ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นาทีนี้ขอบอกเลยว่ากระแสธุรกิจเกี่ยวกับกัญชง-กัญชามาแรงมาก บริษัทธุรกิจน้อยใหญ่ต่างแห่แตกไลน์เกาะเทรนด์บูมตลาดอาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และเวชภัณฑ์เครื่องสำอาง สร้างรายได้ บรรดาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กว่า 20 แห่ง ราคาหุ้นเด้งขึ้นพรวดๆ แต่คำถามมีอยู่ว่าการเปิดโลกธุรกิจกัญชง-กัญชานับหมื่นนับแสนล้าน ชาวบ้านร้านตลาดจะมีโอกาสร่วมแบ่งปันเค้กก้อนโตสักเพียงใด โดยเฉพาะคนที่ใช้เพื่อการรักษาโรคและไม่คิดจะทำธุรกิจ จะมีช่องทางให้พวกเขาบ้างหรือไม่ อย่างไร
หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศปลดล็อกให้สามารถใช้กัญชาและกัญชง ในการผลิตอาหารได้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศปลดล็อกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในการปลูก นำเข้า และสกัด ก่อนขยายการอนุญาตเชิงพาณิชย์อื่นๆ ทำให้บริษัทน้อยใหญ่เตรียมลุยธุรกิจเกี่ยวกับกัญชง-กัญชากันคึกคัก โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่กำลังมองหาช่องทางสร้างรายได้
จากการสำรวจของทีมข่าวเศรษฐกิจ ผู้จัดการรายวัน พบกว่า 20 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ประกาศชัดพร้อมลงทุน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STAเป็นบริษัทแรกที่พร้อมลุยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยจะปลูก 100-200 ไร่ ในโซนจังหวัดน่าน สกลนครและชัยภูมิก่อน และยื่นอย.ขออนุญาตปลูกในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าเดือนตุลาคม จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในรูปแบบเมล็ดและดอกเพื่อจำหน่าย จากนั้นประมาณปี 2566 จะลงทุนตั้งโรงสกัดน้ำมัน CBD จากกัญชง
ส่วน บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBFก็อยู่ระหว่างยื่นขอ อย. เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชง โดยบริษัทมีที่ดินพร้อมปลูกกัญชงและพร้อมในขั้นตอนการสกัด โดยบริษัทจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารตามคำสั่งซื้อของลูกค้า
บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DODยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานสกัดกัญชงจาก อย. ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสมุนไพรที่ผสมสารสกัดจากกัญชงออกจำหน่ายภายในช่วงปลายปีนี้
DOD ยังเป็นพันธมิตรธุรกิจกับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่มสุขภาพที่มีกัญชงเป็นสารประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์กว่า 10 รายการ และ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO อยู่ระหว่างการเจรจากับ DOD เพื่อศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกัญชงออกมาวางจำหน่ายผ่านช่องทาง Call Center, TV Shoping และ Online คาดได้ข้อสรุปไตรมาส 1/64 และเริ่มผลิตและจำหน่ายได้ภายในช่วงไตรมาส 3/64
ส่วน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ร่วมมือกับสถาบันวิจัยศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทั้งในส่วนของสกินแคร์ เครื่องดื่ม และอาหารเสริม รวมถึงมีการพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โรงสกัดและผู้ผลิตไว้แล้วเช่นกัน เมื่อมีการปลดล็อกกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์บริษัทพร้อมจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านแพลตฟอร์ม “อาร์เอส มอลล์”
ยังมี บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ที่เข้าลงทุนใน บริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิล เฮลท์ จำกัด (GTH) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเมล็ดกัญชง พัฒนาการปลูกและสกัด ตลอดจนพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีกัญชงภายใต้แบรนด์ของ GTH การเข้าลงทุนดังกล่าว NRF หวังจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกัญชงในประเทศและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งออก
นอกจากนั้น บริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ประกาศร่วมมือวิจัยและพัฒนาโครงการเครื่องสกัดสารจากพืชกัญชาและกัญชงกับบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในโครงการการสกัดสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชงเพื่อนำไปสู่การผลิตยาและยาสมุนไพร หลังจากบริษัทได้พัฒนาและผลิตเครื่องสกัดสารจากพืชกัญชาและกัญชงได้เป็นผลสำเร็จแห่งแรกในประเทศไทย
เช่นเดียวกันกับ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ที่ยื่นขอ อย. ทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชง และร่วมกับวิสาหกิจชุมเพื่อปลูกกัญชงมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์จากกัญชงเพื่อจำหน่ายในปลายไตรมาส 2-3/2564 โดยวางจำหน่ายในร้านค้าในเครือทั้งร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม เช่น MAX Mart ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านคอฟฟี่เวิลด์ เป็นต้น ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งนำร่องพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงมาตั้งแต่ปี 2562 จนได้สายพันธุ์คุณภาพนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและเมนูอาหาร
ส่วน บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ได้เข้าลงทุนถือหุ้นสัดส่วน 30% ใน บริษัท ไทยคานาเทคอินโนเวชั่น จำกัด (TCI) เพื่อต่อยอดธุรกิจและแตกไลน์สินค้าใหม่ในกลุ่มอุปโภคบริโภคที่มีส่วนผสมจากกัญชงในปลายปีนี้ โดยดึงจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในการปลูกและสกัดกัญชงมากว่าสิบปี และได้รับอนุญาตในการปลูก สกัด และจำหน่ายเชิงพาณิชย์จาก อย. ครบถ้วน
นอกเหนือจากบริษัทต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทาง บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีความพร้อม บล.หยวนต้า คาดว่า CBG จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มผสมกัญชง โดยคาดจะเห็นผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อย่างเร็วในไตรมาส 3/64 เช่นเดียวกันกับ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ซึ่ง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า บริษัทศึกษาการใช้กัญชงตั้งแต่ปี 2562 ทั้งในส่วนของเครื่องดื่มและสินค้าของใช้ส่วนบุคคล อาจเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าที่โอสถสภาจะพร้อมลุยตลาด
บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE อยู่ระหว่างการศึกษาขยายธุรกิจ ทั้งในเรื่องของการสารสกัดซีบีดี (Cannabidiol : CBD) จากเมล็ดกัญชงเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของเครื่องดื่มและไม่ใช่เครื่องดื่ม ส่วนบริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO ได้พัฒนาสูตรนำกัญชงมาผลิตซอสปรุงรสจับกระแสตลาดโลกไว้รอแล้วเมื่อข้อกฎหมายชัดเจนก็พร้อมขยายตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลก
ขณะที่ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON ยื่นขอใบอนุญาตผลิตสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มจากน้ำมันเมล็ดกัญชงจาก อย. โดยมีแผนผลิตอาหารพร้อมทาน เครื่องดื่ม และอาหารเสริมจากผลิตภัณฑ์กัญชง
ฟากฝั่งกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 อยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการสกัดกัญชง-กัญชา เมื่อผลศึกษาออกมาโรงพยาบาลมีความพร้อมผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชง-กัญชา เช่นกัน
สำหรับ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ประกาศเป้าหมายปี 2564 บุกเครื่องดื่มกัญชง เตรียมวาง “อิชิตัน กรีน แลป” เครื่องดื่มเทอร์พีน สารสกัดธรรมชาติที่มีกลิ่นชนิดเดียวกับ CBD ในกัญชงที่มีคุณสมบัติช่วยรีแลกซ์และบรรเทาอาการนอนไม่หลับในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ หนุนเป้ารายได้รวมปีนี้ที่ 6,200 ล้านบาท โตจากปีก่อน 22% ส่วน บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงเช่นกัน
และยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU อยู่ระหว่างศึกษาการนำส่วนผสมกัญชงมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น อาหารเสริม อาหารกระป๋อง โดยทดลองนำไปทำเป็นทูน่ากระป๋องในน้ำมันกัญชงที่มีโอเมก้า 3 และโปรตีนจากกัญชงเพื่อขยายไลน์สินค้าเพิ่มเติม
