xs
xsm
sm
md
lg

โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ จากฐานงานวิจัย อว.

เผยแพร่:





“การขับเคลื่อนกระทรวงอว.เน้นฝึกอบรมบุคลากรระดับสูงของประเทศ ได้แก่ปริญญาตรี โท เอก และหลังปริญญาเอก ควบคู่เรื่องการวิจัยและนวัตกรรม ในทุกมิติของประเทศ พร้อมเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งหมดในกระทรวงอว.”

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดสัมภาษณ์พิเศษในการ เข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงอว.ว่า การขับเคลื่อนงานของกระทรวงอว. จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นสำคัญ โดยเน้นให้ความสำคัญในการฝึกอบรมบุคลากรระดับสูงของประเทศได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และหลังระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศ รวมถึงจะดูแลเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมในทุก ๆ มิติของประเทศ โดยโครงการที่เกิดขึ้นจะเป็นโครงการที่แต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งหมด ซึ่งท่านรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดที่จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆจำนวนมาก

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เน้นดูแลการสร้างคน และคนสร้างผลงานวิจัย

ปลัดกระทรวงอว.ย้ำว่า กระทรวงเน้นดูแลการสร้างคน และคนสร้างผลงานวิจัยไปทำประโยชน์ให้กับประเทศ บทบาทหน้าที่แรกก็คือสร้างคน แต่บริบทของการสร้างคนเปลี่ยนไปเยอะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หน้าที่ของการอุดมศึกษาเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนอะไรไปบ้าง 1.โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไป แต่เดิมวัยช่วงอายุประมาณ 18-22 ปี ก็คือเรียนปริญญาตรีอยู่ ซึ่งแต่เดิมเป็นประชากรจำนวนมากของประเทศ ตอนหลังมีคนเกิดน้อยลงและคนอายุยืนมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาก็จะลดลง นั่นเป็นบริบทที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจำวนวนคนที่เข้าสู่อุดมศึกษาจะลดลง

2.วิธีการและบทบาทการศึกษาเปลี่ยนไป เพราะว่าความรู้ต่างๆเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่เดิมคนจะเรียนรอบเดียว เรียนปริญญาตรีจบแล้วก็ทำงาน แต่ณขณะนี้วิชาการก็เปลี่ยนไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ดังนั้นคนจึงจะต้องเรียนหลายรอบ แปลว่าสิ่งที่เรียนมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะไม่พอที่จะไปทำงานปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ

3.คนสูงอายุมากขึ้น ดังนั้นในบทบาทของความเป็นสถาบันอุดมศึกษาทำให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยน ซึ่งแต่เดิมเป็นกลุ่มอายุ 18-22 ปี แต่ตอนนี้เป้าหมายต้องเปลี่ยน เปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้าง คือ ประการแรก สัดส่วนของปริญญาโท ปริญญาตรีก็ยังมีอยู่ แต่น้ำหนักจะลดลง แต่ก่อนเกือบ 100% เป็นกลุ่มนี้ ประการที่ 2 มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ที่เรียกว่าเป็นลูกค้าหรือว่าหน้าที่จะต้องสร้างเป็นหลายกลุ่มมากขึ้น แต่ว่าเรามีคนอายุ 20 30 40 50 แล้วก็ไปจะมี 60 70 ด้วย ฉะนั้นช่วงก็เปลี่ยนไป


ประการที่ 3 รูปแบบของการเรียนรู้ก็เปลี่ยนไป แต่เดิมคนเรียนรู้เพื่อเอาปริญญาไปสมัครงาน แต่ตอนหลังมากิจกรรมที่ต้องการคนทำงานได้ ไม่ว่าจะจบปริญญาหรือไม่จบปริญญาก็ตาม คือมีสกิล( Skill ) แต่อาจจะไม่ได้มาด้วยปริญญา คนที่จบปริญญาอาจจะทำงานไม่ได้ ดังนั้นวิธีการ บทบาทของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไป จากเดิมสอนคนให้จบปริญญา แต่ตอนนี้สอนคนให้ไปปฏิบัติหน้าที่ได้

