การเมืองในพม่ากลับสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อเมื่อช่วงเช้ามืดวันจันทร์ (1 ก.พ.) พร้อมทั้งมีการควบคุมตัว “อองซานซูจี” ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ก่อนจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติที่มองความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นการดับฝันของชาวพม่าที่จะเห็นประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นการปิดฉากทศวรรษแห่งการปกครองโดยพลเรือนในพม่า โดยกองทัพอ้างว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วที่พรรค เอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างท่วมท้นมีความผิดปกติหลายอย่าง และคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถคลี่คลายข้อสงสัยเหล่านี้ได้
โฆษกพรรคเอ็นแอลดีเปิดเผยว่า ซูจี และประธานาธิบดี วิน มิ้น ถูกทหารเข้าควบคุมตัวที่บ้านพักในกรุงเนปิดอว์เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ (1) เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรกหลังศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.
สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในกรุงเนปิดอว์ถูกตัดขาด ส่วนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติก็อยู่ในภาวะ “จอดำ” ทันทีหลังมีการควบคุมตัวผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ขณะที่กองทหารติดอาวุธ รถบรรทุกทหาร และยานเกราะจำนวนมากตรึงกำลังปิดถนนรอบเมืองหลวง
หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพพม่าได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ว่าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และแต่งตั้งนายพล มิน ส่วย อดีตรองประธานาธิบดี ขึ้นเป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมทั้งให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งหลังครบกำหนดการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ทางด้านพรรคเอ็นแอลดีได้เผยแพร่เอกสารซึ่งอ้างว่า ซูจี ได้ร่างเอาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากคาดว่ากองทัพมีแผนจะยึดอำนาจ โดยในถ้อยแถลงดังกล่าวเธอเรียกร้องให้ประชาชนชาวพม่าอย่ายอมรับการรัฐประหาร และให้ออกมาประท้วง
“การกระทำของกองทัพจะทำให้ประเทศก้าวถอยหลังกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ เราขอเรียกร้องให้ประชาชนอย่ายอมรับสิ่งนี้ จงตอบสนองและประท้วงอย่างเต็มที่ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารโดยกองทัพ” คำแถลงซึ่งมีชื่อของ ซูจี แต่ปราศจากลายเซ็น ระบุ
วิน เต็ง หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ออกมายืนยันและสาบานว่าถ้อยแถลงนี้เป็นคำพูดที่มาจาก ซูจี จริงๆ
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แถลงต่อรัฐบาลชุดใหม่ของเขาในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (2) ว่า การเข้ายึดอำนาจโดยกองทัพ “เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เนื่องจากมีเสียงประท้วงเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งมาแล้วหลายหน ทว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สนใจคำร้องเรียนเหล่านั้น
“แม้จะมีการร้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากทางกองทัพ แต่นี่คือเส้นทางที่ต้องเลือกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกว่ารัฐบาลชุดถัดไปจะถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง เรายังจำเป็นต้องควบคุมประเทศ” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าระบุด้วยว่า ระหว่างช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ การจัดเตรียมเลือกตั้งและต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 จะเป็นภารกิจที่รัฐบาลทหารให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ พร้อมให้คำมั่นว่ากองทัพจะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ที่ชนะ แต่ไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในพม่า พร้อมยืนยันว่าอเมริกา “จะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย” และขู่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ เคยยกเลิกให้แบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าริเริ่มกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยและปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อช่วง 10 ปีก่อน
“การก้าวถอยหลังของกระบวนการดังกล่าวทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจคว่ำบาตรของเราในทันที ตามด้วยการดำเนินการอย่างเหมาะสม” ไบเดน ระบุ
อย่างไรก็ตาม คำขู่นี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เพราะกองทัพพม่ายังคงเดินหน้ารวบอำนาจด้วยการประกาศปลดรัฐมนตรี 24 คนในคณะบริหารของ ซูจี คืนวันจันทร์ (1) พร้อมกับแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่จำนวน 11 คนเพื่อดูแลกระทรวงสำคัญต่างๆ เช่น กระทรวงการคลังคลัง, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัว อองซานซูจี รวมถึงผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ ที่ถูกจับ พร้อมย้ำเตือนให้เคารพเสียงของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้เรียกทูตพม่าเข้าพบเพื่อแจ้งว่า สหราชอาณาจักร “จะร่วมมือกับชาติพันธมิตรที่มีแนวคิดตรงกัน และกดดันทุกวิถีทางให้พม่ากลับสู่ระบอบประชาธิปไตย”
โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป, อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงรัฐบาลในอียู ต่างออกคำแถลงติเตียนรัฐประหารในพม่าเช่นกัน ทว่าส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่ออองซานซูจี บ่งบอกถึงความผิดหวังที่ยุโรปมีต่อนักการเมืองหญิงซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “ไอคอนประชาธิปไตย” แต่กลับเพิกเฉยต่อชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยเฉพาะชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกกองทัพปราบปรามอย่างหนัก
สิงคโปร์เป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อการรัฐประหารในพม่า โดยกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุว่า “กังวลอย่างยิ่ง” และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในพม่า “ใช้ความอดทนอดกลั้น เปิดช่องทางการเจรจา เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงบวกและสันติ”
รัฐบาลมาเลเซียเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในพม่าใช้แนวทางสันติวิธีคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องผลการเลือกตั้ง โดยสนับสนุนการเจรจาระหว่างผู้นำพม่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและต่อรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่อินโดนีเซียเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนในพม่ายึดถือแนวทางประชาธิปไตย และขอให้เคารพหลักการที่ระบุไว้ใน “กฎบัตรอาเซียน”
กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงเมื่อวันอังคาร (2) ว่ารู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในพม่า ซึ่งเป็นการเผยท่าทีขึงขังมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ออกมาพูดในช่วงแรกๆ ว่า การรัฐประหาร “เป็นกิจการภายในของพม่าที่ชาวฟิลิปปินส์ไม่ควรไปก้าวก่าย”
ด้านนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่ง กัมพูชา ระบุชัดเจนว่าการรัฐประหารในพม่า “เป็นกิจการภายใน” และกัมพูชาไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องภายในของประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็ดูคล้ายๆ กับท่าทีของรัฐบาลไทยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นักข่าวเพียงสั้นๆ ว่าไทยยึดถือ “จุดยืนอาเซียน” ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็พูดแค่ว่า “เป็นเรื่องภายในของเขา กลัวเรื่องโควิดอย่างเดียว”
ด้านจีนออกมาปฏิเสธข้อครหาให้การสนับสนุนการยึดอำนาจในพม่า โดย หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า “ทฤษฎีเหล่านั้นไม่เป็นความจริงเลย ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีของพม่า เราคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถลดความเห็นต่าง เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของสังคมและระบบการเมือง”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศฟันธงเมื่อวันอังคาร (2) ว่าปฏิบัติการยึดอำนาจของกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เข้าองค์ประกอบของการก่อ “รัฐประหาร” ซึ่งทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องตัดความช่วยเหลือแก่พม่าโดยอัตโนมัติ แต่อาจจะไม่รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การช่วยเหลือที่ให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ในพม่าคนหนึ่งมองว่า มาตรการคว่ำบาตรและการตัดเงินช่วยเหลืออาจถูกต่อต้านจากภาคธุรกิจที่ยังต้องการให้สหรัฐฯ คงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพม่าไว้ และนักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะต้องการเห็นบทลงโทษที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปยังบุคคลในคณะรัฐประหารมากกว่า
ขณะเดียวกัน อดีตเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญก็ยอมรับว่า สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองค่อนข้างจำกัดกับกลุ่มนายพลพม่าที่ก่อรัฐประหาร เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลใกล้ชิดกับบริษัทใหญ่ๆ ภายในประเทศ แต่ไม่ค่อยมีผลประโยชน์หรือทรัพย์สินในต่างแดนให้อายัดได้มากนัก อีกทั้งยังเห็นแล้วว่าการคว่ำบาตรในอดีตแทบไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคณะผู้นำทหาร มีแต่จะทำให้พลเมืองพม่ายากจนลง
ฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ไบเดน ใช้บทลงโทษอย่างเฉพาะเจาะจงกับบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ตัวอย่างเช่น Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corp (MEC) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในหลายภาคส่วน ทั้งด้านธนาคาร, อัญมณี, ทองแดง, การสื่อสาร และเครื่องแต่งกาย
ช่วงค่ำวันอังคาร (2) ชาวพม่าในนครย่างกุ้งได้รวมตัวกันเคาะหม้อเคาะกระทะ และเปล่งเสียงขับไล่ “ความชั่วร้ายจงออกไป” ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงการประท้วงอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก ขณะที่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 70 โรงพยาบาลใน 30 เมืองทั่วพม่าเริ่มหยุดงานประท้วงในวันที่ 3 ก.พ. เพื่อแสดงพลังต่อต้านการรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในต่างแดนก็ได้รวมตัวประท้วงที่หน้าสถานทูตหรือหน่วยงานของรัฐในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, เนปาล รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. นายปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้ากลุ่ม วี วอลันเทียร์ หรือ “วีโว่” พร้อมกับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, น.ส.พรรณิการ์ วานิช และแรงงานชาวพม่า ได้รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยบนถนนสาทรเหนือ โดยมีการอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหาร และเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวอองซานซูจี
ในส่วนของ “พรรคก้าวไกล” ได้ออกมายื่นข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ 1) ให้อาเซียนและประชาคมโลกช่วยกันกดดันกองทัพพม่าให้ปล่อยตัว อองซานซูจี, ประธานาธิบดี วิน มิ้น, และผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข 2) กดดันกองทัพพม่าไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร และยุติการปิดกั้นการสื่อสารทุกชนิด ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน และ 3) ให้พรรคการเมืองและรัฐบาลต่างๆ มีมาตรการคว่ำบาตรคณะรัฐประหารพม่าทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ในขณะที่ชาวพม่าส่วนใหญ่และนานาชาติต่างรุมประณามคัดค้านการก่อรัฐประหารโค่นอำนาจผู้นำพลเรือน ข่าวการควบคุมตัว อองซานซูจี ก็ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศซึ่งมีมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน และมีรายงานว่าชาวโรฮิงญาจำนวนมากแสดงความ “ดีอกดีใจ” ที่ผู้นำหญิงคนดังรายนี้ร่วงตกจากอำนาจ
ฟาริด อุลลาห์ ผู้นำชุมชนชาวโรฮิงญาในค่ายกุตุปะหล่องซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในโลกให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ซูจี “อยู่เบื้องหลังความทุกข์ยากทั้งหมดของพวกเรา แล้วทำไมพวกเราจะไม่เฉลิมฉลอง” ขณะที่ โมฮัมหมัด ยูซุฟ ผู้นำค่ายลี้ภัยที่อยู่ใกล้ๆ กันกล่าวว่า “ซูจีเป็นความหวังสุดท้ายของเรา แต่เธอกลับไม่สนใจชะตากรรมของพวกเรา และสนับสนุนการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา”
นักวิเคราะห์บางคนมองว่ารัฐประหารในพม่าครั้งนี้อาจจะเป็นจุดจบทางการเมืองของหญิงแกร่งที่ชื่อ อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1991 และอดีตนักโทษการเมืองวัย 75 ปี ซึ่งกลายมาเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของพม่า ก่อนจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกจากการที่เธอไม่ยี่หระต่อปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และถึงขั้นออกหน้าปกป้องกองทัพพม่าในศาลระหว่างประเทศ
นิวยอร์กไทม์สอ้างข้อมูลจากที่ปรึกษาของ ซูจี และอดีตทหารเกษียณบางคนซึ่งระบุว่า การที่ ซูจี ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนพม่าที่นับถือศาสนาพุทธทำให้พวกนายพลอาวุโสมองเธอเป็นตัวอันตราย อีกทั้งระยะหลังๆ มานี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง ซูจี กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่สู้จะดีนัก โดยว่ากันว่าทั้งสองไม่ได้พูดคุยกันโดยตรงมานานเป็นปีแล้ว การสื่อสารที่ลดลงน่าจะมีส่วนทำให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าซึ่งใกล้เกษียณอายุราชการเกิดความหวาดระแวง และไม่มั่นใจว่าหากปล่อยให้ ซูจี กุมอำนาจต่อไปจะกระทบกับ “เครือข่ายอุปถัมภ์” ที่ตนสร้างเอาไว้หรือไม่
ผู้ใกล้ชิดบางคนระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีท่าทีว่าอยากจะลงเล่นการเมืองอยู่เหมือนกัน และอาจถึงขั้นคาดหวังตำแหน่งประธานาธิบดีพม่า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ อองซานซูจี ถูกห้ามโดยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบุตรและสามีเป็นคนต่างด้าว
“อองซานซูจี เมินเฉยต่อเสียงตำหนิติเตียนของนานาชาติ โดยอ้างว่าตัวเองไม่ใช่นักสิทธิมนุษยชน แต่เป็นแค่นักการเมือง น่าเสียดายที่แม้แต่ความเป็นนักการเมืองของเธอก็ยังไม่ดีพอ” ฟีล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุ “เธอสอบตกทางด้านศีลธรรมอย่างใหญ่หลวงจากการช่วยปกปิดความโหดร้ายป่าเถื่อนที่กองทัพพม่ากระทำต่อชาวโรฮิงญา แต่การสงบศึกกับกองทัพก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ และเวลานี้ชัยชนะถล่มทลายที่เธอได้มาจากการเลือกตั้งก็ต้องมาพังทลายลงเพราะรัฐประหาร”
มีรายงานในวันพุธ (3) ว่า ตำรวจพม่าได้แจ้งข้อหา อองซานซูจี ฐานนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมาย โดยเกี่ยวข้องกับการครอบครองวิทยุมือถือ (walkie-talkie) จำนวน 6 เครื่อง ระหว่างการตรวจค้นบ้านพักของเธอในกรุงเนปิดอว์ โดยทางตำรวจอ้างว่าวิทยุมือถือเหล่านี้ถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเธอจะถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.
ในแง่ของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและนักวิเคราะห์คาดว่า การรัฐประหารอาจจะทำให้บริษัทอเมริกันและตะวันตกให้ความสนใจเข้าลงทุนในพม่าน้อยลง หรืออาจจะถึงขั้นทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่บางรายตัดสินใจถอนกิจการออก
ข้อมูลจากหน่วยงานของสหรัฐฯ ระบุว่า การค้าระหว่างพม่าและสหรัฐฯ มีมูลค่าเกือบ 1,300 ล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) รายงานว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพม่าขยายตัวขึ้นถึง 33% มาอยู่ที่ 5,500 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2562/2563 โดยสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นชาติที่เข้าไปลงทุนมากที่สุด
สำหรับไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับพม่าแน่นอนว่าย่อมจะได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วงก็คือ แรงงานพม่าอาจไหลทะลักเข้ามาในไทย ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด -19 จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับขบวนการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ฝากกำชับสื่อมวลชนทุกแขนงให้เสนอข่าวอย่างระมัดระวังที่สุด เนื่องจากพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด จึงไม่ควรที่จะกระทำการใดๆ ที่จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง