ธุรกิจบริการเถื่อนรับจ้างพาคนลักลอบข้ามพรมแดนเข้าสู่ดินแดนสหรัฐอเมริกา กลับมาเฟื่องฟูอย่างยิ่งในต้นปี 2021 คนพวกนี้เร่งขายฝันลูกค้าว่ารัฐบาลไบเดนต้อนรับผู้อพยพ รีบเผ่นเข้าสหรัฐฯ ก่อนนโยบายจะเปลี่ยน พร้อมแนะแท็กติกทีเด็ดต่างๆ ครบครับ เพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายการตั้งต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลเม็กซิกันแสดงท่าทีขึงขังกับมาตรการปิดกั้นไม่ให้ผู้อพยพข้ามพรมแดนภาคใต้ของตน เพื่อช่วยลดจำนวนคนหนีเข้าสหรัฐฯ มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตรึงพรมแดนกัวเตมาลา-เม็กซิโกกันคึกคักโครมคราม แต่ธุรกิจพาผู้คนลักลอบข้ามพรมแดน ณ หมู่บ้านห่างไกลความเจริญชายขอบพรมแดน ก็ยังดำเนินไปดั่งปกติ วันละประมาณ 1,200 ราย โดยวิ่งรถตู้ลัดเลาะผ่านป่าดงดิบ แล้วลงเรือข้ามแม่น้ำกั้นแดนเข้าสู่เม็กซิโกได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่ต้องมีเอกสารผ่านแดนไปสำแดงแก่ผู้ใดเลย
บนเส้นทางลักลอบข้ามพรมแดน : ลำบากยากเข็ญ แต่เป็นจริงได้
ในวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2021 ชายเจ้าของเรือข้ามแม่น้ำดูแลผู้อพยพขึ้นเรือให้เรียบร้อย แล้วบ่ายหน้าข้ามแม่น้ำอูซูมาซินตาจากฝั่งกัวเตมาลาสู่ฝั่งเม็กซิโก บริการดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจชุมชนที่ทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากผู้อพยพหน้าใหม่ๆ ที่ผ่านมาทุกวัน วันละหลายรอบ
ผู้อพยพเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนานาประเทศในอเมริกากลาง เดินทางขึ้นเหนือ โดยมีสหรัฐฯ เป็นเป้าหมายปลายทาง เหตุผลความจำเป็นในการอพยพมีอยู่ไม่หลากหลาย อาทิ หลีกลี้จากความรุนแรงในประเทศ ลี้ภัยออกจากสภาวะยากจนข้นแค้นรุนแรงขนาดที่คนในครอบครัวแทบไม่มีอาหารยังชีพ บ้านช่องทรัพย์สินวอดวายจากพายุเฮอริเคน 2 ลูกเมื่อพฤศจิกายน ปี 2020 และได้แรงกระตุ้นจากข่าวลือดีๆ ทั้งปวง ทีมนักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนของเอพีรายงานอย่างนั้น
ในกลุ่มผู้อพยพที่ข้ามแม่น้ำเข้าเม็กซิโกมาแล้ว มีครอบครัวของยูริ เกเบรียลา ปอนซ์ คุณแม่วัย 30 ปี จากฮอนดูรัส ที่ยินดีให้สัมภาษณ์แก่ทีมนักข่าวเอพี เธอเดินทางมาพร้อมสามีและลูกเล็ก 3 คน อายุ 2 ขวบ 5 ขวบ และ 9 ขวบ
“พวกนั้นบอกเราว่าพอเดินเข้าไปเรื่อยๆ จะเจอจุดตรวจคนเข้าเมือง เราไม่ทราบหรอกว่าต้องทำอะไร แต่ก็หวังว่าเรามีลูกๆ มาด้วย พวกเจ้าหน้าที่คงจะช่วยเรา” คุณแม่ปอนซ์เล่าความกังวลใจต่ออนาคตอันใกล้ว่าเดี๋ยวจะต้องทำอย่างไรในการเดินทางขึ้นเหนือต่อไป โดยในขณะนั้น ครอบครัวไปนั่งพักหลบแดดแถวสี่แยกในชุมชนใกล้พรมแดน