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ เป็นเหตุการณ์ที่มาเปลี่ยนสภาวะหรือเปลี่ยนเกม 1.ปรากฎว่าโลกหลังยุคโควิดอาชีพเปลี่ยน รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยน ร้านอาหารก็เปลี่ยน วิธีการเรียนก็เปลี่ยน ลักษณะของธุรกิจก็เปลี่ยน อย่างเช่นท่องเที่ยวแต่เดิมเป็นอุตสาหกรรมหลัก พอตอนนี้การเดินทางก็จะยากขึ้น การท่องเที่ยวไปไกลๆก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นปริมาณการจ้างงานแต่ละอาชีพเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน แต่เดิมกระบวนการของโลกใช้ระบบที่เรียกว่า Supply Chain ผลิตจากที่นี้ เอาไปประกอบประเทศนู้น ต่อไปของแต่ละอย่างจะหมุนเวียนในเขตใกล้ๆกันมากขึ้น


ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการต่างๆเหล่านั้นทำให้ บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย วิธีการสอนก็จะเปลี่ยนไป เอาง่ายๆนักศึกษาที่อยู่ปี 4 ตอนนี้ เขาเรียนอะไร เขาเรียนวิชาซึ่งคิดว่าเขาควรจะทำหน้าที่นี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะการเรียนหว่านแหล่วงหน้านาน ปรากฎว่าพอมีโควิด อาชีพที่เคยคิดว่าจะเป็นอาชีพอาจจะหมดไปแล้วก็ได้ ท่องเที่ยวก็หายไป ไม่ใช่ว่ามีแต่หายไป มีบางอันเพิ่มขึ้นมาด้วย ตัวอย่างอุตสาหกรรมทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น อาหารเพิ่มขึ้น ปรากฎว่าพอมีเหตุการณ์ทำนองแบบนี้เรื่องวัสดุไปได้ดี แปลว่านิสิตนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาตอนนี้ เผลอๆสกิลที่เขามีอยู่ไม่แม็ทกับงานที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้นบทบาทจะเปลี่ยนไปยังไง บทบาทของกระทรวง อว. ตอนนี้ คือจะต้องทำ 2 บทบาท บทบาทที่1 คือใช้กลไกองค์ความรู้ที่มีอยู่ดำเนินการเพื่อให้ทราบ แน่ใจ และวางแผนว่าสถานการณ์ของอาชีพและตลาดแรงงานในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ใช้องค์ความรู้ค่อนข้างมาก ใช้งานของมหาวิทยาลัยในการมองเห็นว่าตลาดจะเป็นยังไง เราไม่ได้มองเห็นอย่างเดียวด้วยซ้ำ มองเห็นแล้วหากมีเรื่องใดที่ทำได้ก็ไปสร้างให้เกิดงานต่างๆเหล่านั้นให้เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ที่1 ซึ่งมหาวิทยาลัยทำได้เพราะว่ามีองค์ความรู้

เรื่องที่2 ที่เป็นเรื่องสำคัญมากๆด้วย เราจะต้องให้เห็นว่าเยาวชนมีความหวัง มีอนาคต เพราะไม่งั้นเขาไม่มีความหวัง เพราะมีคนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงานอะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วฉันกำลังจะเรียนจบ ฉันจะมีงานทำเหรอ ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ชัวร์ว่าเรื่องที่เขาเรียนมามันตรงกับตัวเองหรือเปล่าตรงกับตลาดแรงงานหรือเปล่า กระทรวงจึงมีโครงการเกิดขึ้น โครงการที่ว่าเราจะทำ 2-3 อย่างในเวลาเดียวกัน 1.เราต้องการให้เยาวชนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้หรือพึ่งสำเร็จการศึกษา สามารถที่จะมีงานทำ ในขณะเดียวกันไม่ใช่มีงานทำเท่านั้นเรายังปรับสกิลเขาที่เรียกว่ารีสกิล แต่เดิมคุณเรียนมาแบบนี้แต่ต่อไปความต้องการในอนาคตจะเป็นอีกแบบนึงนะ เราจะรีสกิลเขายังไง เอาสกิลใหม่ใส่เข้าไป


