xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนานชุดนักเรียนญี่ปุ่น จากทหารสู่แฟชั่น

เผยแพร่:



ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บังคับใส่ชุดนักเรียนมานานกว่า 100 ปี โดยมีต้นแบบจากเครื่องแบบทหารจนพัฒนามาเป็นชุดแฟชั่นทันสมัย และบางครั้งเกินเลยกลายเป็นสินค้าทางเพศจนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกกฎหมายห้าม

โรงเรียนในญี่ปุ่นให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบตั้งแต่ชั้นมัธยมทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน ส่วนชั้นประถมหลายโรงเรียนไม่บังคับให้นักเรียนใส่เครื่องแบบ แต่เด็กประถมมักจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวและกระเกงหรือกระโปรง พร้อมสวมหมวกสีเหลืองเพื่อให้เด่นสะดุดตาป้องกันอุบัติเหตุทางจราจร

ญี่ปุ่นเริ่มใช้เครื่องแบบนักเรียนมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 มีต้นกำเนิดมาจากชุดทหารในยุคเมจิ ซึ่งลอกแบบมาจากชุดนาวีของยุโรป ชุดของนักเรียนชายเรียกว่า “กากุรัน” 学ラン หรือ “สึเมเอริ” 詰襟 เป็นชุดปกคอตั้งสีดำหรือน้ำเงินเข้ม กลัดกระดุมจากบนลงล่าง กระดุมมักมีตราของโรงเรียน เด็กผู้ชายมักให้กระดุมเม็ดที่สองของเสื้อกับเด็กผู้หญิงที่ตนเองหลงรัก เพราะเป็นกระดุมเม็ดที่อยู่ใกล้หัวใจ แสดงถึงความรักที่มีมาตลอดสามปีในโรงเรียนมัธยม กางเกงเป็นกางเกงขายาว เข็มขัดสีดำหรือสีเข้ม บางโรงเรียนอาจให้นักเรียนติดเข็มกลัดที่ปกเสื้อเพื่อบอกโรงเรียนและระดับชั้น เครื่องแบบนี้เริ่มต้นครั้งแรกจากมหาวิทยาลัยหลวง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยโตเกียว) ในปี 1886 หลังจากนั้นจึงใช้เป็นชุดนักเรียนมัธยม

 “กากุรัน” หรือ “สึเมเอริ” ชุดปกคอตั้งของนักเรียนชาย
ส่วนชุดนักเรียนหญิงมีต้นแบบมาจากชุดของกะลาสีเรือ เรียกกันว่า “เซราฟุกุ” セーラー服 ชุดนี้เริ่มใช้เป็นเครื่องแบบตั้งแต่ปี 1921 โดย อลิซาเบธ ลี ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยฟุกุโอะกะ โจะกะกุอิง 福岡女学院 อลิซาเบธ ลีเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหราชอาณาจักร จึงนำเครื่องแบบของราชนาวีอังกฤษในสมัยนั้นมาดัดแปลงเป็นชุดนักเรียนญี่ปุ่น โดยมีริบบิ้นผูกอยู่ข้างหน้า แต่บางโรงเรียนก็ใช้เนคไท ผ้าพันคอ หรือโบว์ ซึ่งมีสีต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามแต่ระดับชั้น ชุดนักเรียนกะลาสีนี้ก็คือชุดของ “เซเลอร์มูน” ตัวแทนแห่งดวงจันทร์ ผู้ลงทัณฑ์วายร้าย

เนื่องจากญี่ปุ่นมี 4 ฤดูกาล ชุดนักเรียนจึงมีชุดหน้าร้อนและหน้าหนาว ซึ่งจะมีการปรับแขนเสื้อและเนื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาล และยังมีชุดพละ ซึ่งเป็นเสื้อยืดและกางเกงวอร์ม

 “เซราฟุกุ” ชุดกะสาลีสำหรับนักเรียนหญิง


สูทตะวันตก กระโปรงสั้น ถุงเท้าย้วย

ในช่วงทศวรรษ 1980 ชุดนักเรียนของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนไปเป็นเสื้อสูทเบเซอร์ที่มีกระดุมและปักตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนที่หน้าอก ส่วนกางเกงหรือกระโปรงมักเป็นลายตารางสีต่าง ๆ ชุดนักเรียนแบบใหม่นี้คล้ายกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ในฤดูร้อน นักเรียนชายจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงสแล็ก ส่วนนักเรียนหญิงก็นิยมใส่ชุดกะลาสี

เมื่อญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลง จำนวนโรงเรียนมีมากกว่านักเรียน โรงเรียนต่าง ๆ จึงใช้ชุดนักเรียนเพื่อดึงดูดให้เด็กเลือกเข้าเรียน หลายโรงเรียนเชิญดีไซเนอร์ชื่อดังมาออกแบบชุดนักเรียน ตัดเย็บโดยแบรนด์เนมชั้นนำ ราคาชุดนักเรียนสูงหลายหมื่นเยนก็มี

นักเรียนญี่ปุ่นก็มีการดัดแปลงชุดนักเรียนให้เป็นแฟชั่น ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย เช่น ทำกระโปรงให้สั้นลงหรือยาวขึ้น ไม่ผูกริบบิ้น ซ่อนตราโรงเรียนไว้ในปกเสื้อ สวมถุงเท้าหย่อน ๆ ส่วนนักเรียนชายอาจใส่กางเกงหลุดสะโพก ไม่ผูกเนคไท ปลดกระดุมเสื้อ เป็นต้น


ธุรกิจทางเพศซื้อขายชุดนักเรียน

เครื่องแบบนักเรียนของญี่ปุ่นปรากฏอยู่ในอนิมะและการ์ตูนอยู่เสมอ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม “โอตะคุ” นอกจากนี้ เครื่องแบบนักเรียนหญิงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกทางเพศสำหรับคนบางกลุ่ม จึงมีการขายชุดนักเรียนหญิงที่ใช้แล้วตามร้านค้าที่เรียกว่า “บุรุเซะระ” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

สินค้าหลักของร้านคือ ชุดนักเรียนหรือชุดชั้นในที่ใช้แล้วและยังไม่ผ่านการซัก ราคาจะอยู่ในช่วง 5,000-10,000 เยน วางขายโดยใส่ในถุงพลาสติกใสและอาจมีการติดรูปเจ้าของชุดโชว์อยู่ด้วย บางร้านก็มีเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติโดยหยอดเหรียญ

นอกจากนี้ยังมี ร้านที่เรียกว่า “นะมะเซะระ” โดยนางแบบที่สวมชุดนักเรียนจะถอดชุดจากเรือนร่างแล้วขายในลูกค้าแบบ “สดๆ” หลายร้านก้าวล่วงไปถึงขนาดที่ให้ลูกค้าสามารถดูเด็กสาวขณะถอดชุดได้ และยังจำหน่ายชุดอื่นนอกจากเครื่องแบบนักเรียน เช่น บิกินี คอสเพลย์เลียนแบบตัวการ์ตูน ชุดนางพยาบาล ชุดตำรวจหญิง ฯลฯ

เพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ในปี 2547ญี่ปุ่นออกกฎหมายห้ามการขายเสื้อผ้าและชุดชั้นในใช้แล้วของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้กิจการในลักษณะนี้ลดลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น