ครอบครัวปอนซ์ละทิ้งถิ่นฐานในฮอนดูรัส หลังจากสามีซึ่งทำงานในวงการก่อสร้างถูกนายจ้างลอยแพ และไม่สามารถหางานใหม่ได้เลย อันที่จริงในครอบครัวนี้ยังมีลูกโตหน่อยสองคน แต่ได้ฝากเด็กทั้งคู่ไว้กับญาติ
เดิมทีนั้น สองสามีภรรยาเคยคิดจะข้ามเข้าเม็กซิโกด้วยอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งนั่งรถตู้ต่อเดียวจากกัวเตมาลาก็ผ่านพรมแดนเข้าเม็กซิโก แต่เนื่องจากได้ข่าวว่าเส้นทางนั้นค่อนข้างอันตราย มีแก๊งค้ามนุษย์ที่ดักปล้นฆ่าพ่อแม่เพื่อชิงตัวเด็กไปขาย ก็จึงยอมใช้เส้นทางที่ลำบากกว่า (แต่ไม่เสี่ยงสูงและผู้คนก็นิยมเส้นทางนี้กันมาก) โดยนั่งรถตู้วิ่งลัดเลาะเข้าเขตป่าดงดิบ และมาต่อเรือข้ามแม่น้ำที่เป็นพรมแดนเข้าสู่เม็กซิโก
แก๊งลักลอบพาผู้อพยพข้ามประเทศ จัดระบบเคลื่อนย้ายคนเป๊ะมาก
ในเส้นทางดังกล่าวนี้ รถตู้แต่ละคันจะทยอยกันนำลูกค้า คันละ 12 ราย มาส่งที่ชุมชนลา เทกนิกา ริมแม่น้ำอูซูมาซินตาทางฝั่งกัวเตมาลา ตรงข้ามกันเป็นเมืองฟรอนเทรา โคโรซาล ของเม็กซิโก
เมื่อลูกค้าผู้เป็นคนอพยพก้าวออกจากรถตู้ ก็จะซื้อหาอาหารรับประทานจากร้านรวงริมถนนในชุมชน แล้วโทรศัพท์ไปแจ้งสถานการณ์การเดินทางให้ญาติทางบ้านได้รับทราบ
“เราเกือบถึงเม็กซิโกแล้ว” สตรีอายุน้อยนางหนึ่งพูดกับญาติผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะนั่งรับประทานอาหารเช้าอยู่ริมถนนซึ่งเรียงรายมากมายด้วยร้านอาหาร ห้องอาบน้ำสาธารณะ และร้านสะดวกซื้อต่างๆ
ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง ผู้อพยพมากกว่าหนึ่งร้อยรายมาพร้อมกันที่ริมแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นคนจากกัวเตมาลา และพวกสตรีในกลุ่มนี้ที่กระเตงลูกมาด้วยนั้น มีกันค่อนข้างมาก เด็กหลายรายยังอ่อนเยาว์ยังเดินเองไม่ได้เลย
พวกเขาถูกพาแยกย้ายไปขึ้นเรือซึ่งคล้ายเรือหางยาว คือวางมอเตอร์และใบพัดไว้นอกลำเรือ การบริหารจัดการเพื่อนำลูกค้าขึ้นเรือ ดำเนินอย่างเป็นระบบ เป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่อย่างใด
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนข้ามแม่น้ำเรียบร้อยแล้ว ผู้อพยพเหล่านี้จะเหลือเพียงแผ่นดินเม็กซิโกที่จะต้องเดินทางฝ่าขึ้นไป เพื่อให้ถึงปลายทางฝันคือ สหรัฐฯ
