จากเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ได้เกิดเหตุการณ์ลูกช้างป่าวัย 2-3 เดือน ได้พลัดหลงกับโขลงช้างบริเวณป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เจ้าหน้าที่อุทยานห้วยขาแข้ง จึงได้นำกลับมาดูแลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเลี้ยงดูเหมือนกับคนในครอบครัว พร้อมกับตั้งชื่อให้กับเจ้าช้างนี้ว่า “ทับเสลา”
น้องทับเสลา (หรือชื่อเดิมว่าน้องห้วยขาแข้ง) เป็นช้างพังแสนรู้ แรกเริ่มได้อยู่ที่ปรับตัวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และถึงแม้จะใช้เวลาอยู่ที่นี่เพียงแค่ครึ่งปี แต่ก็ได้เผยความน่ารัก แสนรู้ จนครองใจพ่อๆ (คำเรียกเจ้าหน้าที่ดูแลลูกช้างน้อย) และยังได้ใจชาวเน็ตไปไม่น้อยทีเดียว
วันเวลาผ่านไปเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องวางแผนหาบ้านใหม่ที่มีความพร้อมและหาครอบครัวใหม่เพื่อนำน้องทับเสลาไปดูแลต่อ เพราะช้างเด็กในวัยนี้ยังจำเป็นต้องกินนมแม่ช้างและต้องการครอบครัวเพื่อสอนให้รู้จักการใช้ชีวิตแบบช้าง
จากการพูดคุยลงความเห็นกันแล้ว บ้านใหม่ของน้องทับเสลาก็คือที่หน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง เพราะที่นั่นมีความพร้อมในเรื่องของข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ในการดูแลลูกช้างอย่างครบวงจร รวมทั้งมี “แม่รับ” หลายเชือกที่พร้อมจะทำหน้าที่แม่ให้น้องทับเสลา
สำหรับ “แม่รับ” คือช้างเพศเมียที่เคยตกลูกมาแล้ว ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แม่เลี้ยงให้ลูกช้างที่ต้องขาดแม่ไป เพื่อให้ลูกช้างป่าได้เรียนรู้ ซึมซับพฤติกรรมของช้างป่า จนกว่าจะมีความพร้อมในการดำรงชีวิตได้เองในธรรมชาติ
โดยในการหาแม่รับให้น้องทับเสลานั้น ทางมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติได้จัดเตรียมหาแม่รับไว้ทั้งหมด 5 เชือก ได้แก่ พังทีน่า พังดุ พังดอกรัก พังวาเลนไทน์ และพังตุ๊กตา ซึ่งในการเลือกหาแม่รับนี้จะต้องคอยเฝ้าดูพฤติกรรมทั้งของน้องทับเสลาและแม่รับแต่ละตัว ว่าจะเข้ากันได้หรือไม่นั่นเอง
และเมื่อทุกอย่างได้ข้อสรุปแล้วก็ถึงขั้นตอนการย้ายบ้านให้น้องทับเสลา โดยทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ทำการฝึกฝนให้ช้างน้อยได้ลองขึ้นรถ ยืนอยู่บนรถ เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยในการต้องเดินทางไกลไปเลือกแม่รับ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ที่มีระยะทางห่างกันกว่า 400 กิโลเมตร และจากการฝึกซ้อมช้างน้อยทับเสลาทำได้ดีเลยทีเดียว
จากนั้นในวันที่ 14 พ.ย. 63 น้องทับเสลาได้เดินทางมาถึงที่ดอยผาเมือง เมื่อมาถึงแล้วช้างน้อยได้เริ่มโปรยเสน่ห์ใส่พ่อแม่เจ้าหน้าที่ที่นี่ในทันทีตามประสาช้างเด็กแสนซน และในวันที่ 16 พ.ย. 63 ก็ได้เจอกับ “แม่ทีน่า” แม่รับเบอร์หนึ่งที่ได้เตรียมไว้ หลังจากที่ได้ลองนำทั้งสองมาเทียบกัน ดูท่าแล้วน้องทับเสลาจะแสดงท่าทีกล้าๆ กลัวๆ กับแม่ทีน่า รวมถึงทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลได้สงสัยว่าแม่ทีน่านั้นจะตั้งท้องจึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแม่รับ เพราะถ้าขืนปล่อยให้ลูกช้างและแม่รับเข้ากันได้ เมื่อถึงแม่ช้างมีลูกใหม่จะทำให้เกิดการหวงกัน
ต่อมาในวันที่ 22 พ.ย. 63 แม่ทีน่าได้ต้องส่งไม้ต่อให้กับ "แม่ดุ" เป็นแม่รับเบอร์สอง ปรากฏว่าทั้งสองเข้ากันได้ดีตั้งแต่แรกเจอ โดยพังดุสอนพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างให้ทับเสลา ได้แก่ การโยนดินสาดตัว เพื่อไล่แมลงที่มารบกวน สีตัวกับต้นไม้ลดอาการคัน
แต่สักพักหนึ่งแม่ดุเริ่มเฉยๆ ขณะที่ช้างน้อยเข้าหาในระยะที่ใกล้ขึ้นๆ เมื่อความสัมพันธ์ของแม่ดุต่อน้องทับเสลาไม่พัฒนา เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำช้างพังอื่นที่เตรียมไว้มาเทียบ เพื่อหาคู่ที่เข้ากันได้ดีที่สุดแทน
หลังจากนั้นในวันที่ 21 ธ.ค. 63 ได้นำ “แม่ดอกรัก” และ “แม่วาเลนไทน์” มารับช่วงต่อซึ่งแม่วาเลนไทน์นั้น เพิ่งเสียลูกช้างน้อยไป โดยที่แม่ดอกรักได้แสดงตัวเป็นแม่รับต่อลูกช้างของแม่วาเลนไทน์ด้วยเช่นกัน โดยจะต้องตรวจสุขภาพของทั้งสองแม่ช้างเพื่อความปลอดภัยก่อนจะให้เจอกับทับเสลา
ในที่สุดในวันที่ 29 ธ.ค. 63 แม่รับทั้งสองกับทับเสลาก็ได้เจอกัน ซึ่งท่าทีของทั้งแม่รับและลูกช้างดูจะเข้ากันดี โดยทับเสลาได้กินนมเหลืองของแม่วาเลนไทน์แล้ว แต่ยังไม่ได้กินจากเต้าเพราะแม่วาเลนไทน์ยังไม่ชินเท่าไหร่ นอกจากนั้นทับเสลายังยอมเดินตามแม่รับทั้งสองเข้าป่า โดยที่ไม่ส่งเสียงเรียกหาพี่เลี้ยงแล้ว และเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของแม่รับอีกด้วย
ปัจจุบันน้องทับเสลาจึงได้แม่ดอกรักและแม่วาเลนไทน์ เป็นแม่รับ ซึ่งดูแล้วทับเสลาจะเข้ากันได้ดีกับแม่รับทั้งสองนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดีที่ทับเสลาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของช้างและเติบโตไปเป็นช้างน้อยขวัญใจผู้ที่ได้พบเห็นตลอดไป
ภาพและข้อมูลจากเพจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline