xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้สงครามกลางเมือง! ผู้ประท้วงพม่าใช้อาวุธปะทะทหาร ส่งสัญญาณเข้าสู่เฟสใหม่การต่อสู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 11 คน เสียชีวิตในเหตุปะทะกับกองกำลังด้านความมั่นคงในเมืองแห่งทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า หลังรถบรรทุกทหารพร้อมกำลังพลเดินทางมาถึงเพื่อปราบปรามการประท้วงต่อต้านการปกครองของคณะรัฐประหาร ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่นเมื่อวันพฤหัสบดี (8 เม.ย.) ส่งสัญญาณว่าสถานการณ์กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของการต่อสู้ หลังจากก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมใช้แนวทางสันติอหิงสามาตลอด

ผู้ประท้วงใช้ปืนประดิษฐ์เอง มีดและระเบิดเพลิง ตอบโต้กลับพวกทหารในเมืองตาเซ หลังจากรถบรรทุกทหาร 6 คันได้เข้าไปยังเมืองแห่งนี้เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าพอถูกตอบโต้กลับ กองทัพตัดสินใจส่งกำลังไปเพิ่มอีก 5 คันรถ

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า เหตุปะทะลากยาวเข้าสู่ช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (8 เม.ย.) และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย และบาดเจ็บ 20 คน อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากฝั่งทหาร

ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้จนถึงตอนนี้มีพลเรือนถูกกองกำลังความมั่นคงสังหารไปแล้วมากกว่า 600 ราย นับตั้งแต่คณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ตาเซอยู่ใกล้กับเมืองกาเล ที่มีประชาชนถูกสังหารอย่างน้อย 12 คน เมื่อวันพุธ (7 เม.ย.) ระหว่างที่ผู้ประท้วงปะทะกับทหาร

เหตุการณ์ต่างๆ นานาเหล่านี้อาจเป็นการส่งสัญญาณเฟสใหม่ของการต่อสู้ หลังจากที่ผ่านมาพวกฝ่ายต่อต้านได้ใช้แนวทางสันติในการประท้วงเป็นส่วนใหญ่ แม้กองกำลังด้านความมั่นคงจะใช้ปฏิบัติการปราบปรามรุนแรงถึงตายก็ตาม

“ประชาชนพยายามปกป้องชีวิตและสิทธิของตนเอง” รัฐมนตรีรายหนึ่งของอดีตรัฐบาลกล่าว ขณะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw : CRPH) กลุ่มส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกขับไล่

“ประชาชนจะไม่รอให้ CRPH ดำเนินการ” เขาบอกกับรอยเตอร์ “CRPH ไม่อาจหยุดความเป็นไปได้ของการต่อต้านติดอาวุธโดยประชาชน จากประชาชน”

สมาชิกของ CRPH ซึ่งกำลังพยายามกอบกูุ้รัฐบาลพลเรือน จะปราศรัยต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 15 ชาติ ในการประชุมทางไกลอย่างไม่เป็นทางการในวันศุกร์ (9 เม.ย.) จากการเปิดเผยของคณะทูต


การประชุมดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ ประณามการใช้ความรุนแรงกับพวกผู้ประท้วง แต่ไม่เคยระบุว่าการยึดอำนาจของกองทัพนั้นเป็น “รัฐประหาร” หรือขู่ดำเนินการใดๆ สืบเนื่องจากถูกคัดค้านจากจีน รัสเซีย อินเดียและเวียดนาม

สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารไปแล้วหลายรอบ และในวันพฤหัสบดี (8 เม.ย.) ได้เพิ่มเติมกลุ่มบริษัทเพชรพลอยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรัฐเป็นเจ้าของ เข้าไปในบัญชีเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและหลายประเทศได้กำหนดมาตตรการคว่ำบาตรบรรดานายพลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และสมาชิกบางส่วนในครอบครัวของพวกเขา เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัท 2 แห่งที่ควบคุมโดยกองทัพ ขณะที่บริษัทล่าสุดซึ่งถูกใส่ชื่อเข้าบัญชีดำของสหรัฐฯ ได้แก่ เมียนมา เจมส์ เอนเตอร์ไพรส์ ส่วนหนึ่งของกระทรวงเหมืองแร่

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ชาวอเมริกันไม่สามารถดำเนินธุรกิจกับบริษัทที่ให้อนุญาตและออกใบอนุญาตในการขุดอัญมณีล้ำค่าและรวบรวมรายได้จากการจำหน่ายอัญมณีและหยก ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่ามันจะช่วยจำกัดศักยภาพในการก่อรายได้ของคณะรัฐประหาร

พม่าเป็นแหล่งหยกหลักของโลกซึ่งเป็นที่ต้องการในจีน และยังเป็นแหล่งทับทิมและอัญมณีหายากอื่นๆ

แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในคำแถลงว่า การขึ้นบัญชีดำครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำทหารเข้าร่วมงานจัดแสดงและจำหน่ายอัญมณีในกรุงเนปิดอว์

“สหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันกับแหล่งรายได้ของรัฐาลพม่าไปจนกว่ารัฐบาลจะยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างเป็นธรรม ยกเลิกกฎอัยการศึก และสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ยกเลิกข้อจำกัดด้านโทรคมนาคม และนำพม่ากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย” บลินเคน กล่าว

ที่ปรึกษาคนหนึ่งของ CRPH เปิดเผยว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 6 คนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่เวลานี้กำลังหลบภัยอยู่ในอินเดีย ขณะที่ตำรวจอินเดียระบุว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในประชาชนราวๆ 1,800 คนที่มาจากพม่านับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

“ณ เวลานี้ พวก ส.ส.กำลังตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวงในพม่า พวกเขาถูกตรวจต้น พวกเขากำลังถูกตามติดโดยพวกทหาร” เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียระบุ

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น