xs
xsm
sm
md
lg

BPP ชี้ต้นปี 64 ชัดเจน M&A โรงไฟฟ้าที่สหรัฐฯ

เผยแพร่:



บ้านปู เพาเวอร์มั่นใจต้นปี 64 มีความชัดเจนการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่สหรัฐฯ พร้อมมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มที่จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ  เพื่อต่อยอดธุรกิจภายใต้โครงการ Gas to Power หลังจากบริษัทแม่ คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ได้เข้าไปถือหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) จำนวน 2 แหล่งในสหรัฐฯ ได้แก่ แหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ที่รัฐเทกซัส และแหล่งมาร์เซลลัส (Marcellus) ที่รัฐเพนซิลเวเนีย โดยบริษัทสนใจซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่รอบๆ แหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว คาดว่ามีความชัดเจนในต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ขนาดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐไม่ต่ำกว่า 800 เมกะวัตต์ต่อโรง ซึ่งข้อดีในการตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ คือโครงข่ายท่อก๊าซฯ มีการเชื่อมต่อถึงกันกับโรงไฟฟ้า รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนในสหรัฐฯ มีการพัฒนามากกว่าไทย ทำให้บริษัทสามารถจัดหาเครื่องมือทางการเงินได้หลายรูปแบบ ช่วยให้บริษัทไม่ต้องใช้เงินส่วนทุนมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ บริษัทจำเป็นต้องหาพันธมิตรร่วมทุนเนื่องจากเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

ปีนี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ 459 เมกะวัตต์ มาจากโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน กำลังการผลิตรวม 1,320 เมกะวัตต์ หรือคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทอยู่ที่ 396 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 25 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้า Yamagata กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Yabuki กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ คาดสิ้นปี 2563 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 2,859 เมกะวัตต์

นายกิรณกล่าวต่อไปว่า บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจไฟฟ้า โดยประเทศที่ลงทุนจะต้องมีการลงทุนของบริษัทแม่อยู่แล้วเพื่อให้เกิดการ Synergy ร่วมกัน ประเทศนั้นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ดังนั้น บริษัทจึงมองโอกาสการขยายลงทุนในจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น เน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม

ทั้งนี้ เพื่อให้พอร์ตธุรกิจไฟฟ้าเติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5,300 เมกะวัตต์ในปี 2568 โดยมาจากพลังงานทดแทน 20% ของกำลังการผลิตรวม หรือคิดเป็น 800 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น