ในขั้นตอนนี้ ขบวนการลักลอบขนคนเถื่อนจัดเตรียมแท็กซี่หลายสิบคันรอให้บริการแบบฉับไว พอแท็กซี่คันหน้าบรรจุคนขึ้นรถจนครบเต็ม ก็ล้อหมุน แล้วแท็กซี่อีกคันจะปราดเข้ามารับคนล็อตต่อไป แต่บริการแท็กซี่ดังกล่าวอยู่ในแพกเกจซึ่งให้จ่ายค่าบริการครอบคลุมถึงค่าแท็กซี่ข้ามประเทศเม็กซิโกพร้อมไกด์นำทาง โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะได้ขึ้นแท็กซี่ที่จะวิ่งฉิวๆ หายไปตามถนนชนบท เพื่อเดินทางขึ้นเหนือตลอดเส้นทางจรดจนถึงชายแดนสหรัฐฯ
ส่วนสำหรับแพกเกจที่สิ้นสุด ณ ชายแดนภาคใต้ของเม็กซิโก ที่ครอบครัวห้าชีวิตตระกูลปอนซ์และอีกหลายครอบครัวเลือกซื้อนั้น ลูกค้าต้องพากันเดินไปตามถนน แบบว่าเดินไปตายดาบหน้า เพราะจะต้องไปดั้นด้นกับจุดตรวจคนเข้าเมือง โดยหากผ่านไปได้ก็จะพอหาอาชีพขายแรงงานแลกเงินค่าจ้างที่ต่ำจนน่าใจหาย
รัฐบาลเม็กซิกันลั่น ทุ่มเทช่วยสหรัฐฯ สกัดคนอพยพ แต่...
เม็กซิโกวางกำลังตั้งจุดตรวจคนเข้าเมืองไว้หลายแห่งบนทางหลวงมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ โดยเป็นส่วนสำคัญที่จะสกัดกั้นคนอพยพไม่ให้รุกคืบไปถึงชายแดนสหรัฐฯ
ทางการเม็กซิโกบันทึกตัวเลขผู้อพยพที่ถูกกักตัวในรอบสองเดือนกว่าของปีนี้ว่า มีมากกว่า 31,000 รายแล้ว แต่ตัวเลขนี้ไม่สามารถสะท้อนภาพที่แท้จริงว่าคลื่นผู้อพยพโดยรวมนั้นมหาศาลเพียงใด
ขบวนการลับลอบขนคนหลบหนีเข้าเมืองมักใช้เส้นทางลับ โดยรถราที่ขบวนการฯ ใช้จะมีาตั้งแต่รถตู้-แท็กซี่แบบพานักท่องเที่ยวเดินทาง ไปจนถึงซุกผู้อพยพไว้ในรถเทรลเลอร์ หรือพาขึ้นรถเมล์ข้ามจังหวัด และเครื่องบินโดยใช้เอกสารเดินทางปลอม
“ตอนอยู่ฝั่งกัวเตมาลา ผู้อพยพก็ปรากฏให้เห็นได้เป็นปกติ แต่แล้วก็จะหายตัวไปเมื่อข้ามแม่น้ำเข้าสู่เม็กซิโก” กล่าวโดยบาทหลวงเรเน่ ซอป ซิวีร์ แห่งคณะนักบวชเยซูอิตเพื่อช่วยเหลือผู้เดินทางเข้าเมือง ซึ่งดำเนินงานช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของเม็กซิโก
ในวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม ซึ่งมีผู้อพยพข้ามแม่น้ำอูซูมาซินต้า ณ หมู่บ้านห่างไกลความเจริญ ริมป่าดงดิบของกัวเตมาลา รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,200 รายนั้น ห่างออกไป 483 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเม็กซิโกหลายสิบรายไปประจำการอยู่ริมฝั่งแม่น้ำซูชิเอเต้ แสดงปฏิบัติการตรวจคนที่เดินข้ามสะพานเข้าเม็กซิโก และสกัดกั้นนักช็อปปิ้งที่เดินเข้าไปหาซื้อของโดยไม่มีเอกสารผ่านแดนถูกต้อง ขณะที่นักข่าวและช่างภาพเฝ้าดูเหตุการณ์
ปฏิบัติการนั้นมีขึ้นสองสามวันล่วงหน้าก่อนที่คณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (อันเป็นทีมที่มีอำนาจสูงสุดเพื่อศึกษาปัญหาการลักลอบเดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งกำลังขยายตัวรุนแรง) จะไปดูงานการสกัดกั้นผู้อพยพที่เม็กซิโกดำเนินการ
