xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอเมริกามัวชักช้า ชวดตำแหน่งผู้นำอีวีให้จีน

เผยแพร่:


ความพร้อมและความได้เปรียบในหลายด้านและการสนับสนุนอย่างจริงจังของปักกิ่งกำลังจะส่งให้จีนผงาดขึ้นเป็นผู้นำอีวีโลก
แม้เทลสาเป็นรถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมล้นหลามจากทั่วโลก แต่นโยบายแห่งชาติของปักกิ่งกระตุ้นให้มีการแข่งขันอย่างคึกคักและส่งให้จีนใกล้ผงาดขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ถ้าอเมริกายังไม่รีบปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์

จีนในฐานะตลาดรถใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายรถไฟฟ้าหรืออีวีและรถพลังงานใหม่ทุบสถิติในเดือนที่ผ่านมา แม้แต่เทสลายังเข้าไปตั้งโรงงานในแดนมังกรเมื่อปีที่แล้ว และกำลังวางแผนส่งออกรถเมด-อิน-ไชน่าไปตีตลาดยุโรป

ชิ้นส่วนสำคัญที่สุดของรถไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทสองแห่งของจีน ได้แก่ คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี (CATL) และ BYD ร่วมกันครองส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 1 ใน 3 ยูบีเอสยังระบุว่า ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ทั้ง 6 แห่งล้วนเป็นบริษัทเอเชีย

นักวิเคราะห์ของยูบีเอสคาดว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้เล่นจีนภายในห่วงโซ่อุปทานอีวีทั้งหมดจะเปิดเกมรุกบุกตลาดต่างแดนโดยอาศัยข้อได้เปรียบจากต้นทุนวัสดุที่ถูกกว่า และ CATL จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดนอกจีนจาก 2% ในปี 2019 เป็น 14% ในปี 2025 โดยได้แรงกระตุ้นจากการเติบโตเกินจริงของตลาดอีวีในยุโรป

จากที่เป็นสินค้าที่ไม่มีใครให้ราคานักในตลาดพลังงานโลกที่มีน้ำมันเป็นศูนย์กลาง แต่วันนี้อีวีกลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มระบบนิเวศใหม่ที่รวมถึงรถอัตโนมัติและไรด์-เฮลลิ่ง

แดเนียล เยอร์กิน ผู้เขียน “The Prize: The Epic Quest for Oil, Money & Power” ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เมื่อปี 1992 มองว่า ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอีวีทำให้จีนกลายเป็นผู้นำในตลาดอีวีโลก และเห็นได้ชัดว่า อีวีสำคัญต่อจีนไม่เพียงในแง่การลดอุปสงค์น้ำมันเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับประเด็นมลพิษและจุดแข็งในการแข่งขันด้วย

เยอร์กิน รองประธานกรรมการไอเอชเอส มาร์กิตเสริมว่า หลายสิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อมองผ่านมุมมองใหม่ด้านการแข่งขัน และถ้าอเมริกาจริงจังกับรถไฟฟ้า แน่นอนว่า จะมีการผลักดันให้มีการสร้างห่วงโซ่อุปทานอีวีในประเทศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรื่องนี้จะถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางการค้าโดยรวมระหว่างสองประเทศนี้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก

อเมริกาและจีนทำสงครามการค้ากันมากว่า 2 ปีและลุกลามไปยังภาคเทคโนโลยีและการเงิน และขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาด การสร้างหลักประกันอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ท้องถิ่นจึงมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

รายงานที่ทีมเฉพาะกิจด้านจีนของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 กันยายนระบุว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง และมีสัดส่วนเกือบ 3.5% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ขณะเดียวกัน ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์จีนที่รวบรวมในปี 2018 ระบุว่า ภาคยานยนต์สร้างงาน 1 ใน 6 และมีสัดส่วนราว 10% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด

อีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า จีนกำลังทิ้งห่างอเมริกาในการพัฒนารถไฟฟ้าคือ ในบรรดาโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั่วโลก 142 แห่งนั้น อยู่ในจีนถึง 107 แห่ง แต่อยู่ในอเมริกาแค่ 9 แห่ง ทั้งนี้ จากรายงานของซีเคียวริ่ง อเมริกาส์ ฟิวเจอร์ อิเนอร์จี้ (เซฟ) กลุ่มให้คำปรึกษาในวอชิงตัน ดีซีที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว

รายงานดังกล่าวเสริมว่า ผู้ผลิตรถรายใหญ่เกือบทุกรายกำลังเอาจริงเอาจังกับรถไฟฟ้าและทุ่มทุนมหาศาลกับเทคโนโลยีนี้ โดยคาดว่า จะมีการลงทุนในการพัฒนาและผลิตอีวีรวมแล้วถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า และเกือบครึ่งของเงินทุนจำนวนนี้จะใช้จ่ายในจีน บ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมั่นในศักยภาพของดีมานด์ในประเทศนี้

การผลักดันอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าของจีนเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นำโดยวาน กัง อดีตวิศวกรของอาวดี้ และแม้เงินอุดหนุนกว่า 30,000 ล้านหยวน (4,540 ล้านดอลลาร์) ดึงดูดสตาร์ทอัพด้อยค่ามากมาย แต่ยังมีผู้เล่นกลุ่มหนึ่งที่อยู่รอด เช่น นีโอที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2018 และราคาหุ้นไต่ขึ้นกว่า 340% นับจากนั้นเป็นต้นมา รวมทั้งหลี่ ออโต้ และเสี่ยวเผิงที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาในปีนี้ และราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 65% และ 35% ตามลำดับ

ขณะที่ราคาหุ้นของ CATL ในตลาดเซินเจิ้นทะยานขึ้นกว่า 110% ในปีนี้ และหุ้น BYD ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ร่วมลงทุนและจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงโลดแล่นกว่า 250% ทำสถิติสูงสุดหลังจากเปิดตัวเทคโนโลยีเบลดแบตเตอรี่ที่ใช้ในฮั่น ซีดานไฟฟ้าหรูยอดนิยมใหม่ล่าสุดของบริษัท

ร็อบบี้ ไดมอนด์ ประธานและซีอีโอเซฟให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซีเมื่อเดือนที่แล้วว่า อเมริกาไม่เคยพึ่งพิงน้ำมันจากโอเปกมากเท่านี้มาก่อน และวันหนึ่งข้างหน้าอาจต้องพึ่งพิงอีวีและชิ้นส่วนของจีน หากยังนิ่งเฉยกับพัฒนาการของผู้ผลิตแดนมังกร

เหอ ฮุ่ย นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายพลังงานใหม่ของจีนจากเดอะ อินเตอร์เนชันแนล เคาน์ซิล ออน คลีน ทรานสปอร์เตชัน ระบุว่า จีนมีแร่สำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่พร้อมใช้อย่างน้อยอีก 5 ปี และตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีการร่วมมือข้ามพรมแดนในหมู่ผู้ผลิตรถไฟฟ้า และอนาคตของอุตสาหกรรมนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ราคาถูกพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้บริโภคอยากเปลี่ยนมาใช้อีวี

นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า ภายใน 4 ปี รถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่จะมีราคาพอๆ กับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน

ด้านแมคคินเซย์ประเมินว่า ภายในปี 2030 รถยนต์กว่า 1 ใน 3 ถึงเกือบครึ่งที่ขายในจีนและยุโรปจะเป็นรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่หรือปลั๊ก-อินไฮบริด โดยส่วนแบ่งตลาดสำหรับอเมริกาจะอยู่ที่แค่ 17-36% จาก 3% ในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น