที่อยู่ในวงการไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง คุณมีทางเลือกอยู่ทางเดียว คุณต้องปรับตัวเข้ารับสภาพ ผมเข้าใจว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำลังคิดจะตั้งสถานีชาร์จไฟให้กับรถไฟฟ้าแล้ว ไม่เป็นไร คุณทำไป แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าทุกหมู่บ้าน นี่ก็คือสินค้าโอทอปอีกอันหนึ่ง ก็คือปั๊มชาร์จไฟฟ้า หมู่บ้านทุกหมู่บ้านมีโอทอปใหม่ ก็คือโอทอปปั๊มชาร์จไฟฟ้า ปตท. เอง ปั๊มน้ำมันเอง ก็ต้องเริ่มแล้ว เอามุมๆ หนึ่งติดตั้งที่ชาร์จไฟ แล้วพอปริมาณรถไฟฟ้ามากขึ้น ก็ขยับไล่น้ำมันเบนซิน/ดีเซลออกไป ปตท. ก็จะเป็นศูนย์ปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้ แล้วก็เหมือนเดิม ก็ทำมาค้าขายได้เหมือนเดิม


สรุปแล้ว เมื่อรวมยอดทุกอย่างแล้ว ประเทศไทยดีขึ้น ประชาชนดีขึ้น คนมีงานทำมากขึ้นกว่าเก่า ประเทศไทยประหยัดอีกเยอะ ท่านผู้ชมครับ ผมอยากเห็นมาก ใน 3 ปีนี้ มอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพมหานครควรจะเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกๆ คัน วินทุกวินจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้า คนทำมอเตอร์ไซค์เช่า วันละ 100-150 บาท โมเดลธุรกิจมีแล้วเรียบร้อย ไม่ต้องเป็นเจ้าของเอง วินมอเตอร์ไซค์ไม่ได้มีมาเพื่อให้แข่งกัน คุณเป็นวินมอเตอร์ไซค์ คุณรับจ้างส่งของ คุณทำงานแกร็บได้ คุณไม่ได้ต้องเฆี่ยน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนบิ๊กไบค์ที่จะมีใช้ พวก DUCATI หรือพวกยี่ห้ออะไรก็ตาม ก็เรื่องของเขาไป นั่นก็จะมีอีกลักษณะหนึ่งสำหรับขับเพื่อโชว์ความเท่ ของคุณขับเพื่อประหยัด เพื่อทำมาหากิน ประหยัดไฟฟ้า มีเงินเข้ากระเป๋ามากขึ้น เอาไปเลี้่ยงดูลูกเมียและครอบครัวมากขึ้น

ท่านผู้ชมครับ วันนี้พูดมาเยอะแล้ว เรื่องนี้อาจจะดูน่าเบื่อหน่าย ไม่เหมือนเรื่องที่มีดรามาแต่ละเรื่องในอดีต แต่เรื่องนี้คือการเปลี่ยนประเทศ ท่านผู้ชมฟังครั้งแรกไม่เข้าใจ ย้อนกลับไปฟังอีกครั้งหนึ่ง ผมอยากให้ท่านผู้ชมฟังสัก 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งสำหรับท่านผู้ชมที่เข้าใจยาก และท่านผู้ชมจะเริ่มเห็นอนาคตว่า ลูกฉันควรจะเรียนอะไรดีจากนี้ไป จะเริ่มเห็นแล้วว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร แล้วจะเริ่มเห็นว่าทางออกก็คือการสร้างประชาธิปไตยทางพลังงาน

ท่านผู้ชมครับ ขอให้มีความสุขและเรามาเจอกันอาทิตย์หน้า สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น