xs
xsm
sm
md
lg

ERS เล็งยื่นข้อเสนอ “สุพัฒนพงษ์” แก้วิกฤตสำรองไฟพุ่ง 50% ปรับพีดีพีใหม่-เลิก E85/B20

เผยแพร่:



กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เตรียมยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมปฏิรูปพลังงาน ชูแนวทางแก้ปัญหาสำรองไฟพุ่ง 50% เช่น ยุติการทำ PPA โรงไฟฟ้าใหม่ ปรับปรุงแผนพีดีพีใหม่ให้สอดรับกับการใช้ไฟที่ลดลงพร้อมกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เลิกจำหน่าย E85-B20 ลดการอุดหนุน เดินหน้าเจรจาพื้นที่ไทย-กัมพูชา


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ERS เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูปพลังงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตในการขับเคลื่อนให้พลังงานไทย ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ มีความยั่งยืนและก้าวไปสู่พลังงานสะอาด สอดรับกับทิศทางของโลกโดยเฉพาะปัจจุบันที่ผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอ การผลิตไฟใช้เอง (Prosumer) ที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้สำรองไฟสูงถึง 50% กลายเป็นภาระต้นทุนที่ถูกส่งผ่านไปยังค่าไฟประชาชน ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขลดสำรองด้วยการหยุดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นขนาดใหญ่ทั้งรัฐและเอกชน พร้อมกับปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่สอดรับกับความต้องการใช้ไฟที่เปลี่ยนไป

“แนวทางลดสำรองไฟฟ้าที่สูงนั้นสามารถลดผลกระทบได้หลายทาง เช่น การทบทวนเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฟ้าฐานของ 3 การไฟฟ้าจาก ROIC ไปเป็น SFR, เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล, ไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น ฯลฯ” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

สำหรับการจัดทำ PDP ใหม่ต้องสอดรับกับการใช้ไฟที่เปลี่ยนไป ไม่อนุมัติกำลังการผลิตที่เกินความจำเป็น มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ PDP โปร่งใส และมีเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดย ERS เห็นว่าไทยควรกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานโดยรวมไม่ต่ำกว่า 50% โดยเร็ว เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายในปี ค.ศ. 2050

ระยะยาวควรส่งเสริมให้มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีด้วยการเปิดบริการสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 (TPA) เพื่อให้ระบบมั่นคงและได้ค่าไฟที่ต่ำสำหรับผู้บริโภค โดยเสนอให้เตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันค่าไฟสูงในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วยการทบทวนค่าไฟฟ้าในทุก 5-7 ปีด้วย


แนะเร่งเจรจาไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่นคง


นายคุรุจิต นาครทรรพ หนึ่งในแกนนำ ERS กล่าวเสริมว่า รัฐควรเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 23 ทั้งบนบกและทะเล เพื่อที่จะหาก๊าซเปียก (Wet Gas) มาป้อนโรงแยกก๊าซฯ ในการผลิตก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพิ่มขึ้น เพราะปริมาณก๊าซฯ อ่าวไทยลดลงมากระยะยาวจะเป็นต้นทุนประเทศที่หากปล่อยไว้อาจนำเข้าได้ พร้อมๆ กับการที่ต้องเร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่เบื้องต้นมีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมซึ่งการพัฒนากว่าจะนำมาผลิตใช้ได้ต้องใช้เวลานับ 10 ปี รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ


ยื่นข้อเสนอให้ยกเลิก E85-B20


นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในแกนนำ ERS กล่าวว่า จะเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อผลักดันการกำหนดประเภทน้ำมันโดยยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E85 และ B20 โดยกลุ่มเบนซินให้เหลือเพียงเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 95 และ E20 ขณะที่กลุ่มดีเซลให้เหลือเพียง B10 และให้ B7 เป็นทางเลือกรถเก่าเพื่อลดการอุดหนุนน้ำมันดังกล่าวลงและยังทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องสับสนและผู้ค้าเองก็ไม่ต้องมีภาระต้นทุนหัวจ่ายมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น