“พวกเจ้าหน้าที่ทำเป็นเอาจริงเอาจังกับปฏิบัติการ ก็แค่ให้สื่อมวลชนเห็น” บาทหลวงซอป ซิวีร์ กล่าว และบอกว่า “ในทางเป็นจริง ไม่ค่อยมีการควบคุมมากมายอะไร”
ทีมนักข่าวเอพีได้ขับรถไปตามแนวพรมแดนเกือบ 644 กิโลเมตรระหว่าง เม็กซิโก-กัวเตมาลา และได้พบเห็นการลาดตระเวนตรวจตราของเจ้าหน้าที่คุ้มครองชาติ เนชั่นแนล การ์ด รวม 2 ครั้ง กับพบที่ตั้งหน่วยทหาร 7 หน่วย ซึ่งเน้นการตรวจอาวุธและยาเสพติด แต่มิได้ตรวจตราในส่วนของผู้อพยพ
แต่... รถของแก๊งพาผู้อพยพข้ามแดนซิกแซกได้สารพัดเส้นทาง ไม่กลัวถูกจับกันเลย
ความขวักไขว่ของคลื่นผู้อพยพซาตัวลงอย่างมากมายในปี 2020 เนื่องจากโรคระบาดโควิด 19 รุนแรงมาก จนทางการต้องควบคุมด้วยการปิดพรมแดนกันจริงๆ สาวนิรนามเล่าอย่างนั้น และบอกว่า แต่ตอนนี้ สถานการณ์กลับไปร้อนแรงเหมือนเมื่อต้นปี 2019
“เมื่อสองสามวันก่อน พวกเราเห็นคนหลายร้อยพากันเดินไปตามเส้นทางภูเขา เดินกันครึ่งชั่วโมงกว่าจะหมดค่ะ” เธอเล่าอย่างนั้น
จุดข้ามแดนปรากฏประปรายรายไปตามแนวพรมแดนภาคใต้ของเม็กซิโกในหลายพื้นที่ เช่น ลา เมซิลญา ชาวบ้านจัดตลาดริมถนนบนทั้งสองฝั่งชายแดนสัปดาห์ละสามวัน ส่วนในพื้นที่อื่น จะตั้งเป็นบู้ทหย่อมๆ บนถนนมอมแมมตามชายป่า
ที่เอล เซอิโบ พื้นที่ซึ่งผู้บัญชาการหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของเม็กซิโกได้เป็นข่าวออกโทรทัศน์ขณะตรวจตราการปฏิบัติงานของลูกน้องเมื่อกลางเดือนมีนาคมนั้น อันที่จริงแล้วพื้นที่นี้เป็นแค่ถนนทางหลวง ไม่มีด่านตรวจเช็ค และราวสี่วันก่อนที่ผู้บัญชาการจะมาตรวจเยี่ยมนั้น ผู้อพยพสองรายเพิ่งจะเดินทางผ่านพื้นที่เข้าสู่เม็กซิโก โดยจ่าย 5 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าจ้างมอเตอร์ไซค์ โดยไม่พบเจอใครที่จะมาขอตรวจเอกสารแต่อย่างใด เอพีรายงานอย่างนั้น
เศรษฐกิจของชุมชนตามจุดผ่านแดนอู้ฟู่ด้วยรายได้จากผู้อพยพ
ซอป ซิวีร์ให้ข้อมูลว่าหนึ่งในจุดข้ามแดนที่ครอบครัวผู้อพยพนิยมเดินทางผ่านมากที่สุดมีชื่อว่า กราเซียส อา ดิออส หรือ “ขอบคุณพระเจ้า” ซึ่งอยู่ตรงฝั่งกัวเตมาลา
“เมืองเราทั้งเมืองเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากผู้อพยพที่ผ่านพื้นที่ตรงนี้ค่ะ ทั้งธุรกิจลักลอบขนของเถื่อน ทั้งร้านอาหาร ทั้งโรงแรม ทุกสิ่งอย่าง” หญิงลูกบ้าน“ขอบคุณพระเจ้า”รายหนึ่งให้สัมภาษณ์โดยขอสงวนนามเพื่อความปลอดภัย
“ดูเอาสิคะ ที่นี่มีการก่อสร้างมากมาย มีเงินเป็นกำๆ ให้เห็นทั่วไปหมด” สาวนิรนามชี้ประเด็นให้เห็นว่าเงินทองที่สะพัดจะต้องไม่มีการพิสูจน์แหล่งที่มา จึงจะเห็นแต่เงินสดมากกว่าบัตรเครดิตหรือเช็คสั่งจ่ายใดๆ
ขบวนการเถื่อน เร่งทำยอดลูกค้า สร้างนวัตกรรมหลากหลายเพื่อพาผู้อพยพถึงฝั่งฝัน
ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน จูเนียร์ ประกาศนโยบายชัดเจนที่จะดำเนินการด้านปัญหาการอพยพเข้าสู่สหรัฐฯ ด้วยมาตรการที่มีมนุษยธรรม และจะละเลิกมาตรการแข็งกร้าวที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ในการต่อต้านการลักลอบเข้าอเมริกาอย่างทะลักทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยุติโครงการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก และการเลิกมาตรการพรากเด็กออกจากอ้อมอกคุณพ่อคุณแม่ที่ลักลอบเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสองมาตรการโหดที่ทำให้ทรัมป์ถูกโจมตีหนัก
ที่ผ่านมา นโยบายดังกล่าวของไบเดนถูกนำไปตีความว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีนโยบายต้อนรับผู้อพยพ พรรครีพับลิกันกล่าวหาว่าไบเดนส่งสัญญาณเปิดพรมแดนและส่งเสริมให้ผู้อพยพหลั่งไหลมาท่วมพื้นที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ส่วนประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ บอกว่าพวกผู้อพยพเห็นไบเดนเป็นประธานาธิบดีเพื่อผู้อพยพ และทำให้พากันอยากจะรีบรุดมายังสหรัฐฯ รอยเตอร์รายงานอย่างนั้น
ด้านขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองก็เช่นกัน นำสภาพการณ์ใหม่ในสหรัฐฯ ไปโปรโมท เรียกลูกค้าเพื่อเร่งสร้างรายได้ หลังจากที่ธุรกิจเถื่อนนี้ซบเซาตลอดปี 2020 เนื่องจากมาตรการรุนแรงของรัฐบาลทรัมป์ และเนื่องจากผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด 19
ทั้งนี้ รอยเตอร์อ้างอิงรายงานที่จัดทำและเวียนอ่านเป็นการภายในของทางการเม็กซิโกว่า แก๊งทั้งปวงได้สร้างวิธีใหม่ๆ อย่างหลากหลายทั้งเพื่อการลักลอบพาคนเข้าสู่เม็กซิโกและสหรัฐฯ และทั้งเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ โดยแก๊งเหล่านี้มองว่ามาตรการในยุคของประธานาธิบดีไบเดนจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนมั่นใจที่จะอพยพ ได้แก่ 3 มาตรการต่อไปนี้
1. การช่วยเหลือสนับสนุนที่ดีขึ้นมากสำหรับผู้อพยพที่เป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงและเหยื่อของแก๊งวายร้ายต่างๆ ในบ้านเกิดเมืองนอน
2. การลดขั้นตอนพิจารณาให้ที่พักอาศัย-ให้สถานภาพผู้อพยพ
3. การส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศที่ทรัมป์ไฟเขียวไปนั้น ให้ระงับไว้ก่อน
เร่งปรับโฉมปฏิบัติการให้หลบ จนท.ได้ดีขึ้น พร้อมใช้กลยุทธ์แตกแบงก์พัน
ดังนั้น บรรดาอาชญากรจึงเร่งปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติการลักลอบขนคนเข้าเมืองให้มีความซับซ้อนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
รอยเตอร์รายงานอย่างนั้นโดยอ้างอิงว่าได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของเม็กซิโกที่คร่ำหวอดในวงการปราบปรามธุรกิจเถื่อนเหล่านี้
นวัตกรรมแห่งปฏิบัติการลับลอบขนย้ายผู้อพยพข้ามพรมแดนประเทศ ที่ถูกริเริ่มขึ้นนั้น ได้แก่
1. สรุปให้ลูกค้าทราบถึงกฎระเบียบการอพยพย้ายถิ่นที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ล่าสุด
2. ใช้เทคโนโลยีมาช่วยหลบหนีการตรวจจับของฝ่ายเจ้าหน้าที่
3. แปลงโฉมปฏิบัติการลับลอบขนคนเข้าเมือง ให้มีรูปลักษณ์เสมือนการพานักท่องเที่ยวไปพักผ่อนหย่อนใจ
นอกจากนั้นในทางปฏิบัติ ได้มีการปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการให้เหมาะกับนโยบายเร่งปราบปรามของประธานาธิบดีโอบราดอร์ กล่าวคือ ในอันที่จะหลบหลีกไม่ให้ถูกจับได้ ขบวนการหันมาใช้กลยุทธ์ซอยกลุ่มผู้อพยพลงเป็นกรุ๊ปเล็กๆ และจัดการเดินทางด้วยรถตู้ทีละ 12 ราย แทนที่จะพาเคลื่อนย้ายกันเป็นคาราวาน แต่ยิ่งกว่านั้น คือการจัดเส้นทางการเคลื่อนย้ายใหม่ๆ ที่ปลอดการตรวจจับ ซึ่งหมายถึงเส้นทางที่อันตรายมากขึ้น เส้นทางที่ไม่ใคร่จะมีใครเลือกใช้ เจ้าหน้าที่เม็กซิกันผู้คร่ำหวอดและขอไม่เปิดเผยนามให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น
เจ้าหน้าที่เม็กซิกันรายนี้เล่าด้วยว่า ผู้อพยพกลายเป็นสินค้าเถื่อนที่แก๊งทั้งหลายทำการลับลอบส่งไปยังสหรัฐฯ โดยเป็นสินค้ามูลค่าสูงเทียบเท่ากับยาเสพติด ถ้าสินค้าสูญหายเสียหาย เช่น สูญหายไปในท้องทะเล ก็แทงบัญชีสูญ ตัดเป็นหมวดขาดทุน ซึ่งในกรณีของยาเสพติด ก็ช่างมันเถอะ แต่หากเป็นผู้อพยพที่สูญหายเสียหาญล่ะ พวกเขาคือมนุษย์นะ รอยเตอร์รายงาน
นำโซเชียลมีเดียมาใช้ แถมอบรมแท็กติกไม่ให้ถูกส่งกลับ
รอยเตอร์นำเสนอด้วยว่า ในรายงานการประเมินสถานการณ์การลักลอบขนย้ายผู้อพยพข้ามประเทศของเม็กซิโก ได้ระบุถึงความก้าวหน้าในปฏิบัติการของขบวนการลักลอบขนผู้อพยพ ซึ่งประกอบด้วย 3 นวัตกรรม
1. เนื่องจากผู้อพยพทุกรายล้วนแต่มีสมาร์ทโฟนใช้กัน ผู้ปฏิบัติการของแก๊งจะสร้างกรุ๊ปการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟสบุ๊ก วอทส์แอป อินสตาแกรม และยูทูป โดยทีมงานเหล่าร้ายจะคอยให้ข้อมูลแก่ผู้อพยพว่ากำลังจะถึงจุดตรวจตรา จุดสกัดกั้นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ตรงนั้นตรงนี้ และข้อมูลตารางเวลาที่รถไฟขนส่งสินค้าจะผ่านมาใกล้และจะชะลอความเร็ว เพื่อให้ผู้อพยพกระโดดขึ้นไป (โปรดดูภาพประกอบ) อีกทั้งข้อมูลสถานที่พัก ตลอดจนวิธีค้นหาข้อมูลกฎระเบียบการอพยพเข้าเมืองของประเทศปลายทาง
