สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงนี้เพื่อนผมที่ญี่ปุ่นโทรศัพท์มาคุยสัพเพเหระทั่วไปอยู่บ่อยๆ ทั้งเรื่องสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 เรื่องการใช้ภาษา เป็นต้น เขาถามว่าภาษาไทยยากไหม เขารู้แต่ภาษาจีนเพราะเคยเรียนตอนอยู่มหาวิทยาลัย ผมบอกว่าการฟังก็พอได้ แต่เรื่องพูดนี่ค่อนข้างจะยากสำหรับผมเพราะมีเสียงผันวรรณยุกต์ที่ทำให้ภาษาไทยมีเสียงสูงๆ ต่ำๆ มีการสะกดคำและเรื่องเสียงที่ค่อนข้างจะเยอะ บางทีคนไทยก็ไม่เข้าใจที่ผมพูด สำหรับการอ่านก็แทบไม่ได้เลย เพื่อนคนไทยผมเล่าว่าคนไทยสมัยก่อนที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ประถมศึกษา ถึงจะพูดฟังภาษาไทยได้แต่อ่านภาษาไทยไม่ออกก็มี พอเพื่อนผมฟังก็ตกใจว่าการที่คนไทยออกจากโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนกลั่นแกล้งใช่ไหม? ผมบอกว่าเอ๊ะเหตุผลนี้ไม่น่าใช่ !! ไม่เคยได้ยินว่าคนไทยออกจากโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนแกล้งแบบที่ญี่ปุ่นเลยนะ ที่ญี่ปุ่นมีเหตุผลที่เด็กๆ ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนกลั่นแกล้งรังแกอยู่ด้วย ทั้งวัยเด็กเรื่อยมาจนถึงวัยทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในสังคมก็ยังมีเรื่องของการกลั่นแกล้งอยู่
หลายเดือนก่อนหน้านี้เพื่อนผมคนนี้เขาเคยมาปรึกษาผมเรื่องปัญหาในที่ทำงาน เขาบอกว่าไม่อยากทำงานที่บริษัทเดิมแล้ว อยากจะลาออกจากงานมาก และมองๆ งานอื่นที่เขาสนใจและอยากทำมากกว่า เขาจะลาออกดีไหม? แต่การลาออกจากงานที่ญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากจริงๆ ผมเองก็พูดอะไรมากไม่ได้ เพียงแค่รับฟังและบอกว่าแล้วแต่เขา ถ้าคิดถี่ถ้วนแล้วว่าเลือกทางที่มีความสุขมากกว่าและน่าจะได้งานที่ดีกว่าเดิมก็ลองเปลี่ยนงานดูก็ได้ เพื่อนผมปรับทุกข์เรื่องเดิมมาตลอด แต่ที่คุยกันครั้งล่าสุดน้ำเสียงเขาดีขึ้นมาก เขาบอกว่าไม่เปลี่ยนงานแล้วนะ เพราะบริษัทเดิมที่ทำงานอยู่ตอนนี้มีการเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทพอดี ทำให้อยู่ในแผนกที่ลงตัวกว่าเมื่อก่อน มีเพื่อนร่วมงานที่ดีกว่าเก่าและรู้สึกว่าความสัมพันธ์ในที่ทำงานจะดีขึ้นมาก มีเพื่อนและเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดีกว่าเก่า จึงคิดว่ายังไม่ลาออกแต่จะทำงานที่เดิมต่อไปก่อน ผมถามเพื่อนว่าสรุปว่าตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้วใช่ไหม? เขาบอกว่าแต่หัวหน้าใหม่นี่สิ นั่งๆ ไปก็เรอดังมาก ระหว่างวันเรอบ่อยจนรู้สึกรำคาญ ผมเลยบอกว่าก่อนหน้านี้มีทุกข์ทรมานกับการทำงานมาตั้งนาน พอเปลี่ยนหน่วยงานใหม่ทุกอย่างดีขึ้นแค่อดทนกับหัวหน้าที่ชอบเรอบ่อยๆ น่าจะดีกว่าเดิมไหม
