xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยชี้ภายใน 5 ปี ทั่วโลกใช้ Cloud เต็มตัว รับ AI และ IoT เติบโต

เผยแพร่:



หัวเว่ยคาด 5 ปี อุตสาหกรรมทั่วโลกใช้คลาวด์ 100% ขณะที่ประเทศไทยมาแรงพบคลาวด์โตก้าวกระโดดกว่า 5 เท่าตัว เหตุนโยบายรัฐบาลหนุนไทยแลนด์ 4.0

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใน 5 ปี ทั่วโลกจะหันมาคลาวด์เต็มตัว เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน AI และ IoT ที่กำลังจะเติบโตขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการใช้งานคลาวด์แบบก้าวกระโดดในช่วงเวลาที่ผ่านมาถึง 5 เท่า

ทั้งนี้ การร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีทั้งด้านนโยบายภาครัฐ และการสนับสนุนจากเอกชนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายผลักดันด้านเทคโนโลยีไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การสร้างโครงข่ายนวัตกรรมรวมถึงบริการรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่ผู้ใช้งานชาวไทยอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน

ดังนั้น ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย และเป็นตลาดเดียวที่บริษัทนำเสนอครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Carrier การให้บริการเครือข่าย 4G/5G Enterprise การให้บริการหน่วยงานต่างๆ Consumers การมีสินค้ารุกตลาดคอนซูเมอร์ และ Cloud & AI เพื่อให้สามารถส่งมอบอีโคซิสเตมส์ที่สมบูรณ์ ครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างรอบด้าน และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยมองว่า เทคโนโลยีคลาวด์ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรองรับเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI, IoT, VR/AR, 5G เพื่อนวัตกรรมโครงข่ายแห่งอนาคต เนื่องจากคลาวด์เข้ามาเสริมพลังการขับเคลื่อนด้านการประมวลผลให้แก่เทคโนโลยีเหล่านี้ หัวเว่ยจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเทคโนโลยีคลาวด์ด้วยการลงทุนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก รวมถึงกลยุทธ์ Cloud First ที่มุ่งเน้นพัฒนาอีโคซิสเตมส์สำหรับประเทศไทยเพื่อการส่งมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งานชาวไทย


ด้าน นางปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ ประธานกรรมการ แผนกธุรกิจคลาวด์ ประเทศไทย หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า การผสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยีคลาวด์ AI และ IoT จะช่วยผลักดันให้เกิดสมาร์ท ซิตีในระดับประเทศ เช่น ระบบการจัดการเมืองอัจฉริยะ การจัดการจราจรแบบอัจฉริยะ หรือการตรวจสอบภาคสนามทางไกลผ่านโดรน เป็นต้น ส่วนในระดับภาคเอกชน การผสานของเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยปรับกระบวนการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจในหลายมิติ โดยระบบเครือข่ายรวมไปถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ของ IoT จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายส่วนแล้วส่งขึ้นไปให้ AI ช่วยประมวลผลบนคลาวด์ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถลดต้นทุนการประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหลังบ้าน และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าได้

จากรายงาน Huawei GIV (Global Industry Vision) คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 กลุ่มธุรกิจองค์กรทั่วโลกทั้งหมด (100%) จะหันมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์ และแอปพลิเคชันต่างๆ โดยมี 85% ที่จะรองรับการทำงานบนคลาวด์ นอกจากนี้ 86% ขององค์กรทั้งหมดจะเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี AI และข้อมูลกว่า 80% ขององค์กรจะได้รับการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง

ส่วนเทรนด์การใช้งานบริการคลาวด์ขององค์กรในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับบริการคลาวด์สาธารณะมากขึ้น (Public Cloud) เนื่องจากใช้งานได้สะดวกกว่า ให้ผลตอบแทนการลงทุน (RoI) ที่คุ้มค่ากว่า เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจหลายแห่งอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ คลาวด์ สาธารณะยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้องค์กร เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถขยายการลงทุนในด้านอื่นๆ ของธุรกิจควบคู่กัน ซึ่งองค์กรที่ยังต้องการมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลเป็นพิเศษก็สามารถใช้บริการคลาวด์ แบบผสมผสาน (Hybrid Cloud) และคลาวด์ สาธารณะที่มีศูนย์ข้อมูลอยู่ในประเทศไทยได้

ขณะที่ นายสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี แผนกธุรกิจคลาวด์ ประเทศไทย หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า ผู้ให้บริการคลาวด์ ต้องให้ความสำคัญสูงสุดในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า การมีศูนย์ข้อมูลคลาวด์ อยู่ในประเทศไทยจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะบริการคลาวด์ นั้นๆ อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งช่วยให้ทีมวิจัยพัฒนาและลูกค้าสัมพันธ์สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่บริการคลาวด์ มีศูนย์ข้อมูลอยู่ในประเทศไทย ยังช่วยเสริมความเร็วในการรับส่งข้อมูลบนคลาวด์ ทำให้มีค่าความหน่วง (Latency) ในระดับน้อยกว่า 10 มิลลิวินาที ซึ่งน้อยกว่าผู้ให้บริการคลาวด์ จากต่างประเทศประมาณ 5-10 เท่า เพื่อรองรับกับความเร็วของการเชื่อมต่อโครงข่ายในประเทศไทยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้เต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น