xs
xsm
sm
md
lg

ออกซ์แฟมชี้ 10 อภิมหาเศรษฐีโลก ‘มีรายได้เพิ่ม’ ช่วงโควิด-19 มากพอที่จะจ่ายค่า ‘วัคซีน’ ให้คนทั้งโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มูลนิธิออกซ์แฟม (Oxfam) เผย 10 มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันถึง 540,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 มากพอที่จะซื้อวัคซีนแจกจ่ายให้แก่ประชากรทั่วโลก

รายงาน “The Inequality Virus” ที่ถูกเผยแพร่ในวันเปิดการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ชี้ว่ามหาเศรษฐีทั่วโลกล้วนแต่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คนยากจนมีแนวโน้มจะต้องเผชิญความลำบากต่อเนื่องไปอีกหลายปี

แกบรีเอลา บูเชอร์ ผู้อำนวยการบริหาร ออกซ์แฟม อินเทอร์เนชันแนล ระบุในรายงานว่า “เราได้เห็นถึงสภาพความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด นับตั้งแต่มีการจดบันทึก”

“ระบบเศรษฐกิจที่ถูกปั่น (rigged economies) ทำให้พวกอภิสิทธิชนที่ใช้ชีวิตหรูหราและหลบเลี่ยงผลกระทบจากโรคระบาดสามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้มากขึ้นไปอีก ในขณะที่พนักงานขายของ, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และพ่อค้าแม่ค้าในตลาด แทบจะชักหน้าไม่ถึงหลัง”

“หากไม่จัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ประชากรยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวันจะเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคนภายในปี 2030”

โควิด-19 ได้ก่อพายุเศรษฐกิจที่โจมตีคนจนและกลุ่มคนเปราะบางหนักที่สุด โดยเฉพาะผู้หญิงและแรงงานชายขอบที่ถูกเลิกจ้าง ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกมาเตือนแล้วว่าจะมีประชากรโลกเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีด (extreme poverty) เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคน

ออกซ์แฟมคาดว่าจะต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี จึงจะสามารถลดจำนวนคนจนให้กลับมาสู่จุดที่เคยเป็นก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ได้

รายงานของออกซ์แฟมประเมินว่า มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้นราวๆ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 18 มี.ค.จนถึง 31 ธ.ค.ปี 2020 มาอยู่ที่ 11.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เฉพาะมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของโลก เช่น เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แอมะซอน, อีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลา, บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 540,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนักวิจัยชี้ว่ามากพอที่จะซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชากรทั้งโลก และยังสามารถช่วยให้คนทุกคนรอดพ้นวิกฤตความยากจนจากโรคระบาด

ออกซ์แฟมยังสนับสนุนให้รัฐบาลทั่วโลกใช้ “มาตรการเชิงปฏิรูป” โดยจัดเก็บภาษีจากภาคธุรกิจและกลุ่มคนร่ำรวยเพิ่มขึ้น และยกระดับมาตรการคุ้มครองแรงงาน

รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า การเก็บภาษีชั่วคราวจากผลกำไรส่วนเกินของ 32 บริษัททั่วโลกซึ่งทำกำไรสูงสุดในช่วงโควิด จะสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 104,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020

ชยาตี โฆษ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิร์ตส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ข้อมูลกับออกซ์แฟม ระบุว่า ความร่วมมือในระดับนานาชาติจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และเธอเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือทั้งในแง่ของการปราบปรามที่พักหลบภาษี (tax havens) รวมถึงการอนุมัติวงเงินกู้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

ที่มา : รอยเตอร์, Yahoo Finance
กำลังโหลดความคิดเห็น