เรียกได้ว่า ความสนใจในธุรกิจกัญชง-กัญชามากันล้นหลาม ล่าสุด ยักษ์ใหญ่กลุ่มซีพี ขยับร่วมวงโดย “เจ้าสัวธนินท์” นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา โดยจะทำการวิจัยระบบมาตรฐานในการเพาะปลูก รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ แม่โจ้ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชามาตั้งแต่ปี 2554 มีความเชี่ยวชาญในการปลูกด้วยระบบอินทรีย์
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาพืชกัญชงเป็นเรื่องท้าทาย ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เมื่อได้ร่วมมือกับแม่โจ้ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าจะสามารถผลิตพืชกัญชงคุณภาพในปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตอาหารของซีพีเอฟ โดยอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับการประกาศของภาครัฐ
นอกจากนั้น ยังมี บริษัท สยามเฮลท์กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากแบรนด์เดนทิสเต้ สกินแคร์ สมูท-อี ที่จะนำกัญชงผสมในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นปาก คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปลายปีนี้
ส่วน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด(มหาชน) ซึ่งศึกษาการผลิตสินค้ากัญชงตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีก่อน และจับมือกับสถาบันศึกษาทำวิจัย รวมถึงวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ร่วมมือซัพพลายวัตถุดิบกัญชงให้บริษัทเช่นกัน โดยบริษัทสนใจนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์โภชนาบำบัดกลุ่มโปรตีน เวชสำอาง และพัฒนาสู่เวชภัณฑ์ยาต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปี
ขณะที่ กลุ่มไทยเบฟ สนใจและศึกษาเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชง-กัญชามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยชัดเจน ส่วนยักษ์ใหญ่อย่าง ค่าย ปตท. นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ว่า กลุ่ม ปตท.มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ จึงไม่ได้ปิดกั้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจสุขภาพที่เกี่ยวกับกัญชง-กัญชา แต่คงไม่ได้ทำเองทั้งหมดจะออกมาในรูปหาพันธมิตรธุรกิจมากกว่า
แม้แต่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ก็เข้าร่วมชิงแชร์ โดยจับมือกับ อย. และพันธมิตรอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการในการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของกัญชงเป็นอาหารโคนมในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง ได้แก่ เมล็ด ใบ ลำต้น ราก กากเมล็ด น้ำมันจากเมล็ด น้ำมันจากดอก และส่วนอื่นๆ ของลำต้นกัญชง หรือส่วนที่แปรรูปจากพืชกัญชงเพื่อเป็นวัตถุดิบในผลิตอาหารสัตว์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยในอนาคต ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 อย. ประกาศกฎกระทรวงเกี่ยวกับกัญชง อนุญาตให้คนไทยทั้งบุคคลและนิติบุคคลสามารถต่อยอดธุรกิจกัญชงเชิงพาณิชย์ โดยเกณฑ์การแบ่งระหว่างกัญชาและกัญชงทางกฎหมาย โดย อย.จะพิจารณาจาก THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ทําให้เกิดอาการมึนเมา (เป็นสารที่ทําให้เสพติด) ต้องไม่เกิน 1% ต่อน้ำหนักแห้งและไม่เกิน 0.2% ในรูปสารสกัด จึงไม่นับเป็นยาเสพติด ขณะที่ในส่วนของ CBD ไม่มีการกําหนดปริมาณ
ถัดจากนั้น นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร หารือกับ อย. เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมปลูกพืชกัญชงและกัญชาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยแนวปฏิบัติครอบคลุม 4 ขั้นตอนหลัก ทั้งการนำเข้าและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ โดยให้ออกประกาศให้กัญชาและกัญชงเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ระหว่างนี้ให้ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ของ อย. ไปพลางก่อน
