xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’ให้คำมั่นเอเปกเดินหน้าเปิดตลาด เตือนลัทธิกีดกันการค้าเป็นภัยต่อ ศก.โลก ขณะนายกฯ ออสซี่กร้าว ไม่ยอมก้มหัวให้ปักกิ่ง

เผยแพร่:












ภาพที่เผยแพร่โดยกรมประชาสัมพันธ์ของมาเลเซีย แสดงให้เห็นจอภาพขณะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวปราศรัยในการประชุมแบบเสมือนจริงของงาน “เอเปก ซีอีโอ ไดอะลอก 2020”  ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดกลุ่มเอเปก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย




ภาพที่เผยแพร่โดยกรมประชาสัมพันธ์ของมาเลเซีย แสดงให้เห็นจอภาพขณะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวปราศรัยในการประชุมแบบเสมือนจริงของงาน “เอเปก ซีอีโอ ไดอะลอก 2020” ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดกลุ่มเอเปก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย














“สี จิ้นผิง” ให้สัญญาในวันพฤหัสบดี (19 พ.ย.) เดินหน้าเปิดตลาดรับธุรกิจต่างชาติ ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการที่เศรษฐกิจจีนจะแยกขาดออกมาต่างหาก หรือรวมกลุ่มแค่วงเล็กๆ พร้อมกันนี้ยังแขวะทรัมป์ว่า ลัทธิกีดกันการค้าเป็นภัยต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี วันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกมาประกาศกร้าว ไม่ยอมก้มหัวให้ปักกิ่ง หลังเจ้าหน้าที่จีนแจกเอกสารให้สื่อแดนจิงโจ้ร้องเรียนว่า แคนเบอร์ราแทรกแซงกิจการภายใน อีกทั้งสมคบกับอเมริกาต่อต้านจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่เพิ่งร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) กับอีก 14 ชาติเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวปราศรัยแบบเสมือนจริงในวันพฤหัสบดี ต่อที่ประชุม “เอเปก ซีอีโอ ไดอะล็อก” ซึ่งเป็นเวทีชุมนุมของผู้บริหารธุรกิจภาคเอกชน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ปลายสัปดาห์นี้ โดยยืนยันว่า เอเชีย-แปซิฟิก มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายมากมาย ซึ่งรวมถึงวิกฤตโรคระบาด

ประมุขแดนมังกรประกาศว่าจีนเปิดกว้างทางการค้า และปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนจะแยกขาดออกไปจากเศรษฐกิจโลก หรือรวมกลุ่มเพียงแค่วงเล็กๆ ซึ่งเห็นชัดว่าพาดพิงถึงนโยบายการค้าแบบปฏิปักษ์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่โจมตีจีนด้วยภาษีศุลกากรและมาตรการจำกัดด้านเทคโนโลยี

สียังเตือนว่า ลัทธิเอกภาคีนิยม การกีดกันการค้า การข่มเหงรังแก และการต่อต้านเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ รังแต่ทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สีไม่ได้กล่าวถึงโจ ไบเดน ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกาและจะเข้ารับตำแหน่งต้นปีหน้า ซึ่งถูกมองว่า จะใช้นโยบายต่อจีนที่แทบไม่แตกต่างจากนโยบายของคณะบริหารปัจจุบัน เพียงแต่รูปแบบอาจจะเน้นการหาความร่วมมือจากพวกชาติพันธมิตรของตนมากขึ้น

กระนั้น ผู้นำเอเปกบางคน เช่น นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงของสิงคโปร์ ซึ่งกล่าวปราศรัยในที่ประชุมวันพฤหัสฯด้วย ยังคงมองแง่ดีว่า ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของอเมริกาจะสนับสนุนระบบพหุภาคี เช่น เอเปก และองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มากกว่าทรัมป์ที่ชูนโยบยอเมริกาต้องมาก่อน

คำแถลงสวยหรูของสีคราวนี้ มีขึ้นก่อนโดยที่ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะร่วมวงหารือแบบทางไกลกับผู้นำอีก 20 ชาติของเอเปกในวันศุกร์ (20) นี้หรือไม่ กระนั้นหลายชาติโดยเฉพาะฝ่ายตะวันตก ยังคงแสดงความเคลือบแคลงต่อการประกาศของสี และโจมตีว่าปักกิ่งออกมาตรการจำกัดการค้าอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือต่อรองในข้อพิพาทด้านภูมิรัฐศาสตร์

โดยในวันพฤหัสฯ นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ประกาศว่า ออสเตรเลียจะไม่ก้มหัวให้แก่การกดดันจากจีน หลังจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่จีนได้ส่งเอกสารให้สื่อดัง 3 แห่งของออสเตรเลีย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการร้องเรียน 14 ข้อ ที่ตอกย้ำความร้าวฉานระหว่างสองประเทศ

ในบรรดาข้อร้องเรียนเหล่านั้นมีอาทิ กฎหมายห้ามการแทรกแซงต่างชาติของออสเตรเลีย การห้ามหัวเว่ยมีส่วนร่วมในเครือข่าย 5จีในออสเตรเลีย และการขัดขวางโครงการลงทุนของจีนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ

มอร์ริสันกล่าวว่า “เอกสารอย่างไม่เป็นทางการ” ดังกล่าวมาจากสถานเอกอัครราชทูตจีน และจะไม่สามารถยับยั้งออสเตรเลียในการออกกฎหมายและกฎระเบียบโดยอิงกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ

เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า แคนเบอร์รามีส่วนเกี่ยวข้องในการแทรกแซงอย่างไม่จำกัดและไม่หยุดหย่อนต่อกิจการภายในของจีน พร้อมยกตัวอย่างการที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนหาต้นตอไวรัสโคโรนา

ในเอกสารยังกล่าวหาออสเตรเลียสมคบกับอเมริกาต่อต้านจีน และเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับที่มาของไวรัส

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างแคนเบอร์ราและปักกิ่งตกต่ำสุดขีดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กระทั่งรัฐมนตรีออสเตรเลียไม่สามารถโน้มน้าวให้รัฐมนตรีจีนยอมรับโทรศัพท์

ความบาดหมางนี้ยังทำให้สินค้าเกษตรกรรมของออสเตรเลีย เป็นต้นว่า เนื้อวัว ข้าวบาร์เลย์ และไม้ ถูกจีนแบน

วิกฤตการทูตล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มอร์ริสันเพิ่งบรรลุข้อตกลงโดยหลักการเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทหารกับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะของญี่ปุ่น ซึ่งถูกมองว่า มีเป้าหมายในการคานอิทธิพลจีนภายในภูมิภาค





นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย




นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย






กำลังโหลดความคิดเห็น