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการอัปสกิล สกิลที่เคยมีอยู่อาจจะไม่พอ เป็นสกิลแบบเดิม แต่ต้องการสกิลสูงขึ้นอีก ในขณะนี้กระทรวง อว. ทำมา 2 ระยะแล้ว กำลังจะเริ่มระยะที่3 ในเดือนหน้า ระยะที่1กับ2 คือการจ้างงานเลย ระยะที่3ที่กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้คือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งครม.ไฟเขียว วันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมาโดยครม.เห็นชอบวงเงินกู้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมระดับตำบล หรือโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งในหลักการจะให้ 1 ตำบล มี 1 มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยทำงานกับชุมชน เบื้องต้นในปีแรกวางเป้าหมาย 3,000 ตำบล และมี 73 มหาวิทยาลัยที่จะลงไปทำงานภายใต้งบประมาณ 10,629 ล้านบาท

โดยเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ประมาณ 60,000 คน และทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลในด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการดำเนินการปีแรก มีตำบลที่มีความพร้อมสูง ที่จะยกระดับไปสู่ความยั่งยืน 750 ตำบล ขณะเดียวกันมีตำบลที่มีความพร้อมระดับปานกลาง 1,500 ตำบล ที่จะพัฒนาให้พึ่งพาตนเองได้ ขณะที่ 750 ตำบล ที่มีความพร้อมค่อนข้างต่ำอยู่ด้วยความยากลำบาก ตั้งเป้าจะพัฒนาให้สามารถอยู่รอดได้ เป็นไปตามบริบท สภาพปัญญา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สำคัญของแต่ละพื้นที่


โดยจะเป็นการนำองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมของมหาวิทยาลัย หน่วยงานภายใน อว. และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบล อาทิ การสร้างและพัฒนาอาชีพใหม่การส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สุขภาพ การศึกษา และความปลอดภัยในชุมชน การฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โครงการนี้จะมีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ประชาชนในพื้นที่และนักศึกษารวมทั้งโครงการจะมีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 60,000 คน โดยจะมีการจ้างงาน 20 อัตราต่อตำบล เพื่อช่วยในกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ของแต่ละตำบล โดยผู้ที่ได้รับจ้างงานจะได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านดิจิตัล ทักษะด้านการเงิน ทักษะด้านสังคมและภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับทักษะเฉพาะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งท่านรัฐมนตรีได้ให้นโยบายแล้วว่าในระยะต่อไปก็จะดำเนินการให้ครบทุกตำบล ภายในปีนี้ โครงการที่เป็น 3,000 คนแรก เริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน โดยลักษณะเอา 20 คนต่อตำบลไปปฏิบัติงานอยู่ในตำบล และเมื่อไปแล้วก็ไปรับทราบปัญหา สำรวจข้อมูล วางแผนการดำเนินงานเพื่อที่จะพัฒนาในตำบลต่างๆ


ทั้งนี้ โครงการรดังกล่าว เป็นโครงการใหญ่ จะทำให้เกิดทั้ง 3 ส่วนไปพร้อมกัน 1.จะทำให้เกิดการจ้างงาน 2.ทำให้เกิดการรับทราบข้อมูลสถานการณ์ของพื้นที่ทั่วประเทศไทย 3.นอกเหนือจากการรับทราบข้อมูลแล้วจะทำให้เกิดการพัฒนาแล้วก็ในเบื้องหลัง 20 คนคือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งช่วยสนับสนุนในเชิงโครงสร้างและการทำงาน เรามีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมด้วยในระยะนี้อยู่ที่ 73 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะเป็น Big data ที่มาก็จะผ่านวิเคราะห์และกลั่นกรองข้อมูลซึ่งจะทำโดยตั้งแต่กลไลในพื้นที่ กลุ่ม 20 คนก็วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ จากนี้ก็เข้าสู่การทำงานร่วมกันและปรึกษาหารือกับมหาวิทยาลัยที่เป็นพี่เลี้ยง ทุกคนที่ไปมีมหาวิทยาลัยอยู่เบื้องหลัง

ประการที่3 ตรงกลางในส่วนของสำนักงานปลัดก็จะมีกลไลและหน่วยงานในการที่จะวิเคราะห์และขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ผมยกตัวอย่าง เมื่อเข้าไปเสร็จเรียบร้อย ดูแล้วอาจจะพบว่าปัญหาและโอกาสในการพัฒนาพื้นที่นั้นคือการบริหารจัดการเรื่องน้ำ อาจจะมีตำบลอื่นในประเทศไทยซึ่งอาจจะอยู่คนละที่เคยทำเรื่องนี้จบไปเรียบร้อยแล้ว ทำอย่างไรเราจะถ่ายทอดข้อมูลความรู้ข้ามไปทางนั้นได้ โครงการทั้งหมดท่านรัฐมนตรีให้นโยบายว่างานของ อว. ดีอย่างหนึ่งคือไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แปลว่าแต่ละเรื่องมีองค์ความรู้อยู่แล้ว เช่น เรื่องน้ำ เราคิดว่าในทุกๆเรื่องมีคำตอบ ซึ่งคำตอบหาได้จากสิ่งที่เคยทำมาแล้ว




ส่วนภาคธุรกิจ เอกชน SME มีนโยบายดูแลอย่างไร

สิ่งที่เราพึงประสงค์คือการนำเอาความรู้และรับทราบสถานการณ์ต่างๆ เอาเข้ามาพัฒนาโดยที่เอาข้อมูลจากการวิจัยเป็นฐาน กระทรวง อว. มีนักวิจัยเป็นจำนวนมาก เรามีบุคลากรเกือบ 200,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีปริญญาเอกเกือบ 30,000 คน ซึ่งเยอะมาก สิ่งที่ดำเนินการประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรให้นักวิชาการกับภาคธุรกิจเขาอยู่ด้วยกันได้ มาทำงานร่วมกันได้ เกิดความก้าวหน้าทั้งผลงานวิจัย และความเติบโตทางธุรกิจ

โดยในขณะนี้ เราใช้เงินเพื่อการวิจัยเกิน 1% GDP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นวิธีการมาตรฐานซึ่งหลายๆประเทศ ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ   แต่ขณะเดียวกันเงินที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเพื่อภาคเอกชน ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร องค์กรธุรกิจก็ต้องดำเนินการวิจัยเพื่อจะสอดคล้องกับเป้าหมายของตัวเอง  สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างมากของกระทรวงและเป็นโอกาสสำคัญ คือกระทรวง อว. เกิดขึ้นจากการนำเอา 3 หน่วยงานมาอยู่ด้วยกัน ส่วนที่เป็นทบวงมหาวิทยาลัยเดิม  สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) ส่วนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวงวิทย์ มีหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยได้แก่ วช. และ สกว. ถ้าไม่ทำอะไรเลยแต่ละที่แต่ละจุดก็สามารถทำงานได้อยู่พอสมควร สิ่งที่เป็นความท้าทายเป็นโอกาสสูงมาก ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะเอาประเด็นเรื่องอุดมการศึกษามาบวกกับประเด็นเรื่องการวิจัย อาจจะเป็นการวิจัยซึ่งในเวลาเดียวกันสร้างคนเพื่อการวิจัยเพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น