นั่นแสดงให้เห็นว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กรต่างๆ เรื่องความเข้ากันได้หรือเข้ากับเพื่อนไม่ได้นั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจและการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะสังคมการเรียนหรือการทำงาน ทว่าเหตุใดจึงมีเรื่องการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น?เพื่อนผมบอกว่าตั้งแต่ทำงานที่องค์กรนี้มาเคยย้ายมาหลายแผนกแล้ว ไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหน ก็พบเห็นการกลั่นแกล้งในที่ทำงานอยู่เสมอ ผมเองก็เข้าใจประเด็นนี้ดี
ลักษณะของการกลั่นแกล้งในญี่ปุ่น สถานที่เกิดการกลั่นแกล้งกันนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ห้องเรียน, สถานที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเกิดขึ้นในหมู่เพื่อนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เช่น เพื่อนเล่นด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นการกลั่นแกล้งทางจิตวิทยามากกว่าการกลั่นแกล้งแบบใช้กำลัง และกลายเป็นปัญหาในสังคมในปัจจุบันด้วย การกลั่นแกล้งเป็นพฤติกรรมที่ไม่จํากัดเฉพาะเด็ก เพราะคนญี่ปุ่นมีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่พยายามกําจัดสิ่งที่ไม่เข้าพวกหรือมีค่านิยมที่ไม่ใกล้เคียงกับตัวเองออกไป นั่นคือการกลั่นแกล้งกันทางจิตวิทยานั่นเอง ยิ่งร้ายกาจมากกว่านั้นคือมีการกลั่นแกล้งคนพิการด้วย หรือบางคนอาจจะถูกกลั่นแกล้งรังแกเพราะทำงานเก่งมากเกินไป บางทีคนที่มีพรสวรรค์หรือทักษะและแสดงความเด่นออกมาก็ถูกเกลียดชังหรือประณามโดยคนอื่นๆ ก็มี ถ้าถามว่าระหว่างญี่ปุ่นและไทยอยู่ที่ไหนง่ายกว่ากัน คำถามแบบนี้อาจจะขึ้นอยู่กับความคิดเห็นส่วนบุคคลที่มีมุมมองแตกต่างกัน แต่สำหรับผมคิดว่าการกลั่นแกล้งที่ญี่ปุ่นเป็นเรื่องร้ายกาจมากทำให้อยู่ยากในสังคมที่มีการกลั่นแกล้งกัน แต่ไม่ใช่เพราะคนญี่ปุ่นนิสัยไม่ดีนะครับ เพราะการกลั่นแกล้งกันมันมีทุกทีไม่เฉพาะคน ในฝูงปลายังมีการกลั่นแกล้งกันเลยล่ะ
มีวลีเด็ดจากศิลปินที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของญี่ปุ่น คือคุณ さかなクン さん Sakana kun san (ซาคานาคุง) เขาเป็นศิลปินนักวาดรูปปลา และวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่น เป็นดร. กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวโอเชี่ยน เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับระบบนิเวศปลาและวิธีการนำมาปรุงอาหาร ซาคานาคุง เขียนบทความสั้นๆ สำหรับคนที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก /คนที่กลั่นแกล้งรังแกคนอื่น เขาบอกว่าลองสังเกตุพฤติกรรมของปลาทองดู ถ้าเอาปลาทอง 3-4 ตัวไปเลี้ยงรวมกันในภาชนะใบเล็กๆ หนึ่งในกลุ่มของปลาทองนั้นจะถูกเพื่อนปลากลั่นแกล้งและมันจะอยู่ไม่ได้!!(´・ω・ ` )แม้ว่าจะเอาตัวที่โดนแกล้งออกไปและเอาตัวใหม่เข้ามาแทนที่ แต่จะต้องมีหนึ่งตัวในกลุ่มนั้นโดนแกล้งอีกเหมือนเดิม คือเรื่องกลั่นแกล้งไม่ได้เกี่ยวกับนิสัย ทีนี้เขาบอกอีกว่า จากพฤติกรรมของปลาดังกล่าวเชื่อมโยงประสบการณ์การกลั่นแกล้ง คือ "การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นเมื่อถูกจับวางไว้อยู่ในโลกเล็กๆ " มนุษย์และปลาเหมือนกัน แต่เมื่อโลกกว้างขึ้น "ลองออกไปมหาสมุทรที่กว้างใหญ่กัน" "ลองหาสถานที่ของเรา" จึงทําให้เกิดเสียงสะท้อนอย่างมาก
ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันในโซเซี่ยลเน็ตเวิร์ค ถามว่า คิดว่าในโลกเรานี้ สถานที่ที่มีการกลั่นแกล้งกันมากที่สุดคือที่ไหน เพื่อนๆ คิดว่าที่ไหนครับ คำตอบก็คือในคุกและค่ายฝึกทหารนั่นเอง และสถานที่ที่ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ อย่างน้อยสามสี่ปีขึ้นไปสถานที่ที่จะลาออกไม่ได้ง่ายๆ เช่น พนักงานที่ต้องทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างยาวนาน โดยเฉพาะองค์กรบริษัทญี่ปุ่น ที่ที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีเรื่องการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นนั่นเอง มีตัวอย่างข่าวเช่น
●ข่าวทหารเรือถูกซ้อมจนเสียชีวิต เป็นการฝึกทหารของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล 海上自衛隊 กองกำลังเหล่านี้ต้องมีการฝึกซ้อมกันอย่างหนักทั้งทางบกและทางทะเล ต้องมีการว่ายน้ำและอื่นๆ อย่างหนักหน่วงและเข้มงวด สมมุติว่าทีมหนึ่งมีทหารใหม่ 15 คนที่ต้องฝึกร่วมกัน มีบางคนเหนื่อยและท้อจนไม่อยากไปต่อ เมื่อเพื่อนๆ ในทีมรู้เท่านั้นแหละ คนที่ไม่อยากอยู่ต่อกลับโดนเพื่อนแกล้ง เขาโดนลากไปที่เกาะห่างไกลเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ แล้วเพื่อนทั้งหมดรุมซ้อมเขาจนเสียชีวิตลงอย่างน่าเวทนา ที่จริงเหตุผลลึกๆ ของคนที่รุมซ้อมเพื่อน ไม่ใช่ว่าอยากให้เพื่อนอยู่ต่อนะครับ แต่พอมีคนๆ หนึ่งแสดงความไม่อยากไปต่อ ทำให้คนอื่นๆ ที่ก็อาจจะไม่ไหวเหมือนกันเกิดอาการขวัญเสีย คนที่ถูกกลั่นแกล้งกลายเป็นคนที่ไม่เข้าพวกไปเสียแล้ว
●กรณีกลั่นแกล้งคนพิการ : มีพนักงานสาวอายุยี่สิบกว่าปีนิดๆ พิการเดินไม่ได้ต้องอาศัยนั่งรถเข็นมาทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน แต่จะถูกคุณป้าพนักงานที่อยู่มานานจ้องเล่นงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะต่อว่าว่าเชื่องช้า อืดอาด ..คือเธอพิการนะครับจะให้ลุกมาวิ่งเอาของมาให้ป้าหรืออย่างไร.. แล้วป้ายังห้ามสาวพิการคนนั้นใช้วันหยุดในการทำงานปีแรก ซึ่งเรื่องต่างๆ นานาที่ป้ากระทำ คนญี่ปุ่นคนอื่นๆ ก็ไม่ค่อยกล้ายืนมือเข้ามาช่วยเหลือ เป็นต้น จนมาถึงวันที่หัวหน้าประเมินงานก็เรียกเธอมาคุยว่าทำงานได้ไหม มีปัญหาอะไรไหม เธอก็บอกว่าไม่มีอะไร!! แต่วันรุ่งขึ้นเธอก็มายื่นจดหมายลาออก!! แต่ทางหัวหน้าก็ย้ายไปอยู่แผนกอื่นให้ ยังนับว่าจิตใจเธอยังเข้มแข็งที่ไม่คิดสั้นอะไร และเลือกหนีออกจากตัวปัญหา
