xs
xsm
sm
md
lg

AIS ยกระดับอีสปอร์ตไทยไปเวทีโลก

เผยแพร่:



หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ เอไอเอส (AIS) เห็นโอกาส และเข้ามาร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตในประเทศไทยเติบโต และพร้อมที่ก้าวไปสู่ระดับโลก โดยการดึงศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้วยการเชื่อมต่อ 5G ที่จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้อุตสาหรรมอีสปอร์ตเติบโต

ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้เริ่มนำ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเข้ามาช่วยผลักดันวงการอีสปอร์ต ประกอบไปด้วย Connect ในการวางโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อทั้งโมบายอินเทอร์เน็ต และฟิกซ์บรอดแบนด์ เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วประเทศสามารถเข้าถึงและใช้งานได้

ตามด้วย Compete ในการเข้าไปร่วมสนับสนุนการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตต่างๆ และสนับสนุนนักกีฬาอีสปอร์ตไทยไปแข่งขันในเวทีระดับโลก Co-Education ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ตขึ้นมารองรับกับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ตต่างๆ

สุดท้ายคือ Community ในการเปิดเวทีให้ความรู้ และสร้างชุมชนสำหรับวงการอีสปอร์ต ประเดิมด้วยการจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับอีสปอร์ตครั้งแรกในประเทศไทย AIS x Techsauce Esports Summit ภายใต้จุดมุ่งหมายหลักคือ การยกระดับอีสปอร์ตไทย เพื่อให้ทั้งผู้เล่นเกม นักพัฒนาเกม จนถึงสตูดิโอผลิตเกมในประเทศไทย เห็นถึงโอกาสในการขยายไปสู่ระดับนานาชาติ

อลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตั้น กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ข้อมูลถึงภาพรวมตลาดอีสปอร์ตในประเทศไทยปี 2020 อยู่ที่ราว 27,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ราว 22,000 ล้านบาท โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อีสปอร์ตเติบโตในปีนี้ เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น และหันมาเล่นเกมเพื่อความบันเทิงแทน

ขณะเดียวกัน การที่เอไอเอสวางโครงข่าย AIS 5G เป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน และเปิดให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตในประเทศไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดมากขึ้นเมื่ออีโคซิสเต็มของอีสปอร์ตมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การใช้งานดาต้าผ่านโครงข่ายของเอไอเอส

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าเริ่มให้ความสำคัญกับอีสปอร์ตค่อนข้างช้า เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ส่งผลให้ติดขัดเกิดข้อจำกัดต่างๆ การจัดงาน AIS x Techsauce Esports Summit ในครั้งนี้ จึงเปรียบเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นให้ฝั่งของภาครัฐ ภาคธุรกิจเกม ผู้พัฒนาเกม สตรีมเมอร์ นักกีฬา มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำไปสู่การพัฒนาและยกระดับอีโคซิสต็มของอีสปอร์ต พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และก้าวสู่การเป็นผู้นำอีสปอร์ตในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามูลค่าอีสปอร์ตในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 137,300 ล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้จากอุปกรณ์พกพา หรือ Mobile Gaming ราว 70% หรือ 96,720 ล้านบาท จากความพร้อมของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกมผ่านสมาร์ทโฟนได้สะดวกขึ้น และอีกราว 17% มาจากกลุ่มเครื่องเกมคอนโซล จากผู้ผลิตเครื่องเกมอย่างไมโครซอฟท์ โซนี่ และนินเทนโด

นอกจากนี้ ผลสำรวจ Global entertainment and media outlook ของไพร์ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส (PwC) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2564 รายได้อีสปอร์ตในไทยจะมีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะสั้นจากการที่ไม่สามารถจัดการแข่งขันในแบบออฟไลน์ได้ แต่เชื่อว่าในระยะยาวหลังจากสถานการณ์นี้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากความนิยมในการเล่นเกมที่เกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์

PwC ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มีความสนใจในอีสปอร์ตอย่างน้อยทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของอีสปอร์ต มีประชากรที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ถึง 60% ทำให้แบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่กลุ่มนี้ ต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจ และลงทุนในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม

เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา ผู้ที่มีส่วนได้มากที่สุดในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตนั้นหนีไม่พ้นบรรดาผู้ผลิตเกมที่สามารถสร้างรายได้จากการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตไปได้

ในมุมของเอไอเอส การเข้ามาสนับสนุนให้อีโคซิสเต็มของอีสปอร์ตเติบโต จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้มีโอกาสเติบโต และเมื่อตลาดแข็งแกร่งมากขึ้น ก็จะช่วยผลักดันให้อีสปอร์ตในประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ระดับโลก และเมื่อมีจำนวนผู้เล่น ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายก็จะช่วยสร้างรายได้ทางอ้อมกลับมา


ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ (ซ้าย) รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวเสริมว่า จากการเก็บข้อมูลการใช้งานออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ พบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเสพสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 20% ซึ่งส่วนหนึ่งได้เข้ามาส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเติบโต และมีโอกาสที่จะเติบโตมากกว่านี้ถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุน

"ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในการเข้าไปพูดคุยกับภาครัฐ ต้องแสดงข้อมูลให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนถึงโอกาสในการสร้างอาชีพให้แก่เยาวชนไทยในประเทศ ซึ่งทางดีป้า เห็นไปในทิศทางเดียวกับภาคเอกชนว่า ธุรกิจอีสปอร์ตจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน จากที่ในช่วง 3 ปี ก่อนหน้านี้มีการเติบโตเฉลี่ยราว 9%"

ทางดีป้า เชื่อว่า ในปีนี้จากอัตราเร่งที่น่ากลัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ตลาดอีสปอร์ตในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก และเชื่อว่าการที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มเห็นภาพที่ชัด และเข้าใจในมุมมองซึ่งกันและกันจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเติบโตอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้

สิ่งสำคัญเลยทุกฝ่ายต้องร่วมกันสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ภาครัฐเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเกม หรือผู้สร้างคอนเทนต์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้ โดยทางดีป้า ก็เริ่มดำเนินการสนับสนุนทั้งผู้ผลิตเกม ให้เข้าถึงพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ จากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างโครงการพัฒนาสำหรับนักพัฒนาเกมที่ต้องการวางพื้นฐานเพื่อให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวได้

“ตอนนี้ปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยพร้อม และเพียงพอกับการยกระดับวงการอีสปอร์ตให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตแล้ว ขึ้นอยู่กับเด็ก และเยาวชนที่จะตระหนัก และรับรู้ว่า การเล่นเกมไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นอาชีพได้ เพียงแต่ต้องมีการวางแผนสร้างวินัยในตนเองและฝึกร่างกายให้เตรียมพร้อมไว้”

ด้านสันติ โหลทอง (ขวา) นายกสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐไทยไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนอีสปอร์ตให้เกิดขึ้น เงินลงทุนที่เข้ามาจึงไม่เกิดความเชื่อมั่น เพราะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้พออยู่ได้เท่านั้น แต่กลับกันการลงทุนในฝั่งของเอกชนมีทั้งศรัทธา และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอีสปอร์ตให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“สิ่งที่อยากฝากไว้เมื่ออุตสาหกรรมอีสปอร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้นคือ อยากเห็นเยาวชน เริ่มมีความเข้าใจอีสปอร์ตในอีกบริบท ที่เป็นมากกว่าความบันเทิง เพราะถ้าอยากเล่นที่ชื่นชอบ ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับในเงื่อนไขหลายๆ อย่าง เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ไปต่อได้อย่างสง่างาม”

โดยความตั้งใจของสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย คือการสร้างนักกีฬามืออาชีพ ที่เข้าไปแข่งขันในระดับโลก เพื่อให้การแข่งขันที่เกิดขึ้นได้รับการยอมรับ และเปิดกว้างในสังคมไทย ไม่ต่างจากการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ

“ปัจจุบัน นักกีฬาอีสปอร์ตได้กลายเป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้มากกว่านักกีฬาบางประเภท ทำให้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมกันสนับสนุน และสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นแก่คนไทยไปพร้อมๆ กัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น