2. ขบวนการเถื่อนพวกนี้จะให้คำแนะนำที่พอจะช่วยให้ได้สถานภาพผู้อพยพ คือ เมื่อข้ามเข้าไปในแผ่นดินอเมริกา ก็เดินไปมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะจัดโต๊ะรอให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบคัดกรองเบื้องต้นของสหรัฐฯ ขอให้ผู้อพยพจากอเมริกากลางแจ้งสาเหตุความจำเป็นในการอพยพว่า ตกเป็นเหยื่อของการถูกรีดไถรังแก ส่วนกรณีที่ผู้อพยพเป็นเด็กหนุ่ม ให้แจ้งว่าถูกแก๊งมาเฟียขู่ฆ่า
3. ชาวแก๊งลักลอบขนผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ จะย้ำเหมือนเมื่อปีที่แล้วว่า ผู้อพยพควรนำเด็กติดตัวไปด้วย เพราะจะทำให้เส้นทางตั้งหลักปักฐานในสหรัฐฯ มีโอกาสสูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางเข้าไปตามลำพัง มีความเสี่ยงสูงว่าจะถูกส่งตัวกลับไปยังเม็กซิโก (โปรดดูภาพประกอบ)
ลักลอบพาผู้อพยพเข้า US : เด็กหัวละ 3,250 ดอลลาร์ ผู้ใหญ่หัวละ 2 หมื่น
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ปรากฏว่า ภายในช่วงเวลาแค่ 28 วันของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอดผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของสหรัฐฯ มีจำนวนมากกว่า 100,000 ราย (มากมายที่สุดนับจากที่เคยปรากฏสถิติสูงสุดในปี 2019) ตัวเลขดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากจำนวนการลักลอบที่เข้าไปวันละประมาณ 5,000 รายโดยเฉลี่ย
สถานการณ์ถูกโหมกระพือด้วยกลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เป็นเงินมหาศาล การปลุกปั่นความหวังของผู้คนจากอเมริกากลางให้ฟูฟ่องนั้น มีบทบาทสูงมากกระทั่งว่าผู้ที่อับจนหนทางกับชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอน พากันยอมเสี่ยงชีวิต-เสี่ยงว่าอาจจะเสียเงินฟรี ลุยฝ่าความลำบากยากเข็ญเพื่อเข้าสู่แผ่นดินสหรัฐอเมริกา แล้วต่อสายกับญาติพี่น้องที่ได้ปักหลักอยู่ทางนั้นลงตัวแล้ว เพื่อรับความช่วยเหลือให้ได้เข้าสู่ระบบขายแรงงานราคาถูก แลกกับเงินสดจำนวนหนึ่ง ในอันที่จะสะสมไว้ตั้งตัวขึ้นมาได้เฉกเช่นญาติๆ ที่ประสบความสำเร็จกันในหลายสิบปีที่ผ่านมา
รอยเตอร์รายงานข้อมูลหน่วยข่าวกรองเม็กซิกันว่า ขบวนการลักลอบพาเด็กจากอเมริกากลางเข้าสู่แผ่นดินสหรัฐฯ โดยลำพังนั้น อยู่ที่ประมาณรายละ 3,250 ดอลลาร์ และถ้าเป็นวัยผู้ใหญ่จะอยู่ที่รายละประมาณ 20,000 ดอลลาร์ ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงจำนวนผู้อพยพที่ทางการสหรัฐฯ รับไว้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องรวมหนึ่งแสนรายในเดือนกุมภาพันธ์ จะเห็นได้ว่าธุรกิจเถื่อนตรงนี้มีมูลค่ามหาศาลเพียงใด และย่อมเป็นธรรมดาที่จะได้เห็นขบวนการเถื่อนเหล่านี้เติบโตและขยายกิจการกว้างขวาง
