xs
xsm
sm
md
lg

จีนเข้าคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของตน เพื่อไม่ให้ตกลงสู่ “กับดักอเมริกัน”

เผยแพร่:




























(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China tech regulators try to avoid American trap
by David P. Goldman
13/11/2020

ทางการจีนออกมาเตือนพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของประเทศอย่างเช่น อาลีบาบา, เทนเซนต์ อย่าได้ใช้อำนาจควบคุมผูกขาดเหนือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมากมายระดับมวลชน มาขับดันการเติบโตของตนเองและกีดกันผู้เข้าสู่ตลาดรายใหม่ๆ นี่เป็นสิ่งที่ทางการสหรัฐฯควรทำตั้งนานมาแล้ว แทนที่จะปล่อยให้พวกบริษัทเทคอเมริกันอย่าง ไมโครซอฟท์, แอมะซอน, แอปเปิล, กูเกิล, หรือ เฟซบุ๊ก อยู่ในสภาพผูกขาดอย่างในเวลานี้

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว พวกบริษัทเทคของอเมริกันตัดสินใจเสี่ยงและสร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคนบรรดาโมเดลธุรกิจที่เคยปักหลักมั่นคงอยู่แต่เดิม ทุกวันนี้ พวกเขาคือกิจการสาธารณูปโภคยุคใหม่ กำลังทำรายได้จากค่าเช่าในลักษณะผูกขาดเพราะสามารถควบคุมตลาดเอาไว้ในมือ ไมโครซอฟท์ขับไล่ไสส่งพวกผู้ท้าทายตนออกไปจากแวดวงซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์พีซี, แอมะซอนบดขยี้พวกคู่แข่งค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ตของตนไปเกือบหมด, แอปเปิลร่วมกับคู่ปรปักษ์ของตนอย่างซัมซุง สร้างการผูกขาดแบบสองรายคุมตลาด (duopoly) ทั้งด้านฮาร์ดแวร์กับบริการต่างๆ, กูกิลทำลายลู่ทางโอกาสเชิงพาณิชย์ของพวกเสิร์ชเอนจินที่เป็นคู่แข่งขัน, และเฟซบุ๊กเข้าครอบงำสื่อสังคม โดยผ่านการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการซึ่งเล็งเป้าไปที่การขจัดคู่แข่ง

จีนต้องการที่จะหลีกเลี่ยง “กับดักอเมริกัน” เช่นนี้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนจึงออกมาเตือนพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของประเทศว่า ต่อจากนี้ไปพวกเขาไม่สามารถที่จะเก็บยึดข้อมูลส่วนบุคคลของมวลชนเอาไว้แบบผูกขาด เพื่อใช้มาขับดันธุรกิจต่างๆ ของพวกเขา และลดทอนกีดกันโอกาสทำการแข่งขันจากพวกรายใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด มีเอกสารเพื่อการปรึกษาหารือฉบับหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานกำกับตรวจสอบของคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เตือนว่าจะมีการออกมาตรการต่อต้านการผูกขาดที่มุ่งเล่นงาน “พวกกิจการคณาธิปไตย (ผูกขาดโดยกิจการไม่กี่แห่ง) และแพลตฟอร์มของพวกเขา” ดังที่ แฟรงก์ เฉิน ได้รายงานเอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/11/data-at-center-of-beijings-clampdown-on-big-tech/) ขณะเดียวกันก็มีบันทึกภายในฉบับหนึ่งส่งไปถึงทางรัฐบาลระดับมณฑล และเอเชียไทมส์ได้อ่าน ซึ่งมีเนื้อหาตักเตือนไม่ยอมให้มีการผูกขาดการใช้ข้อมูลเพื่อกำจัดขัดขวางการแข่งขันอยู่ด้วย นอกเหนือจากพูดถึงความไม่ชอบมาพากลอื่นๆ แล้ว โดยที่เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบการธนาคารของจีนได้บังคับให้บริษัทแอนต์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ต้องประกาศเลื่อนการทำไอพีโอที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องมีการปรับปรุงในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงและเรื่องสัดส่วนเงินทุนต่างๆ

ราคาหุ้นของพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีนพากันหล่นฮวบในวันที่ 11 พฤศจิกายน หลังจากเอกสารเพื่อการปรึกษาหารือของคณะรัฐมนตรีจีนถูกเผยแพร่สู้สาธารณชน แต่แล้วก็กลับตีตื้นฟื้นคืนราคาที่หล่นหายไปในการซื้อขาย 2 วันทำการถัดมา

สหรัฐฯนั้นควรที่จำอย่างเดียวกันนี้ตั้งแต่เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน จากการยินยอมให้พวกบริษัทเทคของตนเปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนกิจการสาธารณูปโภคแบบผูกขาดที่ไร้การกำกับตรวจสอบ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้พุ่งสูง –สำหรับหุ้นเพียงหยิบมือเดียว— และมีผลิตภาพต่ำ พวกบริษัทเทคสหรัฐฯยังคงมีนวัตกรรม ทว่าเพียงแค่ในจุดที่บริษัทเห็นว่าเหมาะสมกับตนเองเท่านั้น การผูกขาดของพวกเขาที่สำคัญที่สุดแล้วมาจากตรรกะของตลาด ไม่ใช่มาจากการปฏิบัติที่เลวร้าย แต่กระนั้นมันก็ยังคงสร้างความเสียหายอยู่ดี ตัวอย่างเช่น รายรับจากการโฆษณาทางดิจิตอลของ 70% ของทั้งหมดตกไปเป็นของเฟซบุ๊ก และ กูเกิล ขณะที่กำลังทำให้พวกสื่ออิสระของอเมริกากลายเป็นอัมพาต เนื่องจากแข่งขันหารายได้ทางโฆษณากับยักษ์ใหญ่เทคเหล่านี้ไม่ไหว

ประเทศจีนนั้นเวลานี้ได้ติดตั้งสถานีฐาน 5จี ไปเป็นจำนวน 700,000 แห่งแล้ว –มากกว่าที่ติดตั้งในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกัน— ทว่าวางแผนจะต่อเชื่อมระบบ 5จี ทั่วทั้งประเทศด้วยสถานีฐานทั้งสิ้น 10 ล้านแห่ง โดยที่จะทุ่มเทงบประมาณใช้จ่ายรวมราวๆ 280,000 ล้านดอลลาร์ พอล เบอร์ริแมน (Paul Berriman) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ พีซีซีดับเบิลยู (PCCW) ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายชั้นนำในฮ่องกง บอกกับการสัมมนาผ่านเว็บ (webinar) จัดโดยเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะสามารถให้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้นเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่ามีการสร้างเครือข่ายกันอย่างเต็มที่ขนาดไหน นี่หมายความว่าในกรณีของ พีซีซีดับเบิลยู นั้นจะต้องขยายการต่อเชื่อมบรอดแบนด์ที่ระดับ 4 ล้านรายในปัจจุบัน ให้เป็น 40 ล้านราย การต่อเชื่อมเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดจะเป็นการต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ไม่ใช่กับบัญชีสมาร์ตโฟนส่วนบุคคล นี่แหละจะทำให้มีความเป็นไปได้ในเรื่องยานพาหนะขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ, ห้องเรียนเสมือนจริงที่มีส่วนต่อขยายเพิ่มเติมมากมาย, โทรเวชกรรม (telemedicine), เมืองอัจฉริยะ, และแอปพลิเคชั่นอื่นๆ อีกเป็นโขยง

นี่หมายความว่าจีนกำลังเดิมพันอนาคตของตนเอาไว้กับนวัตกรรม รัฐบาลจีนกำลังจัดการแข่งขันต่างๆ ขึ้นมาเพื่อหาแอปพลิเคลั่น 5จี ที่ดีเยี่ยมที่สุดล มีการเชื้อเชิญพวกผู้ประกอบการให้หนทางเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเครือข่ายบรอดแบนด์ที่เร็วจี๋และมีความหน่วงต่ำ จีนนั้นไม่ได้มอง 5จี ว่าเป็นเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค หากแต่มองในฐานะเป็นฐานส่งสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) อย่างที่ผมรายงานเอาไว้ในหนังสือปี 2020 เรื่อง You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World (สำนักพิมพ์Bombardier) ของผม พวกยักษ์ใหญ่เทคของจีน ซึ่งรวมไปถึง อาลีบาบา, หัวเว่ย, และ เทนเซนต์ จะต้องทำสร้างแรงยกตัวที่หนักหน่วงสาหัสเอามากๆ ทีเดียว เมื่อคำนึงถึงศักยภาพในด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), การรวบรวมข้อมูลของมัน, ตลอดจนความสามารถด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งทำให้เรื่องอย่างนี้เป็นไปได้ขึ้นมา ทว่ามันก็มีความเสี่ยงเช่นกันว่าพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีนอาจจะใช้การควบคุมข้อมูลของพวกเขาไปในทางมิชอบ เพื่อปิดกั้นไม่ให้พวกรายใหม่ๆ สามารถเข้าสู่ตลาดได้ และอย่างที่ แฟรงก์ เฉิน ได้รายงานเอาไว้นั่นแหละ มีข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือทีเดียวว่า อาลีบาบา และ เทนเซนต์ กำลังทำอย่างที่กล่าวนี้อยู่

ด้วยความมุ่งมั่นผูกพันในระดับชาติอย่างมโหฬารที่มีต่อ 5จี รัฐบาลของจีนเชื่อในแนวคิดที่ว่า ถ้าคุณสร้างมันขึ้นมา พวกเขาก็จะเข้ามาใช้ –ทว่าพวกเขาจะไม่เข้ามาหรอก ถ้าพวกเขาต้องเผชิญกับสนามกับระเบิดแห่งเครื่องกีดขวางลักษณะผูกขาด เครือข่าย 5จี ของจีนจะไปถึงจุดเกิดภาวะวิกฤตจากการติดตั้ง (critical mass of installations) ภายในปี 2022 และพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของแดนมังกรก็ต้องการที่จะทำให้แน่ใจว่า บรรดาผู้เข้าสู่ตลาดรายใหม่ๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่พวกเขาจำเป็นต้องได้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงศักยภาพให้กลายเป็นผลิตภาพ

ประสบการณ์ของอเมริกาในการเผชิญกับพวกกิจการผูกขาดทางเทค เป็นตัวอย่างอันเลวร้ายสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ไม่ควรกระทำ พวกบริษัทเทครายใหญ่ๆ มีน้ำหนักอยู่ในตลาดทุนในระดับมากเกินไปจนท่วมท้น ในปี 2010 บริษัทเทครายใหญ่ที่สุด 5 รายรวมกันแล้วเป็นแค่เพียง 11% ของมูลค่าตามราคาตลาดของพวกหุ้นที่อยู่ในดัชนี เอสแอนด์พี 500 ทว่าเมื่อมาถึงเดือนกันยายน 2020 หุ้นของพวกเขาในดัชนีนี้ได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นไปอีกเท่าตัวเป็น 22% บริษัทเพียงแค่ 10 แห่งในดัชนีเอสแอนด์พี 500 คือผู้ถือครองมูลค่าสองในห้าของพวกบริษัทสมาชิกในดัชนีทั้งหมด โดยที่ใน 10 แห่งนี้มีถึง 9 แห่งคือยักษ์ใหญ่ด้านเทค

เมื่อ 20 ปีก่อน ความเสี่ยงที่พวกนักลงทุนมอบให้แก่ดัชนีแนสแดคซึ่งครอบงำโดยพวกบริษัทเทคนั้น อยู่สนระดับเป็นสองเท่าตัวของที่พวกเขามอบให้แก่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 โดยรวม ทั้งนี้จากการวัดโดยดูที่การเคลื่อนไหววูบวาบซึ่งเกิดขึ้นของตราสารออปชั่นของดัชนี ภาคอุตสาหกรรมเทคที่ยังคงมีนวัตกรรมอยู่นั้นยังคงกล้าเสี่ยงกันอยู่ และตลาดตราสารอนุพันธ์ก็เครื่องมือวัดที่เป็นธรมสำหรับความเสี่ยงที่เข้าใจกันว่าเกิดขึ้นมา แต่เมื่อถึงปลายทศวรรษ 2010 ความวูบวาบในการเคลื่อนไหวของดัชนีแนสแดคและของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้มาบรรจบกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เมื่อพิจารณาจากการที่เหล่าบริษัทเทคใหญ่ๆ มีส่วนอยู่ในการเติบโตขยายตัวแทบทั้งหมดในมูลค่าตามราคาตลาดของดัชนีเอสแอนด์พี 500





















กำลังโหลดความคิดเห็น