xs
xsm
sm
md
lg

สมาร์ทโฟน 5G ความหวังแบรนด์มือถือช่วงปลายปี (Cyber Weekend)

เผยแพร่:



การที่บรรดาโอเปอเรเตอร์เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนในกลุ่มกลาง-บนกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงระดับราคา 1 หมื่นบาทขึ้นไป ที่เริ่มมีตัวเลือกสมาร์ทโฟน 5G มาให้ใช้งาน

จากการประเมินของโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ในไทย คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G เข้าสู่ตลาดประมาณ 2 แสนเครื่อง จากที่ปัจจุบันอยู่ราว 1 แสนเครื่อง โดยกลุ่มหลักยังคงเป็นกลุ่มกลาง-บน เนื่องจากในช่วงแรกที่แบรนด์ทำตลาด 5G จะเริ่มจากเครื่องระดับไฮเอนด์ราคาเกิน 3 หมื่นบาท

ในแง่ของภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากทางไอดีซี เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ทำให้ร้านค้าจำหน่ายมือถือต่างๆ ไม่สามารถให้บริการได้ ส่งผลให้ตลาดรวมลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้วยยอดขาย 4.3 ล้านเครื่อง


โดยในช่วงไตรมาส 2 กลายเป็น วีโว่ (Vivo) ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดด้วยส่วนแบ่งราว 19.5% ตามมาด้วยซัมซุง (Samsung) และ ออปโป้ (OPPO) ที่ 18.6% และ 16.9% ตามลำดับ ซึ่งการที่วีโว่ชิงส่วนแบ่งตลาดได้มาจากสมาร์ทโฟนรุ่นเล็ก และรุ่นกลางที่ได้รับความนิยม

ขณะที่ซัมซุง จะได้รับความนิยมในตระกูล Galaxy A โดยเฉพาะ A71 ที่เป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายดีที่สุด แต่ด้วยระดับราคาที่สูงขึ้นมา ทำให้จำนวนยอดขายลดลง เช่นเดียวกับออปโป้ ที่ในช่วงดังกล่าวมีการเปิดตัวแฟลกชิปสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ทำให้ปริมาณยอดขายรวมลดลง

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ซัมซุงมีการวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพิ่มเติมอย่าง Galaxy Note20 ซีรีส์ และ Galaxy Z Fold ต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4 ที่จะเริ่มนำ Galaxy A ซีรีส์ ที่รองรับ 5G เข้ามาทำตลาดในไทยด้วย ทำให้ในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นผู้นำตลาดได้

ในขณะที่ OPPO ได้มีการเพิ่มไลน์สมาร์ทโฟน 5G ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับราคา 12,990-40,990 บาท มาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค พร้อมแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการใช้งาน 5G ทั้งแบบ NSA ที่โอเปอเรเตอร์ให้บริการในปัจจุบัน และรองรับ SA ที่ให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต


ส่วนแบรนด์อื่นๆ อย่าง Vivo Realme ก็เริ่มนำสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น เพียงแต่ระดับราคาหลักๆ จะอยู่ที่ราว 2-3 หมื่นบาท ทำให้รุ่นที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นรุ่น 4G ราคาถูก ที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากกว่า

พร้อมกันนี้ Xiaomi กลายเป็นอีกแบรนด์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคมากขึ้น ก็เตรียมทำตลาดสมาร์ทโฟน 5G ด้วย Mi 10T ซีรีส์ ในระดับราคาหมื่นต้นๆ ซึ่งเป็นการนำชิปประมวลผลในระดับเรือธงมาทำตลาดในราคาถูกที่สุดของตลาดเวลานี้ จากที่ก่อนหน้านี้ ซัมซุง ทำราคาอยู่ที่ราว 2 หมื่นบาท


นอกจากนี้ ไอดีซียังมองว่า ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยมีโอกาสเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าของแบรนด์จีน ที่มีราคาไม่สูงมาก และเชื่อว่าในไตรมาส 4 ตลาดจะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเปิดตัวของ iPhone 12 ที่มีให้เลือกหลายรุ่น และรองรับการใช้งาน 5G ด้วย

ชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้ ไทยแลนด์ ให้ข้อมูลว่า ในภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนครึ่งปีแรก ออปโป้ ยังเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ โดยเฉพาะในช่องทางออฟไลน์ที่ออปโป้มีความแข็งแรงทางช่องทางจำหน่ายทั่วประเทศ

'ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนในช่วงไตรมาส 2 ลดลง แต่กลายเป็นว่ากำลังซื้อที่หายไปเริ่มกลับมาในไตรมาส 3 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4'

ขณะเดียวกัน ประเมินว่าภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยปีนี้จะลดลงประมาณ 20% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่นอกจากใช้งานทั่วไปแล้วยังจำเป็นต่อการทำงานด้วย

***ยังต้องลุ้นตลาดตอบรับ 5G


ชานนท์ ระบุว่า ในเวลานี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผู้บริโภคไทยจะเปลี่ยนผ่านจาก 4G เข้าสู่ 5G ได้เร็วแค่ไหน แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มให้บริการ 5G และเริ่มมีดีไวซ์ที่รองรับเข้ามาวางจำหน่ายแล้ว ทางผู้ให้บริการเครือข่ายก็เร่งขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมมากขึ้น

แต่กลายเป็นว่า ในการที่ผู้บริโภคทั่วไปจะเปลี่ยนมาใช้งาน 5G ในเวลานี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของค่าบริการรายเดือนที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าแพกเกจที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทำให้แม้ว่าสมาร์ทโฟน 5G จะราคาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าแพกเกจยังมีราคาสูงอยู่ ก็จะทำให้การตอบรับ 5G เกิดขึ้นได้ช้าลง

ในมุมของออปโป้ ได้วางกลยุทธ์ไว้ 2 ส่วนหลักๆ เพื่อที่จะรุกตลาด 5G คือ การขยายไลน์สมาร์ทโฟนเข้าไปในกลุ่มไฮเอนด์ ที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะใช้งาน 5G ซึ่งถ้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกลุ่มนี้ได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้การเป็นผู้นำตลาด 5G มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น อีกส่วนคือการเตรียมที่จะนำสมาร์ทโฟน 5G ราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาท เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยในเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะนำเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เพราะจะเป็นช่วงที่โอเปอเรเตอร์เริ่มให้บริการ 5G บนคลื่น 700 MHz เพิ่มเติม

***เปลี่ยนเครื่องทุก 2 ปี

อีกหนึ่งความน่าสนใจของตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย คือ ยอดขายสมาร์ทโฟนภายในงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป รอบส่งท้ายปีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกผู้จัดงานประเมินว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลง จากปัจจัยลบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สงครามการค้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่กลายเป็นว่าในภาพรวมของการจัดงาน ผู้บริโภคที่มีความต้องการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน ยังคงให้ความสนใจกับโปรโมชันภายในงาน โดยเฉพาะจากการที่แบรนด์มีการนำเครื่องรุ่นเก่ามาเคลียร์สต๊อก ทำให้ยอดขายภายในงานสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงระดับราคา 1 หมื่นบาท ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะถือเป็นช่วงที่ได้สมาร์ทโฟนในระดับราคาที่คุ้มค่า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งาน 5G เพราะเน้นนำไปใช้งานเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เห็นว่าระยะเวลาในการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่นั้นยืดระยะออกมาอยู่ที่ราว 2 ปี หรือ 24 เดือน ถึงจะมีการเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่ และมีโอกาสที่จะนานกว่านั้นในกลุ่มผู้ที่ใช้งานเครื่องระดับไฮเอนด์ เนื่องจากเทคโนโลยีไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

ทำให้กลายเป็นว่าหลังจากนี้ 5G จะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแบรนด์เริ่มนำสมาร์ทโฟน 5G ระดับราคา 1-2 หมื่นบาท เข้ามาวางจำหน่าย เนื่องจากผู้บริโภคจะมองว่า ถ้าซื้อสมาร์ทโฟน 4G ในช่วงนี้ กว่าจะเปลี่ยนเครื่องอีกครั้งคือช่วง 2-3 ปีข้างหน้าถึงจะได้ใช้ 5G อาจจะช้าเกินไป ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มตัดสินใจเลือกซื้อรุ่นที่รองรับ 5G เพื่อใช้งานต่อเนื่องไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น