ปัญหาหนักของสหรัฐฯ คือผู้อพยพวัยละอ่อนที่มากับแก๊งฯ โดยไม่มีผู้ปกครองมาด้วย
ประเด็นที่สร้างปัญหาแก่รัฐบาลไบเดน ซึ่งเคยระอุรุนแรงในปี 2019 ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และในปี 2014 ยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา คือ กรณีที่เด็กจำนวนเหลือคณานับถูกส่งให้ขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง ช่วยพาไปเข้าสู่สหรัฐฯ โดยลำพัง ไม่มีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองปรากฏตัวอยู่ด้วยกัน
เด็กๆ เหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือให้หลบหนีเข้าสู่รัฐเทกซัสได้มหาศาล เฉพาะในช่วงเวลาแค่ 28 วันของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเด็ก 9,457 ราย ที่ “ลักลอบ” ข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐฯ โดยลำพัง โดยเป็นตัวเลขจากสถิติของทางการสหรัฐฯ คือ หน่วยงานศุลกากรและการปกป้องพรมแดน หรือ U.S. Customs and Border Protection
ทีมนักข่าวเอพีได้สัมภาษณ์ เอวินสัน เยาวชนชายวัย 16 ปี ซึ่งเป็นผู้อพยพจากฮอนดูรัสที่มาถึงชายแดนเม็กซิโก-กัวเตมาลา และยอมมอบตัวกับตำรวจ น้องถูกส่งไปพักในสถานพักพิงเยาวชนผู้อพยพ ในเมืองเทโนสิก ห่างจากชายแดนประมาณ 160 กิโลเมตร
เรื่องราวของเอวินสันตรงกับข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐรับทราบอยู่ในหลายประเด็นทีเดียว
เอวินสันซึ่งเดินทางผ่านกัวเตมาลาและมุ่งหน้ามาเม็กซิโกด้วยบริการของแก๊งลักลอบขนคนข้ามพรมแดนที่ใช้วิธีเดินเท้านานสองวันผ่านภูเขาในป่าเพื่อหลบตำรวจ และผ่านเข้าสู่เม็กซิโกที่ชุมชนเอล เซอิโบ
วัยรุ่นฮอนดูรัสคนนี้บอกว่ามีญาติอยู่ที่นิวยอร์ก เขาพยายามจะติดต่อญาติรายนี้ และถ้าเขาไปถึงชายแดนเม็กซิโก-เท็กซัสได้สำเร็จ จะมีคนคอยช่วยเขาให้พบกับญาติคนนี้ได้
“ผมหนีออกจากฮอนดูรัสเพราะพวกกลุ่มอันธพาลไล่ผม พวกนี้คอยรีดไถคน แล้วสั่งให้ผมออกจากฮอนดูรัสภายใน 48 ชั่วโมงครับ” เอวินสันเล่าความเป็นมา
เขาเผยความคิดที่บันดาลใจให้เขามุ่งหน้าสู่สหรัฐฯ ว่าเคยได้ยินบ่อยๆ ว่ารัฐบาลอเมริกันจะให้เยาวชนที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่ในสหรัฐฯ ได้ 90 วัน
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : เอพี รอยเตอร์ วิกิพีเดีย)