● กลั่นแกล้งเพื่อนนักเรียน คือ มีประชาชนที่ประสบเหตุสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 และย้ายถิ่นฐานจากบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา มาอยู่ที่โยโกฮาม่า ลูกๆ ต้องมาเข้าโรงเรียนที่โยโฮาม่าด้วย เหมือนมีคนรู้ว่าครอบครัวที่ย้ายมานั้นได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทไฟฟ้านิวเคลียร์ ปรากฏว่าเด็กๆ ที่เข้ามาใหม่โดนกลั่นแกล้ง โดยมีข่าวว่าถูกเพื่อนกลุ่มหัวโจกที่โรงเรียนบังคับให้เลี้ยงอาหารเพื่อนทั้งกลุ่ม เลี้ยงเกมส์เป็นเวลาหลายเดือน รวมเป็นเงินหลายแสนเยนโดยเด็กที่ถูกแกล้งต้องแอบขโมยเงินมาจากพ่อแม่อีกที
การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นทุกที รุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา บางเคสรุนแรงถึงขั้นทำให้คนอยากฆ่าตัวตาย มาตรการที่พอช่วยได้ ณ ขณะนี้คือ ถ้าเด็กถูกกลั่นแกล้งและคิดว่าไม่ไหวแน่ๆ สามารถอยู่ที่บ้านได้ ต้องเล่าให้พ่อแม่ฟังและขอให้พวกท่านช่วยพูดคุยกับครูของเด็กนักเรียน และให้ยื่นเรื่องร้องเรียนโดยตรงกับคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่น แม้ว่ากฏหมายญี่ปุ่นพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งโดยการตรวจสอบกฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาอย่างรัดกุม แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในสังคมได้
ผมคิดว่าเพราะระบบที่ปลูกฝังให้ต้องยึดติดกับที่ใดที่หนึ่งตลอดไป เช่นระบบการทำงานในองค์กรเดิมองค์กรเดียวคนที่ต้องทำงานด้วยกันนานเหมือนถูกบีบอยู่ในกรอบเล็กๆ ถ้ามีคนใดคนหนึ่งจะฉีกกรอบจะเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของเพื่อนที่เกาะอยู่ในกรอบ ทำให้เกิดเรื่องการกลั่นแกล้งกันได้ปัจจัยหนึ่ง กลับกันถ้าเป็นระบบที่ยืดหยุ่น คนไม่จำเป็นต้องอยู่ที่บริษัทนี้หรือที่ใดที่หนึ่งตลอดไป ไม่ต้องอยู่จนเกษียณ น่าจะทำให้คนในองค์กรมีความรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า เช่นช่วงที่ต้องมีการทำงานทางไกล ทำงานที่บ้าน มีความผ่อนคลายมากกว่าไม่เกิดการกันแกล้งกันได้ หากสังคมทำงานที่ญี่ปุ่นสามารถลาออกได้อย่างอิสระด้วยเหตุผล "น่าเบื่อ" (*´꒳`*) เช่นประเทศไทยแรงกดดันจะน้อยลงและการกลั่นแกล้งจะไม่เกิดขึ้น (เพราะในสถานที่ทํางานที่ผู้คนลาออกหรือเข้าทุกสองสัปดาห์ คนยังไม่สามารถจดจําใบหน้าและชื่อกันได้เท่าไหร่ ดังนั้นจึงยังไม่น่าจะไม่มีเรื่องการกลั่นแกล้ง!)
ช่วงเวลานี้หลายคนรู้สึกท้อแท้กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในอนาคตการกลั่นแกล้งที่ซับซ้อนอาจลดลงหากมีการใช้ระบบเรียนรู้ทางไกลและใช้ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นที่นิยมในบริษัทต่างๆ และโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นขอให้มองไปข้างหน้าเพื่อแนวโน้มนี้ และ "การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นเมื่อถูกวางไว้อยู่ในโลกเล็กๆ " มนุษย์และปลาเหมือนกัน แต่เมื่อโลกกว้างขึ้น "ลองออกไปมหาสมุทรที่กว้างใหญ่กัน" "ลองหาสถานที่ของเรา" ชีวิตน่าจะมีอิสระและมีความสุขมากขึ้นนะครับ