xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.จี้รัฐหาทางออกแก้ม็อบให้จบในเดือนนี้ ก่อนฉุดเชื่อมั่น หนุนแก้ รธน.

เผยแพร่:



ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่กังวลสถานการณ์ม็อบฉุดรั้งเชื่อมั่น แนะรัฐหาเวทีแก้ไขให้จบภายในเดือนนี้ก่อนบานปลาย หนุนเปิดประชุมวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยให้ดูประเด็นที่สมเหตุสมผล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 85.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนสิงหาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 93.3 จากระดับ 94.5 ในเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากยังคงกังวลต่อการระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองในประเทศขณะนี้ที่เกิดการนัดรวมตัวประท้วงเป็นดาวกระจายหลายจุดใน กทม.และต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่เอกชนกำลังติดตามใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีความรุนแรงและยังไม่มีนัยสำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่หากยืดเยื้อและรุนแรงก็จะกระทบเชื่อมั่นนักลงทุนและซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้ และอาจนำมาสู่มือที่สามจะทำให้ปัญหาลุกลาม ดังนั้นภายในเดือนนี้รัฐบาลควรจะต้องมีทางออกในการไขปัญหาก่อนที่จะยืดเยื้อ

"ส.อ.ท.เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง อะไรที่เป็นข้อเรียกร้องและเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยก็ควรจะเร่งแก้ไข เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกพรรคการเมืองและม็อบเองก็หนุนให้แก้ไข เพื่อตอบโจทย์บางส่วนไปก่อน โดยแนวทางการเปิดประชุม สภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไข โดยประเด็นอะไรที่แก้ไขได้ก็ต้องแก้ไข โดยเน้นให้มีเหตุและผล ซึ่งทุกฝ่ายก็สนับสนุนแนวทางนี้ที่จะไม่ให้ปัญหาหรือข้อเรียกร้องไปอยู่นอกสภาฯ" นายสุพันธุ์กล่าว


สำหรับข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกนั้นยังไม่ใช่เรื่องที่ทุกกลุ่มเห็นด้วย และคงจะต้องไปสอบถามท่านโดยตรง แต่ขณะนี้ท่านก็ยังพร้อมที่จะทำงานต่อไป อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือนได้บ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มจะกลับมา เอกชนจึงไม่อยากให้ปัญหาการเมืองกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ผลสำรวจผู้ประกอบการ 1,301 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 55.3%, ราคาน้ำมัน 40.4% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 36.8% ตามลำดับ ดังนั้น ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคม 3. สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น