xs
xsm
sm
md
lg

‘ซิโนแวค’ แถลงปกป้องวัคซีนโควิด ยันปลอดภัย-มีประสิทธิภาพ ขณะสาธารณสุขไทยยังคงแผนจัดซื้อ แต่ขอข้อมูลรายละเอียดมาพิจารณา

เผยแพร่:


วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ซิโนแวค
ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน ออกมาแจกแจงในวันพุธ (13 ม.ค.) ว่า ผลการทดลองวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ของตนยืนยันว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หลังจากคณะนักวิจัยในบราซิลเผยแพร่ข้อมูลทางคลินิกระยะสุดท้าย ซึ่งแสดงว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่เคยประกาศกันเอาไว้มาก ขณะที่สาธารณสุขไทยบอกว่าได้ขอข้อมูลจากทางซิโนแวคโดยตรงแล้ว เนื่องจากผลการทดลองมีรายละเอียดที่จะต้องนำมาพิจารณา จึงจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด สำหรับตอนนี้ยังคงแผนเดิมไปก่อน

อิน เว่ยตง ประธานของซิโนแวค ไบโอเทค กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งกระทำกันในหลายๆ ประเทศ เพียงพอแล้วสำหรับการพิสูจน์ว่า วัคซีนของบริษัท ซึ่งใช้ชื่อว่า โคโรนาแวค (CoronaVac) มีความปลอดภัย และประสิทธิภาพก็ดีในการทดลองทั่วโลก

เขาย้ำว่า แม้ประเทศต่างๆ ได้ใช้วัคซีนจากลอตเดียวกันในการทดลองของพวกตน ทว่า แต่ละประเทศไม่ได้ใช้ระเบียบวิธีในการทดลองที่เหมือนกัน

ทั้งนี้ ข่าวจากบราซิลเมื่อวันอังคาร (12) ที่ว่า ผลการทดลองที่นั่นแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของโคโรนาแวค อยู่ในระดับสูงกว่า 50% นิดเดียว ได้ทำให้มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งต่างทำสัญญาขอซื้อเอาไว้กับซิโนแวค ออกมาแถลงในวันพุธ (13) ว่า พวกเขาจะขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทแดนมังกรรายนี้ในเรื่องความมีประสิทธิภาพ ก่อนที่พวกเขาจะอนุมัติให้ใช้ได้ในประเทศและซื้อวัคซีนตัวนี้เข้ามา

ขณะเดียวกัน การที่ผลการศึกษาวิจัยวัคซีนโคโรนาวัคค่อยๆ ได้รับเปิดเผยทีละเล็กละน้อย ก็ก่อให้เกิดความกังวลว่าบรรดาวัคซีนที่พัฒนาโดยเหล่าผู้ผลิตสัญชาติจีน อาจไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดจากภายนอก ดังเช่นวัคซีนอื่นๆ ของสหรัฐฯและยุโรป

ข้อมูลจากบราซิลได้รับการเผยแพร่ออกมา ในเวลาเดียวกับที่อินโดนีเซียกำลังเริ่มดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนในแดนอิเหนา โดยที่ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เป็นบุคคลแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วย วัคซีนโคโรนาแวค ของซิโนแวค

มาเลเซียระบุในวันพุธว่า จะเดินหน้าจัดซื้อโคโรนาแวคต่อเมื่อวัคซีนตัวนี้สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่หน่วยงานกำกับตรวจสอบของแดนเสือเหลืองในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร บริษัท ฟาร์มาเนียกา ของมาเลเซีย เพิ่งเซ็นสัญญากับ ซิโนแวค เพื่อขอซื้อวัคซีนจีนตัวนี้ 14 ล้านโดส โดยที่ยังจะตั้งโรงงานผลิตขึ้นในมาเลเซียเองในเวลาต่อไปอีกด้วย

ขณะที่ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาติรายได้สูงเพียงรายเดียวที่ทำข้อตกลงกับซิโนแวค แถลงว่า จะศึกษาพิจารณาข้อมูลที่เป็นทางการเมื่อทางซิโนแวคเผยแพร่ออกมา แทนที่จะพึ่งพาอาศัยแค่รายงานข่าวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ และจากนั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะอนุมัติให้ใช้หรือไม่

สำหรับประเทศไทย ซึ่งได้สั่งซื้อ โคโรนาแวค เอาไว้ 2 ล้านโดส แถลงว่า ยังคงอยู่ในเส้นทางที่จะได้รับและใช้วัคซีนตัวนี้เริ่มตั้งแต่เดือนหน้า แต่ก็เสริมว่าจะขอข้อมูลโดยตรงจากซิโนแวค

สาธารณสุขไทย ประสานขอข้อเท็จจริงจากซิโนแวค

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขในวันพุธ (13) ว่า หลังจากมีรายงานข่าวเผยแพร่ออกมา ขณะนี้ไทยได้ขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัท ซิโนแวคแล้ว รอให้มีการตอบกลับมาอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้วัคซีนตัวนี้ ซึ่งกำลังดำเนินการทางเอกสารกับ อย.อยู่นั้น ทางซิโนแวคจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นให้กับทางไทยทราบอยู่แล้ว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อธิบายว่า จากการติดตามการแถลงผลการศึกษาทดลองที่บราซิลนั้น มีการใช้คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวมอยู่ที่ ร้อยละ 50.4 เรื่องนี้หมายความว่า ในการทดลองระหว่างอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีนจริงกับผู้ที่ได้รับการฉีดอย่างอื่นนั้น มีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยวัคซีนสามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลยที่ร้อยละ 50.4

นพ.ศุภกิจตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากการทดลองนี้ทำในพื้นที่ระบาดสูง อาสาสมัครส่วนใหญ่ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น จึงอาจจะส่งผลต่อภาพรวมของการติดเชื้อ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวอีกว่า ยังมีข้อมูลจากการทดลองเกี่ยวกับความต่างของคนที่ฉีดคนที่ไม่ฉีดในเรื่องการป่วยว่าอยู่ที่ร้อยละ 78 นั่นคือ การฉีดป้องกันไม่ให้เกิดการป่วยได้ร้อยละ 78 ซึ่งรวมถึงอาจจะติดเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วย ขณะเดียวกัน สำหรับการป่วยถึงขั้นอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจนั้น กลุ่มคนที่ฉีดกับที่ไม่ฉีดมีความต่างกันอยู่ที่ร้อยละ 100 นั่นคือ กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน ไม่พบอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจเลย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีตัวเลขเปอร์เซ็นต์หลายตัวที่ต้องนำมาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป ขณะที่ตามรายงานข่าวเป็นเพียงคำแถลงให้ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและสถาบันวิจัย จึงต้องรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“ถ้าเฉพาะตอนนี้ ถือว่าข่าวที่ออกมาไม่มีผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ และผมคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน คือ เดือนกุมภาพันธ์ จะสตาร์ทได้” นพ.ศุภกิจกล่าว ทั้งนี้ แผนของไทยคือจะนำเข้าวัคซีนนี้ 2 แสนโดส ในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วค่อยๆ ทยอยเพิ่มมาอีกจนครบ 2 ล้านโดส

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ว่า ทุกบริษัทที่มีผลทดลองเฟส 3 ออกมา เป็นต้นว่า วัคซีนของไฟเซอร์ และวัคซีนของโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 90 ส่วนของแอสตราเซนเนกา อยู่ที่ร้อยละ 62 ส่วนหนึ่ง และร้อยละ 90 ส่วนหนึ่งนั้น เหล่านี้ต่างเป็นผลการทดลองในระยะต้นๆ ทั้งสิ้น แต่ผลการทดลองสมบูรณ์แบบอาจจะต้องใช้เวลาปีครึ่งถึงจะเห็นว่า มีประสิทธิภาพเท่าไร ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อดีประการหนึ่งของวัคซีนจีนเมื่อเทียบกับอีก 2 บริษัทนั้น อยู่ที่ของจีนเป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่คุ้นชิน และยังมีข้อมูลว่าประเทศจีนนำไปฉีดให้ทหาร และบุคลากรการแพทย์หลายแสนคน ยังไม่พบผลข้างเคียงอะไรที่น่ากังวล ในขณะที่เราพบว่า การพัฒนาวัคซีนของบางเจ้ามีผลข้างเคียงทำให้คนที่รับวัคซีนนั้นไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ หรือต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์จำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่น้อย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ย้ำว่า การพิจารณาวัคซีนที่จะเอาเข้ามานั้นต้องดูประสิทธิภาพ คุณภาพ และคุณสมบัติการบริหารจัดการในไทย เรื่องราคา และจำนวนที่จะมีให้ แต่ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าวัคซีนที่จะเอามาใช้ประสิทธิภาพต้องยอมรับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าหากเกินร้อยละ 50 ขึ้นไป สามารถยอมรับให้นำมาใช้ได้ ขณะที่ผลข้างเคียงก็ต้องไม่มาก

