xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียส่งชาวพม่ากลับประเทศกว่า 1,000 คน ไม่สนคำสั่งศาลให้ระงับชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เอเอฟพี - มาเลเซียเนรเทศผู้ถูกคุมขังชาวพม่ากว่า 1,000 คน กลับประเทศบ้านเกิดของพวกเขาในวันนี้ (23) เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดการรัฐประหารในพม่า แม้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการส่งตัวกลับประเทศและกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม

ผู้อพยพ ที่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ยังรวมถึงผู้แสวงหาที่ลี้ภัย เดินทางมาที่ฐานทัพมาเลเซียด้วยรถบรรทุกและรถบัสภายใต้การคุ้มกันของตำรวจ และออกเดินทางจากประเทศด้วยเรือของกองทัพเรือพม่า 3 ลำ

สหรัฐฯ สหประชาชาติ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ได้วิพากษ์วิจารณ์แผนดังกล่าว ขณะที่หลายชั่วโมงก่อนการส่งกลับประเทศ ศาลกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้สั่งให้ระงับการดำเนินการชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้นักเคลื่อนไหวยื่นคัดค้านทางกฎหมาย

นักเคลื่อนไหวตั้งข้อโต้แย้งว่าไม่ควรดำเนินการต่อ เพราะมาเลเซียจะละเมิดหน้าที่รับผิดชอบระหว่างประเทศหากเนรเทศกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ และการยึดอำนาจของกองทัพพม่าอาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

แต่เรือของกองทัพพม่ายังคงแล่นออกจากท่าพร้อมผู้ถูกคุมขัง 1,086 คน โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดถึงเพิกเฉยต่อคำสั่งศาล

องค์การนิรโทษกรรมสากล หนึ่งในกลุ่มที่ยื่นคัดค้าน กล่าวว่า การผลักดันส่งตัวกลับประเทศอย่างท้าทายคำสั่ง ไร้ซึ่งมนุษยธรรมและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

“การตัดสินใจที่คุกคามชีวิตนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนกว่า 1,000 คน และครอบครัวของพวกเขา และทำให้ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของมาเลเซียมีรอยด่างพร้อย” เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลในมาเลเซีย กล่าว

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ เอเชีย กล่าวว่า มาเลเซียได้ส่งพวกเขากลับไปอยู่ในมือของรัฐบาลทหารที่รู้กันว่ากดขี่ข่มเหงผู้ที่หลบหนีออกจากประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง

ฝ่ายหัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียได้ให้การรับรองว่าไม่มีสมาชิกชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองของพม่า หรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยถูกส่งกลับประเทศ

“ทุกคนที่ถูกส่งกลับประเทศตกลงที่จะเดินทางกลับด้วยความตั้งใจของพวกเขาเอง ไม่ได้ถูกบังคับ” หัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่าไม่มีผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอยู่ในกลุ่มคนที่ถูกส่งตัวกลับ ขณะที่สหประชาชาติไม่สามารถทำการประเมินได้อย่างเหมาะสม

เจ้าหน้าที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า มีผู้ถูกคุมขัง 1,200 คน จะถูกส่งตัวกลับ และยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดตัวเลขสุดท้ายถึงลดลง

เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับทำผิดกฎหมาย เช่น การอยู่เกินวีซ่า และการส่งตัวกลับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งผู้อพยพจากพื้นที่ยากจนกลับประเทศตามปกติ

ชาวต่างชาติราว 37,000 คน ถูกส่งตัวกลับประเทศเมื่อปีก่อน มาเลเซียเป็นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพหลายล้านคนที่ทำงานในงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ เช่น งานก่อสร้าง

แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินการคัดค้านทางกฎหมายต่อการส่งตัวกลับ แต่พวกเขาได้ดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในพม่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

นักเคลื่อนไหวได้แสดงความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ หลังทางการขัดขวางหน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชาติไม่ให้เข้าถึงศูนย์กักตัวตรวจคนเข้าเมืองในมาเลเซียในปี 2562 ที่หมายความว่าสหประชาชาติไม่สามารถประเมินได้ว่ามีชาวต่างชาติเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจกำลังมองหางาน หรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่หลบหนีการกดขี่ข่มเหงและความขัดแย้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและสิทธิในการอยู่ในมาเลเซีย

ในกรณีล่าสุด เชื่อว่าผู้ถูกควบคุมตัวยังรวมถึงสมาชิกชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ชินที่นับถือศาสนาคริสต์ และคนจากรัฐชานและรัฐกะฉิ่นที่ยังเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง ตามการระบุของผู้อำนวยการระหว่างประเทศของมูลนิธิ Geutanyoe Foundation ที่ทำงานกับผู้ลี้ภัย

นับตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เจ้าหน้าที่ในพม่าค่อยๆ ยกระดับการใช้กำลัง ที่ทำให้มีผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารเสียชีวิตแล้ว 3 คน

ในตอนแรกมาเลเซียแสดงความรู้สึกกังวลต่อการรัฐประหาร แต่ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่ามาเลเซียยอมรับข้อเสนอจากรัฐบาลทหารพม่าที่จะส่งเรือรบเพื่อนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวกลับประเทศ.






กำลังโหลดความคิดเห็น