ขั้นตอนการขออนุญาตปลูก ให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาและรวบรวมรายชื่อผู้ปลูกยื่นต่อกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่การเตรียมแปลง เก็บเกี่ยว และส่งผลตรวจประเมินความสามารถผู้ปลูกให้ อย. และกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมตรวจสอบการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ การควบคุมการผลิตและคุณภาพต้นกล้า เพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามสายพันธุ์ สำหรับการทดสอบคุณภาพ ผู้ปลูกและผู้ซื้อสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจเบื้องต้นได้เอง และกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนตั้งห้องแล็บ
สุดท้ายการซื้อ-ขายกัญชาและกัญชง มีการซื้อขายโดยตรง หรือ contract farming ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ปลูก, จัดตั้งตลาดกลางกัญชา กัญชง กำหนดมาตรฐานสินค้า ราคากลาง และการซื้อขายที่เป็นธรรม โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง
เอเชีย พลัส วิเคราะห์ถึงประโยชน์ของกัญชงต่อเศรษฐ์กิจไทย โดยมองว่าธุรกิจกลางน้ำค่อนข้างได้เปรียบเพราะได้ประโยชน์จากคำสั่งซื้อที่มาจากธุรกิจปลายน้ำและแข่งขันรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มปลายน้ำ สําหรับธุรกิจปลายน้ำจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับต่างประเทศ เช่น การนำสารจากกัญชงมาผสมในเครื่องสำอางแต่ยังต้องรอดูความสำเร็จในระยะยาว
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ตอนนี้ราคาหุ้นในกลุ่มที่ประกาศลุยผลิตภัณฑ์ที่ส่วนผสมของกัญชา-กัญชง ต่างพุ่งกระฉูดขึ้นมาเป็นทิวแถว เอเซีย พลัส ประเมินบริษัทที่ออกผลิตภัณฑ์จากกัญชงเป็นรายแรกจะเกิดจิตวิทยา หรือ Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้น จับตา AU ตามด้วย ICHI, SAPPE ที่ฐานกำไร 400-500 ล้านบาทต่อปี ทำให้เห็นผลบวกต่อกำไรได้มาก ส่วน OSP และ CBG ฐานกำไรต่อปีค่อนข้างสูงราว 3.5 พันล้านบาท คาดว่าผลทางพื้นฐานยังต้องใช้เวลา
นอกจากหุ้นที่ได้รับประโยชน์ทางตรง เอเซีย พลัส ยังประเมินกรณีที่กัญชงประสบความสำเร็จจะสร้างการเติบโตให้กับภาคเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 8% ของจีดีพีไทย และหนุนต่อรายได้เกษตรกรส่งผลดีต่อหุ้นที่มีสินค้าขายอิงกับรายได้เกษตรกร เช่น SAT และภาครัฐยังมีนโยบายท่องเที่ยวกัญชาเชิงการแพทย์ เพื่อก้าวสู่การท่องเที่ยวเชิง ระดับโลก เอื้อต่อกลุ่มท่องเที่ยวทั้ง AOT, CENTEL, ERW และ MINT
การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเปิดกว้างสำหรับกัญชา-กัญชง คราวนี้ เห็นได้ชัดว่าบริษัทธุรกิจเอกชนต่างรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำกันถ้วนหน้า แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ยังคงได้แต่ชะเง้อคอมอง
เอาง่ายๆ หากมองถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ในภาคส่วนของบริษัทเอกชนทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ อาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะทำให้ได้ตามเกณฑ์และต่อยอดธุรกิจเติบโตไปกับกระแสความนิยม แต่สำหรับประชาชนคนไทยทั่วไปแล้วการยื่นขออนุญาตจาก อย. เพื่อให้ได้ไลเซนต์มาผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชง-กัญชา เป็นไปได้ยากมาก
การเกาะขบวนรถไฟสายกัญชา-กัญชงของชนชาวไทยตาดำๆ ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การรวมกลุ่มในรูปวิสาหกิจชุม แล้วเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ หรือเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญาหรือ คอนเทรก ฟาร์มมิ่ง กับบริษัทใหญ่ ซึ่งจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า เพราะเอาแค่นโยบายปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น ถึงป่านนี้ยังไม่มีความชัดเจน จะมีสักกี่ครัวเรือนที่กล้าปลูกโชว์โดยที่ไม่มีปัญหา
ดังนั้น นี่คือสิ่งที่จะต้องจับตากันต่อไปก็คือ ประชาชนจะมีสิทธิกับเขาบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ปลูกเอาไว้เพียงแค่การรักษาโรคหรือต้มยำทำแกงใส่อาหารรับประทานกันพอเป็นกระษัย.