ด้าน นพ.สุรโชคกล่าวว่า การพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องทำอย่างรอบคอบ โดยดูเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพประสิทธิผล และความปลอดภัย ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศช่วยกันพิจารณาให้รวดเร็วและรอบคอบ ขณะนี้มี 2 บริษัท ที่ยื่นขอจดทะเบียนเข้ามา คือ แอสตราเซนเนกา และ ซิโนแวค ซึ่งข้อมูลบางอย่างยังไม่ครบ แต่ขอให้ยื่นมาให้ครบภายในเดือนมกราคมนี้

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า เดิมการยื่นขอขึ้นทะเบียนต้องส่งข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สำหรับวัคซีนโควิด-19 ต้องดำเนินการให้เร็ว จึงให้ทยอยส่งข้อมูลได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ค่อยๆ ทยอยดูข้อมูล แต่การจะพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ต้องรอให้ข้อมูลครบทั้งหมดก่อน

“เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการนำเข้าก็ต้องมาขออนุญาตจาก อย.เช่นกัน โดยต้องมีเอกสารข้อมูลประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยวัคซีนที่จะมีการนำเข้ามาถึงจะได้รับการอนุญาตนำเข้าได้” นพ.สุรโชค กล่าว

การแถลงของคณะนักวิจัยบราซิล

สำหรับการแถลงข่าวของบราซิล ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนบริษัท ซิโนแวค นั้น

คณะนักวิจัยบราซิลของศูนย์ชีวการแพทย์บูตันตัน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซาเปาลู ได้แถลงในวันอังคาร (12) โดยเป็นการกล่าวย้ำข้ออ้างของทางศูนย์ในสัปดาห์ที่แล้วว่า วัคซีนของบริษัทจีนตัวนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) มีประสิทธิภาพ 78% ในการป้องกันกรณีการติดเชื้อแบบอ่อนๆ ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษา และมีประสิทธิภาพระดับ 100% ในการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการติดเชื้อระดับปานกลางไปจนถึงระดับอาการหนัก

แต่สิ่งที่พวกเขาแถลงเพิ่มเติมขึ้นมาในวันอังคาร (12) ก็คือ เมื่อรวมเอากรณีของการติดเชื้อในระดับอ่อนมากๆ ที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลือทางคลินิก ถึงแม้ยังไม่ใช่ถึงกับเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็ทำให้โดยองค์รวมวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพ 50.4% ในการป้องกันผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจากการป่วยเป็นโรคโควิด-19

ดิมาส โควาส ผู้อำนวยการของบูตันตัน กล่าวย้ำในการแถลงข่าววันอังคารว่า การทดลองชี้ว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสมเหตุสมผลทุกประการที่จะนำมาใช้อย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน

คณะนักวิจัยของบูตันตันยังพยายามเน้นว่า ในการทดลองที่บราซิลซึ่งใช้อาสาสมัครรวม 12,500 คน วัคซีนตัวนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลด้านลบใดๆ หรือก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงใดๆ เลย ทั้งนี้ ไม่มีอาสาสมัครรายใดเลยที่ได้รับการฉีดวัคซีนโคโรนาวัค จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จากอาการป่วยทั้งหลายของโควิด-19

นอกจากนั้น พวกเขาย้ำว่า ในการทดลองที่บราซิล วัคซีนโคโรนาแวคถูกฉีดให้แก่กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นบุคลากรด้านดูแลสุขภาพระดับแถวหน้าซึ่งมีการติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกับพวกคนไข้ซึ่งป่วยด้วยโรคโควิด-19

ริคาร์โด ปาลาซิออส ผู้อำนวยการทางการแพทย์ด้านการวิจัยทางคลินิกของบูตันตัน บอกว่า ถ้าวัคซีนตัวนี้สามารถผ่านการทดลองครั้งนี้ไปได้ มันก็จะใช้การได้ดีกว่านี้อีกอย่างมากๆ เมื่อเป็นการใช้ป้องกันในระดับชุมชน

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิทยาศาสตร์และนักสังเกตการณ์หลายคนตำหนิศูนย์ชีวการแพทย์บูตันตัน ในกรณีที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเผยแพร่ข้อมูลจากการทดลองแค่เพียงบางส่วน และประกาศในลักษณะที่เหมือนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งก่อการคาดเดาไปต่างๆ นานา

นักจุลชีววิทยา นาตาเลีย ปาสเตอร์นัค มุ่งวิจารณ์น้ำเสียงแบบเป็นผู้พิชิตของบูตันตันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเธอกล่าวว่า “เรามีวัคซีนที่ดีตัวหนึ่ง แต่ไม่ใช่วัคซีนที่ดีที่สุดในโลก ไม่ใช่วัคซีนในอุดมคติ”

ขณะที่ กอนซาโล เวซินา เนโต ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซาเปาลู และเป็นอดีตผู้อำนวยการของ อันวิซา ที่เป็นหน่วยงานกำกับตรวจสอบด้านสาธารณสุขของบราซิล บอกว่า “เราจำเป็นต้องมีพวกนักสื่อสารที่ดีกว่านี้”

ก่อนหน้านี้ เหล่านักวิจัยจากสถาบันบูตันตัน ได้เลื่อนแถลงผลการทดลองในบราซิลมาแล้ว 3 รอบ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องรักษาความลับตามเงื่อนไขในสัญญาความร่วมมือที่ทำไว้กับซิโนแวค

ในระหว่างนั้น พวกนักวิจัยตุรกีเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า บนพื้นฐานการทดลองในเบื้องต้นในประเทศนั้น วัคซีนโคโรนาวัคมีประสิทธิภาพถึง 91.25% ส่วนอินโดนีเซีย ได้อนุมัติแบบฉุกเฉินใช้วัคซีนตัวนี้เมื่อวันจันทร์ (11 ม.ค.) โดยระบุว่าข้อมูลขั้นต้นของการทดลองในแดนอิเหนาแสดงให้เห็นว่ามันมีประสิทธิภาพ 65%

เจ้าหน้าที่บูตันตันอธิบายว่า เนื่องจากการออกแบบการศึกษาวิจัยในบราซิล มุ่งเน้นพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแถวหน้าในระหว่างเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงในแดนแซมบ้า รวมทั้งยังมีอาสาสมัครสูงวัยอีกด้วย ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบผลการทดลองนี้โดยตรงกับการทดลองในที่อื่นๆ หรือกับวัคซีนตัวอื่นๆ

แต่ถึงแม้ โคโรนาแวค มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับเหนือกว่า 50% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สามารถยอมรับได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ก็ยังต่ำกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับพวกวัคซีนตัวอื่นๆ ที่บริษัทตะวันตกผลิต เช่น ของโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 94% ส่วนของ ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค อยู่ที่ 95%

สำหรับที่บราซิลนั้น โคโรนาแวค ยังกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการพิพาทโต้แย้งกันทางการเมือง ระหว่างประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้ซึ่งพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะดิสเครดิตวัคซีนจีนตัวนี้ กับ โจเอา โดเรีย ผู้ว่าการของรัฐเซาเปาลู ที่เป็นผู้หนุนหลังบูตินติน และ โคโรนาแวค โดยที่คาดหมายกันว่า โดเรียจะประกาศตัวเป็นคู่แข่งของโบลาโซนารู ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อไปในปีหน้า

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี/MGR ออนไลน์)

ภายในโรงงานบรรจุวัคซีนของซิโนแวค ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น